ลน นน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลน นน
ผู้บัญชาการทหารในสมัยสาธารณรัฐเขมร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด18 เมษายน พ.ศ. 2473
จังหวัดไพรแวง
เสียชีวิต17 เมษายน พ.ศ. 2518 (44 ปี)
พนมเปญ
พรรคการเมืองพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยม
ญาติลน นล (พี่ชาย)
อาชีพทหารและนักการเมือง
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ กัมพูชา
สังกัดกองทัพแห่งชาติเขมร
ประจำการ2493-2518
ยศพลเอก
น้องชายของลน นล ถูกเขมรแดงสังหารเมื่อพนมเปญแตก พ.ศ. 2518

ลน นน (Lon Non; เอกสารภาษาไทยบางฉบับใช้ ลอน โนน[1]) เป็นทหารและนักการเมืองชาวกัมพูชาที่มีอำนาจในสมัยสาธารณรัฐเขมร เกิดเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2473 เป็นน้องชายของ ลอน นอล มีบทบาทมากในการสนับสนุนการปกครองของพี่ชาย เขาถูกเขมรแดงสังหารหลังจากพนมเปญแตกเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518

วัยเด็ก[แก้]

นนเป็นบุตรชายของ ลน ฮิน ซึ่งเป็นกำนันในจังหวัดไพรแวง เข้าเรียนในวิทยาลัยนโรดม สีหนุ (Collège Norodom Sihanouk) ในกำปงชนัง เพื่อนสนิทในวัยเด็กของเขาคือลต ซอ (ต่อมาคือ พล พต)[2] ด้วยการสนับสนุนของพี่ชายเขาได้ไปศึกษาต่อทางด้านอาชญวิทยาที่ฝรั่งเศส[3]

อาชีพ[แก้]

ในช่วงระบอบสังคมของพระนโรดม สีหนุ นนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีบทบาทสำคัญในรัฐประหาร พ.ศ. 2513 หลังจากนั้น นนก้าวหน้าในอาชีพการงานอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะขาดประสบการณ์ทางทหารแต่ก็ได้เลื่อนยศจนเป็นนายพล และเป็นผู้บัญชาการทหารเขมรเสรีและทหารจากขแมร์กรอมที่เข้ามาในประเทศหลังการรัฐประหาร การฆ่าชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาเชื่อว่าเป็นผลงานของลน นนเช่นกัน[4]

กิจกรรมทางการเมือง[แก้]

บทบาททางการเมืองของนน เน้นที่ความจงรักภักดีต่อพี่ชาย แต่ความขัดแย้งของเขากับพระสีสุวัตถิ์ สิริมตะทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง เมื่อลน นลสุขภาพไม่ดีและไปรักษาตัวระหว่าง พ.ศ. 2513 – 2514 นนเกิดความขัดแย้งกับพระสิริมตะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2514 ภาพพจน์ของนนดีขึ้นเมื่อเขานำกองทัพรบชนะฝ่ายคอมมิวนิสต์ในปฏิบัติการอกิเนธ โมหะ ปาเดะวุธ

ต้นปี พ.ศ. 2515 ลน นนสามารถกำจัดพระสิริมตะออกจากรัฐบาลได้สำเร็จหลังจากจัดให้นักศึกษาออกมาประท้วงขับไล่[5] และมีส่วนผลักดันให้พี่ชายของเขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปลายปี พ.ศ. 2515 นน ที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในได้ก่อตั้งพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมเพื่อเข้าร่วมในการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปไตยของอิน ตัม กับพรรคสาธารณรัฐของพระสิริมาตะปฏิเสธเข้าร่วมการเลือกตั้ง ทำให้พรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด

ภายในพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมมีการแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มดงแร็กกับกลุ่มดังกอร์ นนอยู่ในกลุ่มดังกอร์ซึ่งเป็นคนละพวกกับเซิง งอกทัญและฮาง ทุน ฮัก ในระหว่างสงครามกลางเมืองกัมพูชา นนพยายามขอความช่วงเหลือจากฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียตเพื่อเจรจาสันติภาพ[6]

การฉ้อราษฎร์บังหลวง[แก้]

มีหลักฐานที่เชื่อมโยงนนเข้ากับการค้าเฮโรอีน[7] และยังเกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธ และส่วนใหญ่จะตกไปถึงมือเขมรแดง สหรัฐอเมริกาได้กดดันลน นลให้ลดบทบาทของนนลง เนื่องจากปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขาดการควบคุมอารมณ์ ออสเตรเลียกล่าวว่านนได้จัดตั้งหน่วยลอยสังหารที่เรียกว่าหน่วยรักษาความปลอดภัยสาธารณรัฐ ใช้รถฮอนด้าสีเหลืองเป็นพาหนะ[8] เมื่อนนถูกกดดันให้ออกจากกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2516 ภรรยาของเขาได้นำเงินจำนวนมากออกนอกประเทศเพื่อไปใช้ชีวิตร่วมกับสามี[9]

เสียชีวิต[แก้]

ลน นนกลับสู่กัมพูชาอีกครั้งใน พ.ศ. 2517 และเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีก ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 นนเลือกที่จะอยู่ในกัมพูชาหลังจากที่ลน นลพี่ชายได้ลี้ภัยออกนอกประเทศไป เพื่อเจรจาสงบศึกกับเขมรแดงร่วมกับลอง โบเรตและคนอื่น ๆ นนยังคงอยู่ในพนมเปญเมื่อเขมรแดงเข้าเมืองได้ในวันที่ 17 เมษายน[10] มีผู้พบเห็นเขาอยู่กับชุดรักษาความปลอดภัยของเขา หลังจากที่กอย ทวนได้เป็นหัวหน้ากองกำลังของเขมรแดงที่ออกกวาดล้างคนของระบบเก่า เขาได้สั่งจับกุมลน นน และเจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐเขมรมาประหารชีวิตกลางกรุงพนมเปญ วิทยุกระจายเสียงของเขมรแดงบอกว่าเขาถูกรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิต แต่ไม่มีใครทราบว่าที่แท้จริงเป็นอย่างไร

อ้างอิง[แก้]

  1. ธิบดี บัวคำศรี. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กทม. เมืองโบราณ.2555
  2. Marlay, R. and Neher, C. Patriots and tyrants: ten Asian leaders, Rowman & Littlefield, 1999, p.177
  3. Corfield, J. Khmers stand up!: a history of the Cambodian government 1970-1975, 1992, p.111
  4. Kamm, H. Cambodia: report from a stricken land, Arcade, 1998, p.79
  5. Kiernan, B. How Pol Pot came to power, Yale UP, 2004, p.347
  6. Corfield, J. History of Cambodia, ABC-CLIO, 2009, p.78
  7. Scott, P. D. "Opium and Empire", Bulletin of Concerned Asian Scholars เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, vol 5, 2 (Sep. 1973), 49
  8. Clymer, K. J. The United States and Cambodia, 1969-2000: a troubled relationship, Routledge, p.69
  9. "$170,000 in Cash On Mrs., Lon Non Is Seized in Paris". The New York Times. September 23, 1973. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
  10. Henry Kissinger (February 2003). Ending the Vietnam War : A History of America's Involvement in and Extrication from the Vietnam War. Simon & Schuster. p. 529. ISBN 978-0-7432-1532-9.