ข้ามไปเนื้อหา

องค์การบริหารส่วนตำบล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

องค์การบริหารส่วนตำบล มีชื่อย่อเป็นทางการว่า อบต. มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยยกฐานะจากสภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท

ณ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2563 มีองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งสิ้น 5,300 แห่ง [1]

องค์การบริหารส่วนตำบล ในปี พ.ศ. 2538 ได้รับการจัดตั้งเป็น อบต. 617 แห่ง และในปี พ.ศ. 2547 มีมากที่สุดถึง 6,744[2] แหล่งเงินทุน 10.931 เท่าภายในเวลาเพียง10ปี

รูปแบบองค์การ

[แก้]

องค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

  1. สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนหมู่บ้านละหนึ่งคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น
  2. องค์การบริหารส่วนตำบลมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ไม่เกิน 2 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

การบริหาร

[แก้]

กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร อบต. (ม.58) ประกอบด้วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือผู้บริหารท้องถิ่นเรียกว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง

อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล

[แก้]

อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

[แก้]
  1. พัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (มาตรา 66)
  2. มีหน้าที่ต้องทำตามมาตรา 67 ดังนี้
    1. จัดให้มีและบำรุงทางน้ำและทางบก
    2. รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย การดูแลกการจราจร และส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
    3. การรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
    4. ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
    5. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
    6. จัดการ ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และการฝึกอบรมให้แก่ประชาชน รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนดูแลและพัฒนาเด็กเล็กตามแนวทางที่เสนอแนะจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
    7. ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุและพิการ
    8. คุ้มครอง ดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    9. บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
    10. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย
  3. มีหน้าที่ที่อาจทำกิจกรรมในเขต อบต. ตามมาตรา 68 ดังนี้
    1. ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและการเกษตร
    2. ให้มีและบำรุงไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
    3. ให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
    4. ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ
    5. ให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร และกิจการสหกรณ์
    6. ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
    7. บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพ
    8. การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
    9. หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของ อบต.
    10. ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
    11. กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
    12. การท่องเที่ยว
    13. การผังเมือง

อำนาจหน้าที่ตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ

[แก้]

พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้ อบต.มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามมาตรา 16 ดังนี้

  1. การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
  2. การจัดให้มี และบำรุงรักษาทางบกทางน้ำ และทางระบายน้ำ
  3. การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
  4. การสาธารณูปโภค และการก่อสร้างอื่นๆ
  5. การสาธารณูปการ
  6. การส่งเสริม การฝึก และการประกอบอาชีพ
  7. คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  8. การส่งเสริมการท่องเที่ยว
  9. การจัดการศึกษา
  10. การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
  11. การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
  12. การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัด และการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
  13. การจัดให้มี และบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
  14. การส่งเสริมกีฬา
  15. การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  16. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
  17. การรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
  18. การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
  19. การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
  20. การจัดให้มี และควบคุมสุสาน และฌาปนสถาน
  21. การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
  22. การจัดให้มี และควบคุมการฆ่าสัตว์
  23. การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ
  24. การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  25. การผังเมือง
  26. การขนส่ง และการวิศวกรรมจราจร
  27. การดูแลรักษาที่สาธารณะ
  28. การควบคุมอาคาร
  29. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  30. การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
  31. กิจอื่นใด ที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ประเภทขององค์การบริหารส่วนตำบล

[แก้]

องค์การบริหารส่วนตำบล ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • ประเภทสามัญ
  • ประเภทสามัญ ระดับสูง
  • ประเภทพิเศษ

โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบล

[แก้]

องค์การบริหารส่วนตำบล มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบล และมีพนักงานประจำที่เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ทำงานประจำวันโดยมีปลัด และรองปลัด ผู้อำนวยการกอง เป็นหัวหน้างานบริหาร ภายในองค์กรมีการแบ่งออกเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ได้เท่าที่จำเป็นตามภาระหน้าที่ของ อบต.แต่ละแห่งเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบอยู่ เช่น

  • สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล
  • กองคลัง
  • กองช่าง
  • กองประปา
  • กองการเกษตร
  • กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
  • กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
  • กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ
  • กองการเจ้าหน้าที่
  • กองสวัสดิการสังคม
  • หน่วยตรวจสอบภายใน
  • งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
  • งานกำจัดสิ่งสกปรกโสโครกและสิ่งปฏิกูล

อ้างอิง

[แก้]
  1. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. กระทรวงมหาดไทย. "สรุปข้อมูล อปท ทั่วประเทศ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1] 2562. สืบค้น 6 สิงหาคม พ.ศ. 2563.
  2. หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ปฏิบัติตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสารราชการ[ลิงก์เสีย]
  • พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]