สุดจิตต์ อนันตกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุดจิตต์ ดุริยประณีต

ไฟล์:สุดจิตต์ ดุริยประณีต 0001.JPG
ศิลปินแห่งชาติ
สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์)
พ.ศ. 2536
เกิด16 กรกฎาคม พ.ศ. 2471
กรุงเทพมหานคร
เสียชีวิต24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 (84 ปี)
กรุงเทพมหานคร
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นสุดจิตต์ อนันตกุล
อาชีพข้าราชการพลเรือนสามัญ
นักดนตรีไทย
มีชื่อเสียงจากครูสุดจิตต์
คู่สมรสนายพันธุ์ อนันตกุล
บุตรนางชยันตี อนันตกุล

สุดจิตต์ อนันตกุล หรือ สุดจิตต์ ดุริยประณีต (16 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) พ.ศ. 2536 อดีตหัวหน้างานบันเทิงดนตรีไทย ฝ่ายกระจายเสียงในประเทศ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ อดีตหัวหน้าคณะดุริยประณีต แห่งบ้านบางลำภู

ประวัติ[แก้]

นางสุดจิตต์ อนันตกุล มีนามเดิมว่า สุดจิตต์ ดุริยประณีต เกิดเมื่อวันจันทร์ แรม 15 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 ที่บ้านบางลำพู พระนคร เป็นธิดาของ นายศุข ดุริยประณีต และนางแถม ดุริยประณีต แห่งสำนักดนตรีบ้านบางลำภู ปัจจุบันตั้งอยู่บ้านเลขที่ 83 ซอยลำพู (หรือซอยข้างวัดสังเวชวิศยาราม) ถนนสามเสน 1 แขวงบางลำภูบน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีพี่น้องร่วมบิดามารดา จำนวน 10 คน คือ

  • นางชุบ (ดุริยประณีต) ชุ่มชูศาสตร์
  • นายโชติ ดุริยประณีต
  • นายชื้น ดุริยประณีต
  • นายชั้น ดุริยประณีต
  • นางสุดา (เชื่อม) (ดุริยประณีต) เขียววิจิตร
  • นางแช่มช้อย (แช่ม) (ดุริยประณีต) ดุริยพันธุ์
  • นางชม (เขียว) (ดุริยประณีต) รุ่งเรือง
  • เด็กหญิงตุ๊กตา ดุริยประณีต
  • นางทัศนีย์ (ดุริยประณีต) พิณพาทย์
  • นางสุดจิตต์ (ดุริยประณีต) อนันตกุล
  • นายสืบสุด ดุริยประณีต

ในจำนวนพี่น้อง 10 คน ได้สืบทอดวิชาชีพด้านดนตรีไทยจากบิดามารดา และมีลูกหลานว่านเครือเป็นนักดนตรีไทยอยู่ในปัจจุบันจำนวนมาก

สายสกุลที่เกี่ยวข้องกันนอกจาก "ดุริยประณีต" แล้ว ได้แก่ "ดุริยพันธุ์" "เขียววิจิตร" "พิณพาทย์" "รุ่งเรือง" "เชยเกษ" "โตสง่า" และอีกหลายตระกูลที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ นอกจากนี้ยังมีนักดนตรี และผู้คนจากภายนอกที่แม้มิได้เป็นเครือญาติกันแต่ก็ได้เข้ามาร่วมกันผลิตผลงานดนตรีจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป สำนักดนตรีบ้านบางลำพูนี้ถือกันว่าเป็นบ้านที่มีความเข้มแข็งทางด้านดนตรีไทยมากที่สุดบ้านหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับพื้นฐานชีวิตเมื่อวัยเยาว์ นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต เองนั้น นับว่าเป็นบุตรสาวคนสุดท้ายของนายศุข และนางแถม ดุริยประณีต (ยังมีน้องชายอีกคนหนึ่ง คือ นายสืบสุด หรือไก่ ดุริยประณีต นักระนาดเอก เป็นบุตรคนสุดท้อง) ฝ่ายบิดานั้นเป็นอดีตมือระนาดเอก ประจำคณะละครวังบ้านหม้อของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ และมารดาเป็นอดีตนางละครประจำวังเจ้าเจ๊ก ตลาดนานา เมื่อบิดามารดามาแต่งงานกัน ก็ลงหลักปักฐานมีเหย้าเรือนอยู่ย่านบางลำพู ช่วยกันทำมาหากินทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเครื่องดนตรีไทย การรับงานปี่พาทย์ ละครฟ้อนรำ และรับสอนดนตรีไทย ฝึกหัดให้แก่บุตรหลานและบุคคลภายนอก โดยได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดีจากครูดนตรีชั้นผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกันมาก่อน แวะเวียนกันมาช่วยปลูกฝังความรู้ให้แก่ทายาทของตระกูลนี้ นับว่านางสุดจิตต์ ดุริยประณีต นั้น ได้ถือกำเนิดมาท่ามกลางบรรยากาศของเสียดนตรีไทย ซึมซับความรู้ในเรื่องการขับร้องดนตรีละครฟ้อนรำและกิจการบันเทิงต่าง ๆ ของตระกูลมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย

เมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่จะได้เล่าเรียนเขียนอ่าน นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนแนบวิทยา อำเภอพระนคร ต่อมาย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนวัดใหม่อมตรส จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป ในแผนกดนตรีสากล ได้เรียนไวโอลินกับนายโฉลก เนตรสุต และเรียนเปียโนกับนายมณเฑียร แต่เรียนยังไม่ทันจบก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ต้องอพยพไปอยู่กับญาติที่บ้านกบเจา อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียนต่อที่โรงเรียนบ้านแพนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในขณะนั้น

การศึกษาทางดนตรีไทยของนางสุดจิตต์ ดุริยประณีต เนื่องจากเติบโตมาในครอบครัวดนตรีไทย จึงสามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยต่าง ๆ ได้รอบวง และเริ่มหัดดนตรีอย่างจริงจังเมื่ออายุได้ 8 ขวบ โดยนายศุข ดุริยประณีต ผู้เป็นพ่อ จับหัดฆ้องวงใหญ่ ต่อเพลงสาธุการให้ เรียนขับร้องเพลงไทยจากนางถนอม และมาหัดร้องเพลงไทยอย่างจริงจังเมื่ออายุได้ 10 ขวบ เพื่อเข้าร่วมประชันวงปี่พาทย์ศิษย์บ้านบางลำพูออกรายการวิทยุศาลาแดง ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากพวกพี่ ๆ ซี่งมีความสามารถเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการดนตรีไทย เช่น นายโชติ ดุริยประณีต นายชื้น ดุริยประณีต นางสุดา เขียววิจิตร นางแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ และนายเหนี่ยว ดุริยพันธุ์ ซึ่งเข้ามาเป็นเขยของบ้านบางลำพู จากการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของบิดามารดาและพวกพี่ ๆ ทำให้นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต มีความรู้พื้นฐานทางดนตรีและขับร้องที่ดี และมีความมั่นใจที่จะดำเนินชีวิตบนเส้นทางดนตรีไทยต่อมาไม่ยั้งหยุด

ครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ด้านการขับร้องเพลงไทยและดนตรีไทยให้นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต ในช่วงต่อ ๆ มา ได้แก่ พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน), หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง), พระยาภูมีเสวิน (จิตต์ จิตตเสวี), นายมนตรี ตราโมท, ครูสอน วงฆ้อง ฯลฯ ซึ่งทุกท่านที่เอ่ยนามมานี้ ล้วนถือเป็นเสาหลักทางวิชาการดนตรีไทยทั้งสิ้น ได้เมตตาต่อพี่น้องตระกูลดุริยประณีตเสมอในการให้วิชาความรู้ เพื่อสานต่อมรดกดนตรีไทย ซึ่งในที่สุดแล้ว นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต น้องสาวคนเล็กของตระกูลได้พิสูจน์ปัญญาบรมครูเหล่านั้นให้เป็นที่ประจักษ์

นอกจากนี้ นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต ยังได้รับการถ่ายทอดความรู้ทางด้านเพลงละครร้องจากนางเยื้อน ศรีไกรวิน (แม่เยื้อนใหญ่) และแม่ชะม้อย ฆังคะรัตน์ อดีตดาราละครร้องที่มีชื่อเสียง ได้เรียนการขับร้องเพลงหุ่นกระบอกกับ นางละม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา และยังได้เรียนนาฏศิลป์กับนางเฉลย ศุขะวณิช และนางลมูล ยมะคุปต์ อีกด้วย

เมื่อ พ.ศ. 2492 นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต ได้เข้าร่วมงานประกวดขับร้องเพลงไทยทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จัดโดยกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือ กรมประชาสัมพันธ์) ได้รับรางวัลที่ 3 โดยมีนางเจริญใจ สุนทรวาทิน ได้รับรางวัลที่ 1 และพี่สาวคือนางทัศนีย์ พิณพาทย์ ได้รับรางวัลที่ 2 ซึ่งการประกวดครั้งนี้ถือเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงแก่นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต เป็นอย่างมาก ได้รับเชิญจากคุรุสภาให้ไปสอนขับร้องเพลงไทยให้กับครูอาจารย์จากโรงเรียนต่าง ๆ

พ.ศ. 2493 นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต ได้เข้ารับราชการครู สอนวิชาขับร้องเพลงไทยที่โรงเรียนทวีธาภิเษก และยังทำหน้าที่ธุรการต่าง ๆ เช่น เก็บเงินค่าเล่าเรียน เขียนใบสุทธิ เพราะลายมือสวยอีกด้วย

จนถึง พ.ศ. 2500 นางทัศนีย์ พิณพาทย์ พี่สาวซึ่งเป็นนักร้องเพลงไทย ประจำวงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ถึงแก่กรรม เนื่องจากโรคหัวใจโต หลังจากคลอดบุตรชายคือ นายทัศนัย พิณพาทย์ ได้ 3 เดือน พันโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ จึงได้ชักชวนนางสุดจิตต์ ดุริยประณีต ย้ายเข้ามาร่วมงานที่วงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ในกาลต่อมา โดยได้เรียนวิชาขับร้องเพลงไทยเพิ่มเติมจาก นางคงศักดิ์ คำศิริ หัวหน้างานดนตรีไทย ได้มีโอกาสร่วมงานกับบรรดานักดนตรีที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในวงการดนตรีไทยที่เข้ามาร่วมวงกรมประชาสัมพันธ์ด้วยกัน อาทิ นางระตี วิเศษสุรการ (จะเข้), นางฉลวย จิยะจันทน์ (ซออู้), นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ (ขลุ่ย, ปี่, ขับร้อง), นายเขมา ชัยโสตถิ (ซออู้), นายประสงค์ พิณพาทย์ (ระนาดเอก), นายสมาน ทองศุโชติ (ฆ้องวงใหญ่), นายเมธา หมู่เย็น (ระนาดเอก), นายหลง มีป้อม (ระนาดทุ้ม), นายศิริ นักดนตรี (รอบวง), นางช้องมาศ สุนทรวาทิน (ขับร้อง), นายณรงค์ รวมบรรเลง (ขับร้อง), นางชยุดี วสวานนท์ (ขิม), นายนิพันธ์ ธนรักษ์ (ซอด้วง), นางราศรี พุ่มทองศุข (ฆ้องวง) ฯลฯ ผลงานของวงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้ฟังและผู้คนในวงการดนตรีไทย ด้วยคุณภาพของนักดนตรี นักร้อง และการนำเสนอบทเพลงไพเราะที่เป็นเอกลักษณ์ของวงให้เป็นแบบอย่างสังคมเป็นประจำ

นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต เองนั้น ได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างชื่อเสียงให้แก่วงดนตรีไทยของหน่วยงานนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมงานทางวิทยุกระจายเสียง งานการแสดงต่อสาธารณชน งานบันทึกเสียง งานจัดรายการเพลงไทยทางวิทยุ รายการ "รื่นรสดนตรีไทย" รายการแนะนำการขับร้องเพลงไทย งานบริหาร และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ แม้กระทั่งนางสุดจิตต์ ดุริยประณีต เมื่อเกษียณอายุจากราชการแล้ว ก็ยังมีความผูกพันกับทางกรมประชาสัมพันธ์อย่างแนบแน่น ได้รับการยกย่องให้เป็นข้าราชการดีเด่นของกรมประชาสัมพันธ์ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด คือ ตริตราภรณ์มงกุฎไทย

ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2531 คือ หัวหน้างานบันเทิงดนตรีไทย ฝ่ายกระจายเสียงในประเทศ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และได้รับเชิญให้ทำงานต่อเนื่องในฐานะข้าราชการบำนาญ ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย และเป็นที่ปรึกษาสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์

ด้วยเป็นผู้มีความรู้ลึกซึ้ง สามารถให้แบบแผนการขับร้องอย่างละเอียดลออ จึงมีนักร้องเพลงไทยที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ได้รับการขัดเกลาแนะนำจากนางสุดจิตต์ ดุริยประณีต มากมายเช่นกัน ลูกศิษย์ด้านการขับร้องเพลงไทยที่ถือเป็นลูกศิษย์ของท่าน เช่น นายแจ้ง คล้ายสีทอง, นางสาวสุรางค์ ดุริยพันธุ์, นางดวงเนตร ดุริยพันธุ์, นายนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์, นายศิริ วิชเวช, นายสมชาย ทับพร, นายณรงค์ รวมบรรเลง เป็นต้น จนถึงรุ่นนักร้องเพลงไทยรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง เช่น บรรจง สุขสวัสดิ์, วิฉันท์ บัวจูม,นายภราดร คุ้มพ่วงมี,นายปิยวัฒน์ ขาวผ่อง,นายสมปอง พรหมเปี่ยม, นางสาววันดี สุขนวม, นายวริศ อัศวะไพฑูรย์ เป็นต้น นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต ก็จะเอาใจใส่ แนะนำ ฝึกฝนให้อย่างจริงจัง ทั้งการขับร้องและการบรรเลงเพลงไทย ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และติดตามผลจนสำเร็จ กระทั่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้อย่างดีทุกราย เป็นเพชรต้นแบบที่ส่องประกายฉายนำ และเป็นช่างผู้เจียระไนเพชรงามอีกหลายร้อยดวงประดับวงการดนตรีไทยให้งดงามไม่รู้จบ

การเจ็บป่วย และมรณกรรม[แก้]

นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงมาโดยตลอด จนเมื่อปลาย พ.ศ. 2553 มีอาการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากเส้นโลหิตในสมองแตก ซึ่งแพทย์ต้องเจาะคอเพื่อช่วยดูดเสมหะ และต้องให้อาหารทางสายยางเข้าหลอดอาหารมาโดยตลอด จนเมื่อวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 11.10 น. นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต ก็ได้เสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และไตวาย ณ ห้องผู้ป่วยรวม ตึกอัษฎางศ์ โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุได้ 84 ปี[1] ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลาใหญ่ วัดชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับศพไว้ในพระราชานุเคราะห์มีกำหนด 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ทั้งยังทรงพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในการบำเพ็ญกุศลศพเมื่อครบ 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน และเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วัดตรีทศเทพวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เวลา 17.00 น.[2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ไทยรัฐ, ข่าววงการเพลงไทยเดิมเศร้า สิ้น 'ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต' ศิลปินแห่งชาติ! 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555, สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557.
  2. ช่อง 7, ข่าวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพนางสุดจิตต์ ดุริยประณีต เก็บถาวร 2018-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556, สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๕ ข หน้า ๕๒, ๒๘ เมษายน ๒๕๓๘
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑, ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา[ลิงก์เสีย], เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑๕๓, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕
  • วัฒนธรรมแห่งชาติ, คณะกรรมการ. เปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2553. 40 หน้า.