อารีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานลอยแยกอารีย์
วิลล่ามาร์เก็ต อารีย์
ซอยอารีย์

อารีย์ เป็นชื่อย่าน ชื่อซอย และชื่อทางแยกหนึ่งบริเวณถนนพหลโยธินและซอยพหลโยธิน 7 อยู่ระหว่างย่านสนามเป้ากับย่านสะพานควาย ในท้องที่แขวงพญาไทและแขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังการสร้างพระราชวังดุสิต และการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ–อยุธยา และกรุงเทพ–นครราชสีมา เมืองเริ่มขยายตัวในสองฟากทางรถไฟบริเวณแขวงถนนนครไชยศรี แขวงบางซื่อ แขวงจตุจักร แขวงสามเสนใน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตั้งหน่วยงานทหารจำนวนมากบริเวณทิศเหนือของเขตดุสิตและอยู่ทางทิศตะวันตกของแขวงสามเสนใน (หรือแขวงพญาไทในปัจจุบัน)

ราว พ.ศ. 2443–2479 ย่านอารีย์ยังไม่มีความสำคัญมากนัก แผนที่ราว พ.ศ. 2467–2468 ย่านอารีย์เป็นเพียงพื้นที่เกษตรกรรม เป็นนาข้าวและสวนผลไม้ จนเมื่อมีการตัดถนนประชาธิปัตย์เมื่อ พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมไปยังดอนเมือง ต่อมาถนนสายนี้เรียกว่า ถนนพหลโยธิน โดยในแผนที่ พ.ศ. 2498–2499 ปรากฏบ้านเดี่ยวบนพื้นที่ขนาดใหญ่ และบริเวณหัวมุมถนนพหลโยธินตัดกับซอยอารีย์ก็ปรากฏตึกแถว[1] บริเวณนี้เป็นย่านที่อยู่อาศัยของกลุ่มข้าราชการ คนสำคัญทางการเมือง[2]ในช่วงหลัง พ.ศ. 2490 ย่านอารีย์รวมถึงบริเวณซอยราชครูจึงเป็นที่อยู่ของข้าราชการและกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อการบริหารราชการ[3]

เมื่อ พ.ศ. 2516 ร้านสหกรณ์พระนครเปิดทำการ เป็นศูนย์การค้าสำหรับการจับจ่ายซื้อหาของข้าราชการและผู้อยู่อาศัยในย่านนี้[4] ในช่วง พ.ศ. 2533–2543 ได้มีการสร้างสำนักงานธุรกิจหลายบริษัท เป็นอาคารสูงหลายแห่ง เช่น อาคารธนาคารกสิกรไทย, อาคารชินวัตร 1 และ 2 (ต่อมาทั้งสองอาคารเปลี่ยนชื่อเป็น อาคารเอไอเอส ทาวเวอร์ 1 และ 2 ตามลำดับ), อาคารเอสพี (อาคาร IBM) และอาคารเอ็กซิมแบงก์ เป็นต้น เมื่อ พ.ศ. 2542 เปิดดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยมีสถานีอารีย์ตั้งอยู่บริเวณสามแยก

ปัจจุบัน ย่านอารีย์มีความเป็นชุมชนกึ่งเก่ากึ่งใหม่ มีข้าราชการและผู้คนอยู่อาศัยดั้งเดิม[5] มีสถานที่ราชการ ได้แก่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 4 กรมสรรพากร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงการคลัง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ อาคารสำนักงาน ได้แก่ สหกรณ์พระนคร อาคารเอสซีทาวเวอร์ อาคารปิยวรรณ อาคารเอสเอ็มอีแบงก์ อาคารพหลโยธินเพลส อาคารอารีย์ฮิลส์ อาคารเอไอเอสทาวเวอร์ 1,2 อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย พหลโยธิน และอาคารสำนักงานเพิร์ลแบงค็อก[6] ย่านที่พักอาศัย คอนโดมีเนียม และย่านของกินขึ้นชื่อทั้งคาวและหวาน

อ้างอิง[แก้]

  1. "กำเนิดย่าน "อารีย์" จากพื้นที่เรือกสวนไร่นา และถนนสายประชาธิปไตย". ศิลปวัฒนธรรม.
  2. "ประวัติความเป็นมาของย่าน 'อารีย์'".
  3. "รู้จักย่าน 'อารีย์' จากย่านที่โตเพราะถนน สู่ย่านระดับโลกเพราะความเอื้ออารี".
  4. "อารีย์ ย่านเก่าที่ยังร่วมสมัย". เดอะโมเมนตัม.
  5. "มองอารีย์แบบ เพื่อนบ้านอารีย์ ผู้ขอบันทึกเรื่องราวในย่านเก่าที่เติบโต". กรุงเทพธุรกิจ.
  6. "เจาะลึกย่านอารีย์ ทำเลที่ครบครันทั้งการอยู่อาศัยและการทำงาน".