ถวัลย์ ดัชนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถวัลย์ ดัชนี

เกิด27 กันยายน พ.ศ. 2482
อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย
เสียชีวิต3 กันยายน พ.ศ. 2557 (74 ปี)
โรงพยาบาลรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
การศึกษาโรงเรียนพะเยาพิทยาคม
โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
โรงเรียนเพาะช่าง
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร
ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม
มีชื่อเสียงจาก
  • ศิลปิน
  • สถาปนิก
  • นักแกะสลัก
ผลงานเด่นบ้านดำ
คู่สมรสมากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุค
บุตรดอยธิเบศร์ ดัชนี
รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรม) พ.ศ. 2544

ถวัลย์ ดัชนี (27 กันยายน พ.ศ. 2482 – 3 กันยายน พ.ศ. 2557) เป็นจิตรกร ช่างเขียนรูป ชาวจังหวัดเชียงราย ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2544 เกิดที่อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ชีวิตวัยเยาว์และการศึกษา[แก้]

ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2544 สาขาจิตรกรรม

พ.ศ. 2485 – 2491 ศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม จังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2492 – 2498 ศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2498 – 2500 ศึกษาระดับครูประถมการช่าง (ปปช.) จากโรงเรียนเพาะช่าง พ.ศ. 2500 – 2505 ศึกษาปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะจิตรกรรมประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2506 – 2512 ศึกษาระดับปริญญาโท ทางด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ (Rijksakademie van Beeldende Kunsten)

ถวัลย์ ดัชนี ศึกษาชั้นมูลและระดับประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม ต่อมาบิดาย้ายมาปฏิบัติงานสรรพสามิตที่อำเภอเมืองพะเยา จึงเรียนต่อชั้นประถมที่โรงเรียนบุญนิธิซึ่งตั้งอยู่ริมชายกว๊านพะเยา และชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม เมื่อบิดาย้ายกลับเชียงรายจึงเข้าเรียนจนจบชั้นชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ของสมัยนั้น

ถวัลย์มีแววด้านการวาดรูปมาตั้งแต่ชั้นมูลและชั้นประถม สามารถวาดตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัว นอกจากจะมีความจำเป็นเลิศสามารถจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นได้ทุกชั้นปีทั้งที่เชียงรายและพะเยาแล้ว เมื่อถวัลย์มีอายุ 8–9 ขวบก็มีความคิดแผลง ๆ จำเรื่องนายมั่นนายคงจากละครวิทยุปลุกใจยุคปลายและหลังสงคราม เที่ยวชักชวนเพื่อนกรีดเลือดสาบานไปอยู่ดงพญาเย็นด้วยกันเมื่อโตขึ้น เป็นต้น

เมื่อจบชั้นมัธยม 6 ที่เชียงราย ถวัลย์ก็ได้รับทุนมาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง และได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ถวัลย์ ดัชนี จึงเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็น "ศิษย์รุ่นท้าย ๆ ของศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี"

ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 200+ แต่เมื่อขึ้นปี 2 กลับทำได้แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ

การค้นหาและการพบตัวเอง[แก้]

คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ดังกล่าวนี้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมด เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม ที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้ นั่นคือ ศิลปินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก, ศิลปินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า Giger (กีเกอร์) ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยน และศิลปินแห่งชาติของไทย ถวัลย์ ดัชนี

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น รูปเขียนขนาดใหญ่ของเขาหลายรูปถูกนักเรียนกรีดทำลาย ด้วยเหตุที่ว่างานของเขานั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี กว่าคนไทยจะยอมรับได้ เขาก็ต้องเดินตากแดดตากฝนนานอยู่ถึงสามสิบกว่าปี ในปัจจุบันผลงานของเขาได้รับการยอมรับ และได้รับการยกย่องชื่นชมว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ อีกทั้งเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะทั่วไปอีกด้วย

ถวัลย์ ดัชนี ได้ฝากศิลปะไทยจิตวิญญาณตะวันออกของเขา ไว้ในหลาย ๆ ที่ในโลก "ผลงานบางส่วนถูกเขียนขึ้นในปราสาทที่มีถึง 500 ห้อง ในประเทศเยอรมนี ซึ่งมีชื่อว่าปราสาทกอททอฟ (Gottorf Castle) " ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ปราสาทนี้ไม่เปิดให้เข้าชมแล้ว เพราะอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้มีหยดน้ำมาเกาะบนกำแพง ทำให้ภาพเสียหาย แต่รายการโทรทัศน์ที่ได้เข้าไปถ่ายทำเป็นรายการสุดท้ายนั่นคือ รายการชีพจรลงเท้า

ยามว่างจากการเขียนรูป ถวัลย์ ดัชนี จะเดินไปในป่าเพื่อหาเขากวางที่ผลัดแล้วมาเก็บไว้ เพื่อเป็นเครื่องลับจินตนาการให้เฉียบคมอยู่ตลอดเวลา

รางวัลที่เคยได้รับ[แก้]

พ.ศ. 2503 รางวัลที่ 2 การประกวดศิลปกรรม ณ วังสวนผักกาด

พ.ศ. 2505 รางวัลที่ 1 การประกวดศิลปกรรม จัดโดย องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพ

พ.ศ. 2528 ได้รับรางวัลเกียรติยศเหรียญทองจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในฐานะจิตรกรผู้สร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย

พ.ศ. 2540 ได้รับเลือกจากองค์การสหประชาชาติ ให้เป็นผู้แทนวัฒนธรรมทางศิลปะภาคตะวันออกไปแสดงผลงานที่ นิวยอร์ก ปารีส โรม ลิสบอน แคนเบอร่า และโตเกียว ตามลำดับ

พ.ศ. 2544 ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการรางวัลฟูกูโอกะสาขาศิลปะและวัฒนธรรมให้รับรางวัล Arts and Culture Prize

ภาพลักษณ์ของถวัลย์ ดัชนี[แก้]

ภาพลักษณ์ของถวัลย์ ดัชนี ที่ปรากฏต่อสาธารณชนคือ ชายร่างใหญ่ ค่อนข้างเจ้าเนื้อ แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเหนือสีครามเข้ม หรือสีกรัก มีเขี้ยวเล็บ กระดูกสัตว์ป่าเป็นเครื่องประดับ นับตั้งแต่อายุ 55 ปี ไม่เคยใส่เครื่องประดับกายชนิดใดเลย รูปลักษณ์ที่ปรากฏเป็นจุดยืนอันเด่นชัดของ ถวัลย์ ดัชนี ที่ไม่ยอมรับแฟชั่นหรือกระแสวัฒนธรรมทางวัตถุใด ๆ ชีวิตส่วนตัวเป็นคนสมถะ กินน้อย นอนน้อย ทำงานมาก มีงานวาดรูปเป็นกิจนิสัย ตลอดชีวิตไม่เคยข้องแวะกับอบายมุขหรือสิ่งเสพติดใด ๆ เป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ถวัลย์ศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินดี ปฏิบัติสมาธิด้วยการทำงานวาดรูป จึงสามารถนำปรัชญาธรรมในพุทธศาสนามาเป็น แรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะจนได้ชื่อว่าเป็นสื่อกลางเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าหากันในยุคปัจจุบัน[1]

ฉายา[แก้]

ถวัลย์ ดัชนี ได้รับฉายาว่า "จักรพรรดิแห่งผืนผ้าใบ" [2]และยังได้ฉายาร่วมกับ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินรุ่นน้องที่เป็นชาวเชียงรายเช่นเดียวกันว่า "เฉลิมชัย-สวรรค์ ถวัลย์-นรก" เนื่องจากผลงานของเฉลิมชัยมักมุ่งเน้นไปที่ภาพสวรรค์ หรือภพภูมิแห่งนิพพาน แต่งานของถวัลย์กลับให้อารมณ์ตรงกันข้าม เพราะมุ่งเน้นไปที่ความน่าสะพรึงกลัว หรือภาพของบาปหรือกิเลสในตัวตนมนุษย์[3]

การทำประโยชน์เพื่อสังคม[แก้]

ถวัลย์ ดัชนี มีทรัพย์อันเกิดจากการวาดรูปค่อนข้างมากในความรู้สึกของคนทั่วไป แต่สำหรับถวัลย์แล้ว เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด เงินไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ มากนัก เขายังคงเป็นถวัลย์ ดัชนี ผู้มีชีวิตเรียบง่าย นอบน้อมถ่อมตน ยังคงกินน้อย นอนน้อย ทำงานวาดรูปมากสม่ำเสมออยู่เช่นเดิม ถวัลย์ผันเงินส่วนใหญ่ไปทำประโยชน์แก่วงการศิลปะ ทั้งวงการศึกษาและการสร้างสรรค์ เขายังหวังอยู่ว่าวันหนึ่งสังคมไทยจะให้ความสำคัญแก่ ศิลปะและการสร้างสุนทรียรสให้แก่ผู้ตน เขาทุ่มเทเวลาส่วนมากฟูมฟักศิลปสถาน ที่ชาวบ้านเรียกว่าบ้านดำ นางแล ที่จังหวัดเชียงรายบ้านเกิด ให้กลายเป็นสถานที่ทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมของชาติด้วยการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้านในเนื้อที่กว่าร้อยไร่ ประกอบด้วยอาคารแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือกว่า 40 หลัง และอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์หลายหลังสำหรับจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน (folk art) ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ถวัลย์ ดัชนีใช้เวลารวบรวมด้วยความตั้งใจมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์บ้านดำ เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวัน

ตลอดระยะ 25 ปีที่ผ่านมา ถวัลย์ ดัชนี อยู่เบื้องหลังการรวมตัวของช่างผู้รังสรรค์ศิลปะ ทั้งช่างในท้องถิ่นและภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เพื่อเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม มีผลงานศิลปะหลากหลายออกสู่สายตาสาธารณชนซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก และยังได้บริจาคเงิน 12 ล้านบาท จัดตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ด้วยการใช้ดอกผลจากกองทุนนี้สนับสนุนการศึกษาของสถาบันที่ถวัลย์เคยเกี่ยวข้องได้แก่ โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม โรงเรียนสามัคคีวิทยา จังหวัดเชียงราย วิทยาเขตเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์สถาบันละ 10 ทุน ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ทุนสนับสนุนสอนศิลปะไทย โดย กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ทุนวิจัยแก่มูลนิธิ ม.ล.มานิจ ชุมสาย ณ อยุธยา ทุนมูลนิธิบ้านอาจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎเชียงราย บูรณปฏิสังขรณ์วังพญาไท กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ถวัลย์ ดัชนี ยังเป็นกรรมการตัดสินงานศิลปกรรมแห่งชาติ รางวัลจิตรกรรมบัวหลวง รางวัลศิลปกรรมร่วมสมัย ธนาคารกสิกรไทย รางวัลพานาโซนิค ศิลปะร่วมสมัยมาตลอดระยะเวลา 25 ปี เป็นมาสเตอร์เอเชีย อบรมยุวศิลปินทั่วเอเชีย 10 ประเทศ เป็นอาจารย์ในพำนักสอนศิลปะ ปรัชญาทั้งในยุโรป อเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหลายมหาวิทยาลัย สถาบันศิลปะหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศให้ทุนวิจัยศิลปินในพำนักที่บ้านดำ นางแล มาตลอด 25 ปี แก่ศิลปินทั่วโลกโดยทุนส่วนตัว ทะนุบำรุงจิตรกร ปฏิมากร คีตกร นาฏกร ทั้งในและต่างประเทศมาตลอดเวลาของชีวิต เขียนบทนำ บทความแนะนำตัวผู้รังสรรค์ศิลปะมาโดยตลอด หลังจากอายุ 60 ปี ร่วมมือกับชาวสล่าเชียงรายทำงานเผยแพร่อนุรักษ์ วิจัยระบบนิเวศวิทยาเชิงศิลปะ และรวบรวมงานศิลปะทางมานุษยวิทยา พัฒนาไปสู่ความร่วมสมัยเป็นประธานและหัวหน้าคณะทำงานจิตวิญญาณตะวันออก ลมหายใจไทย ร่วมมือกับบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานบริษัทดีแทค จัดประกวดงานศิลปะร่วมสมัยขึ้นเป็นปีแรก ใน พ.ศ. 2545 เขียนตำรากายวิภาคคน สัตว์ แมลง สัตว์เลื้อยคลาน และนก จัดพิมพ์โดยสหประชาชาติ ร่วมมือกับ โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ให้ทุนวิจัยดนตรี กวีและการละเล่นพื้นเมือง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ทุนแก่ยุวจิตรกรเชียงรายที่เขียนภาพผนังหลายวัดในจังหวัดเชียงราย ร่วมมือกับไร่แม่ฟ้าหลวง สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงราย จัดนิทรรศการหมุนเวียนตลอด 25 ปี ให้ทุนสนับสนุนสมาคมศิษย์เก่าเพาะช่าง มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยตลอด[4]

วาระสุดท้ายแห่งชีวิต[แก้]

ถวัลย์ ดัชนี เริ่มป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 โดยเข้ารับการรักษาอาการป่วย ณ โรงพยาบาลรามคำแหง นานกว่า 3 เดือน จนเมื่อเวลา 02.15 น. ของวันที่ 3 กันยายน ถวัลย์ ดัชนี ได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ จากอาการตับวาย ซึ่งบุตรชาย นายดอยธิเบศร์ ดัชนี ประกาศผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่าบิดาได้เสียชีวิตลงแล้ว[5] ถวัลย์ ดัชนี มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน และความดัน เมื่อประมาณปี 2555 ได้เข้ารับการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตซึ่งมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ต่อมาเมื่อต้นปี 2557 ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย และในช่วงปลายเดือนมิถุนายนจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างจริงจัง จนกระทั่งพบว่าเชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ตับและปอด มีอาการไตวาย จากนั้นอาการทรุดหนักจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ นายถวัลย์ ดัชนี ณ ศาลา 1 (เตชะอิทธิพร) วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 15.00 น.[6] สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ถวัลย์ ดัชนี ณ เมรุด้านใต้ วัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 เวลา 17.00 น.[7][8][9]

เกร็ดเกี่ยวกับนามสกุลเดิม[แก้]

จากการที่ถวัลย์ได้ออกรายการโทรทัศน์ของสถานีแห่งหนึ่งและเล่าเรื่องตลก ๆ เล่นขณะออกรายการตามอุปนิสัยของคนอารมณ์ขันถึงนามสกุลตนเองว่า ที่มาของนามสกุลเดิมไม่ใช่ดัชนี แต่เป็น ดักชะนี เนื่องจาก บิดา ของปู่ มีอาชีพ ดักชะนี ขาย แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเพื่อความไพเราะและเหมาะสม ซึ่งต่อมาได้มีการเล่าต่อ ๆ กันไปและเผยแพร่ไปในหนังสือพิมพ์[3]จนเกิดความเข้าใจผิด ในรายการโทรทัศน์เดียวกันนั้น ถวัลย์ยังได้แต่งเรื่องตลกฉับพลันเกี่ยวกับตนเองด้วยว่า เมื่อตอนเป็นเด็กถูกสุนัขบ้ากัดแล้วไม่ได้รักษาให้หายขาด (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) โตขึ้นตนจึงเป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ดัชนี เป็นนามสกุลที่ครอบครัวถวัลย์ใช้มาแต่เริ่มมีการประกาศขนานนามสกุล เรื่องนี้จึงเป็นเกร็ดขำขันที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ครอบครัว[แก้]

ถวัลย์ ดัชนี เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ได้แก่ พ.ต.สว่าง ดัชนี (ถึงแก่กรรม), นายสมจิตต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม), นายวสันต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) และนายถวัลย์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม)

ถวัลย์ ดัชนี สมรสกับนางมากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุค มีบุตร 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "นายถวัลย์ ดัชนี". www.thawan-duchanee.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 สิงหาคม 2016.
  2. "ไทยบันเทิง". ไทยพีบีเอส. 3 กันยายน 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กันยายน 2014. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2014.
  3. 3.0 3.1 "เรื่องลับของ "ถวัลย์"". คอลัมน์ เคียงข่าว. เดลินิวส์. No. 23702. 4 กันยายน 2014. หน้า 1 ต่อหน้า 13.
  4. "บทบาทสังคม". www.thawan-duchanee.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 สิงหาคม 2016.
  5. "สิ้น 'ถวัลย์ ดัชนี' ศิลปินแห่งชาติวัย 74 ปี". ไทยรัฐ. 3 กันยายน 2014.
  6. "สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ "ถวัลย์ ดัชนี" คนเชียงรายระดมความคิด จัดงาน 100 วัน อย่างยิ่งใหญ่". ผู้จัดการออนไลน์. 4 กันยายน 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กันยายน 2014.
  7. "พระราชทานเพลิงศพ 'ถวัลย์ ดัชนี' ญาตินำอัฐิเก็บบ้านดำ". ไทยรัฐ. 10 กันยายน 2014.
  8. "สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพ "ถวัลย์ ดัชนี"". ผู้จัดการออนไลน์. 10 กันยายน 2014.
  9. "สมเด็จพระเทพฯเสด็จพระราชทานเพลิงศพ'ถวัลย์ ดัชนี'". กรุงเทพธุรกิจ. 9 กันยายน 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กันยายน 2014.
  10. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์. เก็บถาวร 26 กรกฎาคม 2022 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่ม 119 ตอนที่ 22 ข หน้า 138. 4 ธันวาคม 2545.