หอตรวจการณ์และหมู่บ้านแห่งไคผิง
เตียวโหลวและหมู่บ้านแห่งไคผิง * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
ประเทศ | มณฑลกวางตุ้ง จีน |
ประเภท | มรดกโลกทางวัฒนธรรม |
เกณฑ์พิจารณา | (ii) (iii) (iv) |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2550 (คณะกรรมการสมัยที่ 31) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
หอตรวจการณ์และหมู่บ้านแห่งไคผิง (จีนตัวย่อ: 开平碉楼与村落; จีนตัวเต็ม: 開平碉樓与村落) คือแหล่งมรดกโลกที่ตั้งอยู่ในเมืองไคผิงและเมืองใกล้เคียง ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบด้วยเตียวโหลวหรือหอสังเกตการณ์ความสูงหลายชั้นสร้างจากคอนกรีตเสริมแรง ซึ่งในปัจจุบันมีตัวหอเหลืออยู่ในเมืองไคผิงประมาณ 1,833 หอ และประมาณ 500 หอในเมืองไถซาน
งานก่อสร้างหอนั้นมีมาตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์หมิง วัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านของผู้รุกราน แต่ยุคทองของการสร้างหอคอยดังกล่าวนี้เริ่มในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อชาวจีนจำนวนมากเริ่มอพยพไปตั้งรกรากทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐในยุคตื่นทอง โดยไปทำงานเป็นคนงานในเหมืองหรือก่อสร้างทางรถไฟ แต่เมื่อถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงประมาณก่อนสงครามโลก ชาวจีนส่วนหนึ่งได้เดินทางกลับบ้าน และอีกส่วนหนึ่งได้ส่งเงินกลับ พวกเขาจึงซื้อที่ดินแล้วสร้างอาคารแปลกตาตามสถาปัตยกรรมที่เขาได้พบเห็นในต่างประเทศผสานกับสถาปัตยกรรมจีน ในช่วงที่มีการก่อสร้างมากสุดคือตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) ถึง ปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931) มีการสร้างหอถึง 1,648 หอ คิดเป็นเกือบร้อยละ 90 ของจำนวนหอทั้งหมด
มรดกโลก
[แก้]หอตรวจการณ์และหมู่บ้านแห่งไคผิงได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 31 เมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังต่อไปนี้
- (ii) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
- (iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
- (iv) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
อ้างอิง
[แก้]- Kaiping Diaolou and Villages (อังกฤษ)