กรมการข้าว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมการข้าว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Rice Department
ตรากรมการข้าว
ตราพระแม่โพสพ
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง16 มีนาคม พ.ศ. 2549
สำนักงานใหญ่2177 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
งบประมาณประจำปี2,228.6656 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์[2], อธิบดี
  • ชิษณุชา บุดดาบุญ, รองอธิบดี​
  • อานนท์ นนทรีย์, รองอธิบดี
เว็บไซต์http://www.ricethailand.go.th

กรมการข้าว เป็นหน่วยงานระดับกรม ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย มีหน้าที่ศึกษาวิจัยสำหรับข้าวในประเทศไทย มีหน่วยงานส่วนกลางที่ปฏิบัติงานอยู่ตามส่วนภูมิภาค คือ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และ ศูนย์วิจัยข้าว

วิวัฒนาการของการข้าวไทย[แก้]

ในวงการราชการที่เกี่ยวข้องกับการข้าวไทย เริ่มมีการดำเนินการตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งในปี พ.ศ. 2444 ได้มีการจัดตั้งกรมช่างไหม และมีการประกวดพันธุ์ข้าวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เมืองธัญบุรี ในปี พ.ศ. 2450 ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อกรมช่างไหมเป็น "กรมเพาะปลูก" มีหน้าที่ทำการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับพันธุ์พืช การเพาะเลี้ยงไหม ปศุสัตว์ และการเพาะปลูก จนกระทั่งมีการจัดตั้ง สถานีทดลองคลองรังสิต นับเป็นสถานีทดลองข้าวแห่งแรกของไทย ที่ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

ในปี พ.ศ. 2478 มีการจัดตั้ง "แผนกข้าว" ขึ้นในสังกัดกองขยายการกสิกรรม กรมเกษตรและการประมง (หรือกรมการกสิกรรมในเวลาต่อมา) ซึ่งในปี พ.ศ. 2481 ได้ยกฐานะแผนกข้าวขึ้นเป็น "กองการข้าว" และมีการสถาปนา "กรมการข้าว" ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2496 โดยมีหม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นอธิบดี[3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการยุบรวมกรมการข้าว เข้ากับกรมกสิกรรมอีกครั้ง จึงทำให้กรมการข้าว มีฐานะเป็นกองการข้าว สังกัด กรมวิชาการเกษตร และเปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันวิจัยข้าว" ในปี พ.ศ. 2525

ยุคกรมการข้าวในปัจจุบัน[แก้]

ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลข้าวไทยขึ้น มีชื่อว่า "สำนักงานข้าวแห่งชาติ" มีฐานะเทียบเท่ากรม จนกระทั่งวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2549 พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมให้จัดตั้งกรมการข้าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นผลให้เกิด "กรมการข้าว" ขึ้นจนปัจจุบัน

โดยการจัดตั้งกรมการข้าวในครั้งนี้ มีหลักการและเหตุผลซึ่งระบุในท้ายพระราชบัญญัติ ความว่า "เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องข้าวมีอยู่หลายหน่วยงานและกระจัดกระจายอยู่ตามส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงสมควรให้มีการจัดตั้งกรมการข้าวขึ้นมีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกรมเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องข้าวโดยเฉพาะ ให้ครอบคลุมถึงการปรับปรุงพัฒนาการปลูกข้าวให้มีผลผลิตต่อพื้นที่และคุณภาพสูงขึ้น การพัฒนาพันธุ์ การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุ์การผลิตเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบรับรองมาตรฐาน การส่งเสริมและเผยแพร่เพื่อพัฒนาชาวนา การแปรรูปและการจัดการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว รวมทั้งการตลาดและการส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับข้าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"[4]

หน่วยงานในสังกัด[แก้]

หน่วยงานในสังกัดกรมการข้าวตาม กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์[5]

  • สำนักบริหารกลาง
  • สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าว
  • สำนักส่งเสริมการผลิตข้าว
  • กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว
  • กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์
  • กลุ่มตรวจสอบภายใน
  • กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

องค์ความรู้เรื่องข้าว[แก้]

องค์ความรู้เรื่องข้าว เป็นการรวบรวมความรู้เรื่องข้าวโดยการจัดทำขึ้นบนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากนักวิชาการหลากหลายสาขาวิชาของสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว เก็บถาวร 2010-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรมการข้าว ได้รวบรวมข้อมูลไว้อย่างกว้างขวางเสมือนห้องสมุดดิจิทัล ซึ่งตอบสนองด้านการสืบค้นข้อมูล เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีในงานส่งเสริม อยู่ในรูปแบบซีดีข้อมูล และรูปแบบเว็บไซต์ออนไลน์ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (The International Rice Research Institute - IRRI) ในการจัดทำภายใต้โครงการ Linking Extension and Research Needs through Information Technology (LEARN-IT) และมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) ให้การสนับสนุนงบประมาณ

องค์ความเรื่องข้าว ประกอบด้วย สาระน่ารู้เรื่องข้าวทุกด้าน นับตั้งแต่ด้านพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การอารักขาข้าว เครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดถึงด้านการแปรรูปข้าว

เชื่อถือได้–เนื้อหา ในองค์ความเรื่องข้าวได้มาจากนักวิชาการ ผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ร่วมกันรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ และแก้ไขความถูกต้อง ก่อนที่จะมาอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน

อุปสงค์นำ–องค์ความเรื่องข้าว บรรจุเนื้อหาสาระครบถ้วนทุกด้าน เพื่อตอบสนองผู้ใช้กลุ่มต่าง ๆ ได้เลือกใช้ในส่วนที่ต้องการ

เพิ่มคุณค่า–องค์ ความเรื่องข้าว ได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุด มาใช้ในการรวบรวมข้อมูล และใช้เป็นเครื่องในการนำเสนอ

ใช้งานง่าย–องค์ความเรื่องข้าว มีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อการถ่ายทอดสู่ชาวนา จึงอยู่ในรูปแบบที่ใช้งานง่าย

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. [​https://www.prachachat.net/politics/news-830948 เช็ก มติ ครม. แต่งตั้งครบทุกตำแหน่งที่นี่]
  3. ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิบดีกรมการข้าว
  4. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 26ก วันที่ 15 มีนาคม 2549
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/088/53.PDF

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]