คาร์โล รีโกลี
คาร์โล รีโกลี (อิตาลี: Carlo Rigoli, 7 พฤศจิกายน 2426 – 14 ธันวาคม 2507) เป็นจิตรกรชาวอิตาลีที่เดินทางเข้ามาทำงานในสยามตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]
ประวัติ
[แก้]คาร์โล รีโกลี เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2426 ที่เมืองเซสโต ฟิออเรนติโน เป็นบุตรคนที่ 3 ในบรรดาพี่น้อง 5 คนของ โจซาฟิต รีโกลี กับ ปัลมิรา อินโนเซนติ โดยครอบครัวของเขาจัดเป็นครอบครัวที่มีฐานะ มีอันจะกิน เดิมครอบครัวจะให้เขาออกบวชเป็นพระในศาสนาคริสต์ตามธรรมเนียม
แต่เนื่องจากเมืองเซสโต ฟิออเรนติโน บ้านเกิดของเขาเป็นแหล่งผลิตเครื่องกระเบื้องพอร์ซเลนและเซรามิคที่สำคัญและตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญทางศาสนา ประวัติศาสตร์ และศิลปะมากมาย เขาจึงเบนเข็มจากสายศาสนาเข้าสู่สายศิลปิน
รับราชการในสยาม
[แก้]รีโกลีได้รับการชักชวนจากกาลีเลโอ กีนี จิตรกรชื่อดังให้เข้ามาทำงานในสยามในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองเดินทางถึงสยามในปี 2453 ซึ่งงานแรกของรีโกลีที่ได้รับมอบหมายคือวาดภาพพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ทั้ง 6 รัชกาลบนโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม นอกจากนี้เขายังต้องวาดภาพจากพระเวสสันดรชาดก แบบเฟรสโกหรือปูนเปียกบนผนังในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ที่ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตกแต่งพระราชวัง และวาดภาพเหมือนบุคคลสำคัญอีกด้วย นอกจากนี้รีโกลียังเป็นอาจารย์ถ่ายทอดวิชาให้กับเหม เวชกร จิตรกรชื่อดังและราชาเรื่องผีของไทย
เดินทางกลับอิตาลี
[แก้]รีโกลีเดินทางออกจากสยามในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับไปพำนักที่บ้านเกิดและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2507 ขณะอายุได้ 81 ปี
ผลงาน
[แก้]- ภาพวาดพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทั้ง 6 รัชกาลบนโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม
- ภาพวาดแบบเฟรสโกเรื่องพระเวสสันดรชาดกบนผนังพระอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
- ภาพวาดบนโดมในพระที่นั่งบรมพิมาน
- พระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์ชุดนายพลเสือป่า
เกียรติยศ
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2459 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
- พ.ศ. 2462 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[2]