ข้ามไปเนื้อหา

พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนับเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรธนบุรี ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างเหลือล้นต่อชาติไทย ดังนั้น จึงได้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และพระบรมราชานุสรณ์รำลึกถึงพระองค์ขึ้น ตัวอย่างของพระบรมราชานุสาวรีย์และพระบรมราชานุสรณ์เหล่านี้ เช่น

พระบรมราชานุสาวรีย์

[แก้]
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่วงเวียนใหญ่
พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ วงเวียนใหญ่

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ตามที่กล่าวมาแล้ว ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 และในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2497 จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ เป็นประจำทุกปี ต่อมาทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทย เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[1][2]

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทุ่งนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ ทุ่งนาเชย

ชาวเมืองจันท์นั้นภาคภูมิใจอย่างยิ่งต่อเกียรติประวัติของจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งวีรกรรมของบรรพบุรุษที่ได้ยอมเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต เข้าร่วมในกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกู้อิสรภาพได้สำเร็จ จึงพร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ บริเวณทุ่งนาเชย กลางอำเภอเมืองจันทบุรีในปัจจุบัน พิธีเปิดวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2542 นั้น ตรงกับวันปราบดาภิเษก วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 โดยทางกรมศิลปากรนำศิลาจารึกพระนาม สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี มาประทับที่พระบรมราชานุสาวรีย์ แต่ถูกชาวจันทบุรีร่วมกันคัดค้าน ขอให้เปลี่ยนเป็นจารึกพระราชสมัญญานามเสียใหม่ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา[3]

พระบรมราชานุสรณ์

[แก้]
โรงพยาบาลตากสิน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดมีการระบาดของไข้กาฬโรคขึ้นในสยามประเทศ พระพุทธเจ้าหลวงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งโรงพยาบาล โรคติดต่อขึ้นที่ตำบลคลองสาน แต่เดิมขนานนามว่า โรงพยาบาลโรคติดต่อ ต่อมาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480 โรงพยาบาลโรคติดต่อจึงได้โอนไปขึ้นกับเทศบาลนครกรุงเทพ ได้รับการขนานนามว่า โรงพยาบาลเทศบาล

แต่เนื่องจากความเก่าแก่ของอาคารเรือนไม้ที่สร้างขึ้นและใช้งานมานานถึง 32 ปี อีกทั้งคนที่ป่วยด้วยโรคติดต่อมีจำนวน ลดลง สถานที่ไม่เหมาะสมเพราะได้มีชุมชนหนาแน่นจึงได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงโรง พยาบาลโรคติดต่อนี้ขึ้นเป็นสถานพยาบาลพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลกลาง และวชิรพยาบาลก่อน คนทั่วไปเรียกขานว่า โรงพยาบาลพักฟื้น

ต่อมา พ.ศ. 2515 ทางราชการได้ประกาศจัดตั้งเทศบาลนครหลวงขึ้น โดยรวมเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีเข้าด้วยกัน โรงพยาบาลพักฟื้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลเทศบาลนครหลวง สำหรับรักษาโรคทั่วไป เพื่อเป็นอนุสรณ์การจัดตั้งเทศบาลนครหลวง มีพิธีเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2515

หลังจากนั้น ชื่อของโรงพยาบาลได้ถูกเปลี่ยนอีกครั้งเป็น โรงพยาบาลกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เพื่อยุติการเปลี่ยนชื่อของโรงพยาบาลบ่อยๆ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลตากสิน ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ผู้ทรงสถาปนากรุงธนบุรี [4] [5]

โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

โรงพยาบาลประจำจังหวัด ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันได้เปิดศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก เป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรอีกด้วย

ค่ายตากสิน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ"ค่ายตากสิน" เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 เพื่อเทิดพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งพระองค์ได้นำกำลังมาตั้งมั่น ณ ที่แห่งนี้ เมื่อเดือน 7 ปีกุน พ.ศ. 2310 เพื่อรวบรวมกำลังกู้เอกราช [6] [7] [8]

อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช

อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช เดิมมีชื่อว่า อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ เนื่องจากมีต้นกระบากที่ใหญ่สุดในประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบในขณะนี้ ตั้งอยู่ในท้องที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองตาก และอำเภอแม่สอด ซึ่งประกาศทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ละเมา ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 954 (พ.ศ. 2524) และประกาศทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท้อ–ห้วยตากฝั่งขวา ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 145 (พ.ศ. 2509) มีพื้นที่ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาจำนวน 93,125 ไร่ แต่มีพื้นที่จริงจากการคำนวณเท่ากับ 163,750 ไร่ [9] [10]

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นสิริมงคลแก่อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนเพื่อเป็นการรำลึกถึงสถานที่อันมีค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ได้แก่ จังหวัดตาก เห็นสมควรเปลี่ยนชื่อ อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ เป็น อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อใช้พระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติ และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ให้ใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช[11] [12]

มหาวิทยาลัยตากสิน

สภาการศึกษาแห่งชาติ อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยตากสิน พ.ศ. ... ซึ่งเสนอโดยนายอุดร ตันติสุนทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะเป็นการหลอมรวมเอามหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก เข้าด้วยกัน[13]

โรงเรียนวัดอินทาราม

เนื่องด้วยทางวัดอินทารามวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ ทางวัดจึงได้ประดิษฐานพระบรมราชานุสรณ์ไว้ที่ หน้าวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน ต่อมามีผู้ใจบุญ จัดสร้างพระบรมราชานุสรณ์ ขึ้นใหม่ ทางวัดจึงได้นำพระบรมราชานุสรณ์ พระองค์เดิมมาประดิษฐาน ณ โรงเรียนวัดอินทาราม นับจากนั้นเป็นต้นมา

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือกรมสารบรรณ คณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ น.ว.287/2497 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2497 เรื่อง วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน.
  2. Donald K. Swearer (2004). Becoming the Buddha: The Ritual of Image. Princeton University Press. p. 235. ISBN 0691114358.
  3. ศรรวริศา เมฆไพบูลย์,ศิริโชค เลิศยะใส. NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับที่ 77 ธันวาคม 2550. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ปริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ,หน้า 57.ISSN 1513-9840
  4. "ประวัติโรงพยาบาลตากสิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-19. สืบค้นเมื่อ 2010-04-02.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้อำนาจจัดตั้ง "มูลนิธิโรงพยาบาลตากสิน" เป็นนิติบุคคล, เล่ม 96, ตอนที่ 37, 20 มีนาคม 2522, หน้า 1169-1170
  6. ประวัติค่ายตากสิน, กองทัพเรือ
  7. ประวัติค่ายตากสิน เก็บถาวร 2009-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ค่ายตากสิน พัน.ร.2 กรม ร.1 พล.นย.
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานนามค่ายทหาร, เล่ม 123, ตอนที่ 101 ง, 28 กันยายน 2549, หน้า 41
  9. ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวงฉบับที่ 145 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507, เล่ม 83, ตอนที่ 104 ก, 22 พฤศจิกายน 2509,หน้า 767-768
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา กำหนดที่ดินบริเวณป่าแม่ละเมาและป่าแม่ท้อ ในท้องที่ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด และตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เก็บถาวร 2014-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 98, ตอนที่ 210 ก ฉบับพิเศษ, 23 ธันวาคม 2524, หน้า 13
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศจังหวัดตาก, เล่ม 106, ตอนที่ 24, 9 กุมถาพันธ์ 2532, หน้า 1143-1144
  12. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช เก็บถาวร 2011-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  13. มหาวิทยาลัยตากสิน

ดูเพิ่ม

[แก้]