ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ
เจ้าฟ้าเมืองน่าน
เจ้าผู้ครองนครน่าน
องค์ที่ 57 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
ราชาภิเษก19 สิงหาคม พ.ศ. 2331
ครองราชย์2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2353
รัชกาล24 ปี 9 เดือน 13 วัน
ก่อนหน้าพระเจ้ามงคลวรยศ
ถัดไปพระเจ้าสุมนเทวราช
เจ้าอุปราช พระยาอุปราช (สมณะ) พระยาอุปราชนครน่าน
ประสูติณ เมืองเทิง นครน่าน
พิราลัย15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2353
กรุงเทพพระมหานคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์
พระมเหสีแม่เจ้าคำน้อยอรรคราชเทวี
พระชายาจำนวน 3 องค์
พระราชบุตร14 พระองค์
พระนามเต็ม
สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ สมเด็จเจ้าฟ้าหลวงเมืองน่าน[1]
ราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์
พระบิดาพ่อเจ้าสุทธะ
พระมารดาแม่เจ้ากรรณิกา

สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ หรือ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 และองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ขึ้นปกครองนครน่านสืบต่อจากเจ้ามงคลวรยศ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 56 ผู้เป็นพระมาตุลา (น้าชาย) และทรงเป็นพระปนัดดาในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าเมืองน่าน[2]

พระประวัติ

[แก้]

สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ มีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยอัตถะ ประสูติ ณ เมืองเทิง เขตนครน่าน เป็นราชโอรสพระองค์เดียวในพ่อเจ้าสุทธะกับแม่เจ้ากรรณิกา (เจ้านางจากตระกูลไทลื้อ)[3] ทรงเป็นพระนัดดา (หลานปู่/ย่า) ในเจ้าไชยราชากับแม่เจ้านางเทพ และเป็นพระปนัดดา (เหลน) ในพระหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 51 และปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ และเป็นพระภาติยะ (หลานลุง) ในพระเจ้าอริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 52 ทรงได้ขึ้นเสวยราชย์สมบัตินครน่านสืบต่อจากพระเจ้ามงคลวรยศ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 56 ผู้เป็นพระมาตุลา (น้าชาย) ในปี พ.ศ. 2329

ต่อมาในปี พ.ศ. 2331 เดือน 9 ลง 13 ค่ำ เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าเมืองน่าน ได้นำเจ้านายบุตรหลานแสนท้าวขุนนางในราชสำนักเมืองน่านเสด็จลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเมืองประเทศราช ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าอัตถวรปัญโญ ขึ้นเป็น พระยาอัตถวรปัญโญ พระยาน่าน (พ.ศ. 2331 - พ.ศ. 2347) ต่อมาในปี พ.ศ. 2347 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศ พระยาอัตถวรปัญโญ พระยาน่าน ขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ สมเด็จเจ้าฟ้าเมืองน่าน (พ.ศ. 2347 - พ.ศ. 2353)

พิราลัย

[แก้]

เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ได้สนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดี กระทั่งถึงวันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 13 ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก พ.ศ. 2352 เวลา 3 ยาม 7 บาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคต สิริพระชนมพรรษาได้ 74 พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2352 ปีกดซะง้า ไทยใต้ปีมะเมีย โทศก เดือน 12 ขึ้น 10 ค่ำ เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ได้เสด็จลงไปมาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ แต่ยังไม่ทันถึง เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญก็เกิดประชวรโรคาพยาธิและถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2352 (นับเป็นปีปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2353) ยามใกล้รุ่ง รวมระยะเวลาที่ทรงครองเมืองนครน่าน 25 ปี (ทรงดำรงอิสริยยศ: สมเด็จเจ้าฟ้าเมืองน่าน 5 ปี, เจ้าพระยาน่าน 17 ปี และทรงได้เป็นเจ้าเมืองน่านภายใต้การปกครองของพม่า ที่ตั้งอยู่เมืองเทิง (เขตเมืองน่านในอดีต) 3 ปี รวมระยะเวลา 25 ปี) และได้ถวายเพลิงพระศพเจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ณ กรุงรัตนโกสินทร์[4]

พระชายา พระโอรส พระธิดา

[แก้]

สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญมีพระมเหสี พระชายา 4 องค์ และพระโอรส/พระธิดา รวม 14 พระองค์ มีรายพระนามตามลำดับ ดังนี้[5]

  • พระชายาที่ 1 แม่เจ้าคำน้อยอรรคราชเทวี ประสูติพระโอรส/พระธิดา 5 องค์ ดังนี้
    1. เจ้ามหายศ ภายหลังได้เป็น พระยามหายศ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 59
    2. ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย
    3. เจ้านางประภาวดี
    4. เจ้านางวิมะลา
    5. เจ้านางยอดหล้า
  • พระชายาที่ 2 แม่เจ้าแว่นราชเทวี ประสูติพระโอรส/พระธิดา 7 องค์ ดังนี้
    1. เจ้านางศรีวรรณา
    2. เจ้าถงแก้ว
    3. เจ้าแสนเมือง
    4. เจ้าคำฦๅ
    5. เจ้ามหาวงษ์ ภายหลังได้เป็น เจ้าอุปราชเมืองน่าน
    6. เจ้าสุริยไฮ้
    7. เจ้านันทไชย
  • พระชายาที่ 3 แม่เจ้าขอดแก้วเทวี
 - ไม่มีประสูติกาล
  • พระชายาที่ 4 แม่เจ้าขันแก้วเทวี ประสูติพระโอรส/พระธิดา 2 องค์ ดังนี้
    1. เจ้าอนันตยศ ภายหลังได้เป็น เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62
    2. เจ้านางต่อมคำ

พระกรณียกิจ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2331 หลังจากที่ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ได้ลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ก็ได้กราบบังคมทูลลากลับบ้านเมือง ในครั้งนั้นเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ยังมิได้เข้าไปอยู่ในตัวเมืองน่านเนื่องจากคัวเมืองน่านยังรกร้างอยู่ จึงได้ย้ายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ เช่น บ้านติ๊ดบุญเรือน ที่เมืองแก้ว (อำเภอนาน้อย) และที่เมืองพ้อ (อำเภอเวียงสา)

  • ด้านบ้านเมือง
    1. พ.ศ. 2343 นอกจากนี้ยังให้ขุดเหมืองฝายสมุนขึ้น เพื่อชักน้ำจากลำน้ำสมุน ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองน่านมาใช้ ที่บริเวณชานเมือง ทำให้เมืองน่านมีน้ำใช้ตลอดปี
    2. พ.ศ. 2343 - พ.ศ. 2344 ให้มีการบูรณะซ่อมแซมกำแพงเมือง และตัวเมืองน่านขึ้นใหม่ และกลับเข้ามาอยู่ในเมืองน่านเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2344
    3. พ.ศ. 2347 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ได้นำกำลังของเมืองน่าน ร่วมกับเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง ช่วยเหลือกองทัพจากกรุงเทพฯ เพื่อไปตีเมืองเชียงแสนและขับไล่พม่าให้ออกไปจากแผ่นดินล้านนาได้สำเร็จ
    4. เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2348 เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าเมืองน่าน ได้ยกทัพเมืองน่านขึ้นไปโจมตีหัวเมืองไทลื้อในเขตสิบสองปันนา ทรงยกขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางเมืองเวียงภูคา (Vieng Phouka) และเมืองหลวงน้ำทา (Luang Namtha) เจ้าเมืองเวียงภูคา ยอมจำนนแต่เจ้าเมืองหลวงน้ำทา ได้หลบหนีไปอยู่ที่เมืองพง (Mengpeng) เจ้าอัตถวรปัญโญ จึงนำทัพเมืองน่านติดตามขึ้นไปจนถึงเมืองพง เจ้าเมืองพงหนีไปอยู่เมืองนูน (Menglun) เมื่อทัพเมืองน่านยกล้ำขึ้นไปเรื่อย ๆ เจ้าเมืองพง เจ้าเมืองรำ เจ้าเมืองนูน ต่างหลบหนีเข้าไปอยู่เมืองเชียงรุ่ง เจ้าอัตถวรปัญโญ ทรงยกทัพเข้าตีเมืองเชียงรุ่ง ในเวลานั้นเจ้าหม่อมมหาน้อย เจ้าเมืองเชียงรุ่งอายุเพียงสองชันษา เจ้าหม่อมมหาวังผู้เป็นอาว์สำเร็จราชการแทน เมืองเชียงรุ่งยอมจำนนต่อกองทัพเมืองน่านแต่โดยดีไม่สู้รบ เจ้าเมืองเชียงแข็ง (Kengcheng ปัจจุบันคือเมืองสิงห์) ยอมสวามิภักดิ์ต่อเมืองน่านเช่นกัน เจ้าอัตถวรปัญโญ ได้กวาดต้อนชาวไทลื้อจากหัวเมืองต่าง ๆ ในเขตสิบสองปันนาลงมาอยู่ในอาณาเขตเมืองน่านเป็นจำนวนถึง 40,000 ถึง 50,000 คน
  • ด้านศาสนา
    1. สร้างพระพุทธรูปทันใจ ณ หัวขัวมุง
      ในปี พ.ศ. 2331 ครั้นเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ได้รับพระราชทานให้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองน่าน เมื่อมาถึงยังเมืองน่านพระองค์จึงได้โปรดให้สร้าง พระพุทธรูปทันใจ ณ บริเวณหัวขัวมุงฝ่ายเหนือ[6]
    2. บูรณปฏิสังขรณ์ยอดฉัตรองค์พระธาตุแช่แห้ง
      เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2332 เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ชาวเมือง รวมถึงภิกษุสามเณรในเมืองนครน่าน ได้ทําความสะอาดวัดพระธาตุแช่แห้ง พร้อมกันนั้นได้ทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ ยอดฉัตรขององค์พระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง อีกด้วย
    3. บูรณปฏิสังขรณ์พระประธานในวิหารหลวง วัดพระธาตุแช่แห้ง
      ในปี พ.ศ. 2335 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 พร้อมทั้งพระสงฆ์ทั้งปวงมีครูบาวัดพระธาตุแช่แห้งเป็นประธาน ได้เล็งเห็นถึงพระประธานในพระวิหารหลวงเกิดชํารุดทรุดโทรม จึงพากันบูรณปฏิสังขรณ์และลงรักปิดทองใหม่
    4. สร้างพระธาตุ วัดนาราบ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน)
      ในปี พ.ศ. 2335 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 ทรงโปรดให้สร้างพระธาตุ ที่วัดนาราบ อําเภอนาน้อย ขึ้น ในการนั้นได้ทรงบรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ พระอรหันตธาตุ 11 องค์ พระพุทธรูปทองคํา 1 องค์พระพุทธรูปเงิน 1 องค์ สถิตย์ ณ ปราสาทบนเรือสําเภาเงิน พระธาตุองค์นี้เสร็จสมบูรณ์และทําการเฉลิมฉลองในปี พ.ศ. 2336
    5. สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดนาน้อย (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน)
      เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2336 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 พร้อมด้วยพระบิดา พระมารดา พระอรรคราชา พระโอรส พระธิดา ทรงโปรดให้หมื่นสรีสัพพะช่างและอาจารย์อุ่นเป็นนายช่างหล่อ พระพุทธรูป ณ วัดนาน้อย อําเภอนาน้อย ปัจจุบันประชาชนทั่วไปขนานนามว่า พระเจ้าทองทิพย์
    6. สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย ณ วัดศรีบุญเรือง (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน)
      เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2336 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร ทรงโปรดให้อาจารย์อุ่นเป็นนายช่างปั้นหุ่นเศียรพระพุทธรูป ณ วัดศรีบุญเรือง อําเภอภูเพียง
    7. บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุแช่แห้งและวิหารพระเจ้าทันใจ
      ในปี พ.ศ. 2336 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 ทรงโปรดให้ ซ่อมแซมองค์พระธาตุแช่แห้งและพระวิหารพระเจ้าทันใจที่ถูกต้นสําโรงล้มฟาดใส่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2335
    8. สร้างปราสาทหอธรรม ณ เมืองสา
      ในปี พ.ศ. 2338 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 ทรงโปรดให้สร้างปราสาทหอธรรมขึ้น ณ เวียงสา มีความสูงตั้งแต่พื้นดินถึงยอดประมาณ 18 เมตร ในการนั้นได้นําพระอรหันตธาตุ 20 องค์ พระพุทธรูปแก้ว 1 องค์ บรรจุในอาคารดังกล่าวด้วย
    9. บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพลูแช่ ณ เมืองงั่ว (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน)
      ในปี พ.ศ. 2338 ได้เกิดเทพสังหรณ์ในเมืองงั่ว (อําเภอนาน้อย) นัยยะว่าเทวดาต้องการให้ทําการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพลูแช่ อันชํารุดทรุดโทรม ครั้งนั้นเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 จึงโปรดให้ พระยามงคลวรยศ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 56 ผู้เป็นพระมาตุลา (น้าชาย) นําคณะศรัทธาประชาชนทําการบูรณะ ครั้นเสร็จเสด็จพระองค์จึงเสด็จไปยกฉัตร
    10. สร้างหีบพระธรรม วัดบุญยืน เมืองสา (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเวียงสาจังหวัดน่าน
      ในปี พ.ศ. 2338 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 พร้อมทั้งสวาธุเจ้าทิพพาลังการ เป็นประธานในการสร้างหีบพระธรรม ซึ่งหีบใบนี้มีความวิจิตรงดงาม อย่างมาก มีลักษณะเป็นหีบทรงลุ้ง ฝาตัด ฐานปัทม์ สลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับ แสดงภาพเล่าเรื่องสิริจุฑามณชาดก ซึ่งเป็นหนึ่งใน ปัญญาสชาดก
    11. สร้างวัดบุญยืน พระอารามหลวง (ปัจจุบันอยู่ในเขต อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน)
      เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2341 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 ได้เสด็จประพาสเวียงป้อ (เวียงสา) ทรงเห็นว่าวัดบุญยืน มีความคับแคบไม่อาจขยายให้กว้างขวางได้ ประกอบกับเจ้าอาวาสขณะนั้น คือ พระอธิการนาย (ครูบานาย) และราษฎรได้เห็นพ้องต้องกันด้วย ดังนั้น เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ จึงให้ย้ายวัดมาสร้างใหม่ห่างจากวัดเดิมประมาณ 3 เส้น ทางด้านทิศเหนือบนฝั่งขวาของลำน้ำน่าน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329 บริเวณที่ตั้งของวัดนั้น มีป่าไม้สักที่สมบูรณ์ จึงใช้ไม้สักสร้างวิหาร กุฎิสงฆ์ และศาสนวัตถุอื่นๆ เป็นจำนวนมาก และได้พระราชทานนามวัดใหม่แห่งว่า ..วัดป่าสักงาม .. ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2343 ได้โปรดให้หมื่นศรีสรรพช่างก่อสร้างพระวิหาร โดยมีความกว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร และสร้างพระพุทธรูปปางประทับยืน เป็นพระประธานในวิหาร หันพระพักตร์ไปทางด้านทิศเหนือ มีขนาดความสูง 8 ศอก หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อวัดป่าสักงาม มาเป็น “วัดบุญยืน” ตามลักษณะพระพุทธธูป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน
    12. บูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระธาตุแช่แห้ง
      ในปี พ.ศ. 2345 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 ทรงโปรดให้ทําการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุแช่แห้ง เช่น ขยายกําแพงทางด้านทิศใต้ขององคพระธาตุ สร้างซุ้มประตู และปิดนรูปเทวดาไว้ บริเวณ 4 มุม เป็นต้น
    13. สร้างพญานาค ทางขึ้นวัดพระธาตุแช่แห้ง
      ในปี พ.ศ. 2349 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นโดยการนั้นเกณฑ์คนจํานวน 400 คน ก่อสร้างพญานาค 2 ตัว ซึ่งมีความ ยาว 68 วา สูง 4 ศอก หัวพญานาคนั้นสูงจากพื้นดินขึ้นไป 10 ศอก ณ เชิงดอยวัดพระธาตุแช่แห้ง ในปี พ.ศ. 2349 ขึ้นเป็นครั้งแรก การก่อสร้างพญานาคดังกล่าวให้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ จึงแล้วเสร็จ และได้เฉลิมฉลองขึ้นในราวเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450
    14. ทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมธาตุแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
      ในปี พ.ศ. 2351 ได้มีการพบไหบรรจุพระบรมธาตุพร้อมด้วยเครื่องบูชา โดยสามเณร 2 รูป รูปหนึ่งชื่อสามเณรอริยะ อีกรูปหนึ่งชื่อสามเณรประหญา ณ บริเวณท่าน้ําบ้านท่าแฝก เมื่อทรงทราบจึงจัดหาเครื่องบูชาเพิ่มเติมแล้ว จึงนําลงมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปัจจุบัน พระบรมธาตุดังกล่าวได้ประดิษฐานอยู่ในองค์ พระพุทธชินราช วโรวาทธรรมจักร อัครปฐมเทศนา นราศภบพิตร” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
    15. สร้างพระไตรปิฎก (หอธรรม) บริเวณคุ้มหลวง
      ในปี พ.ศ. 2371 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 โปรดให้สร้างหอพระไตรปิฎก ขึ้นบริเวณคุ้มหลวงประดับประดาด้วยรูปปั้นกินรี นกยูง และรูปต้นไม้ ภายในอาคารประดับตกแต่งด้วยการลงรักปิดทอง ทั้งนี้ยังโปรดให้รวบรวมคัมภีร์ใบลานจากที่ต่าง ๆ มาเก็บรักษาไว้ยังหอนี้ด้วย

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม

[แก้]
  1. ถนนเจ้าฟ้า

ราชตระกูล

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
บรรณานุกรม
  • ประชุมพงษาวดารภาคที่ 10 เรื่องราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2461. 210 หน้า.
  • ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา (2477). "พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help) [ที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค)
ก่อนหน้า เจ้าฟ้าหลวงอัตถวรปัญโญ ถัดไป
พระยามงคลยศประเทศราช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57
และองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์

(พ.ศ. 2331 - พ.ศ. 2353)
พระยาสุมนเทวราช