พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระอุดมญาณโมลี

(จันทร์ศรี จันททีโป)
ชื่ออื่นหลวงปู่จันทร์ศรี, หลวงปู่ใหญ่
ส่วนบุคคล
เกิด10 ตุลาคม พ.ศ. 2454 (105 ปี 65 วัน ปี)
มรณภาพ14 ธันวาคม พ.ศ. 2559
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษานักธรรมชั้นเอก
เปรียญธรรม 4 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี
อุปสมบท13 มกราคม พ.ศ. 2474
พรรษา85
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์
อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต)
อดีตที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.)

พระอุดมญาณโมลี นามเดิม จันทร์ศรี แสนมงคล ฉายา จนฺททีโป หรือ หลวงปู่ใหญ่ (10 ตุลาคม พ.ศ. 2454 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุดรธานี อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์

ประวัติ[แก้]

ชาติกำเนิด[แก้]

นามเดิม จันทร์ศรี แสนมงคล เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2454 ตรงกับวันอังคาร ตรงกับแรม 3 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ณ บ้านโนนทัน ตำบลโนนทัน อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โยมบิดา-โยมมารดาชื่อนายบุญสาร-นางหลุน แสนมงคล ก่อนที่โยมมารดาจะตั้งครรภ์ ในคืนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 นั้น ฝันเห็นพระ 9 รูป มายืนอยู่ที่ประตูหน้าบ้าน พอรุ่งขึ้นตรงวันขึ้น 15 ค่ำ เพ็ญเดือน 3 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา ได้เห็นพระกัมมัฏฐาน 9 รูปมาบิณฑบาตยืนอยู่หน้าบ้าน จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงรีบจัดภัตตาหารใส่ภาชนะ ไปนั่งคุกเข่าประนมมือตรงหน้าพระเถระผู้เป็นหัวหน้า ยกมือไหว้ แล้วใส่บาตรจนครบทั้ง 9 รูป แล้วนั่งพับเพียบประนมมือกล่าวขอพรว่า

“ดิฉันปรารถนาอยากได้ลูกชายสัก 1 คน จะให้บวชเหมือนพระคุณเจ้าเจ้าค่ะ”

พระเถระก็กล่าวอนุโมทนา หลังจากนั้นอีก 1 เดือน นางหลุน แสนมงคล ก็ได้ตั้งครรภ์ และต่อมาก็คลอดบุตรชายรูปงามในวันอังคารที่ 10 ตุลาคม พุทธศักราช 2454

อุปสมบท[แก้]

บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านศิลา ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดย เจ้าอธิการเป๊ะ ธัมมเมตติโก เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี, เจ้าคณะตำบลโนนทัน อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2474 โดยมี พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีพระอาจารย์กรรมฐานจำนวน 25 รูปนั่งเป็นพระอันดับ ท่านได้รับนามฉายาว่า จนฺททีโป อันมีความหมายเป็นมงคลว่า ผู้มีแสงสว่างเจิดจ้าดั่งจันทร์เพ็ญ

การศึกษาพระปริยัติธรรมและงานด้านการศึกษา[แก้]

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2484 ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เป็นเวลา 15 วัน ทำให้หลวงปู่จันทร์ศรีได้มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านพระอาจารย์มั่นชั่วระยะเวลาหนึ่ง ถือเป็นกำไรแห่งชีวิตอันล้ำค่า

ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์[แก้]

  • 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ก็มีพระบัญชาให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อทำศาสนกิจคณะสงฆ์ เนื่องจาก พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) มีอายุเข้าปูนชรา โดยแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) อีกตำแหน่งหนึ่ง
  • พ.ศ. 2498 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) อีกตำแหน่งหนึ่ง
  • พ.ศ. 2505 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ วัดราษฎร์
  • พ.ศ. 2507 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และในปีเดียวกันท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวงชั้นตรี
  • พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าคณะภาค (ธรรมยุต) และรักษาการเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี
  • พ.ศ. 2522 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะจังหวัดหนองคายและจังหวัดสกลนคร
  • พ.ศ. 2531 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) รวมทั้ง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.)

รวมทั้ง ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต)

ลำดับสมณศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. 2495 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ พระครูสิริสารสุธี[1]
  • พ.ศ. 2498 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสิริสารสุธี อุดรธานี ธรรมิกคณิสสร[2]
  • พ.ศ. 2505 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเมธาจารย์ ปริยัติญาณโสภณ วิมลศีลาจารวัตร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]
  • พ.ศ. 2517 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาจารย์ อริยญาณนายก ตรีปิฎกธรรมวิภูษิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [4]
  • พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมบัณฑิต ปริยัติกิจโกศล สกลศาสนกิจจาทร สุนทรศีลโสภิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [5]
  • พ.ศ. 2544 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระอุดมญาณโมลี ศีลาจารวราภรณ์ สาทรหิตานุหิตวิมล โสภณธรรโมวาทานุสาสนี ตรีปิฏกธรรมาลงกรณ์ ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [6]
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม และเครื่องเกียรติยศแก่พระอุดมญาณโมลี

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

งานด้านสาธารณสงเคราะห์[แก้]

ท่านได้ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจน เรียนดี และมีความประพฤติดี ปีละ 40 ทุน ทุนละ 1,000 บาท ให้รางวัลแก่พระภิกษุ-สามเณรที่สามารถสอบไล่ได้บาลีชั้นประโยค 1-2-เปรียญธรรม 3 ประโยค เป็นประจำทุกปี รูปละ 500 บาท ส่วนครูรูปละ 1,000 บาท

นอกจากนี้ยังรับภาระหน้าที่สำคัญ ๆ ในคณะสงฆ์อีกมากมาย อาทิ เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก (พระสูตร), เป็นพระอนุกรรมการคณะธรรมยุต, เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง, เป็นพระธรรมทูตประจำจังหวัดอุดรธานี, เป็นประธานมูลนิธิวัดโพธิสมภรณ์, เป็นรองประธานกรรมการบริหารศูนย์บาลีศึกษาอีสาน (ธรรมยุต), เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโพธิสมภรณ์

ละสังขาร[แก้]

พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป) ได้ละสังขารอย่างสงบ ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ชั้น 28 รพ.จุฬาลงกรณ์ หลังเข้ารักษาอาการอาพาธ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 20.00 น. สิริอายุรวม 105 ปี พรรษาที่ 85 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ณ วัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

สัทธิวิหาริก[แก้]

หลวงปู่จันทร์ศรี เป็นพระมหาเถรผู้ทรงคุณ แก่วงพระกรรมฐานมากอีกองค์หนึ่งนอกจากจะเป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์แล้ว ยังเป็นพระอุปัชฌาจารย์ เป็นบิดาแห่งกุลบุตรให้เข้าสู่ร่มกาวสาวพัสตร์จำนวนมากอีกด้วย ซึ่งในสมัยก่อนหากมีการอุปสมบทในวัดสำคัญมักจะนิมนต์หลวงปู่จันทร์ศรี ไปเป็นพระอุปัชฌาย์ให้เสมอ ยกตัวอย่าง วัดป่านิโครธาราม ของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นต้น ซึ่งมีสัทธิวิหาริกองค์สำคัญ ๆ เช่น

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๖, ตอนที่ ๗๒ ง, ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕, หน้า ๔๖๓๑
  2. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๒, ตอนที่ ๙๕, ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘, หน้า ๓๐๐๘
  3. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๐, ตอน ๓ ง ฉบับพิเศษ, ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖, หน้า ๗
  4. ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๙๑, ตอน ๒๒๙ ง ฉบับพิเศษ, ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗, หน้า ๔
  5. ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๗, ตอน ๒๔๒ ง ฉบับพิเศษ, ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓, หน้า ๑
  6. ราชกิจจานุเบกษา,พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘, ตอน ๒๔ ข ฉบับพิเศษ, ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔, หน้า ๑
  7. ประกาศ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ ๔ / ๒๕๕๓ เรื่อง รายนามพระมหาเถรานุเถระซึ่งได้รับการถวายประกาศเกียรติคุณ “พุทธคุณูปการ” ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๓[ลิงก์เสีย]

ข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]