ข้ามไปเนื้อหา

ดนตรีคลาสสิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงซิมโฟนีออเคสตรา

ดนตรีคลาสสิก (อังกฤษ: Classical music) เป็นรูปแบบหนึ่งของดนตรี ซึ่งมักจะหมายถึงดนตรีที่เป็นศิลปะของตะวันตก

การแสดงดนตรีคลาสสิกจะใช้เครื่องดนตรี 5 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ เครื่องสาย (String) แบ่งออกเป็น ไวโอลิน วิโอลา เชลโล และดับเบิลเบส กลุ่มที่สอง คือ เครื่องเป่าลมไม้ (Woodwind) เช่น ฟลูต คลาริเน็ต โอโบ บาสซูน ปิคโคโล กลุ่มที่สาม คือ เครื่องเป่าทองเหลือง (Brass) เช่น ทรัมเป็ต ทรอมโบน ทูบา เฟรนช์ฮอร์น กลุ่มที่สี่ คือ เครื่องกระทบ (Percussion) เช่น กลองทิมปานี ฉาบ กลองใหญ่ (Bass Drum) กิ่ง (Triangle) กลุ่มที่ห้า คือ เครื่องลิ่มนิ้ว เช่น เปียโน ฮาร์ปซิคอร์ด เมื่อเล่นรวมกันเป็นวงเรียกว่าวงดุริยางค์หรือ ออร์เคสตรา (Orchestra) ซึ่งมีผู้อำนวยเพลง (conductor) เป็นผู้ควบคุมวง

ประวัติและเวลา

[แก้]

ดนตรีคลาสสิกแบ่งออกเป็นยุค ดังนี้

1. ดนตรีกรีก ประวัติของดนตรีกรีกโบราณตั้งแต่เริ่มต้นถึง 330 ปี ก่อนคริสตกาล(330 B.C;) เมื่อ วัฒนธรรมของกรีกแยกเป็น 2 สาย กล่าวคือ สายที่ 1 ทางตะวันออก (Alexander the Great) และสายที่ 2 ทางตะวันตก (ตามชาวโรมัน) เครื่องดนตรีได้แก่พิณไลร่า

2. ดนตรีโรมัน หลังจากกรีกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน ใน 146 ปี ก่อนคริสต์ศักราช อาณาจักรโรมันรับเอาวัฒนธรรมการดนตรีของกรีกไปทั้งหมด โดยมิได้มีการพัฒนารูปแบบของดนตรีไปสักเท่าไรนักยังคงใช้รูปแบบการร้องเสียงเดียว (Monophony) ซึ่งเรียกว่า เพลนซอง (Plain Song) หรือแชนท์(Chant) โดยมากแล้วแต่ละแห่งจะคำนึงถึงผลของการปฏิบัติมากกว่าที่จะยึดติดกับรูปแบบที่รับมาตายตัว

3. ยุคกลาง (Medieval or Middle Age) พ.ศ. 1019 - พ.ศ. 1943 ดนตรีคลาสสิกยุโรปยุคกลาง หรือ ดนตรียุคกลาง ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของดนตรีคลาสสิก เริ่มต้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1019 (ค.ศ. 476) ซึ่งเป็นปีล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ดนตรีในยุคนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คาดกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากดนตรีในยุคกรีกโบราณ รูปแบบเพลงในยุคนี้เน้นที่การร้อง โดยเฉพาะเพลงสวด (Chant) ในตอนปลายของยุคกลางเริ่มมีการร้องเพลงแบบสอดทำนองประสานด้วย

4. ยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) พ.ศ. 1943 - พ.ศ. 2143 เริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1943 (ค.ศ. 1400) เมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงศิลปะและฟื้นฟูศิลปะโบราณยุคโรมันและกรีก แต่ดนตรียังคงเน้นหนักไปทางศาสนา เพียงแต่เริ่มมีการใช้เครื่องดนตรีที่หลากหลายขึ้น ลักษณะของดนตรีในสมัยนี้ยังคงมีรูปแบบคล้ายยุคกลางในสมัยศิลป์ใหม่ เพลงร้องยังคงนิยมกัน แต่เพลงบรรเลงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

ดูเพิ่มที่ ยุคเรเนสซองส์

5. ยุคบาโรค (Baroque) พ.ศ. 2143 - พ.ศ. 2272 ยุคนี้เริ่มขึ้นเมื่อมีการกำเนิดอุปรากรในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 1600) และสิ้นสุดลงเมื่อ โยฮันน์ เซบาสเทียน บาค เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2293 (ค.ศ. 1750) แต่บางครั้งก็นับกันว่าสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2273 (ค.ศ. 1730) เริ่มมีการเล่นดนตรีเพื่อการฟังมากขึ้นในหมู่ชนชั้นสูง นิยมการเล่นเครื่องดนตรีประเภทออร์แกนมากขึ้น แต่ก็ยังคงเน้นหนักไปทางศาสนา นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่น บาค วีวัลดี เป็นต้น

ดูเพิ่มที่ ศิลปะบาโรค

6. ยุคโรโกโก (Rococo) พ.ศ. 2273 - พ.ศ. 2293 ดนตรีแบบกาล็องต์ (Galante Style) ระหว่างสมัยบาโรกและคลาสสิก ถือกันว่าเป็นดนตรีโรโกโก ดนตรีโรโกโกพัฒนามาจากดนตรีบาโรกโดยเฉพาะที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นดนตรีที่ไม่ไปทางนาฏกรรมแต่จะนุ่มนวล อย่างงานของ ฌ็อง ฟิลิป ราโม (Jean Philippe Rameau) ลุย โกลด ดาแกง (Louis-Claude Daquin) และ François Couperin อยู่ในตอนปลายของยุคบาโรก[1]

ดูเพิ่มที่ โรโกโก

7. ยุคคลาสสิก (Classical) พ.ศ. 2293 - พ.ศ. 2363 เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด มีกฎเกณฑ์ แบบแผน รูปแบบและหลักในการเล่นดนตรีอย่างชัดเจน ศูนย์กลางของดนตรียุคนี้คือประเทศออสเตรีย โดยเฉพาะที่กรุงเวียนนา และเมืองมานไฮม์ (Mannheim) เครื่องดนตรีมีวิวัฒนาการมาจนสมบูรณ์ที่สุด เริ่มมีการผสมวงที่แน่นอน คือ วงเชมเบอร์มิวสิกและวงออร์เคสตรา ซึ่งในยุคนี้มีการใช้เครื่องดนตรีครบทุกประเภท และยังถือเป็นแบบแผนของวงออร์เคสตราในปัจจุบัน นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่น โมซาร์ท เป็นต้น

8. ยุคโรแมนติก (Romantic) พ.ศ. 2363 - พ.ศ. 2443 เป็นยุคที่มีเริ่มมีการแทรกของอารมณ์ในเพลง มีการเปลี่ยนอารมณ์ การใช้ความดังความค่อยที่ชัดเจน ทำนอง จังหวะ ลีลาที่เน้นไปยังอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งต่างจากยุคก่อน ๆ ที่ยังไม่มีการใส่อารมณ์ในทำนอง นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่น เบทโฮเฟิน ชูเบิร์ต โชแปง วากเนอร์ บราห์มส์ ไชคอฟสกี้ เป็นต้น

9. ดนตรียุคอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2453 พัฒนารูปแบบโดยนักดนตรีฝรั่งเศส มี โคล้ด เดอบุซซี เอริก ซาที มอริซ ราเวล เป็นผู้นำ ลักษณะดนตรีของยุคนี้เต็มไปด้วยจินตนาการ อารมณ์ที่เพ้อฝัน ประทับใจ ต่างไปจากดนตรีสมัยโรแมนติกที่ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์

10. ยุคศตวรรษที่ 20 ถึงปัจจุบัน (20th Century Music) พ.ศ. 2443 - ปัจจุบัน นักดนตรีเริ่มแสวงหาดนตรีที่ไม่ขึ้นกับแนวทางในยุคก่อน จังหวะในแต่ละห้องเริ่มแปลกไปกว่าเดิม ไม่มีโน้ตสำคัญเกิดขึ้น (Atonal) ระยะห่างระหว่างเสียงเริ่มลดน้อยลง ไร้ท่วงทำนอง แต่นักดนตรีบางกลุ่มก็หันไปยึดดนตรีแนวเดิม เรียกว่านีโอคลาสสิก (Neo-Classic) นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่นอิกอร์ สตราวินสกี้ เป็นต้น

แบ่งตามประเภทวงที่บรรเลง และประเภทของการแสดง

[แก้]

แบ่งตามโครงสร้างบทเพลง (Form)

[แก้]
  • คอนแชร์โต - Concerto
  • ซิมโฟนี - [English: Symphony | French: Symphonie | German: Sinfonia]
  • โซนาต้า - Sonata
  • ฟิวก์ - Fugue เป็นการประพันธ์เพลงที่ได้รับการพัฒนาอย่างมากแขนงหนึ่ง นิยมในยุคบาโรค จะเริ่มต้นด้วยทำนองที่เรียกว่า Subject จากนั้นจะเปลี่ยนแปลงทำนอง เรียกว่า Answer
  • พรีลูด - Prelude บทเพลงที่เป็นบทนำดนตรี มักใช้คู่กับเพลงแบบฟิวก์ หรือใช้บรรเลงนำเพลงชุด สำหรับงานเปียโนจะหมายถึงบทเพลงสั้น ๆ และบางครั้งมีความหมายเหมือนกับบทเพลงโหมโรงอุปรากร เช่น พรีลูดของวากเนอร์
  • โอเวอร์เจอร์ - Overture เพลงโหมโรงที่บรรเลงก่อนการแสดงอุปรากรหรือละคร รวมถึงประพันธ์ขึ้นเดี่ยว ๆ สำหรับบรรเลงคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ เรียกว่า Concert Overture
  • บัลลาด - Ballade เป็นบทประพันธ์ที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว พบมากในงานเปียโน ลักษณะเหมือนการเล่าเรื่องหรือถ่ายทอดความรู้สึกแบบบทกวี
  • เอตูว์ด - Etude เป็นบทประพันธ์เพื่อฝึกหัดการบรรเลงด้วยเปียโนหรือไวโอลิน
  • มาร์ช - March เป็นบทเพลงที่ประพันธ์เพื่อการเดินแถว ต่อมาพัฒนาไปสู่บทเพลงที่ใช้บรรเลงคอนเสิร์ต
  • วาริเอชั่น - Variations
  • แฟนตาเซีย หรือ ฟ็องเตซี - [Italian: Fantasia | French: Fantasy]
  • น็อคเทิร์น - Nocturne/Notturno เป็นเพลงบรรเลงยามค่ำคืน มีทำนองเยือกเย็นอ่อนหวาน จอห์น ฟิลด์ ริเริ่มประพันธ์สำหรับเปียโน ซึ่งต่อมาโชแปงได้พัฒนาขึ้น
  • มินูเอ็ต - [French: Minuet |Italian: Menuet]
  • เซเรเนด - Serenade เพลงขับร้องหรือบรรเลงที่มีทำนองเยือกเย็นอ่อนหวาน มักเป็นบทเพลงที่ผู้ชายใช้เกี้ยวพาราสีผู้หญิง โดยยืนร้องใต้หน้าต่างในยามค่ำคืน
  • แคนนอน - Canon เป็นคีตลักษณ์ที่มีแบบแผนแน่นอน มีการบรรเลง ทำนองและการขับร้องที่เหมือนกันทุกประการ แต่เริ่มบรรเลงไม่พร้อมกัน เรียกอีกชื่อว่า Round
  • แคนแคน - Can-Can เป็นเพลงเต้นรำสไตล์ไนท์คลับของฝรั่งเศส เกิดในช่วงศตวรรษที่ 19
  • คาปริซ - Caprice บทบรรเลงสำหรับเครื่องดนตรีที่มีลักษณะอิสระ ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ มักมีชีวิตชีวา
  • โพลก้า - Polka เพลงเต้นรำแบบหนึ่ง มีกำเนิดมาจากชนชาติโบฮีเมียน
  • ตารันเตลลา - Tarantella การเต้นรำแบบอิตาเลียน มีจังหวะที่เร็ว
  • จิก - Gigue เป็นเพลงเต้นรำของอิตาลี เกิดในศตวรรษที่ 18 มักอยู่ท้ายบทของเพลงประเภทสวีต (Suite)
  • กาวอท - Gavotte เป็นเพลงเต้นรำของฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 17 มีรูปแบบแบบสองตอน (Two-parts) มักเป็นส่วนหนึ่งของเพลงประเภทสวีต (Suite)
  • โพโลเนส - Polonaise เป็นเพลงเต้นรำประจำชาติโปแลนด์ เกิดในราชสำนัก โชแปงเป็นผู้ประพันธ์เพลงลักษณะนี้สำหรับเปียโนไว้มาก
  • สวีต - Suite เพลงชุดที่นำบทเพลงที่มีจังหวะเต้นรำมาบรรเลงต่อกันหลาย ๆ บท พบมากในอุปรากรและบัลเลต์
  • อาราเบส - Arabesque เป็นดนตรีที่มีลีลาแบบอาหรับ
  • ฮิวเมอเรสค์ - Humoresque เป็นบทประพันธ์สั้น ๆ มีลีลาสนุกสนานร่าเริง มีชีวิตชีวา
  • ทอคคาต้า - Toccata บทเพลงสำหรับเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด มีทำนองที่รวดเร็ว อิสระ ในแบบฉบับของเคาน์เตอร์พอยท์
  • บากาเตล - Bagatelle เป็นคีตนิพนธ์ชิ้นเล็ก ๆ สำหรับเปียโน มีจุดเด่นคือทำนองจำได้ง่าย เช่น Fur Elise
  • ดิแวร์ติเมนโต - Divertimento
  • บทเพลงทางศาสนา - Sacred Music
    • โมเต็ต - Motet เพลงขับร้องในพิธีกรรมของศาสนาคริสต์ ใช้วงขับร้องประสานเสียงในการร้องหมู่ ภายหลังจึงเริ่มมีเครื่องดนตรีประกอบเสียงร้อง
    • แพสชั่น - Passion เพลงสวดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความทุกข์ยากของพระเยซู
    • ออราทอริโอ - Oratorio เพลงขับร้อง บทร้องเป็นเรื่องขนาดยาวเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ มีลักษณะคล้ายอุปรากร แต่ไม่มีการแต่งกาย ไม่มีฉากและการแสดงประกอบ
    • คันตาตา - Cantata เพลงศาสนาสั้น ๆ มีทั้งร้องในโบสถ์และตามบ้าน
    • แมส - Mass เพลงร้องประกอบในศาสนพิธีของศาสนาคริสต์
    • เรควีเอ็ม - Requiem เพลงสวดเกี่ยวกับความตาย

รายชื่อคีตกวีแบ่งตามยุค

[แก้]
ดูเพิ่มได้อีกที่ คีตกวี

คีตกวีชาวไทยที่ประพันธ์ดนตรีคลาสสิกในปัจจุบันที่มีงานดนตรีออกมาอย่างสม่ำเสมอ

[แก้]



  • ยังไม่ได้จัดหมวดหมู่
  1. โยฮันน์ ฟรีดริค ฟรานซ์ เบิร์กมุลเลอร์ (Johann Friedrich Franz Burgmüller)
  2. ฟรานซิส ปูเลงค์ (Francis Poulenc)

อ้างอิง

[แก้]
  • คมสันต์ วงค์วรรณ์. ดนตรีตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2551
  • สุรพงษ์ บุนนาค, ดนตรีแห่งชีวิต. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. 2549
  • ณรุทธ์ สุทธจิตต์. สังคีตนิยม ความซาบซึ้งในดนตรีตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2548
  1. Rococo Style – Catholic Encyclopedia. Newadvent.org (1912-02-01). Retrieved on 2014-02-11.