เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544
วันที่ | 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 |
---|---|
ที่ตั้ง | ที่ทำการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (แห่งเดิม) ถนนราชดำเนินกลาง แขวงตลาดยอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ชื่ออื่น | คดีกลม บางกรวย, คดีล็อกหวย, คดีหวยล็อก |
ประเภท | การทุจริต |
ผล | สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องปรับปรุงระบบการออกรางวัลใหม่ เช่น การยกเลิกให้ประชาชนขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัล และการใช้อุปกรณ์ออกรางวัลแบบใหม่ |
พิพากษาลงโทษ | สมตระกูล จอบกระโทก พ.อ.อ.กิตติชาติ กุลประดิษฐ์ ทองสุข ชนะการี ณรงค์ อุ่นแพทย์ (กลม บางกรวย) สุริยัน ดวงแก้ว (ผู้ใหญ่หมึก) พิชัย เทพอารักษ์ (ชัย โคกสำโรง) |
ข้อหา | ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ซ่องโจร [ยกเว้นจำเลยที่ 5 (พิชัย)] |
จำนวนถูกพิพากษาลงโทษ | ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อ 28 ตุลาคม 2556 ยืนตามศาลอุทธรณ์ คือ จำคุกจำเลยที่ 1-4 รวม 6 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 (พิชัย) จำคุก 2 ปี ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อ 30 ตุลาคม 2549 ให้จำคุก ทองสุข ชนะการี เช่นเดียวกับจำเลยที่ถูกฟ้องไปก่อนหน้า แต่ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง พร้อมชดใช้เงินค่าของชำร่วย |
เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ซึ่งกรรมการออกรางวัลภาคประชาชน 3 คนในตำแหน่งหลักหมื่น หลักสิบ และหลักหน่วย มีพิรุธขณะออกรางวัลที่ 1 ทำให้ผลการออกรางวัลที่ 1 ของการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลในงวดดังกล่าวคือ 113311 ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วไป จนนำไปสู่การสอบสวน และการจับกุมนายณรงค์ อุ่นแพทย์ (กลม บางกรวย) ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมพวกอีก 5 ราย ในข้อหาฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและซ่องโจร ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าว เป็นเพียงเพื่อหลอกเอาเงินรางวัลจากเจ้ามือสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) เท่านั้น ซึ่งทำให้เจ้ามือสลากกินรวบต้องจ่ายเงินรางวัลเป็นจำนวนมากหลังการออกรางวัลในงวดดังกล่าว[1][2]
เหตุการณ์นี้สร้างความเสื่อมเสียแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นอย่างมาก ในฐานะจำเลยสังคมจากเหตุการณ์นี้[3] ทำให้สำนักงานฯ ต้องกอบกู้ความเชื่อมั่นคืนจากประชาชน ทั้งจัดสร้างอุปกรณ์ออกรางวัลแบบใหม่ซึ่งป้องกันการทุจริตอย่างรัดกุมกว่าแบบเดิม รวมถึงยกเลิกการให้ประชาชนขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัล เป็นต้น
อนึ่ง เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในการออกรางวัลงวดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2530 โดยเกิดขึ้นที่วงล้อออกรางวัลซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้า ขณะออกรางวัลที่ 1 ทำให้กรรมการออกรางวัลต้องประกาศยุติการออกรางวัลเพื่อตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า บริเวณรางและฟันเฟืองหมุนมีอุปกรณ์เชื่อมต่อ และด้านล่างของอุปกรณ์ออกรางวัลพบวงจรไฟฟ้าขนาด "1x1" ที่มีการทาสีดำเพื่ออำพราง ซึ่งควบคุมให้วงล้อหยุดหมุนให้ได้ตัวเลขตามที่ต้องการด้วยรีโมตคอนโทรล[1][4][5][6]
การวิพากษ์วิจารณ์
[แก้]เมื่อประชาชนทราบผลการออกรางวัลที่ 1 ของการออกรางวัลในงวดดังกล่าว คือ 113311 ซึ่งขณะออกรางวัลที่ 1 นั้นได้เกิดสิ่งผิดปกติขึ้น คือกรรมการออกรางวัลภาคประชาชน 3 คน ในตำแหน่งหลักหมื่น หลักสิบ และหลักหน่วย มีพิรุธ ท่าทางก้ม ๆ เงย ๆ ชำเลืองมองลูกบอลออกรางวัลหมายเลขต่าง ๆ ในอุปกรณ์ออกรางวัลทรงกลม โดยมีการถ่ายทอดสดการออกรางวัลดังกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนอย่างกว้างขวาง และเชื่อว่าการออกรางวัลในงวดดังกล่าวมีการ "ล็อกเลข" เกิดขึ้น โดยในระยะแรก ชัยวัฒน์ พสกภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในขณะนั้นกล่าวปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้สมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจสอบการออกรางวัลดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากพบการทุจริตก็ให้แก้ไขโดยเร่งด่วน[7] ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน สวนดุสิตโพล สถาบันราชภัฏสวนดุสิต (ชื่อในขณะนั้น) สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรณีดังกล่าว จำนวน 1,213 คน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วยผู้ที่ซื้อสลากฯ ผู้ที่ไม่เคยซื้อสลากฯ ผู้ค้าสลากฯ และพนักงานสำนักงานฯ ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 33.83 ไม่แน่ใจว่ามีการล็อกเลข โดยผู้ที่ซื้อสลากฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 27.50 เชื่อว่ามีการล็อกเลข ส่วนเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 77.21 เห็นว่าไม่มีการล็อกเลข และในกรณี "ความในใจที่อยากบอกสำนักงานฯ" ปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 42.25 เห็นว่าสำนักงานฯ ควรแสดงความชัดเจน/โปร่งใส ทำให้เกิดความเชื่อใจโดยเร็วที่สุด[8]
เมื่อกรณีนี้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจความเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับภาพลักษณ์และความรับผิดชอบของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จากกรณีล็อกเลขดังกล่าว พบว่า ประชาชนแสดงความคิดเห็นไปในทางไม่เชื่อมั่นสำนักงานฯ หลายประเด็น เช่น[9][10]
- ปัญหาการล็อกหวยดังกล่าวทำเป็นขบวนการ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 86 เห็นว่าเชื่อ
- มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ร่วมมือกับขบวนการล็อกหวย ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76 เห็นว่าเชื่อ
- ปัญหาดังกล่าวจะทำให้สำนักงานฯ เสื่อมเสียหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 88.1 เห็นว่าเชื่อ
- ผู้บริหารของสำนักงานฯ ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 85.5 เห็นว่าควรแสดงความรับผิดชอบ
- มีความมั่นใจหรือไม่ว่ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหากรณีล็อกหวยอย่างได้ผล ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 67.3 เห็นว่าไม่มั่นใจ โดยมีประชาชนที่เห็นว่ามั่นใจเพียงร้อยละ 17.8 เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาคประชาชนยังได้กล่าวถึงสารเรืองแสงชนิดพิเศษ ซึ่งจะต้องสวมคู่กับแว่นตาชนิดพิเศษจึงจะมองเห็นตัวเลขภายในได้ ซึ่งคนร้ายอาจนำมาใช้ในการทุจริตการออกรางวัลในครั้งนี้[1] ซึ่ง ศ.ดร.โสภณ เริงสำราญ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น กล่าวว่า เป็นไปได้ที่กลุ่มคนร้ายใช้สารพิเศษบางประเภท ร่วมกับคอนแทคเลนส์โพลารอยด์ เพื่อใช้ทุจริตการออกรางวัลดังกล่าว ซึ่งเมื่อใช้น้ำมันหรือวาสลีนทาทับสารดังกล่าวก็จะมองไม่เห็น แต่จะมองเห็นเมื่อมองผ่านคอนแทคเลนส์ดังกล่าว แต่โสภณได้ปฏิเสธกรณีคนร้ายใช้ฟลูออเรสเซนต์ซึ่งเป็นสารเรืองแสง เพื่อการทุจริตดังกล่าว เนื่องจากเมื่ออมไว้ในปากจะทำให้ปากพอง[11] ซึ่งชัยวัฒน์กล่าวปฏิเสธในกรณีของการใช้สารเรืองแสงดังกล่าวเช่นกัน โดยกล่าวว่า ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการใช้สารเรืองแสงเคลือบลูกบอลหมายเลขต่าง ๆ ในการทุจริตการออกรางวัลในครั้งนี้[7]
การสืบสวน
[แก้]จากการที่กรณีดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ทำให้ในวันที่ 20 มิถุนายน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว ปรากฏว่า ไม่พบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ร่วมกระทำการทุจริตการออกรางวัลแต่อย่างใด คงมีแต่ภาคประชาชนเท่านั้นที่พยายามกระทำการทุจริตการออกรางวัลในงวดดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 29 สิงหาคม สำนักงานฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองปราบปราม ร่วมติดตามพฤติการณ์ของประชาชนที่เข้ามาชมการออกรางวัลฯ เป็นประจำ[12] และร่วมตรวจสอบเทปการออกรางวัลในงวดดังกล่าว[1][2] โดยได้ข้อสรุปว่า
มีการซ้อมการทุจริตการออกรางวัลโดยการตักลูกบอลและบ้วนของเหลวโดยการกัดหลอดพลาสติกที่ไร่กุสุมารีสอร์ต อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี[1] ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจไร่ดังกล่าวก็พบหลอดพลาสติกบรรจุสารเคมีสีขาวจำนวนมากฝังไว้ในดินบริเวณโดยรอบบ้านพักหลังหนึ่งที่อยู่ห่างไกลจากการสังเกตของประชาชน ส่วนใหญ่ถูกเผาเพื่อทำลายหลักฐาน และมีบางส่วนไม่ถูกเผา[13][14] และยังพบหลอดบรรจุสารดังกล่าวบริเวณกองขยะซึ่งยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ใหญ่กว่าหลอดกาแฟเล็กน้อย ปะปนกับเศษฝ้าเพดาน มีรอยถูกฟันกัดบริเวณปลายหลอด อีกด้านเป็นรูเล็ก ๆ เพื่อให้สารเคมีไหลออก จึงเก็บหลอดบรรจุสารทั้งหมดให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ นอกจากนี้ยังพบคราบสารเคมีบนผนังห้องโถงของบ้านพักดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรีสอร์ทรายหนึ่งให้การว่า คนกลุ่มดังกล่าวได้เข้ามาเช่าบ้านพักถึง 2 ครั้ง โดยอ้างว่าใช้เป็นสถานที่จัดประชุม จากนั้นจะนำกลุ่มคนที่ได้รับการคัดเลือก 20 คน เข้ารับการฝึกซ้อม โดยมีผู้ฝึกสอน 2 คน สอนกลวิธีต่าง ๆ ในการทุจริตดังกล่าว โดยเปิดเทปการออกรางวัลรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากออมทรัพย์ทวีสินซึ่งดำเนินการโดย ธ.ก.ส. ให้ผู้เข้ารับการฝึกซ้อมรับชมประกอบการฝึกซ้อมด้วย ซึ่งมีการฝึกซ้อมทั้งวันทั้งคืน จนกว่าผู้ฝึกสอนจะพอใจ[9]
และก่อนวันออกรางวัล 1 วัน (31 พฤษภาคม) ได้ว่าจ้างคน 50-100 คน เพื่อซ้อมการทุจริต โดยสับเปลี่ยนหางบัตรเข้าชมการออกรางวัล ตักลูกบอล และบ้วนของเหลว ซึ่งมีการใช้ลูกบอลหมายเลขที่ใช้ในการออกรางวัลของสำนักงานฯ มาซ้อมตักลูกบอล[15] รวมทั้งเข้าชมการออกรางวัลในงวดดังกล่าว โดยเช่าโรงแรมใกล้ที่ทำการของสำนักงานฯ เป็นที่ซ้อมการทุจริตดังกล่าว[1][9] โดยจะได้รับค่าจ้างคนละ 200 บาท และหากได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการออกรางวัล จะได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 500 บาท[16] โดยตกลงว่า หากได้รับเลือกให้เป็นกรรมการออกรางวัล จะส่งหางบัตรเข้าชมการออกรางวัลให้กับผู้ว่าจ้างที่ยืนรายล้อมประชาชนที่นั่งอยู่ จำนวน 20 คน[1][2] เพื่อขึ้นไปแทนบุคคลที่ได้รับเลือกนั้น ทำให้หางบัตรเข้าชมการออกรางวัลของชายทั้ง 3 คน ที่ขึ้นไปเป็นกรรมการออกรางวัลนั้นไม่ตรงกับชื่อที่ถูกเรียก[1] โดยชายทั้ง 3 คนดังกล่าว ได้แก่
- สมตระกูล จอบกระโทก ในตำแหน่งหลักหมื่น
- พันจ่าอากาศเอก กิตติชาติ กุลประดิษฐ์ ในตำแหน่งหลักสิบ
- ทองสุข ชนะการี ในตำแหน่งหลักหน่วย [13]
ในขณะที่ชื่อที่ถูกเรียกตามหางบัตรเข้าชมการออกรางวัลที่แท้จริง ได้แก่
- พจนีย์ ม่วงศรีสุข
- วิรัตน์ ศรีหวาด
- ประเสริฐ เอี่ยมสอาด[4]
โดยเมื่อสามารถทุจริตได้ตามแผนการที่ได้ซักซ้อมเอาไว้ก่อนหน้า จะมีรางวัลตอบแทนเป็นเงินรางวัลที่ได้รับจากการซื้อสลากกินรวบตามเลขดังกล่าว[9]
จากนั้น เมื่อสำนักงานฯ ส่งอุปกรณ์ออกรางวัลเลขท้าย 3 ตัว, 2 ตัว และรางวัลที่ 1 ทั้งหมด มาตรวจพิสูจน์หลังการออกรางวัลในงวดดังกล่าว แต่ไม่พบสารเคมีหรือสารเรืองแสงติดอยู่บนอุปกรณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด จนเมื่อการออกรางวัลเมื่องวดวันที่ 16 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขออายัดอุปกรณ์ออกรางวัลดังกล่าวทั้งหมดอีกครั้ง ภายหลังการออกรางวัลเสร็จสิ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสงสัยว่ามีการเช็ดสารเคมีดังกล่าวออกก่อนส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ[17] ซึ่งจากการตรวจสอบครั้งที่สอง พบคราบสีขาวคล้ายน้ำยาลบคำผิด หรือแป้ง บนลูกบอลหมายเลข 1 จำนวน 3 ลูก และภาชนะบรรจุลูกบอลออกรางวัล จำนวน 3 ใบ[2] โดยการสอบสวนเพิ่มเติมพบว่า ขณะเข้าสู่การออกรางวัลเลขท้าย 3 ตัว, 2 ตัว และรางวัลที่ 1 ชายทั้ง 3 ดังกล่าว ได้อมหลอดพลาสติกบรรจุสารสีขาว ตั้งแต่ก่อนขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัล และเมื่อถึงการแสดงเลขหมายในลูกบอลก่อนออกรางวัลเลขท้ายฯ และรางวัลที่ 1 จะมีคนถือลูกโป่ง ยืนปะปนกับประชาชนที่มาชมการออกรางวัล แล้วใช้เข็มทิ่มเพื่อให้ลูกโป่งแตกเพื่อให้สัญญาณ ทำให้ผู้เข้าชมการออกรางวัลเบี่ยงเบนความสนใจไปที่ลูกโป่ง ซึ่งเกิดขึ้นขณะเจ้าหน้าที่หย่อนลูกบอลหมายเลข 1 โดยในขณะเดียวกัน ชายทั้ง 3 ดังกล่าวก็บ้วนหลอดบรรจุสารดังกล่าวลงไปหลังจากเจ้าหน้าที่หย่อนลูกบอลหมายเลข 1 ลงในภาชนะออกรางวัลแล้ว[1][18] ซึ่งสารดังกล่าวจะแห้งภายใน 10 วินาที หลังจากบ้วนสารลงไป[19]
อนึ่ง เมื่อพนักงานสอบสวนขอเข้าดูเทปการออกรางวัลย้อนหลัง ทั้งในส่วนของสลากกินแบ่งรัฐบาล สลากออมสิน และสลากออมทรัพย์ทวีสิน[20] พบว่า การออกรางวัลสลากออมทรัพย์ทวีสิน งวดประจำวันที่ 10 มกราคม ปีเดียวกัน พบว่า ชาย 2 คน คือ สมตระกูล และ พ.อ.อ.กิตติชาติ ซึ่งเข้าชมการออกรางวัล[21][22] และขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัลในการออกรางวัลดังกล่าว มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดวันที่ 1 มิถุนายน[1][23]
การดำเนินคดี
[แก้]กลม บางกรวย และพวก
[แก้]เมื่อพนักงานสอบสวนลงความเห็นว่า มีการทุจริตการออกรางวัลที่ 1 ในงวดดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับชายดังกล่าวทั้ง 3 ซึ่งขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัล รวมทั้งณรงค์ อุ่นแพทย์ (กลม บางกรวย), สุริยัน ดวงแก้ว (ผู้ใหญ่หมึก) และ พิชัย เทพอารักษ์ (ชัย โคกสำโรง) ในฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและซ่องโจร เนื่องจากเป็นการวางแผนหลอกเอาเงินรางวัลจากเจ้ามือสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) โดยพยายามให้เลข 1 ไปอยู่ในตำแหน่งเลขท้าย 3 ตัวของรางวัลที่ 1 (ศัพท์ที่ใช้ในวงการเรียกว่า 3 ตัวบน หรือ 3 ตัวตรง) ซึ่งถ้าเลข 1 ไปอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมากเพียงใด ก็จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นเท่านั้น[24]ซึ่งพบว่า พิชัย ได้มุ่งซื้อสลากกินรวบแบบเลขท้าย หมายเลข 11 กับเจ้ามือสลากกินรวบรายหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์[22] ทำให้เจ้ามือสลากกินรวบรายดังกล่าวต้องจ่ายเงินรางวัลกว่า 100 ล้านบาท หลังการออกรางวัลงวดดังกล่าว โดยแต่ละรายถูกรางวัลไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกรางวัลกลับมีเพียงผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งณรงค์พร้อมพวกได้ติดตามทวงหนี้เงินรางวัลที่ยังไม่ได้จ่ายจากเจ้ามือสลากกินรวบดังกล่าวพร้อมทั้งข่มขู่เอาชีวิตหากไม่จ่ายเงินรางวัลดังกล่าวในคราวเดียว จนเจ้ามือสลากกินรวบรายดังกล่าวต้องขอกำลังตำรวจคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง[19] อีกทั้งยังได้ฉ้อโกงเอาของชำร่วยราคาชิ้นละ 300 บาทของสำนักงานฯ จำนวน 3 รายการ โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ยกเว้น ทองสุข ชนะการี ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548[18] ที่รับสารภาพ[1][25]
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ศาลอาญาวินิจฉัยคดีนี้ว่า
การกระทำของพวกจำเลยเป็นความผิดต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ที่จะต้องปฏิบัติออกสลากด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำให้กระทบต่อความน่าเชื่อถือ สร้างความเสียหายโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
— คำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.4228/2544[26]
พิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้ง 5 ในฐานฉ้อโกง 2 ปี และในฐานซ่องโจร 4 ปี รวมจำคุก 6 ปี[1][21] จากนั้นจำเลยทั้งหมดยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกเว้นจำเลยที่ 5 (พิชัย) ศาลพิพากษาแก้ให้จำคุกเฉพาะกรณีฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นเท่านั้น เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยดังกล่าวร่วมในการฝึกซ้อมการล็อกเลขอุปกรณ์การออกรางวัลงวดดังกล่าว จึงพิพากษายกฟ้องในกรณีซ่องโจรของจำเลยที่ 5[27] โดยก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ปีดังกล่าว ณรงค์ได้ยื่นขอประกันตัวเนื่องจากป่วย โดยศาลตีหลักทรัพย์สำหรับประกันตัว 800,000 บาท[1]
จนในที่สุด ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ โดยในวันดังกล่าวมีเพียงจำเลยที่ 1 (สมตระกูล) และจำเลยที่ 5 (พิชัย) เท่านั้นที่มาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาจึงออกหมายจับจำเลยที่ 3 (ณรงค์ หรือ กลม บางกรวย) และจำเลยที่ 4 (สุริยัน) ให้มารับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าว[21] โดยที่คดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้วในส่วนของจำเลยที่ 2 (พ.อ.อ. กิตติชาติ)[22] ซึ่งในวันที่ 26 ธันวาคม ปีเดียวกัน ณรงค์ก็ขอเข้ามอบตัว ณ ศาลอาญา โดยให้เหตุผลที่ไม่สามารถเข้าฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ เนื่องจากณรงค์ได้เข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคเลือดออกในก้านสมอง ทำให้ศาลอาญาออกหมายขังจำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที[28]
สำหรับทองสุข ชนะการี ที่ถูกจับกุมในภายหลังนั้น[18] ศาลอาญาได้พิพากษาเมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ให้จำคุกเช่นเดียวกับจำเลยรายก่อนหน้า แต่ทองสุขให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี และให้ชดใช้ค่าของชำร่วยจากสำนักงานฯ จำนวน 3 รายการ รายการละ 300 บาท รวม 900 บาท[29]
เจ้าหน้าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
[แก้]ส่วนการดำเนินคดีในส่วนของเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ นั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำพยานและผู้ต้องหา พบว่ามีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ เข้าไปมีส่วนร่วมกับการทุจริตดังกล่าว ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหางบัตรเข้าชมการออกรางวัล 5 ราย เชิญผู้อื่นที่ไม่ได้รับการเลือก (จากการสุ่มหางบัตรเข้าชม) ไปเป็นกรรมการออกรางวัล โดยหลังจากเรียกขานหางบัตรดังกล่าวแล้ว พบว่า มีการสับเปลี่ยนนำผู้ที่เตรียมไว้ล่วงหน้าขึ้นไปแทน[9] และในกรณีลูกบอลออกรางวัลหมายเลขต่าง ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า มีการลบคราบต่าง ๆ ก่อนส่งให้กองพิสูจน์หลักฐาน นอกจากนี้ยังมีการซ้อมทุจริตการออกรางวัลโดยใช้ลูกบอลดังกล่าว[17] ทำให้ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ อีก 2 คน ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในฐานทุจริตต่อหน้าที่ ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และช่วยเหลือบุคคลอื่นไม่ต้องรับโทษ จากกรณีดังกล่าว[30]
ต่อมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 เนื่องจากจำเลยที่ 3 (ชัยวัฒน์) ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามฟ้องโจทก์ เนื่องจากมีการรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นและตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบกรณีดังกล่าว รวมทั้งจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับกลุ่มจำเลยในคดีทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งฯ งวดดังกล่าว[1][31]
ผลสืบเนื่อง
[แก้]จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องปรับปรุงระบบการออกรางวัลใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะเลขท้าย 3 ตัว, 2 ตัว และรางวัลที่ 1[12] ซึ่งเป็นผลจากมติที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ที่ให้สำนักงานฯ ปรับปรุงประสิทธิภาพการออกรางวัล เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น [32][33] อาทิ
- ยกเลิกการให้ประชาชนเป็นกรรมการออกรางวัล (ซึ่งใช้วิธีเสี่ยงจับหางบัตรเข้าชมการออกรางวัลของประชาชนที่มาเข้าชมการออกรางวัล 3 คน ร่วมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในงวดนั้น ๆ อีก 3 คน) โดยให้สิทธิ์ดังกล่าวเฉพาะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละงวด 6 คน จากทั้งหมด 11 คน เพื่อป้องกันการทุจริต โดยเริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา[34][35][17] ซึ่งต่อมาในการออกรางวัลสลากออมสิน และการออกรางวัลสลากออมทรัพย์ทวีสิน ก็ได้มีการยกเลิกให้ประชาชนขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัลเช่นกัน[15][20]
- ใช้อุปกรณ์ออกรางวัลแบบใหม่คือแบบ ลาดกระบัง 6 ซึ่งพัฒนาและจัดสร้างโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยปรับปรุงจากแบบ "ลาดกระบัง 3"[1] โดยมีการเพิ่มลวดลายด้านผู้ออกรางวัล (โดยใช้พลาสติกทึบแสง) ทำให้ผู้ออกรางวัลไม่เห็นลูกบอลหมายเลขต่าง ๆ ขณะออกรางวัล และใช้คันโยกเพื่อให้ลูกบอลตกลงในที่รองรับแทนการตักลูกบอล ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่งวดวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน[36]
นอกจากนี้ ในช่วงที่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนนั้น ยอดขายสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ลดลง จนมีผู้ค้าสลากฯ บางรายต้องยอมขายในราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งผู้ค้าดังกล่าวเชื่อว่า เป็นผลมาจากกรณีทุจริตการออกรางวัลดังกล่าว ทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นที่จะซื้อสลาก อย่างไรก็ตาม หมายเลขสลาก (ที่เป็นเลขท้าย 2 ตัว หรือ 3 ตัว) ที่ประชาชนสนใจ เช่น เลขอายุของบุคคลที่ตกเป็นข่าว เลขปีที่ทำการออกรางวัล ยังคงขายในราคาคู่ละ 90-100 บาทเช่นเดิม[37][38]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 ช่อง 9 MCOT HD. (2559, 4 มกราคม). รายการ "ข่าวดังข้ามเวลา" ตอน เลขล็อก รหัสลับ. [ออนไลน์].
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 "กลเม็ดพิชิตคดี ตอนที่ 2: คดีประวัติศาสตร์ ล็อกแก๊งโกงหวย "กลม บางกรวย"". มติชนออนไลน์/เด็กดีดอตคอม. 2550, 20 ตุลาคม. สืบค้นเมื่อ 07-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ ภรณ์ทิพย์ งามเนรมิตดี. (2552). ปัจจัยทีมีผลต่อภาพลักษณ์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในเขตกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน้า 34.
- ↑ 4.0 4.1 "เปิดประวัติศาสตร์ 'หวยล็อก' จากเจ้ามือเจ๊งสะเทือนถึงกองสลาก". ไทยรัฐออนไลน์. 2556, 29 ตุลาคม. สืบค้นเมื่อ 12-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "สกู๊ป:"หวยล็อก"อมตะ!!! หนอนบ่อนไส้". เดลินิวส์ออนไลน์. 2544, 30 ผลออกรางวัลเมษายน2561. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-11-30. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "ย้อนตำนาน "หวยล็อก" 311 ก้มมอง ล้วงบอล ใส่เลนส์ตา รวยเละทั้งเมือง!". ไทยรัฐออนไลน์. 2561, 15 พฤศจิกายน. สืบค้นเมื่อ 29-01-2564.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ 7.0 7.1 สยามจดหมายเหตุ. (2544, 14 มิถุนายน). กรณีการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล. ปีที่ 26 ฉบับที่ 24 หน้า 649
- ↑ "สวนดุสิตโพล: ความคิดเห็นของประชาชนต่อ กรณี หวยล็อก". อาร์ทีวายไนน์. 2544, 15 มิถุนายน. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 "จับ 5 คนคุมบัตร อ.ตัวการเจอหลอดเคมี". เดลินิวส์ออนไลน์. 2544, 11 ธันวาคม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-12-11. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "เอแบคโพลล์: ภาพลักษณ์และความรับผิดชอบของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กรณีปัญหาหวยล็อกในสายตาประชาชน". อาร์ทีวายไนน์. 2544, 27 พฤศจิกายน. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "ตูว่าแล้ว...มั๊ยล่ะ !?!"หวยล็อก"สุดยอดวิธีแหกตา". เดลินิวส์ออนไลน์. 2544, 22 พฤศจิกายน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-11-22. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ 12.0 12.1 ราชกิจจานุเบกษา, กระทู้ถามที่ ๕๑๙ ร. เรื่อง การล็อกเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล ของ นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เก็บถาวร 2022-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๗๔ก วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๕
- ↑ 13.0 13.1 "ย้อนรอยกลโกง 'หวยล็อก' แผนเหนือเมฆ-รวยเละ". สยามธุรกิจออนไลน์. 2556, 2-5 พฤศจิกายน. สืบค้นเมื่อ 07-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ สยามจดหมายเหตุ. (2544, 28 พฤศจิกายน). กรณีการล็อกเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล. ปีที่ 26 ฉบับที่ 48 หน้า 1324
- ↑ 15.0 15.1 "ตร.แจ้งข้อหาเพิ่มพยานซัด'กลม'ร่วมฉ้อโกง". เดลินิวส์ออนไลน์. 2544, 24 พฤศจิกายน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-11-24. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ สยามจดหมายเหตุ. (2544, 22 พฤศจิกายน). กรณีการล็อกเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล. ปีที่ 26 ฉบับที่ 47 หน้า 1297-1298
- ↑ 17.0 17.1 17.2 "น้ำลายผสมฝุ่นเคมีพ่นลูกบอลหวยล็อกฉาวโฉ่อีก". เดลินิวส์ออนไลน์. 2544, 20 พฤศจิกายน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-11-20. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ 18.0 18.1 18.2 "กองปราบรวบอีก 1 หวยล็อกเด็กกลมบางกรวย". กองปราบปราม. 2548, 19 มกราคม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-13. สืบค้นเมื่อ 12-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ 19.0 19.1 "เสี่ยฮุยโร่พึ่ง ตร.แฉ'กลม'ขู่ค่าหวย 100 ล้าน". เดลินิวส์ออนไลน์. 2544, 29 พฤศจิกายน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-11-29. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ 20.0 20.1 "ใกล้สรุปสำนวนหวยล็อก". เดลินิวส์ออนไลน์. 2544, 9 ธันวาคม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-12-09. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ 21.0 21.1 21.2 "ฎีกายืนจำคุก "กลม บางกรวย" โกงหวยล็อก-ซ่องโจร รวม 6 ปี". ผู้จัดการออนไลน์. 2556, 28 ตุลาคม. สืบค้นเมื่อ 07-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 22.0 22.1 22.2 "ฎีกายืน-คุกกลม บางกรวยโดน6ปีคดีล็อกหวยรัฐบาล". ไทยรัฐออนไลน์. 2556, 29 ตุลาคม. สืบค้นเมื่อ 07-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "พลิกแฟ้มคดี กลม บางกรวย ใครว่า "หวย" ล็อกไม่ได้ ? (หน้า 7)" (PDF). กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก. ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 07-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "เขาเล่นหวยใต้ดินกันอย่างไร". นิตยสารผู้จัดการรายเดือน. 2529, มกราคม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-22. สืบค้นเมื่อ 2559-06-17.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ สยามจดหมายเหตุ. (2544, 28 ธันวาคม). กรณีการล็อกเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล. ปีที่ 26 ฉบับที่ 52 หน้า 1443
- ↑ "ปิดตำนานเจ้าหวยล็อกคุก 6 ปี 'กลม บางกรวย'". สยามธุรกิจออนไลน์. 2556, 30 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน. สืบค้นเมื่อ 07-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "อุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 6 ปี "กลม บางกรวย" คดีหวยล็อก". ผู้จัดการออนไลน์. 2549, 23 มิถุนายน. สืบค้นเมื่อ 07-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ ""กลม บางกรวย" มอบตัวคดีหวยล็อก ส่งตัวเข้าเรือนจำทันที!". ผู้จัดการออนไลน์. 2556, 26 ธันวาคม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-29. สืบค้นเมื่อ 12-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "จำคุก 3 ปี จำเลยคดีหวยล็อก สมุน "กลม บางกรวย"". ผู้จัดการออนไลน์. 2549, 30 ตุลาคม. สืบค้นเมื่อ 12-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "ฟันอดีต ผอ.สลาก ล็อกหวย ปปช.เชือดอาญา". ที่นี่ดอตคอม. 2549, 25 ตุลาคม. สืบค้นเมื่อ 21-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ "ยกฟ้อง "ชัยวัฒน์ พสกภักดี" อดีต ผอ.กองสลากไม่เชื่อมโยง"แก๊งล็อกหวย"". มติชนออนไลน์. 2553, 29 เมษายน. สืบค้นเมื่อ 12-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ สยามจดหมายเหตุ. (2544, 26 พฤศจิกายน). กรณีการล็อกเลขสลากกินแบ่งรัฐบาล. ปีที่ 26 ฉบับที่ 48 หน้า 1321
- ↑ "สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปลี่ยนวิธีออกสลากใหม่". อาร์ทีวายไนน์. 2544, 22 พฤศจิกายน. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา. หน้า ๕๖-๕๗.
- ↑ "สำนักงานสลากกิบแบ่งรัฐบาล ปรับปรุงกระบวนการออกรางวัลเพิ่มความรัดกุมยิ่งขึ้น". อาร์ทีวายไนน์. 2544, 31 ตุลาคม. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา. หน้า ๕๗-๕๘.
- ↑ "ระดม ตร.ตรึงออกหวย". เดลินิวส์ออนไลน์. 2544, 16 ธันวาคม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-12-16. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "สกู๊ป:พิสูจน์ล็อก"80-08"เกลี้ยงแผง". เดลินิวส์ออนไลน์. 2544, 1 ธันวาคม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-12-01. สืบค้นเมื่อ 19-06-2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help)CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)