มณฑลนครศรีธรรมราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มณฑลนครศรีธรรมราช
มณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. 2439 – 2476
Flag of มณฑลนครศรีธรรมราช
ธง

แผนที่มณฑลนครศรีธรรมราช
เมืองหลวงนครศรีธรรมราช
การปกครอง
 • ประเภทสมุหเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณ
สมุหเทศาภิบาล 
• พ.ศ. 2439–2449
พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) (คนแรก)
• พ.ศ. 2449–2453
พระยาชลบุรานุรักษ์ (เจริญ จารุจินดา)
• พ.ศ. 2453–2468
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์
• พ.ศ. 2468–2469
พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล)
• พ.ศ. 2469–2476
พระยาศรีธรรมราช (ทองคำ กาญจนโชติ) (คนสุดท้าย)
ยุคทางประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
• จัดตั้ง
พ.ศ. 2439
• เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภาคปักษ์ใต้
21 มีนาคม พ.ศ. 2459 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2469
• รวมมณฑลสุราษฎร์ไว้ในการปกครอง
31 มีนาคม พ.ศ. 2469
• รับจังหวัดสตูลจากมณฑลภูเก็ตไว้ในการปกครอง
31 มีนาคม พ.ศ. 2469
• รวมมณฑลปัตตานีไว้ในการปกครอง
1 เมษายน พ.ศ. 2475
• ยุบเลิก
9 ธันวาคม พ.ศ. 2476
ก่อนหน้า
ถัดไป
เมืองนครศรีธรรมราช
เมืองพัทลุง
เมืองสงขลา
มณฑลสุราษฎร์
มณฑลปัตตานี
จังหวัดนครศรีธรรมราช
จังหวัดพัทลุง
จังหวัดสงขลา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
จังหวัดปัตตานี
จังหวัดชุมพร
จังหวัดยะลา
จังหวัดนราธิวาส
จังหวัดสตูล
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไทย

มณฑลนครศรีธรรมราชตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 จากการรวมหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ ตั้งแต่เมือง นครศรีธรรมราช ลงไป ที่ว่าการของมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา หัวเมืองที่รวมอยู่ในมณฑลนี้ในระยะแรก คือก่อน พ.ศ. 2449 มี 10 เมือง คือ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และบริเวณ 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน สายบุรี ระแงะ และยะลา แต่ครั้นถึงปี พ.ศ. 2449 ได้แยกบริเวณ 7 หัวเมืองออกไปจัดเป็น มณฑลปัตตานี มณฑลนี้จึงเหลือหัวเมืองในสังกัดเพียง 3 หัวเมือง ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเน้นเฉพาะบริเวณ 3 หัวเมืองเท่านั้น

ก่อนที่จะจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลทางภาคใต้ รัฐบาลกลางมีแผนการที่จะจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลทางหัวเทืองภาคใต้ไว้แตกต่างกัน 2 แผนการ คือ

แผนการที่ 1 ส่งข้าหลวงใหญ่ที่มีอำนาจบารมีมาก มีความสามารถทางการปกครองสูงและเป็นที่ไว้วางพระราชกฤทัยไปประจำเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วมี ข้าหลวง ระดับรองลงไปประจำที่สงขลา ภูเก็ต และชุมพรแห่งละคน

แผนการที่ 2 ส่งข้าหลวงออกไป 3 คน ประจำอยู่ที่ภูเก็ต ปกครองดูแลหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตก คนหนึ่งประจำอยู่ที่สงขลา ปกครองดูแลหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชลงไป จนถึงบริเวณ 7 หัวเมือง และอีกคนหนึ่งประจำอยู่ที่ชุมพร ปกครองดูแลตั้งแต่ชุมพรลงไปถึงกาญจนดิษฐ์ ข้าหลวงทั้ง 3 คนมีฐานะเทียบเท่ากันโดยฟังคำสั่งจากกระทรวงมหาไทย

แผนการที่ 1 ติดขัดที่ตัวบุคคลซึ่งจะไปเป็นข้าหลวงใหญ่จึงต้องดำเนินการตามแผนการที่ 2 และในขณะนั้นรัฐบาลได้ส่งพระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร) ไปประจำอยู่ที่ภูเก็ต และส่งพระวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) ไปประจำอยู่ที่เมืองสงขลา แล้วคิดจะให้พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก้อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง บุตรคนที่ 2 ของพระยาดำรงสุจริตกุล (คอซู้เจียง) ต้นตระกูล ณ ระนอง ไปประจำอยู่ที่ชุมพร

พระยาวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษลงไปเริ่มจัดราชการในเมืองสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุงในปี พ.ศ. 2437 ก่อนจัดตั้งเป็นมณฑลนครศรีธรรมราชในอีก 2 ปีต่อมา

การจัดราชการเมืองสงขลาเริ่มจากการตั้งศาลยุติธรรมแบบใหม่และการแบ่งท้องที่ในเมืองสงขลาออกเป็น 3 แขวง เพื่อป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้าย คือแขวงกลางหรืออำเภอเมือง แขวงฝ่ายเหนือซึ่งต่อมาคืออำเภอหาดใหญ่ และแขวงปละท่าหรืออำเภอสทิงพระ ตั้งกรมการเมืองออกไปประจำและเริ่มสร้างถนนภายในเมืองสงขลา โดยการรื้อกำแพงเมือง มีการสร้างตลาดของหลวงซึ่งต่อมาคือตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ปรับปรุงโรงภาษีและจัดระบบไปรษณีย์ติดต่อระหว่างสงขลากับไทรบุรี พัทลุง และนครศรีธรรมราช

เมืองพัทลุง แต่งตั้งข้าหลวงผู้ช่วยไปชำระคดีที่คั่งค้างพร้อมทั้งจัดแบ่งท้องที่ใหม่เป็นแขวงนายร้อยและนายสิบ ลดจำนวนบ่อนเบี้ย บ่อนไก่ชนลง ยกเลิกการใช้ขื่อคา และนำเอาสูตรนารายณ์ไปใช้ปราบปรามโจรผู้ร้ายบริเวณรอยต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ มีการยุบรวมศาลต่าง ๆ ให้เหลือเพียง 3 ศาล คือ ศาลเพ่ง อาญา และอุทธรณ์ จัดตั้งกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งสำหรับสะสางความเก่า ชำระความใหม่และแบ่งแขวงต่าง ๆ

นอกเหนือไปจากการจัดราชการต่าง ๆ มีการติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าเมืองและกรรมการเมืองอย่างใกล้ชิด มีการทำบัญชีผลประโยชน์เมืองสงขลาแจ้งให้รัฐบาลกลางทราบ ชั่วระยะเวลาเพียงปีกว่าๆ พระวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) สามารถจัดราชการเมืองต่าง ๆ ได้ดีเป็นที่พอพระทัยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้เสด็จไปตรวจราชการมณฑลนครศรีธรรมราชใช่วงกลางปี พ.ศ. 2439 หลังจากนั้นไม่นานก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช โดยเลื่อนพระวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) เป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชคนแรก ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2439 - 2449 ต่อจากนั้นก็มีข้าหลวงอีก 2 คน คือ พระยาชลบุรานุรักษ์ (เจริญ จารุจินดา) พ.ศ. 2449 - 2452 และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พ.ศ. 2453 - 2468 งานปฏิรูปมณฑลนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่ ดำเนินการแล้วเสร็จในสมัยพระยาสุขุมนัยวินิจ (ปั้น สุขุม) ส่วนสมัยหลัง ๆ เป็นเพียงการทำนุบำรุงรักษาสิ่งที่ได้ก่อสร้างขึ้นในระยะแรก ๆ ซึ่งจากนี้ไปจะกล่าวถึงงานปฏิรูปมณฑลนครศรีธรรมราชในด้านต่างๆ ต่อไป

ด้านการปกครอง[แก้]

ดำเนินการเหมือนมณฑลอื่นๆ คือจัดตั้งกองมณฑล ขึ้นเป็นคณะผู้ปกครองมณฑลออกเป็นเมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เมืองนครศรีธรรมราชแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ คืออำเภอกลางเมือง เบี้ยซัด ร่อนพิบูลย์ กลาย สิชล ลำพูน ฉวาง ทุ่งสง และเขาพังไกร เมืองสงขลาแบ่งออกเป็น 5 อำเภอ คืออำเภอกลางเมือง ปละท่า ฝ่ายเหนือ จะนะ และเทพา เมืองพัทลุงแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง อุดร ทักษิณ รวม 3 เมือง มี 17 อำเภอ การแบ่งพื้นที่ดำเนินการเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2440 ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อบางอำเภอตามที่ราษฎรนิยมเรียกกัน เป็นต้นว่า อำเภอเบี้ยซัด เป็นอำเภอปากพนัง อำเภออุดรเป็นอำเภอปากกระ อำเภอทักษิณเป็นอำเภอปากพะยูน อำเภอปละท่าเป็นอำเภอสทิงพระ อำเภอฝ่ายเหนือเป็นอำเภอหาดใหญ่ และในปี พ.ศ. 2449 มีการโอนท้องที่พระแสงและพนมในอำเภอลำพูนไปขึ้นกับเมืองไชยา ในขณะเดียวกันได้มีการทำสัมมะโนครัวด้วย ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2442 มณฑลนครศรีธรรมราชมีนายอำเภอ 17 คน กำนัน 232 คน ผู้ใหญ่บ้าน 2,669 คน มีจำนวนครัวเรือน 72,343 ครัวเรือน และราษฎรทั้งหมด 326,266 คน อาศัยอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชร้อยละ 60 สงขลาร้อลละ 29 และพัทลุงร้อยละ 11

ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย[แก้]

มีการจัดตั้งกองพลตระเวรหรือตำรวจภูธรขึ้นในบริเวณชุมชนที่ราษฎรอาศัยอยู่หนาแน่น เป็นต้นว่ากลางเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และที่อำเภอปากพนัง เป็นผลให้โจรผู้ร้ายที่เคยชุกชุมลดน้อยลง เกิดความสงบขึ้นในบ้านเมืองระดับหนึ่ง

ด้านตุลากร[แก้]

มีการจัดตั้งศาลมณฑลขึ้นที่สงขลา ศาลเมืองนครศรีธรรมราช ปากพนังและพัทลุง และศาลอำเภอในอำเภอต่างๆ ทุกอำเภอ ข้าหลวงเทศาภิบาลให้อำนาจแก้กรรมการอำเภอมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาคดีเพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 40 บาท และมีอำนาจเปรียบความได้โดยไม่มีกำหนดสุดแต่คู่ความจะตกลง ในปี พ.ศ. 2440 มีการสร้างเรือนจำขึ้นเพื่อคุมขังนักโทษรวมกันที่นครศรีธรรมราช แทนที่จะแยกคุมตามบ้านเจ้าเมืองหรือกรรมการเมืองอย่างแต่ก่อน

ด้านเศรษฐกิจ[แก้]

การค้าทางเรือเจริญขึ้น ทำให้ท่าเรือต่าง ๆ คึกคักไปด้วยการค้า สินค้าส่วนใหญ่เป็นของพื้นเมืองที่มีการแปรรูปโดยกรรมวิธีเก่า ๆ เป็นต้นว่า รังนก กุ้งแห้ง ผ้าพื้น สุกร ดีบุก หนัง เขาสัตว์ เครื่องปั้นดินเผา ส้มตรังกานูจากสงขลา ข้าวเปลือก ข้าวสาร ไต้ ชัน ยาสูล คราม เรือมาดจากนครศรีธรรมราช ข้าวเปลือกและข้าวสารจากพัทลุง การค้าทางเรือเจริฐขึ้นจากการเปิดการค้าเสรี มีการนำเรือกลไฟ มาใช้มากขึ้น มีการติดต่อกับสิงคโปร์ กรุงเทพฯ และตอนใต้ของจีนเป็นประจำ

การเก็บภาษีสามารถเปลี่ยนจากวิธีปณะมูลโดยเจ้าภาษีนายอากร มาเก็บเป็นของหลวงทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2439 - 2440 ภาษีที่สำคัญมร 10 กว่าชนิด คือ อากรฝิ่น อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย อากรค่าน้ำเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง ภาษีจันอับ ภาษีผลประโยชน์เมืองสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุง ภาษีดีบุกเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา ข้าหลวงเทศาภิบาลจะควบคุมการเก็บภาษีเหล่านี้โดยตรง สามารถเก็บได้มากกว่าวิธีประมูลหลายเท่าตัว ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เคยเป็นผลประโยชน์ของเจ้าเมืองและกรรมการเมืองก็ยกเลิกให้ไปเป็นของหลวงทั้งหมด เช่นเดียวกับเงินส่วนรายเฉลี่ยที่เก็บจากไพร่หัวเมือง เงินค่านาข้าหลวใหญ่ข้าหลวงใหญ่จะเข้าไปควบคุมการเก็บโดยตรงแทนที่จมอบให้เจ้าเมือง กรรมการเมือง กำนันไปเก็บอย่างแต่ก่อน อย่างไรก็ตามแม้ภาษีเงินได้ที่เก็บจากราษฎรชาวเมืองนครศรีธรรมราชจะสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัวก็ตามแต่ผู้ที่เสวยสุขจากผลผลิตส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ชาวพื้นเมืองแต่กลับเป็นกลุ่มคณาธิปไตยส่วนน้อยในเมืองหลวง เพราะเงินภาษีรายได้เหล่านี้ต้องส่งเป็นเงินรายได้ของรัฐบาลกลาง 2 ส่วน ใน 3 ส่วน ไม่กลับมาเอื้อประโยชน์ต่อมณฑลนครศรีธรรมราชเลย

ด้านการคมนาคมขนส่ง[แก้]

มีการสร้างถนนในเมืองสงขลาและนครศรีธรรมราช โดยรื้อกำแพงเมืองลงมาถมถนน ขณะเดียวกันก็สร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างนครศรีธรรมราชกับตรัง และถนนเชื่อมระหว่างตรังและพัทลุง ทางด้านการไปรษณีย์โทรเลขมีการปักเสาพาดสายลงไปถึงสงขลา จากสงขลาต่อไปถึงไทรบุรี มีสำนักงานไปรษณีย์อยู่ที่สงขลา มีพนักงานส่งหนังสือราชการและจดหมายระหว่างเมืองต่าง ๆ 7 วันครั้ง โดยแบ่งออกเป็น 3 สายคือ จากสงขลาไปปัตตานีและกลันตันสายหนึ่ง ไปพัทลุง ตรัง กระบี่ และพังงาสายหนึ่ง และอีกสานหนึ่งไปไทรบุรี ปะลิส และสตูล

ด้านชลประทาน[แก้]

มีการขุดลอกคลองกันอย่างกว้างขวางในเขตนครศรีธรรมราช ได้แก่ คลองสุขุม นครพญา ม่าแพ และคลองระโนดติดต่อระหว่างนครศรีธรรมราชกับสงขลา ในเขตพัทลุงได้แก่ คลองคอกช้าง ในเขตสงขลาได้แก่ คลองแกะใหญ่ คลองเหล่านี้ใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านการชลประทานและการคมนาคมขนส่ง

ด้านศาสนา[แก้]

มีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์เมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุงเสียใหม่เป็นคณะใหญ่ คณะรอง และคณะแขวง มีการบูรณาซ่อมแซมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารนครศรีธรรมราชครั้งใหญ่

ด้านการศึกษา[แก้]

มีการจัดตั้งโรงเรียนแบบสมัยใหม่ขึ้นในเมืองต่าง ๆ ระยะแรกเพียงเมืองละ 1 แห่งก่อนแล้วค่อยขยายออกไป โรงเรียนแห่งแรกที่ตั้งขึ้น คือ โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา และโรงเรียนเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2441 รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในวัดและพึ่งพาวัดให้เป็นผู้อบรมให้การศึกษาแก่เยาวชนแทนที่จะรับผิดชอบเองโดยตรง การปฏิรูปประเทศครั้งนั้นรัฐบาลได้ละเลยต่อการพัฒนาคน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศที่สำคัญที่สุด

อ้างอิง[แก้]

1 มูลนิธิสารนุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิช. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 8. สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด. หน้า 3630 - 3638.