ฮาง ทุน ฮัก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮาง ทุน ฮัก
นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐเขมร
ดำรงตำแหน่ง
17 ตุลาคม พ.ศ. 2515 – 17 เมษายน พ.ศ. 2516
ก่อนหน้าเซิง งอกทัญ
ถัดไปลอง โบเรต
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 สิงหาคม พ.ศ. 2469
เสียชีวิต17 เมษายน พ.ศ. 2518
พนมเปญ ประเทศกัมพูชา
พรรคการเมืองกรมประชาชน
พรรคสาธารณรัฐสังคมนิยม
ถูกเขมรแดงสังหารหลังพนมเปญแตก พ.ศ. 2518

ฮาง ทุน ฮัก (เขมร: ហង្ស ធុន ហាក់ Hang Thun Hak) เป็นนักการเมือง นักเขียนบทละคร และนักวิชาการฝ่ายซ้ายในกัมพูชา เกิดเมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดกำปงจาม[1] ฮักเรียนวิชาโขนละครที่โรงเรียนนาฏกรรมสาราแบรณาที่ปารีส ทำให้เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงซึ่งต่อมาจะกลายเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ฮักกลับมาในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2494 และเคยเข้าร่วมกับกลุ่มของเซิง งอกทัญซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านฝรั่งเศสในเขตป่าของจังหวัดเสียมราฐ และกลับเข้าสู่เมืองเมื่อ พ.ศ. 2496 ในช่วงเวลาก่อนที่กัมพูชาจะได้รับเอกราชไม่นาน

ภายใต้ระบอบสังคมของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ฮักสอนที่โรงเรียนการละครแห่งชาติ งานของเขาเน้นที่การพัฒนาละครพูดยุคใหม่ของกัมพูชา เป็นอาจารย์ในวิทยาลัยพระสีสุวัตถิ์ เจ้ากรมละครแห่งชาติและเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยภูมินทร์วิจิตรศิลปะ ซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2508 - 2513[2] ฮักได้แปลบทละครจากยุโรปหลายเรื่องเป็นภาษาเขมรและแต่งขึ้นมาเองหลายเรื่อง ละครของเขาหลายเรื่อง เช่น Thma Raom (ทมอ รำ) Kanya Chareya (กัญญา จริยา) มุ่งโจมตีการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล ฮักมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระนางสีสุวัตถิ์ กุสุมะ พระมารดาของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งช่วยปกป้องงานของเขา

รัฐประหาร พ.ศ. 2513 นำโดยนายพลลน นล ทำให้อำนาจของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ สิ้นสุดลง และจัดตั้งสาธารณรัฐเขมรขึ้นมาแทน ในครั้งแรก ฮักเข้าไปผู้นำของกรมประชาชน พรรคที่มีแนวคิดทางด้านสังคมนิยมที่เขาเคยเป็นสมาชิกมาก่อน ต่อจากนั้น ฮักเข้าร่วมกับพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมที่นำโดยลน นล ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงอภิวัฒน์สหคมน์และเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง 17 ตุลาคม พ.ศ. 2515 – 17 เมษายน พ.ศ. 2516

ในช่วงเวลานั้น สาธารณรัฐเขมรอ่อนแอลงเนื่องจากการทำสงครามกับฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรสหภาพแห่งชาติกัมพูชาซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเจ้าสีหนุกับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา สหรัฐอเมริกายุติการให้ความช่วยเหลือ และการที่สีหนุปฏิเสธที่จะเจรจาด้วย ฮักเป็นตัวกลางในการพยายามติดต่อเพื่อเจาจรากับฝ่ายเขมรแดงผ่านทางฮู ยวน[3] และส่งพระนางสีสุวัตถิ์ กุสุมะ ไปลี้ภัยยังประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2516 หลังจากลน นล ลี้ภัยออกจากกัมพูชาเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2518 ฮักได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลที่จะเจรจากับเขมรแดง เขาหายสาบสูญไปหลังจากพนมเปญแตกเมื่อ 17 เมษายน เชื่อว่าเขาถูกประหารชีวิตไปพร้อม ๆ กับเจ้าหน้าที่ของฝ่ายสาธารณรัฐเขมรที่ถูกเขมรแดงจับได้ทั้งหมด

อ้างอิง[แก้]

  1. บัญญัติ สาลี. 2551. วรรณกรรมเขมรปัจจุบัน. มหาสารคาม. อภิชาติการพิมพ์. หน้า 76 - 77
  2. Cody, G. and Sprinchorn, E. (eds), The Columbia encyclopedia of modern drama, Volume 1, p.583
  3. Clymer, K. The United States and Cambodia, 1969-2000: a troubled relationship, 2004, p.95