Union of Concerned Scientists

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Union of Concerned Scientists
โลโกของ Union of Concerned Scientists
คําขวัญวิทยาศาสตร์เพื่อโลกที่ดีและปลอดภัย
ก่อตั้ง1969
สํานักงานใหญ่เคมบริดจ์ (รัฐแมสซาชูเซตส์) สหรัฐอเมริกา
สมาชิก
เกิน 200,000 คน
Exec. Dir.
Kathleen Rest
President
Kenneth Kimmell
Founder
Kurt Gottfried
เว็บไซต์ucsusa.org

Union of Concerned Scientists (อาจแปลว่าสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย ตัวย่อ UCS) เป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไรที่ช่วยให้เสียงสนับสนุนวิทยาศาสตร์ (science advocacy) ในประเทศสหรัฐอเมริกา สมาชิกรวมทั้งประชาชนทั่วไปและนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพ ศ.ดร.เจมส์ แม็คคาร์ธี ผู้เป็นศาสตราจารย์คณะสมุทรศาสตร์ชีวะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและอดีตประธานสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Association for the Advancement of Science) เป็นประธานกรรมการปัจจุบันขององค์กร[1]

ประวัติ[แก้]

องค์กรได้จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1969 ในช่วงหลังของสงครามเวียดนาม โดยคณะอาจารย์และนักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยเอกสารจัดตั้งแสดงจุดมุ่งหมายขององค์กรเพื่อ "เริ่มการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลที่จำเป็นโดยทำอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญจะโดยความจริงหรือจะโดยโอกาสก็ดี" และเพื่อ "หาวิธีเปลี่ยนการสมัครหาทุนงานวิจัยไปจากเรื่องที่เน้นเทคโนโลยีการทหารในปัจจุบัน ไปสู่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เร่งด่วน"[2] องค์กรว่าจ้างทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และวิศวกรที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและความมั่นคง รวมทั้งบุคลากรฝ่ายบริหารและฝ่ายสนับสนุน[3]

ผู้ร่วมจัดตั้งคนหนึ่งก็คือผู้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ศ.ดร. เฮนรี เคนดัล ผู้เป็นประธานกรรมการองค์กรประมาณ 25 ปีจนกระทั่งเสียชีวิต[4] ในปี 1977 องค์กรได้สนับสนุน "ข้อประกาศของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์" ที่เรียกร้องให้เลิกการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และการเคลื่อนย้ายอาวุธไปในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต[5] และต่อมาภายหลังเพื่อตอบโต้โครงการสร้างอาวุธป้องกันในอวกาศ (Strategic Defense Initiative) องค์กรได้สนับสนุนคำร้องทุกข์ที่ตั้งหัวเรื่องว่า "คำอุทธรณ์ให้ห้ามอาวุธในอวกาศ"[6]

ในปี 1992 ศ. เคนดัลเขียนบทความ "คำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่อมนุษย์" ที่เสนอให้มีความเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม ที่เซ็นโดยนักวิทยาศาสตร์กว่า 1,700 คน รวมทั้งผู้รับรางวัลโนเบลโดยมากในสาขาวิทยาศาสตร์ โดยมีข้อปฏิบัติโดยเฉพาะว่า "ยกตัวอย่างเช่น เราต้องเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ ไปใช้แหล่งพลังงานที่ไม่มีวันหมด เพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกและมลพิษเข้าสู่อากาศและน้ำ ... เราต้องตรึงจำนวนประชากรให้คงที่"[7]

ตามสถาบันนักวิชาการสถาบันหนึ่ง องค์กรเป็นมูลนิธิที่ได้รับเงินบริจาคเพื่อการศึกษาภูมิอากาศเป็นอันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกาในระหว่างปี 2000-2002[8] โดยที่ 1/4 ของรายได้แบบบริจาคทั้งหมดมูลค่า 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คือที่ 6 ล้านเหรียญ) มีจุดประสงค์นั้น องค์กรที่ประเมินองค์กรการกุศลอเมริกันองค์กรหนึ่งกล่าวว่า ในปี 2013 UCS ได้รับรายได้ 26.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีรายจ่ายที่ 18.8 ล้านเหรียญ และมีทรัพย์สินมีมูลค่า 39.3 ล้านเหรียญ และในปีเดียวกันองค์กรประเมินนั้นก็ให้คะแนน UCS 91.19 จาก 100[9]

จุดยืนในประเด็นต่าง ๆ[แก้]

ในปี 1999 UCS ตีพิมพ์หนังสือ แนวทางผู้บริโภคในการเลือกกระทำเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิผล คำแนะนำเชิงปฏิบัติของ Union of Concerned Scientists ที่ "ช่วยแยกแยะสิ่งที่สำคัญและเล็กน้อย และช่วยเลือกกระทำสิ่งที่เข้ากับค่านิยมของคุณ" หนังสือระบุว่าการใช้รถที่ประหยัดน้ำมันและการขับรถให้น้อยลง เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่คนโดยมากสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากตน[10] และต่อมาในปี 2012 ก็ตีพิมพ์หนังสือคล้ายกันอีกเล่มหนึ่งชื่อ เย็นลงแบบชาญฉลาด ขั้นตอนปฏิบัติในการใช้ชีวิตแบบสร้างคาร์บอนน้อย[11]

UCS สนับสนุนให้ปรับปรุงกฎหมายบังคับเพิ่มการประหยัดน้ำมันของรถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็กเช่นรถกระบะ ให้ออกกฎหมายในระดับรัฐเพื่อลดแก๊สเรือนกระจกที่ปล่อยโดยรถยนต์และรถบรรทุก ให้ลดระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างลึกในสหรัฐอเมริกา และให้ปฏิบัติการทั้งในระดับชาติและนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์กรได้ทำรายงานหลายงานเกี่ยวกับผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคของสหรัฐ[12][13] องค์กรสนับสนุนการเพิ่มภาษีสำหรับผู้ที่ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม และให้ผลประโยชน์ (เช่นการลดภาษี) สำหรับปฏิบัติการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม[10]

UCS สนับสนุนมาตรฐานพลังงานทดแทนระดับชาติ เพื่อบังคับให้องค์กรผลิตไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนเช่นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นสัดส่วนที่กำหนดชัดเจน และสนับสนุนให้มีมาตรฐานการประหยัดพลังงานของเครื่องใช้ในบ้าน[10] UCS ยอมรับว่าพลังงานนิวเคลียร์สามารถช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก แต่ก็ยืนยันว่า มันต้องปลอดภัยและถูกกว่านี้ก่อนที่ควรจะพิจารณาเป็นวิธีแก้ปัญหาโลกร้อนที่ใช้ได้ UCS สนับสนุนการตรวจสอบบังคับเพิ่มความปลอดภัยขององค์กรควบคุมพลังงานนิวเคลียร์ โดยเป็นขั้นต้อนหนึ่งในการปรับปรุงการใช้พลังงานนิวเคลียร์[14] UCS ได้วิจารณ์การออกแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่น 3 บางแบบที่กำลังพิจารณาใช้ในสหรัฐ (คือ AP1000 และ Economic Simplified Boiling Water Reactor)[15] โดยกล่าวถึงแบบ European Pressurized Reactor ว่าเป็นแบบเดียวใต้การพิจารณาที่ มีโอกาสปลอดภัยและยากต่อการก่อการร้ายกว่าเครื่องที่มีอยู่ในปัจจุบัน[16]

UCS ยังรับรองบทความ Forests Now Declaration ซึ่งเสนอให้ใช้กลไกการตลาดเพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการลดการตัดไม้เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[17] องค์กรสนับสนุนการให้ผลประโยชน์จากรัฐสำหรับบุคคลที่ต้องการรักษาที่ดินที่ไม่ปลูกสร้างแทนที่จะขายให้กับผู้ก่อสร้าง[10] และน้ำมันปาล์มที่ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า[18]

UCS ได้กล่าวหารัฐบาลสหรัฐว่าได้เข้าไปก่อกวนวิทยาศาสตร์ด้วยเหตุทางการเมืองเป็นสิบ ๆ ครั้ง[19] และสนับสนุนการป้องกันผู้แฉการกระทำผิดของรัฐ รางวัลทางการเงิน และเสรีภาพในการพูด สำหรับนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลกลาง โปรแกรมความซื่อสัตย์สุจริตทางวิทยาศาสตร์ขององค์กร ได้ทำงานสำรวจนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลกลางในองค์กรต่าง ๆ[20] และได้เขียนบทความเซ็นโดยนักวิทยาศาสตร์กว่า 11,000 คนที่ประณามการแทรงแซงทางการเมืองในวิทยาศาสตร์[21]

UCS สนับสนุนให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์เพื่อป้องกันการดื้อยา[22][23] ต่อต้านการโคลนสัตว์เพื่อเป็นอาหาร [24] ต่อต้านการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมในเกษตรกรรมแต่ยอมรับว่า การใช้แบคทีเรียที่สร้างด้วยพันธุวิศวกรรมเพื่อผลิตยาในที่จำกัดได้ผลดี และอาจสามารถใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมในกระบวนการผลิตอาหารอย่างอื่นได้[25]

UCS ต่อต้านการใช้อาวุธอวกาศ และทำการเพื่อลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั่วโลก[26]

การต่อต้านพันธุวิศวกรรมในเกษตรกรรม[แก้]

ประเด็นต่าง ๆ ของการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมในเกษตรกรรม ที่ UCS วิจารณ์ในเชิงลบรวมทั้ง[25]

  • ระบบการควบคุมเทคโนโลยีของรัฐ และระบบการค้าขายที่ปรากฏในยุคเบื้องต้น
  • การใช้เทคโนโลยีในเกษตรกรรมทำให้ปัญหาการปลูกพืชแบบชนิดเดียวในระบบอุตสาหกรรมแย่ยิ่งขึ้น ซึ่งไม่สนับสนุนระบบการเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืน
  • การออกนโยบายของรัฐบาลมักจะได้รับแรงผลักดันจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ มากกว่าจากข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่แสดงวิธีการผลิตอาหารที่ประหยัดที่สุดเพื่อได้พืชผลมาก และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

การออกสื่อ[แก้]

1997[แก้]

ในปี ค.ศ. 1997 UCS ได้ยื่นอุทธรณ์ “นักวิทยาศาสตร์โลกเรียกร้องให้เริ่มปฏิบัติการ (World Scientists Call For Action)” ให้กับผู้นำโลกที่กำลังประชุมกันเพื่อเจรจาสนธิสัญญาพิธีสารเกียวโต โดยกล่าวว่า "มีมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศว่า ‘ในปัจจุบัน มีอิทธิพลจากมนุษย์ที่กำหนดได้ต่อภูมิอากาศโลก’" และกระตุ้นให้รัฐบาลต่าง ๆ "ทำสัญญาที่ผูกมัดตามกฎหมายให้ลดการปล่อยแก๊สที่กักความร้อนของประเทศอุตสาหกรรม" และเรียกปรากฏการณ์โลกร้อนว่า "เป็นภัยที่สาหัสที่สุดต่อโลกและคนรุ่นต่อ ๆ ไป"[27] เป็นอุทธรณ์ที่เซ็นชื่อโดย "นักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่มีชื่อเสียงที่สุดกว่า 1,500 คน รวมทั้งผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่"[28][29]

2004[แก้]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2004 UCS ได้รับความสนใจจากสื่อจากการตีพิมพ์รายงาน "ความซื่อสัตย์สุจริตด้านวิทยาศาสตร์ในการออกนโยบาย" ซึ่งวิจารณ์รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่ทำวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องการเมือง เรื่องที่กล่าวหารวมทั้งการเปลี่ยนข้อมูลในรายงานปรากฏการณ์โลกร้อนที่ทำโดยสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐ และเลือกสมาชิกของคณะผู้ให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์โดยผลประโยชน์ทางธุรกิจแทนที่ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ ในเดือนกรกฎาคม 2004 UCS เพิ่มบทเพิ่มเติมสำหรับรายงานที่วิจารณ์รัฐบาลของประธานาธิบดีบุช และอ้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงรายงานเกี่ยวกับเหมืองเปิดในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียอย่างไม่เหมาะสม และว่า ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติดีสำหรับตำแหน่งในรัฐบาล เช่น ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ดร.ทอร์สเต็น วีเซิล ถูกปฏิเสธตำแหน่งเพราะความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง แต่ในวันที่ 2 เมษายน 2004 ผู้อำนวยการของสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งทำเนียบขาว แจ้งว่า เหตุการณ์ที่กล่าวถึงในรายงานของ UCS "ไม่เป็นจริง" "ผิด" หรือ "บิดเบือน"[30] แล้วปฏิเสธไม่พิจารณารายงานในฐานะ "มีอคติ"[31] UCS โต้ตอบว่า ข้ออ้างของผู้อำนวยการไม่แสดงเหตุผล และต่อมากล่าวอีกว่า ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลของประธานาธิบดีบุชก็ไม่พูดอะไรอีกเกี่ยวกับประเด็นนั้นอีก[32]

2006[แก้]

วันที่ 30 ตุลาคม 2006 UCS ออกข่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ U.S. Department of the Interior รวมทั้งรองผู้ช่วยเลขาธิการในเรื่องปลา สิ่งมีชีวิตในป่า และอุทยานแห่งชาติ ได้ไปเปลี่ยนข้อมูลวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบเพื่อที่จะลดหย่อนการป้องกันสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์และกฎหมาย[33]

วันที่ 11 ธันวาคม 2006 UCS เผยแพร่บทความที่ร้องเรียกให้คืนความซื่อสัตย์สุจริตทางวิทยาศาสตร์ต่อการออกนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นบทความที่เซ็นโดยนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 10,600 ท่านรวมทั้งผู้ได้รับรางวัลโนเบล[34]

2007[แก้]

วันที่ 23 พฤษภาคม 2007 UCS อ้างการศึกษาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ แล้วออกข่าวอ้างว่า "การทดสอบระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐที่ไม่สามารถแสดงว่า ขีปนาวุธตัวยิงสกัดสามารถแยกแยะระหว่างหัวอาวุธตัวจริงหรือตัวล่อหรือไม่ เป็นการทดสอบที่ไม่มีความหมาย" และ "เป็นเพียงเล่ห์กล" และเรียกร้องให้ยุติโปรแกรมพัฒนาที่สนับสนุนโดยเงินภาษีของประชาชน นอกจากระบบจะสามารถแสดงสมรรถภาพที่กำจัดภัยได้ในสถานการณ์จริง[35]

ในวันที่ 21 มิถุนายน 2007 รายงานของ UCS กล่าวหาสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมว่าเปลี่ยนข้อมูลวิทยาศาสตร์ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนกฎควบคุมโอโซนของสหรัฐ ผู้อำนวยการของโปรแกรมความซื่อสัตย์ทางวิทยาศาสตร์ของ UCS กล่าวว่า "กฎหมายบอกว่าให้ใช้วิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็บอกให้ลดระดับโอโซนที่เป็นบรรทัดฐานลงให้ถึงระดับที่ปลอดภัย... โดยไม่สนใจข้อวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์ตนเอง สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมกำลังเสี่ยงสุขภาพของคนอเมริกันเป็นล้าน ๆ คน"[36][37]

2008[แก้]

ในเดือนสิงหาคม 2008 UCS ซื้อป้ายโฆษณาที่สนามบินต่าง ๆ ในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด และเขตมหานครมินนีแอโพลิส-เซนต์พอล รัฐมินนิโซตา ซึ่งเป็นเขตที่จะจัดงานประชุมเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต และของพรรคริพับลิกัน โดยที่ป้ายโฆษณาในเขตทั้งสองแห่งเกือบเหมือนกัน แต่ละแห่งแสดงภาพเขตกลางเมืองโดยมีเส้นกากบาทอยู่ตรงกลางพร้อมกับข้อความว่า "เมื่อระเบิดนิวเคลียร์ลูกเดียวสามารถทำลายเมืองทั้งเมือง" เช่นเดนเวอร์หรือมินนีแอโพลิส "เราจึงไม่จำเป็นต้องมี 6,000 ลูก" ต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยชื่อของผู้สมัครประธานาธิบดีของทั้งสองพรรคคือสมาชิกวุฒิสภาจอห์น แม็คเคน หรือบารัก โอบามา พร้อมกับคำเตือนนี้ว่า “ถึงเวลาที่จะทำอะไรเป็นจริงเป็นจังเพื่อลดภัยของอาวุธนิวเคลียร์แล้ว“ แต่ต่อมา ป้ายโฆษณาถูกถอนออกหลังจากที่สายการบินนอร์ทเวส ซึ่งเป็นสายการบินทางการของงานประชุมริพับลิกัน บ่นต่อเจ้าหน้าที่ ดังนั้น UCS จึงกล่าวหาสายการบินนอร์ทเวส ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐมินนิโซตา ว่า "กำลังเพิ่มหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์" และได้บ่นเพราะพิจารณาโฆษณาในเมืองมินนีแอโพลิสว่า "น่ากลัว" และ "ต่อต้านนายแม็คเคน"[38][39][40]

2011[แก้]

ในเดือนมีนาคม 2011 UCS ได้สรุปเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิประจำวันทุกวันให้กับสื่อ[41]

สิ่งตีพิมพ์[แก้]

  • "นิตยสารขององค์กรชื่อ Catalyst ที่พิมพ์ 3 ครั้งต่อปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กันยายน 2014.
  • "จดหมายข่าวขององค์กรชื่อ Earthwise ที่พิมพ์ 4 ครั้งต่อปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มีนาคม 2016.
  • "Atmosphere of Pressure: Political Interference in Federal Climate Science". 2007.
  • "Cooler Smarter: Practical Steps for Low-Carbon Living (2012)" [เย็นลงแบบชาญฉลาด ขั้นตอนปฏิบัติในการใช้ชีวิตแบบสร้างคาร์บอนน้อย (2012)]. Union of Concerned Scientists. มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2015.
  • "Fukushima: The Story of a Nuclear Disaster". 2014.

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "Salpeter and Gottfried sign letter urging Congress to pass binding resolution against nuclear weapons". Cornell News. 13 กุมภาพันธ์ 2007.
  2. "Founding Document: 1968 MIT Faculty Statement". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 มกราคม 2016. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2015.
  3. "List of UCS experts". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2016.
  4. "Henry Kendall; Nobel Prize-Winning Nuclear Scientist". Los Angeles Times. 17 กุมภาพันธ์ 1999.
  5. "Scientists' Declaration on the Nuclear Arms Race". Union of Concerned Scientists. ธันวาคม 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 พฤษภาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  6. "UCS - History". Union of Concerned Scientists. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 พฤษภาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  7. "World Scientists' Warning to Humanity (1992)". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มกราคม 2016.
  8. "Funding Flows for Climate Change Research and Related Activities" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 22 ตุลาคม 2012.
  9. "Union of Concerned Scientists". Charity Navigator. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2015.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Brower, Michael; Leon, Warren (1999). The Consumer's Guide to Effective Environmental Choices: Practical Advice from the Union of Concerned Scientists. Three Rivers Press.
  11. "Cooler Smarter: Practical Steps for Low-Carbon Living (2012)" [เย็นลงแบบชาญฉลาด ขั้นตอนปฏิบัติในการใช้ชีวิตแบบสร้างคาร์บอนน้อย (2012)]. Union of Concerned Scientists. มิถุนายน 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2015.
  12. "Confronting Climate Change in the Great Lakes Region". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 เมษายน 2013. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2015.
  13. "Confronting Climate Change in the Gulf Coast". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 สิงหาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  14. "Nuclear Power and Global Warming" (PDF). Union of Concerned Scientists. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 สิงหาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  15. Adam Piore (มิถุนายน 2011). "Nuclear energy: Planning for the Black Swan". Scientific American.
  16. "Nuclear Power in a Warming World" (PDF). Union of Concerned Scientists. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มิถุนายน 2014. สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2008.
  17. "Forestsnow - Endorsers - NGO and Research Institutes". Forestsnow.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 ธันวาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2015.
  18. "Palm Oil Scorecard: Ranking America's Biggest Brands on Their Commitment to Deforestation-Free Palm Oil (2014)". Union of Concerned Scientists. มีนาคม 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 พฤษภาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2015.
  19. "A to Z - Examples of Political Interference in Science". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  20. "Surveys of Scientists at Federal Agencies". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 กรกฎาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  21. "Who Are the 11,000+ Scientists? - Scientist Statement Signatories". Union of Concerned Scientists. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 กรกฎาคม 2007.
  22. "Prescription for Trouble". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มกราคม 2016.
  23. "Hogging It!: Estimates of Antimicrobial Abuse in Livestock (2001)". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กันยายน 2015.
  24. "Guidance may signal no FDA regulation of food from cloned animals". Inside Washington's FDA Week. Vol. 11 no. 37. Inside Washington Publishers. 16 กันยายน 2005. pp. 1, 9–10.
  25. 25.0 25.1 "Genetic Engineering in Agriculture". Union of Concerned Scientists. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2015.
  26. "Nuclear Weapons Solutions". Union of Concerned Scientists. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2023.
  27. Union of Concerned Scientists. "World Scientists Call For Action". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 ตุลาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016. Projections indicate that demand for food in Asia will exceed the supply by 2010.
  28. "World's Nobel Laureates And Preeminent Scientists Call On Government To Halt Global Warming". Science Daily. 2 ตุลาคม 2007.
  29. "List of Selected Prominent Signatories with awards and affiliations". Dieoff.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กันยายน 2010. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2015.
  30. "UCS Response to Congress" (PDF). White House Office of Science and Technology Policy. สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2015.
  31. "Scientists: Bush Distorts Science". Wired. 18 กุมภาพันธ์ 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 สิงหาคม 2004.
  32. "Scientific Integrity in Policymaking". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 เมษายน 2005. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  33. "Systematic Interference with Science at Interior Department Exposed - Emails and Edited Documents Show Evidence of Inappropriate Manipulation". Union of Concerned Scientists. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2006. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.
  34. "10,600 Scientists Condemn Political Interference in Science - New Guide Documents Ongoing Federal Abuse of Science; 110th Congress Must Act" (Press release). Union of Concerned Scientists. 11 ธันวาคม 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 ตุลาคม 2011.
  35. "Another Contrived Missile Defense Test is Coming Up - Decoys Would Overwhelm System, Says Union of Concerned Scientists". Union of Concerned Scientists. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 มิถุนายน 2007.
  36. "EPA Falls Short of Scientists' Calls for Stricter Controls on Smog - Old standard not enough to protect public health" (Press release). Union of Concerned Scientists. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 ตุลาคม 2011.
  37. "Critics question EPA's tighter ozone limits". Reuters. 21 มิถุนายน 2007.
  38. Larry Rohter (21 สิงหาคม 2008). "Ads on Nuclear Threat Removed From Convention Airports". เดอะนิวยอร์กไทมส์.
  39. "Ad critical of McCain doesn't fly with NWA". Star Tribune. 18 สิงหาคม 2008.
  40. "Northwest bans ad from airport". St. Paul Pioneer Press. 19 สิงหาคม 2008.
  41. "Japan Nuclear Power Crisis: Telephone Media Briefings". Union of Concerned Scientists. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 ธันวาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]