มณฑลราชบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มณฑลราชบุรี
มณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. 2437 – 2476
Flag of มณฑลราชบุรี
ธง

เมืองหลวงราชบุรี
การปกครอง
 • ประเภทสมุหเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณ
สมุหเทศาภิบาล 
• พ.ศ. 2437–2442
เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) (คนแรก)
• พ.ศ. 2444–2457
พระยารัตนกุล (จำรัส รัตนกุล)
• พ.ศ. 2455–2459
หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร
• พ.ศ. 2459–2460
หม่อมเจ้าประติพัทธ์เกษมศรี เกษมศรี
• พ.ศ. 2472–2476
พระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค) (คนสุดท้าย)
ยุคทางประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
• จัดตั้ง
พ.ศ. 2437
• เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภาคตะวันตก
29 มีนาคม พ.ศ. 2459 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2469
• รวมมณฑลนครไชยศรีไว้ในปกครอง
1 เมษายน พ.ศ. 2475
• ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล
9 ธันวาคม พ.ศ. 2476
ก่อนหน้า
ถัดไป
เมืองราชบุรี
เมืองกาญจนบุรี
เมืองสมุทรสงคราม
เมืองเพชรบุรี
มณฑลนครไชยศรี
จังหวัดราชบุรี
จังหวัดกาญจนบุรี
จังหวัดสมุทรสงคราม
จังหวัดเพชรบุรี
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จังหวัดนครปฐม
จังหวัดสุพรรณบุรี
จังหวัดสมุทรสาคร
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไทย

มณฑลราชบุรี เป็นมณฑลที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 ประกอบด้วยเมืองราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ปราณบุรี (ต่อมาใน พ.ศ. 2458 เปลี่ยนชื่อเป็นประจวบคีรีขันธ์) และเมืองสมุทรสงคราม ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยติดกับพรมแดนพม่าทางทิศตะวันตก จึงมักเรียกหัวเมืองแถบนี้ว่า หัวเมืองฝ่ายตะวันตก (เมืองสมุทรสงครามไม่นับเป็นหัวเมืองฝ่ายตะวันตก) หัวเมืองดังกล่าวตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี ส่วนเมืองสมุทรสงครามตั้งอยู่ริมอ่าวไทยเป็นเมืองชายทะเล

ภูมิหลัง[แก้]

ในยามสงบ หัวเมืองฝ่ายตะวันตกใช้เป็นเส้นทางติดต่อค้าขายกับราษฎร แต่ยามสงครามจะใช้เป็นเส้นทางเดินทางเดินทัพ เช่น ด่านเจดีย์สามองค์ และด่านสิงขร เป็นต้น

ประชากรมีหลากหลายเชื้อชาติอยู่ปะปนกันหลายหมู่หลายพวก นอกเหนือจากชาวไทยซึ่งอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีชนชาติต่างๆอพยพเข้ามาอยู่จำนวนมากเช่น กะเหรี่ยง มอญ ลาว จีน เขมร มลายู ละว้า และ ขมุ เป็นต้น

ด้านเศรษฐกิจ มีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทั้งยังเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุมีค่ามากมาย เช่น ทองคำ ดีบุก ถ่านหิน และวุลแฟรม เป็นต้น มีการทำนา ปลูกยาสูบ มะพร้าว น้ำตาล ผลิตภัณฑ์จากป่า มีการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ผลผลิตจากการขุดแร่ การประมง และอุตสาหกรรม เช่น ผลิตปูนขาว ต้มกลั่นสุรา เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

ด้านการปกครอง ดินแดนหัวเมืองตะวันตกได้มือสมุทรสงครามได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ภายใต้ลักษณะการปกครองแบบเมืองประเทศราช ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฐานะของหัวเมืองดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นหัวเมืองชั้นใน มีการปกครองขึ้นตรงต่อราชธานี และกลายเป็นหัวเมืองที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อยามสงคราม ที่มีหน้าที่ร่วมกับกองทัพหลวงสู้กับพม่า

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หัวเมืองตะวันตกและเมืองสมุทรสงครามมีความสำคัญมากขึ้น ที่ราชธานีได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำให้หัวเมืองเหล่านี้กลายเป็นเมืองหน้าด่านที่ใกล้ชิดกับราชธานียิ่งขึ้น[1]

การปฏิรูป[แก้]

ศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรี หรือ ศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม ปัจจุบันคืออาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

มณฑลราชบุรีจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 มีที่ทำการอยู่ที่เมืองราชบุรี โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พระยาสุรินทรฦๅชัย ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลประจำวันทนราชบุรีคนแรก

พระยาสุรินทรฦๅชัยได้ยกเลิกการปกครองแบบกินเมือง แล้วจัดรูปแบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ประกอบด้วย หน่วยงานและตำแหน่งทางราชการ กระจายอำนาจการปกครองไปสู่ภูมิภาคอย่างแท้จริง มีตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าเจ้าเมือง เป็นตำแหน่งสูงสุดในเมือง แต่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของข้าหลวงเทศาภิบาลด้วย ได้ยกเลิกอำนาจของเจ้าเมือง คือ การเก็บภาษีอากร ส่วนแบ่งจากภาษีอากร และอำนาจในการพิจารณาคดีของเจ้าเมือง[2] ตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ตำแหน่งกรมการเมือง ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้ว่าราชการ อาทิ ปลัดเมือง ยกกระบัตร ฯลฯ ตำแหน่งเหล่านี้ได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ การจัดการปกครองตำบลและหมู่บ้าน กำหนดให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าหน่วยการปกครอง แต่ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับที่จะได้รับเงินเดือน จะได้รับผลประโยชน์อย่างอื่นตอบแทน เช่น ได้รับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียม หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรบางอย่าง[3]

มณฑลราชบุรีมีคดีความโจรผู้ร้ายมากมาย ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ เช่น กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนดูแลตรวจตรารักษาความสงบ ยกเลิกโรงรับจำนำ ควบคุมโรงฝิ่นเเละบ่อนเบี้ย จัดทำตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะ สำรวจบัญชีสำมะโนครัวเมื่อ พ.ศ. 2448 ออกกฎระเบียบข้อบังคับในการป้องกันเหตุร้ายต่าง ๆ[4]

การปรับปรุงด้านเศรษฐกิจ มีการขุดคลองส่งน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอในการทำนา จัดตั้งกรรมการที่ปรึกษาขึ้นประจำแขวงเมืองต่าง ๆ ขุดคลองดำเนินสะดวกให้ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าเข้ากรุงเทพฯได้สะดวก ด้านการปรับปรุงการโยธา ได้จัดการก่อสร้างสถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น สร้างที่ทำการไปรษณีย์ถาวรที่เมืองสมุทรสงคราม และสร้างที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขที่เมืองปราณบุรี มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดช่องลม วัดโชติทายการาม ในเมืองราชบุรี[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 วุฒิชัย มูลศิลป์. "มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ" (PDF). สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-16. สืบค้นเมื่อ 2021-07-21.
  2. ร.ศ. จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับกระทรวงมหาดไทย. วิทยานิพนธ์ รป.ม. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้า 196-198
  3. เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์. "รายงานตรวจราชการเมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม ร.ศ. 117 : เอกสารประวัติศาสตร์ราชบุรีและสมุทรสงครามในสมัยรัชกาลที่ 5".
  4. กจช. เอกสาร ร.5 ม. 55/16. รายงานราชการมณฑลราชบุรี. หนังสือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูล เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443