หอเกียรติภูมิรถไฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หอเกียรติภูมิรถไฟ
Hall of Railway Heritage
ตัวอาคารในปี 2564 มีการติดป้ายว่า พิพิธภัณฑ์การรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ไม่ได้เปิดทำการแต่อย่างใด
หอเกียรติภูมิรถไฟตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
หอเกียรติภูมิรถไฟ
ที่ตั้งในกรุงเทพมหานคร
ก่อตั้ง23 ตุลาคม 2532 (2532-10-23)
ยุติ23 ตุลาคม 2555 (2555-10-23)
ที่ตั้งสวนจตุจักร, เขตจตุจักร, กรุงเทพมหานคร
พิกัดภูมิศาสตร์13°48′40″N 100°33′25″E / 13.811056°N 100.556938°E / 13.811056; 100.556938
ประเภทพิพิธภัณฑ์รถไฟ
ผู้ก่อตั้งสรรพสิริ วิรยศิริ
เจ้าของชมรมเรารักรถไฟ (ดำเนินงาน)
การรถไฟแห่งประเทศไทย (เจ้าของพื้นที่)

หอเกียรติภูมิรถไฟ (อังกฤษ: Hall of Railway Heritage) เป็นอดีตพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับรถไฟและการโดยสารรถไฟของประเทศไทย ตั้งอยู่ในสวนจตุจักรติดกับถนนกำแพงเพชร กรุงเทพมหานคร ภายในมีการจัดแสดงรถจักรไอน้ำ โมเดลรถไฟ และรถไฟขนาดจิ๋วพร้อมกับเรื่องราวของระบบรถไฟของไทยและของโลก

ปัจจุบันหอเกียรติภูมิได้ปิดตัวลงแล้ว เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขอพื้นที่คืนจากชมรมเรารักรถไฟเนื่องจากผิดเงื่อนไขการใช้พื้นที่และการรถไฟจะดำเนินการพิพิธภัณฑ์ด้วยตนเอง[1]

ประวัติ[แก้]

หอเกียรติภูมิรถไฟ ภายในมีห้องจัดแสดงขนาดใหญ่ที่มีการจัดแสดงเครื่องจักรและอุปกรณ์เก่าแก่เกี่ยวกับรถไฟ บริหารงานโดยชมรมเรารักรถไฟ ซึ่งประกอบไปด้วยหัวรถจักรไอน้ำมากมาย รวมไปถึงรถไฟจำลองและรถไฟจิ๋ว[2]

แต่เดิมตัวอาคารดังกล่าวได้ถูกกำหนดให้เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟมาแต่เดิมในช่วง 20-30 ปีก่อน โดยภายในอาคารมีการจัดเก็บรถไฟที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก ทั้งหัวรถจักรดีเซลรุ่นต่าง ๆ รวมไปถึงรถจักรไอน้ำ และรถไฟพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ แต่กลับไม่ได้เปิดให้ใช้งานให้เกิดประโยชน์มากนัก[1] จนกระทั่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าถวายที่ดินที่ตั้งอาคารดังกล่าวให้พระราชทานให้กรุงเทพมหานครได้จัดทำสวนสาธารณะ คือสวนจตุจักรในปัจจุบัน แต่ตัวอาคารดังกล่าวที่ติดไปกับที่ดิน กรุงเทพมหานครไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เนื่องจากเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงถูกปล่อยร้างเอาไว้[1]

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2532[3][4] ชมรมเรารักรถไฟที่ก่อตั้งขึ้นโดย สรรพสิริ วิรยศิริ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ได้ขอใช้พื้นที่ดังกล่าวจากการรถไฟฯ โดยเดิมทีจะใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์รถไฟ ตามจุดประสงค์เดิมของอาคาร แต่การรถไฟได้แจ้งมาว่าไม่สามารถใช้งานชื่อนี้ได้ เพราะไม่มีระเบียบรองรับให้ดำเนินการในชื่อนี้โดยเอกชน สรรพสิริจึงได้ยื่นขอใช้งานเฉพาะตัวอาคาร ไม่ได้ใช้ชื่อเดิมด้วย การรถไฟจึงได้ยินยอมให้ใช้งาน โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ[1] ได้แก่

  1. การรถไฟฯ จะมอบให้เพียงอาคารเปล่า ไม่มีการจ่ายระบบน้ำและไฟให้ เนื่องจากถือว่าอาคารดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการโดยการรถไฟฯ
  2. ต้องใช้เงินส่วนตัวในการดำเนินการ ห้ามทำการค้าหรือหาประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น
  3. ให้ดำเนินการให้สมเกียรติของการรถไฟฯ

จากนั้นชมรมจึงได้ทยอยนำสินทรัพย์ทั้งของส่วนตัว และสมบัติของการรถไฟไทยที่อยู่ในอาคารอยู่แล้วมาดำเนินการซ่อมแซมและจัดแสดงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยสมบัติบางชิ้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก เช่น รถรางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานเอาไว้ให้ รถยนต์บางคันที่จัดแสดงเป็น 1 ใน 10 คันแรกของประเทศไทย และบางชิ้นเป็นของชิ้นสุดท้ายที่ยังไม่เคยถูกใช้งานเลย เช่น รถจักรไอน้ำ 1009 ที่ชาวไต้หวันนำมาขอสัมปทานวิ่งในปี พ.ศ. 2506 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม[1] รวมไปถึงตระเวนเก็บกู้ซากรถไฟที่ถูกทิ้งนำมาคืนสภาพและนำมาจัดแสดง[5]

ช่วงปี พ.ศ. 2551 หอเกียรติภูมิรถไฟเริ่มประสบปัญหาขาดเงินทุนในการดูแล เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง และเงื่อนไขในการห้ามสร้างรายได้ของการรถไฟ และข้อจำกัดอื่น ๆ อีกอาทิ การที่ต้องขนส่งน้ำมาเองจากบ้านมาใช้งานที่อาคารตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการ เนื่องจากอาคารดังกล่าวไม่มีเลขที่ กรุงเทพมหานครและการรถไฟไม่ให้ใช้ระบบน้ำ จึงทำให้ต้องขนส่งน้ำมาเพื่อใช้ดูแลและทำความสะอาดอาคารและสิ่งของจัดแสดงภายในหอเอง ซึ่งขณะนั้นมีแนวคิดว่าหากไม่มีเงินทุนพอที่จะดูแลก็จะตัดสินใจขายรถจักรไอน้ำคันสุดท้ายของประเทศไทยที่ จุลศิริ วิรยศิริ ผู้รับช่วงดูแลหอเกียรติภูมิรถไฟและชมรมเรารักรถไฟครอบครองและจัดแสดงอยู่ในหอ คือ "รถจักรหมายเลข 10089" ที่มีชื่อเรียกว่า "รถดุ๊บ" เพื่อนำมาเป็นเงินทุนในการดูแลหอเกียรติภูมิรถไฟ จัดตั้งเป็นมูลนิธิ และหาคนมาดูแลสานต่อหอดังกล่าว โดยตั้งราคาไว้ที่ 20 ล้านบาทในเวลานั้น[6]

กระทั่งในปี พ.ศ. 2552 การรถไฟได้มีหนังสือมาที่ชมรมเรารักรถไฟเพื่อขออาคารคืน ด้วยข้อกล่าวหา 2 ข้อคือ

  1. กล่าวหาว่าชมรมพยายามเปลี่ยนชื่อจากที่ใช้อยู่ คือ จากหอเกียรติภูมิรถไฟ เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ ซึ่งทางชมรมได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยระบุว่าอาจจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการเข้าร่วมประชุมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้วชมรมได้เสนอให้การรถไฟฯ ได้จัดทำพิพิธภัณฑ์รถไฟขึ้นมา แต่การรถไฟตอบมาว่าติดขัดในด้านงบประมาณ และขอให้เอกชนโดยเฉพาะชมรมช่วยเป็นแกนหลักในการผลักดัน แต่กลับมีหนังสือมาถึงและกล่าวหาว่าชมรมจะสร้างรายได้จากการทำเป็นพิพิธภัณฑ์
  2. กล่าวหาว่าชมรมสร้างรายได้จากการดำเนินการหอเกียรติภูมิรถไฟ ด้วยการตั้งตู้น้ำดื่ม ซึ่งชมรมขายเพียงน้ำขวดละ 5-10 บาท ของที่ระลึกก็ไม่มีการจัดจำหน่าย

หอเกียรติภูมิรถไฟเปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555[7] ซึ่งตรงกับวันปิยมหาราช และดำเนินการขนทรัพย์สินส่วนของชมรมออก เพื่อที่จะส่งมอบพื้นที่คืนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เนื่องจากการรถไฟฯ ระบุว่ามีโครงการที่จะดำเนินการพิพิธภัณฑ์รถไฟต่อด้วยตัวเองตามหนังสือที่ได้แจ้งมา โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทยหลายครั้งแล้วแต่หาทางออกร่วมกันไม่ได้ ประกอบกับการดำเนินการหอเกียรติภูมิรถไฟที่ผ่านมา ชมรมได้ใช้งบประมาณของตนเองในการดำเนินงานและจากเงินที่ได้รับบริจาค รวมกันตกปีละประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์มีเงินบริจาคได้เกือบวันละ 1,000 บาท แต่ช่วงหลังมานี้เนื่องจากพิษเศรษฐกิจที่ซบเซาลง บางวันได้เพียง 20 บาทเนื่องจากเป็นการเข้าชมฟรีไม่เก็บค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขของการรถไฟฯ[4]

ข้อกังวล[แก้]

บุตรชายของ สรรพสิริ วิรยศิริ คือ จุลศิริ วิรยศิริ ผู้รับช่วงดูแลชมรมเรารักรถไฟต่อจากบิดา แสดงถึงความกังวลหลังจากต้องปิดตัวหอเกียรติภูมิรถไฟลง ว่าทางหน่วยงานราชการและการรถไฟแทบไม่เคยเห็นคุณค่าของมรดกต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ที่ผ่านมาปล่อยทิ้งไว้จนมีสภาพทรุดโทรม ขาดการดูแลรักษา จนกระทั่งตนได้เข้ามารับช่วงการดูแลหอเกียรติภูมิรถไฟต่อจากบิดา เนื่องจากเป็นความตั้งใจและคำสั่งเสียว่าให้สู้ต่อและอยากผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์รถไฟให้ได้ตามความตั้งใจของคุณปู่ คือพระยามหาอำมายาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ท่านรักกิจการรถไฟเป็นอย่างมากและเป็นสิ่งที่พระองค์พระราชทานเพื่อนำพาความเจริญมาสู่บ้านเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการรถไฟขาดความใส่ใจในการดูแลมรดกตกทอดเหล่านี้และปล่อยทิ้งตากแดดตากฝนไว้ โดยชมรมอยากเห็นความชัดเจนหลังจากนี้ว่าจะดำเนินการต่อไปหลังจากหอเกียรติภูมิรถไฟส่งมอบพื้นที่คืน[4]

ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งมูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟขึ้นมา และเริ่มต้นเปิดพิพิธภัณฑ์รถไฟขนาดไม่ใหญ่มาก บริเวณด้านหน้าสถานีกรุงเทพ เปิดทำการวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.00 - 18.00 น.[8] โดยยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการบริเวณอาคารเดิมของหอเกียรติภูมิรถไฟแต่อย่างใด

การจัดแสดงในอดีต[แก้]

มีการจัดแสดงเกวียนหลายประเภท รถจักรไอน้ำขนาดเล็ก 2 คันของบริษัทเกียวซานโกเกียว (Kyosan Kogyo) จากปี พ.ศ. 2492 และปี 2502[9] รถจักรดีเซล 2 คัน รวมไปถึงรถไฟห้องสมุด ซึ่งอีกจุดเด่นคือรถไฟโรงพยาบาล ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งไม้สักทองมาจากประเทศบราซิล[10] ส่งไปผลิตและประกอบกับตัวรถไฟในประเทศอังกฤษ[10] และขนส่งทางเรือกลับมายังกรุงเทพมหานครเพื่อใช้งาน โดยรถไฟมีจุดประสงค์เพื่อใช้งานให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในเมืองและจังหวัดที่อยู่ห่างไกล[10][1] จัดแสดงอยู่ 2 ตู้รถไฟ ได้แก่คันแรก ระบุว่าเป็น "รถ ร.พ." ใช้งานเป็นตู้โรงพยาบาล คันต่อมาระบุว่าเป็น "รถ จ.พ." คือรถจัดเฉพาะพยาบาล ภายนอกเหมือนคันแรก ภายในเป็นรูปแบบของคลินิกตรวจร่างกายแบบฉุกเฉิน และยังมีตู้รถไฟอีกหลายประเภท เช่น รถ จ.ขจก. คือตู้บรรทุกทหารที่จะไปปราบปราบโจรก่อการร้าย และ "รถ จ.ล.ย." คือรถจัดเฉพาะขนลำไย[10]

รถจักรไอน้ำที่โดดเด่น คือรถจักรไอน้ำ หมายเลข 10089 แบบ 0-4-0T แนร์โรว์เกจ สร้างขึ้นโดยบริษัทกียวซานโกเกียว สร้างขึ้นเป็นรุ่นสุดท้ายก่อนจะยุติการผลิดเนื่องจากพ้นสมัยการใช้รถจักรไอน้ำ โดยตัวรถยังไม่ผ่านการใช้งานเลยจากการถอดออกดูตรวจสอบ คาดว่าจะถูกจัดซื้อมาใช้งานโดยบริษัทโรงงานน้ำตาลในการใช้ขนอ้อยป้อนเข้าสู่โรงงาน แต่เมื่อขนย้ายมาจนถึงท่าเรือวัดพระยาไกรโรงงานได้ใช้การขนส่งผ่านรถยนต์แทน ทำให้หัวรถจักรดังกล่าวถูกจอดทิ้งไว้ในโกดังและไม่เคยถูกใช้งานจนถึงปัจจุบันที่ถูกนำมาจัดแสดง[10][11]

รถจักรไอน้ำอีกคันได้รับสมยาว่า ผู้ปิดทองหลังพระของการรถไฟ ชื่อว่ารถจักรไอน้ำ "สูงเนิน" ที่รับหน้าที่การขนน้ำและตัดฟืนจากป่าหัวหวายมาให้กับขบวนรถไฟลากจูงด้วยรถจักรไอน้ำที่ใช้งานที่สถานีสูงเนิน ตั้งอยู่กลางดงพญาไฟในอดีต[10]

หอเกียรติภูมิยานยานต์ พีระ-เจ้าดาราทอง[แก้]

นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงรถยนต์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่นรถ "เฟี๊ยตโทโปลิโน่" ที่เหมือนกันกับรถยนต์พระที่นั่งของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ รถ "ดัทสันบลูเบิร์ด" ที่ได้ฉายาว่า "แท็กซี่เลือดไทย" เพราะเป็นรถยนต์ที่สร้างในประเทศไทยเป็นคันแรก รวมไปถึงซากเครื่องบินจริงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2[10]

อนาคต[แก้]

ชมรมมีแผนจะดำเนินงานการอนุรักษ์รถไฟต่อไป โดยจะขนย้ายทรัพย์สินและไปใช้ที่ดินและอาคารที่ได้รับการบริจาค จากบริษัท ทองสมบูรณ์คลับ จำกัด ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาต่อไป[3] โดยการทำงานร่วมกันกับ โดม สุขวงศ์ และ ปราจิน เอี่ยมลำเนา[4]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "ปิดตำนาน 'หอเกียรติภูมิรถไฟ' ประวัติศาสตร์ที่จะสูญสลายของรถไฟไทย". mgronline.com. 2011-06-22.
  2. "Bangkok:Hall of Railway Heritage". Thailand Guidebook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 17, 2008. สืบค้นเมื่อ September 2, 2008.
  3. 3.0 3.1 ""ผมยอมเป็นคนโง่ได้ แต่จะไม่ยอมเป็นคนเลวในชั่วชีวิต" คำสัญญาของ สรรพสิริ วิรยศิริ". สารคดี (ภาษาอังกฤษ).
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "เปิดใจ'จุลศิริ วิรยศิริ'ในวันไร้หอเกียรติภูมิรถไฟ". posttoday. 2012-10-24.
  5. "หอเกียรติภูมิรถไฟ | ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย". db.sac.or.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "บทความ รางชีวิต จุลศิรา วิรยศิริ ผู้ชายหัวใจรถไฟ". kapook.com. 2008-07-01.
  7. Richard Barrow: Railway Museum in Bangkok to Open for the Last Time Today.
  8. พุทซาคำ, สุวิชา (2021-03-17). "มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย". The Cloud.
  9. The Last Steam Trains of Bangkok. Where to See Amazing Steam Engines in Bangkok.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 10.6 ""หอเกียรติภูมิรถไฟ" ของดีที่ซ่อนอยู่ในสวนจตุจักร". m.mgronline.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. Review หอเกียรติภูมิรถไฟ เก็บถาวร 2017-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.