ข้ามไปเนื้อหา

เฟรเดริก ชอแป็ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฟรเดริก ชอแป็ง

เฟรเดริก ฟร็องซัว ชอแป็ง (ฝรั่งเศส: Frédéric François Chopin, ออกเสียง: [​ʃɔ.pɛ̃]) หรือ ฟรือแดรึก ฟรันต์ซีเชก ชอแป็ง (โปแลนด์: Fryderyk Franciszek Chopin บางครั้งสะกดว่า Szopen) เป็นคีตกวีชาวโปแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1810 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1849 จากวัณโรคที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ชื่อที่บิดามารดาของเขาตั้งให้คือ "Fryderyk Franciszek Chopin" ต่อมาได้หันมาใช้ชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อเขาได้ตัดสินใจจากประเทศบ้านเกิดเป็นการถาวรเพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ประวัติ

[แก้]

ชอแป็งเกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1810 (ตามบันทึกของสังฆมณฑลบอกว่าเป็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์) ที่เมืองแชลาซอวาวอลา (Żelazowa Wola) ซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศโปแลนด์ บิดาของเขาชื่อนีกอลา (Nicolas Chopin) เป็นชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิด พื้นเพมาจากเมืองมาแร็งวีล-ซูร์-มาดง (Marainville-sur-Madon) ในแคว้นลอแรน มารดาเป็นชาวโปแลนด์ ชอแป็งเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่อายุหกขวบ และแต่งเพลงแรกเมื่ออายุเพียงเจ็ดขวบ และเปิดการแสดงต่อสาธารณชนครั้งแรกเมื่ออายุแปดขวบ (ค.ศ. 1818) ครูสอนดนตรีคนแรกของชอแป็งได้แก่ วอยแชค ชึฟนือ (Wojciech Żywny) และหลังจาก ค.ศ. 1826 เขาได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนดนตรีแห่งกรุงวอร์ซอ ซึ่งเขาได้รับการถ่ายทอดวิชาดนตรีจากยูแซฟ เอลส์เนอร์ (Józef Elsner) เป็นหลัก

ใน ค.ศ. 1830 เขาได้จากโปแลนด์ประเทศบ้านเกิดเพื่อมาประกอบอาชีพนักดนตรีที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเขาได้ใช้ช่วงชีวิตที่เหลือพำนักอยู่ที่กรุงปารีสหรือไม่ก็ในบริเวณใกล้เคียง เขาตกหลุมรักสาวนางหนึ่งอย่างหัวปักหัวปำ ความรักที่เขามีต่อหล่อนเป็นแรงบันดาลใจในการประพันธ์เพลง "บัลลาดหมายเลข 1 โอปุสที่ 23" ที่แสนไพเราะ รวมถึงท่อนที่สองของคอนแชร์โตหมายเลข 1 ระหว่าง ค.ศ. 1838 ถึง ค.ศ. 1847 เขาได้กลายเป็นชู้รักของฌอร์ฌ ซ็องด์ (George Sand) นักประพันธ์นวนิยายชาวฝรั่งเศสผู้อื้อฉาว แต่ในที่สุดก็ได้แยกทางกันด้วยความเต็มใจของทั้งสองฝ่ายเมื่ออาการป่วยของชอแป็งทรุดหนัก ฉากหนึ่งของเรื่องราวความรักของคู่รักบันลือโลกที่ผู้คนจดจำได้ดีที่สุด เห็นจะได้แก่เหตุการณ์ในเกาะมายอร์กา ประเทศสเปน ในช่วงที่ชอแป็งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่อย่างอนาถในบ้านชาวนาโดยปราศจากเครื่องทำความร้อน บทเพลงเขาได้ประพันธ์ระหว่างช่วงเวลาอันน่าสังเวชนี้ได้แก่พรีลูด โอปุสที่ 28 อันพรรณนาถึงความสิ้นหวังของทั้งคู่ ช่วงเวลาดังกล่าวได้มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสุขภาพของชอแป็งที่ป่วยจากวัณโรคเรื้อรัง ทำให้เขาและฌอร์จ ซ็องด์ตัดสินใจเดินทางกลับกรุงปารีสเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ เขารอดชีวิตมาได้ก็จริง แต่ก็ไม่หายขาดจากอาการป่วย จนกระทั่งจบชีวิตอย่างน่าสลดด้วยวัยเพียง 39 ปี

ชอแป็งสนิทกับฟรานซ์ ลิซท์, วินเชนโซ เบลลีนี (ผู้ซึ่งศพถูกฝังอยู่ใกล้กับเขาที่สุสานแปร์ลาแชซในกรุงปารีส) และเออแฌน เดอลาครัว เขายังเป็นเพื่อนกับคีตกวีแอ็กตอร์ แบร์ลีโยซ และโรแบร์ท ชูมันน์ และแม้ว่าชอแป็งได้มอบเพลงบางบทเพื่ออุทิศให้เพื่อนนักประพันธ์ทั้งสองก็ตาม แต่เขาก็ไม่ค่อยประทับใจบทเพลงที่ทั้งสองแต่งขึ้นเท่าไรนัก เขาได้ขอร้องให้ร้องเพลงสวดเรเควียมของโมซาร์ทในงานศพของเขา แต่เมื่อเขาเสียชีวิตลงใน ค.ศ. 1849 พิธีศพที่จัดขึ้นที่โบสถ์ลามาดแลน (La Madeleine) ไม่ได้ราบเรียบเสียทีเดียว เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้มีการขออนุญาตใช้วงประสานเสียงสตรีในการร้องเพลงสวด ข่าวอื้อฉาวดังกล่าวได้แพร่ออกไปส่งผลให้ต้องเลื่อนพิธีฝังศพออกไปอีกสองสัปดาห์ แต่ในที่สุดโบสถ์ก็ยอมรับคำขอดังกล่าว ทำให้คำขอร้องครั้งสุดท้ายของชอแป็งเป็นจริงขึ้นมา

ผลงานทุกชิ้นของชอแป็งเป็นงานชิ้นเอก ส่วนใหญ่ใช้สำหรับเดี่ยวเปียโน งานประเภทเรียบเรียงเสียงประสานมีเพียงคอนแชร์โตสองบท, ปอลอแนซ (polonaise) หนึ่งบท, รอนโด (rondo) หนึ่งบท และวารียาซียง (variation) อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดบรรเลงด้วยเปียโนและวงออร์เคสตรา เพลงเชมเบอร์มิวสิกมีเพียงห้าชิ้น ซึ่งสี่ชิ้นแรกแต่งไว้ตั้งแต่วัยเด็ก ชิ้นสุดท้ายเป็นโซนาตาสำหรับเชลโลและเปียโน ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่เขานำออกแสดงต่อสาธารณชนร่วมกับโอกุสต์ ฟร็องชอม (Auguste Franchomme) เพื่อนของเขาผู้เป็นนักเชลโลเลื่องชื่อ มิตรภาพได้ถูกถ่ายถอดมาเป็นความละเมียดละไมของเชลโล เนื่องจากเชมเบอร์มิวสิกของชอแป็งใช้เชลโลบรรเลงถึงสี่ในห้าชิ้นด้วยกัน

บทเพลงสำหรับบรรเลงเปียโน เรียงลำดับตามหมายเลขของโอปุส

[แก้]

Opus

บทประพันธ์ที่ได้รับการเผยแพร่หลังจากการเสียชีวิต:

บทเพลงที่ปราศจากหมายเลขโอปุส:

มีเดีย

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]