อุทัย แก้วละเอียด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทัย แก้วละเอียด
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด23 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
เสียชีวิต3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 (87 ปี)
บิดาถึก แก้วละเอียด
มารดาละออ แก้วละเอียด
คู่สมรสประทิน เทียนประมุข (หย่า)
อัจฉรา แก้วละเอียด
รางวัล
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2552 - สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)

อุทัย แก้วละเอียด (23 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 – 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2552[1] และครูผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย

ประวัติ[แก้]

อุทัย แก้วละเอียด เป็นบุตรของถึก แก้วละเอียด และละออ แก้วละเอียด เกิดเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ที่ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สมรสครั้งแรกกับประทิน เทียนประมุข มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นหญิง 2 คน และชาย 1 คน ต่อมาได้แยกทางกัน และสมรสใหม่กับอัจฉรา (สกุลเดิม โขมมัย)

และมีพี่น้อง 4 คน คือ

1.อุทัย แก้วละเอียด

2.สมัคร แก้วละเอียด

3.ชื่อเล่น เปี๊ยก

4.ชื่อเล่น จวบ

การศึกษา[แก้]

อุทัยเริ่มต้นเข้าศึกษาชั้นมูลจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดอัมพวา ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในขณะนั้น ชีวิตของอุทัยผูกพันกับวงดนตรีไทยมาโดยตลอด ปู่ของเขาเป็นนักดนตรีเอก ส่วนย่าเป็นแม่เพลงฉ่อย บิดาเป็นมือฆ้อง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ด้วยชีวิตสิ่งแวดล้อมที่คลุกคลีกับดนตรีไทยและสืบทอดสายเลือด ทำให้อุทัยรักและหลงใหลในศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีไทยอย่างเต็มเปี่ยม

เมื่อเยาว์วัยบิดาไม่ต้องการให้บุตรมีอาชีพเป็นนักดนตรีไทย จึงไม่ยอมให้ฝึกหัดเล่นดนตรีและไม่ต่อเพลงให้ อุทัยจึงมักจะแอบไปฝึกเรียนดนตรีไทยด้วยตนเองเสมอ ๆ ขณะอายุได้ 6 ขวบ ได้หนีไปขอฝึกเรียนดนตรีไทยกับปาน นิลวงศ์ โดยเริ่มฝึกเรียนฆ้องวงใหญ่ ปานเห็นความสามารถในการจำเพลง ความเฉลียวฉลาดในการต่อเพลง และพรสวรรค์ทางด้านดนตรีไทย จึงให้ฝึกเรียนระนาดเอกจนอายุ 8 ขวบ และได้รับอนุญาตให้ออกแสดงในงานต่าง ๆ รวมกับปาน โดยมีหน้าที่เป็นผู้ตีฆ้องวงเรื่อยมา ด้วยความเป็นนักดนตรีในสายเลือดทำให้อุทัยไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ กลับแสวงหาความรู้ในศิลปะดนตรีไทย จนได้พบพริ้ม นักปี่ ในวงของปี่พาทย์มอญ อุทัยจึงไปขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อฝึกเรียนดนตรีปี่พาทย์มอญ ขณะนั้นกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พริ้มได้จัดพิธีอุปสมบทให้บุตรชาย ในงานนี้ได้เชิญหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มาร่วมงาน พริ้มได้จัดการแสดงละครโดยให้อุทัยเป็นผู้ตีระนาดเอกประกอบการแสดงละคร ทำให้หลวงประดิษฐไพเราะ ได้เห็นความสามารถในเชิงดนตรีไทย เกิดความพึงพอใจ จึงไปขออุทัยกับบิดา-มารดา ยุคนี้เป็นยุคที่ดนตรีไทยกำลังเฟื่องฟูเป็นที่นิยม วงต่าง ๆ จะค้นหานักดนตรีฝีมือดี ๆ ให้มาเป็นนักดนตรีประจำวง

ในระหว่างอยู่กับหลวงประดิษฐไพเราะ อุทัยตั้งใจมุ่งมั่น ทุ่มเทกับการฝึกซ้อมจนสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชิ้น เขาได้รับความรักและความเมตตาให้ไปร่วมแสดงในงานบรรเลงปี่พาทย์วงหลวงประดิษฐไพเราะ เมื่อนักดนตรีคนใดไม่มา หรือเครื่องดนตรีบางชิ้นว่างลงเขาจะเป็นผู้บรรเลงแทน และสามารถบรรเลงได้ดีทุก ๆ หน้าที่ ตั้งแต่เครื่องดนตรีประกอบจังหวัดจนถึงระนาดเอก ฆ้อง ระนาดทุ้ม จากความรู้ความสามารถ มีปฏิภาณไหวพริบ ความขยันหมั่นเพียร อดทนมุ่งมั่น ตั้งใจในการฝึกซ้อมดนตรีไทยเพื่อพัฒนาฝีมือของตนอย่างต่อเนื่องเป็นที่พึงพอใจ ได้รับความรักและเมตตาจากหลวงประดิษฐไพเราะจนตั้งฉายาให้อุทัยว่า "เผือดน้อย" เพราะตีระนาดได้ไหว ฝีมือจัดจ้าน ไม่ต่างจากนักดนตรีมือระนาดรุ่นพี่ เป็นที่กล่าวขานในวงการนักดนตรีไทยในยุคนั้น ชื่อว่าเผือด ด้วยพรสวรรค์ และมีความจำเป็นเลิศ ได้รับการฝึกฝนร้องเพลง และประพันธ์เพลงด้วย

การทำงาน[แก้]

อุทัย ได้ติดตามรับใช้หลวงประดิษฐไพเราะ ไปทุกหนทุกแห่ง โดยให้เป็นนักดนตรีประจำวง ด้วยฝีมือที่จัดจ้าน และมีปฏิภาณไหวพริบ แม้กระทั่งการร้องเพลงก็สามารถพลิกแพลงได้ดีเป็นที่พอใจของหลวงประดิษฐไพเราะ จนได้เอ่ยคำพูดออกมาว่า "ทัยเป็นคนฉลาดดี เอาไปไหน ไม่อายใคร มีความขยัน มีนิสัยเรียบร้อย" ด้วยลักษณะพิเศษเฉพาะตน เมื่อมีงานแสดงสำคัญ ๆ งานรัฐธรรมนูญ งานสังคีตศาลา หลวงประดิษฐไพเราะจะให้ลูกศิษย์ที่มีฝีมือดี ไปรวมวงเล่นดนตรีไทย มีบุญยงค์ เกตุคง บรรเลงระนาดเอก บุญยัง เกตุคง บรรเลงระนาดทุ้ม อุทัยบรรเลงฆ้องวง บางครั้งให้บรรเลงระนาดเอกสลับกับบุญยงค์ และประสิทธิ์ ถาวร ด้วยความเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย หลวงประดิษฐไพเราะจึงมีความไว้วางใจมอบหมายให้อุทัยรับหน้าที่ดูแลพวกละคร ซึ่งในขณะนั้นการละครเป็นที่นิยม การแสดงละครตะวันตกเข้ามาเฟื่องฟูในยุคนั้น หลวงประดิษฐไพเราะ ได้ตั้งโรงละครขึ้นในบ้านชื่อ "ผกาวลี" โดยให้ลัดดา สารตายนต์ เป็นผู้ควบคุมการแสดง ส่วนด้านดนตรีไทยให้อุทัยควบคุมโดยมีการบรรเลงเพลงไทยผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากล ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นบุตรชายของหลวงประดิษฐไพเราะ ควบคุมเอง เมื่ออุทัยอายุครบที่จะอุปสมบท หลวงประดิษฐไพเราะ ได้มีเมตตาจัดการอุปสมบทให้ หลังจากลาสิกขา หลวงประดิษฐไพเราะเห็นความสามารถโดดเด่นในเชิงดนตรีไทยของอุทัย จึงให้กลับไปตั้งวงดนตรีไทยที่จังหวัดสมุทรสงคราม และตั้งชื่อให้ว่า "วงไทยบรรเลง" ด้วยความกตัญญู ยึดถือคำสอนของหลวงประดิษฐไพเราะ อุทัยจึงกลับไปเริ่มสอนดนตรีไทย และตั้งวงปี่พาทย์ที่อัมพวาบ้านเกิด

อุทัยได้ตั้งใจและมุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ซึ่งเป็นเด็กแถวละแวกบ้านทั้งใกล้และไกล ทุกคนจะมาอยู่รวมกันฝึกซ้อมเพลง และต่อเพลง นักดนตรีคนใดมีฝีมือเก่งกาจออกงานแสดงได้ ก็จะให้ออกงานแสดง เมื่อว่างงานก็จะฝึกซ้อมเพลงถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ เมื่อมีการประชันฝีมือจะส่งวงดนตรีไทยบรรเลงเข้าประชัน ในปัจจุบันวงไทยบรรเลงเป็นวงดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดวงหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับรางวัลชนะเลิกจากการส่งวงประชันหลายครั้ง เยาวชนจากวงไทยบรรเลงจะได้รับการคัดเลือกเป็นยุวชนในพระบรมราชูปถัมภ์ของมูลนิธิราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หลังจากที่วงไทยบรรเลงเป็นปึกแผ่นแล้ว อุทัยได้มอบหมายให้สมัคร แก้วละเอียด น้องชาย เป็นผู้ควบคุมดูแลวงแทน

นอกจากนี้ อุทัยยังได้บรรเลงระนาดในรายการ “ดร.อุทิศแนะดนตรีไทย” ออกเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชนมาเป็นเวลากว่า 30 ปีและบรรเลงปี่พาทย์ไว้กับงานบันทึกเสียงเพลงไทยอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งเพลงโบราณ เพลงชุดความรู้สายวิชาหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และเพลงที่อุทิศ นาคสวัสดิ์ ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ ได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีไทยไปเผยแพร่ยังประเทศสหรัฐ อาร์เจนตินา แคนาดา เม็กซิโก ปานามา ชิลี บราซิล กับคุณหญิงชิ้น ศิลปะบรรเลง เป็นเวลา 9 เดือน มีผลงานประพันธ์เพลงจำนวนมาก เช่น เพลงอุสเรน เถา เทพทอง เถา ดอกไม้เหนือ เถา สุดคะนึง เถา โหมโรงมัธยมศึกษา โหมโรงอักษรศาสตร์ ฯลฯ ผลงานเพลงมีความไพเราะมาก ในวงการดนตรีปัจจุบันก็ยังมีการนำมาใช้บรรเลงอยู่ ได้รักษาตำราและพิธีการไหว้ครูของหลวงประดิษฐ์ไพเราะไว้อย่างเคร่งครัดต่อจากรุ่นครูประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง และอุทัยยังได้รับเชิญให้แสดงเดี่ยวระนาดเอก ในการแสดงระนาดโลก ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้รับรางวัลเพชรสยาม สาขาดนตรีไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ยังคงยึดมั่นตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ทำให้มีลูกศิษย์จำนวนมากยังดูแลและปรับวงไทยบรรเลงที่อำเภออัมพวาบ้านเกิด จนเป็นวงดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงและยังสร้างสรรค์ผลงานเพลงอย่างต่อเนื่องนายอุทัย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พ.ศ. 2552

เสียชีวิต[แก้]

อุทัย แก้วละเอียด เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 06.40 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยอาการปอดติดเชื้อ สิริอายุ 88 ปี โดยทางทายาท ได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เวลา 17.00 น. และสวดพระอภิธรรมศพ เวลา 18.00 น. จากนั้นระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ มีกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 5 วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งทางครอบครัวจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน[2] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]