ฉ่อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เพลงฉ่อย)

ฉ่อย เป็นเพลงพื้นเมืองที่มีการแสดงท่าทาง และการร้องคล้ายกับลำตัด โดยมีผู้แสดงประกอบด้วย ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ฝ่ายละประมาณ 2-3 คน ในขณะที่พ่อเพลงแม่เพลงร้องโต้ตอบกันผู้เล่นคนอื่นๆ จะทำหน้าที่เป็นลูกคู่ เนื้อหาที่ร้องส่วนใหญ่มีทั้งเรื่อง ทางโลก ทางธรรม ชิงชู้ และมักจะมีถ้อยคำ ที่มีความหมายสองแง่สองง่าม การแสดงเพลงฉ่อยจะไม่มีเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ แต่จะใช้การตบมือเป็นจังหวะแทน และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลงฉ่อยคือ ลูกคู่จะร้องรับด้วยคำว่า “เอ่ ชา เอ้ชา ชา ชาชาชา หน่อยแม่” ตัวอย่างเช่น (แม่เพลง) เอ่ง เงอ เงย… เรากันหนาเรามาพากันหนี ก็ไปมั่งไปมีมีถมไป เรารักกันหนอมาขึ้นหอลงโรง กุศลไม่ส่งละมันก็ต้องฉิบหาย เอาพระสงฆ์มาเป็นองค์ประธาน สวดเจ็ดตำนานพระก็เหนื่อยแทบตาย พี่มารักน้องคำหนึ่งก็พาสองคำก็พา ของฉันไม่ได้ราคาสองไพ ของฉันราคานะเป็นหมื่นหนอเป็นแสน ของฉันไม่ใช่แหวนหนอจะมาสวมใส่ พี่จะเอาเงินมาดองจะเอาทองมาให้ ถ้าพี่จะเอาอีแปะจนใจน้องจะแกะให้ไม่ได้ พ่อแม่น้องเลี้ยงน้องมายาก เขาจะกินขันหมากน้องให้ได้ (ให้ได้) ถ้ารักน้องจริงจะให้มาสู่ขอกะพ่อแม่ ถ้าพี่ชายมารักแลก็เฉยไป ถ้ารักน้องจริงก็อย่าทิ้งน้องนะ ขอให้คุณพระช่วยเป็นประธานให้ (ลูกคู่รับ) เอ่ ชา เอ๊ ช้า ชา ฉ่า ชา นอย แม่ เอย เพลงฉ่อยมีการแสดงอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง เช่น สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา

ประวัติ[แก้]

เพลงฉ่อย มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า เพลงไอ้เป๋ เนื่องจากพ่อเพลงฉ่อย ยุคแรกชื่อ ตาเป๋ มี ยายมา เป็นภรรยา เริ่มแรกเพลงฉ่อย หรือ เพลงเป๋ เป็นที่นิยมในแถบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ จังหวัดใกล้เคียง ประมาณก่อนยุค พ.ศ. 2437 เป็นต้นมา ส่วนครูเพลงฉ่อย ยุคแรกเริ่มก็มี ครูเปลี่ยน - ครูเป๋ - ครูฉิม - ครูศรี - ครูบุญมา - ครูบุญมี ครูเพลงเหล่านี้มีแค่ชื่อ และ ตำนานส่วนประวัติไม่มีเลย เพลงฉ่อย นี้ปรับปรุงและดัดแปลงมาจาก เพลงโคราช - เพลงเรือ และเพลงปรบไก่ เป็นต้น ก็สาเหตุเนื่องจาก เวลาปรบมือเป็นจังหวะเพลงปรบไก่ ร้องบทไหว้ครูและเกริ่นอย่างเพลงโคราช ใช้กลอนก็ใช้คล้ายกับเพลงเรือ แต่อย่างไรเพลงฉ่อย ก็น่าจะอยู่ในยุคต้นสมัยรัชกาลที่ 5

นอกจากนี้แล้วเพลงฉ่อย ยังมีชื่ออื่นอีก "ฝ่ายเหนือ" อาจหมายถึงจังหวัดทางล่างเช่น จังหวัดอุทัยธานี - จังหวัดนครสวรรค์ - จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น

ส่วนคำว่า "เพลงตะขาบ" (ต้นฉบับเดิมใช้ ข.ขวด) คนเพลงเก่า ๆ เรียกเพลง..วง.. เพราะของเดิมยืนเป็นวง เล่นกับลานดิน เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีเวที ดั่งกับปัจจุบันนี้ ส่วนบ้างคนก็เรียกว่า "เพลงฉ่า" เพราะเวลารับเพลง รับว่า "เอ่ชา เอ๊ช้า ชาฉ่าชา ชา หนอยแม่" เลยเรียกติดกัน จนปัจจุบันคนก็ยังเอามาร้อง เล่นกันส่วนมากเป็นท่อนนี้ ชาวโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ก็เรียกศัพย์บัญญัติแปลก ๆ พิสดารอีกว่า "เพลงทอดมัน"

ปัจจุบัน นักแสดงเพลงฉ่อยที่มีชื่อเสียงก็ได้แก่ ขวัญจิต ศรีประจันต์ และ สามน้า ( โย่ง เชิญยิ้ม นง เชิญยิ้ม พวง เชิญยิ้ม )

เอกลักษณ์เพลงฉ่อยบางส่วน[แก้]

  • การขึ้นเพลงทั่วไป จะขึ้นว่าฉัดช่าฉัดชา ฉัดช่าฉัดฉ่า เอิงเอิงเออฉะเอิงเอ้ย
  • ในการแสดงสดสามน้า ในการทอร์คโชว์อาจารย์จตุพล ชมพูนิช น้าพวง ขึ้นว่า เอ้อ เอิงเออ เอิงเออ เออเอ้อเออเหอ เอ้อเออ เอิงเงย ฉัดช่าฉัดชา ฉัดช่าฉัดฉ่า เอิงเอิงเออฉะเอิงเอ้ย
  • ทางจังหวัดอุทัยธานี - จังหวัดนครสวรรค์ รับเพลงว่า เอ่ชา เอชา เอ๊ชา ชาฉ่าชา
  • ส่วนทาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา - จังหวัดอ่างทอง - จังหวัดสุพรรณบุรี รับเพลงว่า เอ่ชา ชา ชาฉ่าชา
  • ส่วนทางกรุงเทพมหานคร ทำนองผู้ชาย รับเพลงว่า เอ่ชา เอ๊ชา ชา ชาฉ่าชา นอยแม่ และทำนองผู้หญิง รับเพลงว่า เอ่ชา ชา ชาฉ่าชา นอยแม่
  • ส่วนทางราชบุรี รับวา เอ่ชา เอชา ชาชาฉ่าชา หนอยแม่

อ้างอิง[แก้]