ฟาโรห์เรนเซเนบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เรนเซเนบ (หรือที่เรียกว่า รานิโซนบ์) เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณจากราชวงศ์ที่สิบสามแห่งอียิปต์ในช่วงระหว่างกลางที่สอง อ้างอิงจากนักไอยคุปต์วิทยา คิม รีฮอล์ต พระองค์เป็นฟาโรห์พระองค์ที่สิบสี่แห่งราชวงศ์ที่สิบสาม ในขณะที่เดตเลฟ ฟรานเคอได้เห็นว่าพระองค์เป็นผู้ปกครองพระองค์ที่สิบสาม และเยอร์เกน ฟอน เบ็คเคอราทได้สันนิษฐานว่าพระองค์จะเป็นฟาโรห์พระองค์ที่สิบหก[1][2][3][4] และพระองค์ยังเป็นฟาโรห์ที่มีหลักฐานรับรองการมีอยู่ของพระองค์ที่มีเพียงน้อยและยังคงไม่ทราบพระนามครองราชย์ของพระองค์

หลักฐานรับรอง[แก้]

ฟาโรห์เรนเซเนบเป็นที่ทราบเพียงเบื้องต้นจากบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งตูริน ซึ่งพระนามของพระองค์ปรากฏอยู่ในคอลัมน์ที่ 7 บรรทัดที่ 16 (การอ่านแบบการ์ดิเนอร์อยู่ในคอลัมน์ที่ 6 บรรทัดที่ 6) และพระองค์ทรงครองพระราชบัลลังก์เป็นระยะเวลาเพียงสี่เดือน[1]

ฟาโรห์เรนเซเนบยังเป็นที่ทราบจากวัตถุโบราณชั้นต้นร่วมสมัยเพียงชิ้นเดียวคือ ลูกปัดหินสบู่เคลือบ ซึ่งเพอร์ซี นิวเบอร์รี ได้เห็นครั้งสุดท้ายในร้านจำหน่ายของเก่าในกรุงไคโรในปี ค.ศ. 1929[5] ลูกปัดดังกล่าวอ่านว่า "รานิโซนบ์ อเมนเอมฮัต ผู้ให้ชีวิต"[5] และคิม รีฮอล์ต นักอียิปต์วิทยาชาวเดนมาร์กได้ตีความพระนามคู่นี้ว่าหมายถึง "รานิโซนบ์ [พระราชโอรสแห่ง]อเมนเอมฮัต" ซึ่งแสดงว่า พระองค์เป็นพระราชโอรสของฟาโรห์อเมนเอมฮัต[1] ผู้ปกครองก่อนหน้าที่ทรงมีพระนาม "อเมนเอมฮัต" และมีรัชสมัยใกล้เคียงกับรัชสมัยของฟาโรห์เรนเซเนบก็คือ ฟาโรห์เซอังค์อิบเร อเมนิ อันเตฟ อเมนเอมฮัตที่ 6 ซึ่งทรงขึ้นครองราชย์ประมาณสิบปีก่อนหน้ารัชสมัยของพระองค์ อย่างไรก็ตาม การเสนอพระนามของฟาโรห์จำนวนสามพระองค์ที่ปกครองราชย์ระหว่างรัชสมัยของทั้งสองพระองค์คือ ฟาโรห์เซเฮเทปอิบเร, ฟาโรห์เซวัดจ์คาเร และฟาโรห์เนดจ์เอมอิบเร ซึ่งไม่เป็นที่ทราบและอาจเป็นฟาโรห์พระนาม "อเมนเอมฮัต" และหนึ่งในนั้นอาจจะเป็นพระราชบิดาของฟาโรห์เรนเซเนบ[5] หรือเป็นพระบรมเชษฐาธิราช (ที่มีพระชนม์ชีพมากกว่า) ตามลำดับ

นักวิชาการคนอื่นๆ เช่น สเตเฟน เควิร์ก ไม่ได้เห็นด้วยกับการตีความนี้[6]

ฟาโรห์ฮอร์ ผู้ซึ่งขึ้นมาครองพระราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ อาจไม่ได้มีเชื้อสายจากพระราชวงศ์ เนื่องจากพระองค์ไม่เคยกล่าวถึงพระราชบุพการีของพระองค์เลย ดังนั้น รีฮอล์ตจึงได้เสนอความเห็นว่า ฟาโรห์ฮอร์ทรงแย่งชิงพระราชบัลลังก์มา[1] ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การครองราชย์เป็นระยะเวลาอันสั้นของผู้ปกครองหลายพระองค์ในช่วงต้นของราชวงศ์สิบสามแห่งอียิปต์ชี้ให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองโดยทั่วไปของช่วงเวลาดังกล่าว

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 K.S.B. Ryholt, The Political Situation in Egypt during the Second Intermediate Period, c.1800-1550 BC, (Carsten Niebuhr Institute Publications, vol. 20. Copenhagen: Museum Tusculanum Press, 1997), 339, File 13/14.
  2. Detlef Franke: Zur Chronologie des Mittleren Reiches. Teil II: Die sogenannte Zweite Zwischenzeit Altägyptens, in Orientalia 57 (1988)
  3. Jürgen von Beckerath: Untersuchungen zur politischen Geschichte der Zweiten Zwischenzeit in Ägypten, Glückstadt, 1964
  4. Jürgen von Beckerath: Chronologie des pharaonischen Ägyptens, Münchner Ägyptologische Studien 46, Mainz am Rhein, 1997
  5. 5.0 5.1 5.2 Kim Ryholt: A Bead of King Ranisonb and a Note on King Qemaw, Gottinger Miszellen - Beitrage zur Agyptologischen Diskussion 156 (1997), p. 95–100.
  6. Stephen Quirke: In the Name of the King: on Late Middle Kingdom Cylinders, in Czerny (editor): Timelines, Studies in Honour of Manfred Bietak, Leuven (2006), ISBN 90-429-1730-X, p. 263–274.