พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ที่ตั้ง | อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ประเทศไทย 17°01′09.5″N 99°42′17″E / 17.019306°N 99.70472°E |
---|---|
ผู้ออกแบบ | กรมศิลปากร |
ประเภท | พระบรมราชานุสาวรีย์ |
วัสดุ | ทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ |
ความยาว | แท่นฐาน: 4 เมตร (13 ฟุต) |
ความกว้าง | แท่นฐาน: 2.88 เมตร (9.4 ฟุต) |
เริ่มก่อสร้าง | 26 พฤศจิกายน 2512 |
สร้างเสร็จ | 13 เมษายน 2519 |
การเปิด | 17 พฤศจิกายน 2528 |
อุทิศแด่ | พ่อขุนรามคำแหงมหาราช |
พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่และทรงมีพระปรีชาสามารถนานัปการ อาทิ การประดิษฐ์อักษรไทย การปกครองแบบพ่อปกครองลูก บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข และอุดมสมบูรณ์
กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานควบคุมการออกแบบ โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นประดิษฐานเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512[1] ก่อนจะอัญเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานบนแท่นเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2519[2] และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 และในวันที่ 17 มกราคมของทุกปี ทางราชการได้กำหนดรัฐพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นประจำทุกปี[3]
องค์ประกอบ
[แก้]พระบรมรูป
[แก้]มีพระพักตร์และทรวดทรง ซึ่งจินตนาการตามลักษณะของสุภาพชนและเจ้านายสมัยสุโขทัย ลักษณะพระพักตร์ยังจำลองแบบตามพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยด้วย สร้างในท่าประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังศิลาบาตร ขนาดพระแท่นเท่าจริง คือยาว 4 เมตร กว้าง 2.88 เมตร พระหัตถ์ขวาทรงถือพระคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน พระแท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้าง ๆ พระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ มีน้ำหนักประมาณ 3 ตัน[1]
แท่นฐาน
[แก้]ทรวดทรงแท่นฐานอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะสถาปัตยกรรมเลียนแบบศิลปกรรมสมัยสุโขทัย เป็นแท่นนฐานแบบเจดีย์ทรงกลมในวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย รอบฐานแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างสัณฐานเตี้ยเหมือนมูลดิน ประดับด้วยลวดลายกาบบัว ด้านหน้าประดิษฐานรูปศิลาจารึกจำลองขนาด 2 เท่าจริง มีบันไดขึ้น 4 ด้าน ระหว่างขั้นบันไดประดับหินยกพื้นขึ้นไปอีก 2 ชั้น แต่ละชั้นประดับด้วยลายบัวคว่ำบัวหงายถึงฐานชั้นที่ 3 ประดิษฐานพระแท่นมนังศิลาบาตร และพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านหน้าพระบรมรูปมีคำจารึก[1]
ภาพจำหลักที่แท่นฐาน
[แก้]-
แผ่นที่ 1
พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อ อรูจาครี ไปนบพระอัฏฐารส ณ วัดตะพานหิน ในวันพระขึ้น 15 ค่ำ -
แผ่นที่ 2
จูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า
-
แผ่นที่ 3
พ่อขุนรามคำแหงชนช้างกับขุนสามชน -
แผ่นที่ 4
ชาวสุโขทัย บำเพ็ญศีล ทาน การกุศล
ภาพจำหลักฐานข้างพระบรมรูป
[แก้]-
ภาพที่ 2
ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงรับเรื่องราวร้องทุกข์ของราษฎร
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช". thaimaptravel.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-21. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช". มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-05. สืบค้นเมื่อ 2023-01-28.
- ↑ ";yoอขุนรามคำแหงมหาราช". มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุโขทัย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-16. สืบค้นเมื่อ 2023-01-28.