เรือตอร์ปิโดยูโกสลาเวีย ที1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ที1
เรือตอร์ปิโดยูโกสลาเวีย ที3 หนึ่งในเรือพี่น้องของรุ่น ที1
ประวัติ
ออสเตรีย-ฮังการี
ชื่อ76ที ต่อมาเป็น 76
อู่เรือStabilimento Tecnico Triestino
ปล่อยเรือ24 มิถุนายน พ.ศ. 2456
เดินเรือแรก15 ธันวาคม พ.ศ. 2456
เข้าประจำการ20 กรกฎาคม พ.ศ. 2457
หยุดให้บริการพ.ศ. 2461
ความเป็นไปส่งมอบให้ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน
ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย
ชื่อที1
ส่งมอบเสร็จมีนาคม พ.ศ. 2464
หยุดให้บริการเมษายน พ.ศ. 2484
ความเป็นไปอิตาลียึด
ราชอาณาจักรอิตาลี
ชื่อที1
ส่งมอบเสร็จเมษายน พ.ศ. 2484
หยุดให้บริการกันยายน พ.ศ. 2486
ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย
ชื่อที1
ส่งมอบเสร็จธันวาคม พ.ศ. 2486
ความเป็นไปส่งคืนให้กองทัพเรือยูโกสลาเวียหลังสงคราม
สหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย
ชื่อกอเลชนิตซา
ส่งมอบเสร็จหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
Strickenพ.ศ. 2498
ความเป็นไปถูกใช้เป็นเรือเป้าหมาย
ลักษณะเฉพาะ
ชั้น: เรือตอร์ปิโดชั้น 250ที, เรือตอร์ปิโดเดินสมุทรกลุ่มที
ขนาด (ระวางขับน้ำ):
  • 237 ตัน (233 ลองตัน)
  • 324 ตัน (319 ลองตัน) (เต็มที่)
ความยาว: 57.3 เมตร (188 ฟุต)
ความกว้าง: 5.7 เมตร (18 ฟุต 8 นิ้ว)
กินน้ำลึก: 1.5 เมตร (4 ฟุต 11 นิ้ว)
ระบบพลังงาน:
ระบบขับเคลื่อน:
  • 2 × เพลา
  • 2 × กังหันไอน้ำพาร์สันส์
  • ความเร็ว: 28 นอต (52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 32 ไมล์ต่อชั่วโมง)
    พิสัยเชื้อเพลิง: 1000 ไมล์ทะเล (1,900 กิโลเมตร; 1,200 ไมล์) ที่ 16 นอต (30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 18 ไมล์ต่อชั่วโมง)
    อัตราเต็มที่: 41
    ยุทโธปกรณ์:

    เรือตอร์ปิโดยูโกสลาเวีย ที1 เป็นเรือตอร์ปิโดเดินสมุทรที่ประจำการในราชนาวียูโกสลาเวียระหว่าง พ.ศ. 2464–2484 ชื่อเดิมคือ 76ที เป็นเรือตอร์ปิโดชั้น 250ที ของกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2457 มีปืนขนาด 66 มิลลิเมตร (2.6 นิ้ว) สองกระบอก และท่อยิงตอร์ปิโด 4 ท่อขนาด 450 มิลลิเมตร (17.7 นิ้ว) สี่ท่อ และสามารถบรรทุกทุ่นระเบิดเรือ 10-12 ลูก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มีการใช้เรือในภารกิจขบวนเรือ คุ้มกัน เก็บกวาดทุ่นระเบิด ปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำ และภารกิจโจมตีชายฝั่ง หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2460 คำต่อท้ายของเรือตอร์บิโดทั้งหมดในออสเตรีย-ฮังการีถูกเอาออก จึงทำให้ชื่อของเรือเปลี่ยนเป็น เรือตอร์ปิโด 76 ระหว่างปฏิบัติการทางเรือ 76ที ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในกองเรือคุ้มกันเดรดนอตแซ็นต์ อิชต์วาน ซึ่งส่งผลเรือดังกล่าวถูกเรือตอร์ปิโดอิตาลีจมในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2461 หลังออสเตรีย-ฮังการีพ่ายแพ้สงครามในปีเดียวกัน มีการจัดสรร 76ที ให้แก่กองทัพเรือราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นราชนาวียูโกสลาเวีย และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ที1 เรือดังกล่าวและเรือชั้น 250ที อื่น ๆ อีกเจ็ดลำเป็นเรือเดินสมุทรสมัยใหม่ไม่กี่ลำของกองทัพเรือใหม่นี้

    ในสมัยระหว่างสงคราม ที1 และกองทัพเรือที่เหลือเข้าร่วมการฝึกซ้อมและลาดตระเวนไปท่าเรือฝ่ายเดียวกัน แต่กิจกรรมถูกจำกัดด้วยงบประมาณกองทัพเรือที่ลดลง อิตาลียึดเรือดังกล่าวได้ระหว่างการบุกครองยูโกสลาเวียของฝ่ายอักษะที่มีเยอรมนีเป็นผู้นำในเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 จากนั้นมีการปรับปรุงอาวุธหลักของเรือให้ทันสมัย เรือเข้าประจำการในราชนาวีอิตาลีภายใต้ชื่อยูโกสลาเวียเดิม ภายหลังการยอมจำนนของอิตาลีในเดือนกันยายน พ.ศ. 2486 เรือได้รับการส่งคืนให้แก่ราชนาวียูโกสลาเวียพลัดถิ่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ก็มีการส่งมอบเรือให้กับกองทัพเรือยูโกสลาเวียใหม่ พร้อมทั้งปรับปรุงและเปลี่ยนอาวุธยุทโธปกรณ์ของเรือ และเปลี่ยนชื่อเป็น กอเลชนิตซา จนถึง พ.ศ. 2498 หลังจมเป็นเป้าหมายในอ่าวชันยิตซา ใกล้กับปากอ่าวกอตอร์ด้านตะวันตก ซึ่งในปัจจุบันสถานที่นี้กลายเป็นแหล่งดำน้ำเพื่อสันทนาการ

    เบื้องหลัง[แก้]

    ใน พ.ศ. 2453 คณะกรรมการเทคนิคทางเรือออสเตรีย-ฮังการีริเริ่มโครงการการออกแบบและพัฒนาเรือตอร์ปิโดชายฝั่งระวางขับน้ำ 275 ตัน (271 ลองตัน) และกำหนดว่าควรคงความเร็วได้ 30 นอต (56 กม./ชม.) เป็นเวลา 10 ชั่วโมง ข้อกำหนดนี้ตั้งอยู่บนการคาดการณ์ว่ากำลังข้าศึกจะปิดล้อมช่องแคบโอตรันโต ซึ่งเป็นที่บรรจบของทะเลเอเดรียติกกับทะเลไอโอเนียน ระหว่างความขัดแย้งในอนาคต ในพฤติการณ์เช่นนั้น มีความจำเป็นต้องใช้เรือตอร์ปิโดซึ่งสามารถแล่นจากฐานทัพเรือออสเตรีย-ฮังการี (เยอรมัน: kaiserliche und königliche Kriegsmarine, ฮังการี: Császári és Királyi Haditengerészet) ที่อ่าวกัตตาโร (อ่าวกอตอร์) ไปช่องแคบดังกล่าวในยามกลางคืน หาตำแหน่งและโจมตีเรือที่ปิดล้อมแล้วกลับสู่ท่าเรือก่อนเช้า มีการเลือกเครื่องยนต์กังหันไอน้ำสำหรับการขับเคลื่อน เนื่องจากไม่มีน้ำมันดีเซลที่มีพลังงานที่จำเป็น และกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีไม่มีประสบการณ์เชิงปฏิบัติในการใช้เรือกังหันไฟฟ้า บริษัทต่อเรือด้านเทคนิคของตรีเยสเต (อิตาลี: Stabilimento Tecnico Triestino, ชื่อย่อ: STT) ได้รับคัดเลือกให้ทำสัญญาต่อเรือแปดลำแรกในชื่อกลุ่ม ที นำหน้าผู้เสนอรายอื่น ๆ[1] ซึ่งกลุ่มชื่อที หมายถึงตำแหน่งอู่ต่อเรือหลักของบริษัทที่ตรีเยสเต[2]

    การออกแบบและการต่อเรือ[แก้]

    เรือกลุ่มทีชั้น 250ที ได้รับการออกแบบให้ดาดฟ้าเรือยกขึ้นเล็กน้อยและมีสะพานเดินเรือแบบเปิด ซึ่งมีความรวดเร็วและว่องไว ออกแบบมาอย่างดีสำหรับการประจำการในทะเลเอเดรียติก[3] มีความยาวแนวน้ำเป็น 57.3 เมตร (188 ฟุต) ความกว้าง 5.7 เมตร (18 ฟุต 8 นิ้ว) และกินน้ำลึก 1.5 เมตร (4 ฟุต 11 นิ้ว) มีระวางขับน้ำตามการออกแบบ 237 ตัน (233 ลองตัน) แต่เมื่อบรรทุเต็มที่ ระวางขับน้ำเพิ่มเป็น 324 ตัน (319 ลองตัน) โดยประมาณ[4] สามารถบรรจุลูกเรือได้ 41 คน (เจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย และทหารเกณฑ์ 38 นาย)[5] เรือขับเคลื่อนด้วยกังหันไอน้ำ พาร์สันส์ 2 ใบพัด ขับเคลื่อนโดยหม้อไอน้ำแบบยาร์โรว์ 2 หม้อ หม้อหนึ่งเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง และอีกหม้อหนึ่งเผาไหม้ถ่านหิน[6] มีห้องหม้อไอน้ำสองห้อง โดยห้องหนึ่งอยู่ด้านหลังอีกห้องหนึ่ง[3] กังหันทั้งสองจัดเป็น 5000-5700 แรงม้า (3,700–4,300 กิโลวัตต์) และออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนเรือให้มีความเร็วสูงสุด 28 นอต (52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 32 ไมล์ต่อชั่วโมง) แม้ว่าความเร็วสูงสุดที่ทำได้จะเป็น 29.2 นอต (54.1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 33.6 ไมล์ต่อชั่วโมง) บรรทุกถ่านหิน 18.2 ตัน (17.9 ลองตัน) และน้ำมันเชื้อเพลิง 24.3 ตัน (23.9 ลองตัน) ทำให้มีพิสัย 1,000 ไมล์ทะเล (1,900 กิโลเมตร; 1,200 ไมล์) ที่ความเร็ว 16 นอต (30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 18 ไมล์ต่อชั่วโมง)[6] กลุ่มทีมีปล่องควันหนึ่งปล่อง ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มอื่นที่มีสองปล่อง[1] มีฝาครอบระบายอากาศขนาดใหญ่ใต้สะพานเดินเรือและปล่องควันท้ายเรือ[3] เนื่องจากการจัดหาทุนที่ไม่เพียงพอ ทำให้ 76ที และเรือตอร์ปิโดชั้น 250ที ลำที่เหลือกลายเป็นเรือชายฝั่งโดยสภาพ แม้ว่าเจตนาเดิมทีจะใช้สำหรับปฏิบัติการ "ทะเลน้ำลึก"[7] นับเป็นครั้งแรกที่กองทัพเรือเล็กของออสเตรีย-ฮังการีที่ใช้ระบบกังหัน และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับระบบใหม่[1] ซึ่งทำให้เรือได้รับการซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องเมื่อเข้าประจำการ[3]

    เรือลำนี้มีปืนสโกดา 66 มิลลิเมตร (2.6 นิ้ว) แอล/30 3 กระบอก[a] และท่อยิงตอร์ปิโด 450 มิลลิเมตร (17.7 นิ้ว) 3 ท่อ[1] แต่มีการเปลี่ยนจำนวนปืนเป็นสองกระบอกและท่อยิงตอร์ปิโดเป็นสี่ท่อก่อนที่เรือลำแรกจะเสร็จสมบูรณ์ เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานอาวุธแบบเดียวกับกลุ่มเอฟ[2] ท่อยิงตอร์ปิโดติดตั้งเป็นคู่ โดยคู่หนึ่งติดตั้งอยู่ระหว่างดาดฟ้าและสะพานเดินเรือ ส่วนอีกคู่อยู่บนส่วนของโครงสร้างส่วนบนที่ยกขึ้นเหนือห้องเครื่องจักรท้ายเรือ[6] สามารถพกทุ่นระเบิดเรือ 10-12 ลูก 76ที เป็นเรือลำที่สามของชั้นที่สร้างแล้วเสร็จ โดยเริ่มวางกระดูกงูเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2456 ถูกปล่อยลงน้ำในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2456 และขึ้นระวางวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2457[2] จากนั้นในปีเดียวกัน มีการติดปืนกล 8 มิลลิเมตร (0.31 นิ้ว) หนึ่งกระบอกสำหรับภารกิจต่อต้านอากาศยาน[1][5]

    การใช้งาน[แก้]

    สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[แก้]

    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 76ที เป็นเรือในกลุ่มเรือตอร์ปิโดที่ 1 ของกองเรือตอร์ปิโดที่ 3 แห่งทัพเรือตอร์ปิโดออสเตรีย-ฮังการีที่ 1[9] มโนทัศน์เดิมของปฏิบัติการสำหรับเรือชั้น 250ที นั้น คือการให้เรือแล่นในกองเรือที่ด้านหลังแนวรบลาดตระเวน และมีหน้าที่เข้าแทรกแซงการต่อสู้เฉพาะในกรณีที่เรือประจัญบานในแนวรบถูกทำลาย หรือเข้าโจมตีเรือประจัญบานฝั่งศัตรู[10] เมื่อมีคำสั่งโจมตีด้วยตอร์ปิโด เรือลาดตระเวนสอดแนมจะเป็นเรือนำและเรือพิฆาตสองลำจะคอยขับไล่เรือตอร์ปิโดฝ่ายตรงข้าม กลุ่มเรือตอร์ปิโดสี่ถึงหกลำจะส่งการโจมตีภายใต้คำสั่งโดยตรงของผู้บัญชาการกองเรือ[11]

    ในระหว่างสงคราม 76ที ถูกนำมาใช้เพื่อลาดตระเวนคุ้มกันและกวาดทุ่นระเบิด รวมถึงปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำ[1] และภารกิจโจมตีชายฝั่ง[12] นอกจากนี้ยังดำเนินการลาดตระเวนและสนับสนุนการโจมตีชายฝั่งอิตาลีของเครื่องบินทะเล[7] เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 76ที และเรือยิงตอร์ปิโดชั้น 250 ที อีกเจ็ดลำเข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีชายฝั่งอิตาลีหรือที่รู้จักกันในชื่อการระดมยิงที่อังโกนา[13] เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม กองเรือที่นำโดยเรือลาดตระเวนสอดแนมแอดมิรอลชเปาน์ และโนวารา คุ้มกันโดยเรือพิฆาตสองลำ พร้อมด้วย 76ที และเรือชั้น 250ที อีกสองลำ ระดมยิงเส้นทางรถไฟของอิตาลีที่เชื่อมระหว่างอังโกนาและเปซาโร[14] ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีได้ส่งกำลังจากฐานทัพเรือหลักที่ปูลาในเอเดรียติกตอนบน ไปยังกัตตาโรในเอเดรียติกตอนล่าง โดยกองกำลังนี้ประกอบด้วยเรือตอร์ปิโดกลุ่มทีหกลำจากทั้งหมดแปดลำ จึงเป็นไปได้ว่าหนึ่งในนั้นคือ 76ที กองกำลังนี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลการลาดตระเวนชายฝั่งแอลเบเนียอย่างถาวร และขัดขวางการขนส่งกองทหารใด ๆ ที่ข้ามจากอิตาลี[15]

    เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 76ที, เรือตอร์ปิโดชั้นไคมัน 70เอฟ, และเรือชั้น 250ที อีกสองลำได้วางทุ่นระเบิดป้องกันนอกท่าเรืออันตีวารี[16] ในวันที่ 3 พฤษภาคม 76ที และเรือชั้น 250ที ห้าลำ พร้อมกับเรือพิฆาตสี่ลำเข้าร่วมในปฏิบัติการเหนือผิวน้ำนอกท่าเรือกอร์ซินี ใกล้ราเวนนา และต่อสู้กับกองทัพอิตาลีที่มีเรือพิฆาตเชซาเร รอสซารอล และกูลยีเอลโม เปเปเป็นเรือนำกอง ในโอกาสนี้ กองทัพออสเตรีย-ฮังการีถอยกำลังกลับหลังทุ่นระเบิดโดยไม่มีความเสียหายต่อเรือตอร์ปิโด แต่มีเพียงความเสียหายเพียงเล็กน้อยต่อเรือฮูซาร์และชิโกช ใน พ.ศ. 2460 ปืน 66 มิลลิเมตร ของ 76ที หนึ่งกระบอกถูกเปลี่ยนเป็นปืนใหญ่ต่อต้านอากาศยาน[2] เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 คำต่อท้ายของเรือตอร์บิโดทั้งหมดในออสเตรีย-ฮังการีถูกเอาออก จึงทำให้ชื่อของเรือเหลือเพียงตัวเลขเท่านั้น[1] ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม เครื่องบินออสเตรีย-ฮังการีปฏิบัติการทิ้งระเบิดเป้าหมายตามแนวชายฝั่งตะวันออกของอิตาลีอย่างต่อเนื่อง ในการโจมตีด้วยเครื่องบินทะเล 21 ครั้งโดยมุ่งเป้าไปที่ท่าเรือที่กราโดระหว่างเวนิสและตรีเยสเต และศูนย์กลางทางรถไฟหลักในบริเวณเดียวกันที่แชร์วิญญาโน เรือตอร์ปิโด 76 เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังคุ้มกันซึ่งประกอบด้วยเรือพิฆาตสามลำและเรือชั้น 250ที อีกสามลำ เรือพิฆาตลำหนึ่งตกเป็นเป้าหมายของเรือดำน้ำศัตรู แต่ยังสามารถหลบเลี่ยงตอร์ปิโดได้[17]

    ใน ค.ศ. 1918 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เสริมกำลังการปิดล้อมช่องแคบโอตรันโตอย่างต่อเนื่อง ตามที่กองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีคาดการณ์ไว้ เป็นผลให้เรืออูของเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีผ่านช่องแคบและลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ยากขึ้น ทางผู้บัญชาการกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีคนใหม่ พลเรือตรี มิกโลช โฮร์ตี จึงตัดสินใจเปิดฉากโจมตีกองกำลังป้องกันของฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยเรือประจัญบาน เรือลาดตระเวนสอดแนม และเรือพิฆาต เพื่อโต้กลับการปิดล้อม[18] ในระหว่างคืนวันที่ 8 มิถุนายน โฮร์ตีนำทัพเรือออกจากฐานทัพเรือปูลาในทะเลเอเดรียติกตอนบนพร้อมเรือประจัญบานเดรดนอตริบัส ยูนิทิส และพรินซ์อ็อยเกน เมื่อเวลาประมาณ 23.00 นาฬิกา ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2461 หลังจากมีปัญหาในการนำโซ่กันเรือในท่าเทียบเรือออก เรือประจัญบานเดรดนอตแซ็นต์ อิชต์วาน และเทเก็ททอฟ[19] เรือพิฆาตหนึ่งลำและเรือยิงตอร์ปิโดหกลำซึ่งรวมถึงเรือตอร์ปิโด 76 ได้ออกจากปูลาไปยังสลานอ ทางตอนเหนือของรากูซา เพื่อนัดรวมกับกองเรือของโฮร์ตีสำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าโจมตีกองเรือพันธมิตรบริเวณช่องแคบโอตรันโต ในวันที่ 10 มิถุนายน เวลาประมาณ 03:15 นาฬิกา[b] ในขณะที่เรือยนต์ตอร์ปิโดสองลำของราชนาวีอิตาลี (อิตาลี: Regia Marina) เอ็มเอเอส 15 และเอ็มเอเอส 21 กลับจากการลาดตระเวนนอกชายฝั่งแดลเมเชียได้เห็นควันจากเรือของออสเตรีย ทั้งสองลำประสบความสำเร็จในการเจาะการคุ้มกันส่วนหน้าและแยกทางกัน โดยเอ็มเอเอส 21 เข้าโจมตีเรือเทเก็ททอฟ แต่ตอร์ปิโดยิงพลาดเป้า[21] ลูกเรือของเรือ 76 ยังคงไม่สังเกตเห็นเรือเอ็มเอเอส จนกระทั่งตอร์ปิโดถูกปล่อยออกไป[22] ณ เวลา 03:25 นาฬิกา เอ็มเอเอส 15 ภายใต้การบังคับบัญชาของลุยจี ริซโซ ยิงตอร์ปิโดสองลูกถูกเรือแซ็นต์ อิชต์วาน ริซโซยังได้ข่มขวัญเรือ 76 โดยการปล่อยระเบิดน้ำลึก ซึ่งทำให้เรือเอ็มเอเอสทั้งสองลำรอดพ้นจากการไล่ตามของกองเรือศัตรู สำหรับตอร์ปิโดที่ยิงใส่เรือแซ็นต์ อิชต์วาน ส่งผลให้ห้องหม้อไอน้ำของเรือเป็นรูรั่ว น้ำได้เข้าท่วมตัวเรือแต่ไม่สามารถระบายได้ เนื่องจากน้ำได้ทำลายระบบพลังงานปั้มสูบน้ำไปแล้ว สามชั่วโมงต่อมาเรือแซ็นต์ อิชต์วาน ได้อับปางลง[20] ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ปฏิบัติการของทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีในทะเลเอเดรียติกสิ้นสุดลงตลอดเวลาที่เหลือของสงคราม[23]

    สมัยระหว่างสงคราม[แก้]

    จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีร้องขอสงบศึกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2461 และเรือตอร์ปิโด 76 สามารถรอดจากสงครามได้[1] ใน พ.ศ. 2463 ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แล ซึ่งออสเตรียประกาศยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างเป็นทางการ ทำให้เรือตกเป็นของราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (ภายหลังคือราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย)[24] ทันทีหลังการยอมจำนนของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี กองทัพฝรั่งเศสได้เข้ายึดกัตตาโร ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเป็นอาณาเขตของจักรวรรดิ[25] ในระหว่างการยึดครองของฝรั่งเศส เรือของกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีที่จอดเทียบฝั่งในกัตตาโรถูกทอดทิ้ง และท่อยิงตอร์ปิโดเดิมของเรือ 76 ถูกกองทหารฝรั่งเศสทำลายหรือทำให้เสียหาย[26] เช่นเดียวกันกับเรือชั้น 250ที กลุ่มที สามลำ (77, 78 และ 79) และกลุ่มเอฟอีกสี่ลำได้เช้าประจำการในราชนาวียูโกสลาเวีย (เซอร์เบีย-โครเอเชีย: Kraljevska Mornarica, KM; Краљевска Морнарица) ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2464 หลังกองทหารฝรั่งเศสถอนกำลัง[24][26] ระหว่างประจำการในยูโกสลาเวีย เรือตอร์ปิโด 76 เปลี่ยนชื่อเป็น ที1[2] เรือดังกล่าวและเรือชั้น 250ที อื่น ๆ อีกเจ็ดลำเป็นเรือเดินสมุทรสมัยใหม่ไม่กี่ลำของกองทัพเรือใหม่นี้[27] ท่อยิงตอร์ปิโดท่อใหม่ที่ขนาดเหมือนกันได้รับการสั่งซื้อจากโรงงาน Strojne Tovarne ในลูบลิยานา[5]

    ราชนาวียูโกสลาเวียมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนปืนหนึ่งหรือทั้งสองกระบอกบนเรือชั้น 250ที แต่ละลำด้วยปืนสโกดา 66 มิลลิเมตร (2.6 นิ้ว) แอล/45 ที่ยาวกว่า และตามที่นักประวัติศาสตร์ทางเรือ ซวอนิมีร์ ฟรีวอเกล (Zvonimir Freivogel) ได้ระบุไว้ เรือ ที1 ได้รับการเปลี่ยนปืนด้านหน้าเรือด้วย เรือยังได้ติดตั้งปืนกลซบรอยอฟกา 15 มิลลิเมตร (0.59 นิ้ว) อีกหนึ่งหรือสองกระบอก ในช่วงเวลานี้ มีลูกเรือเพิ่มขึ้นเป็น 52 นาย[5] และเข้าประจำการในกองทัพเรือเมื่อ พ.ศ. 2466[28] ใน พ.ศ. 2468 ได้มีการจัดการซ้อมรบตามชายฝั่งแดลเมเชีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทัพเรือส่วนใหญ่[29] ที1 ได้รับการปรับปรุงใหม่ใน พ.ศ. 2470[28] ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน พ.ศ. 2472 เรือตอร์ปิโดชั้น 250ที จำนวน 6 ลำจากทั้งหมด 8 ลำ ซึ่งมาพร้อมกับเรือลาดตระเวน Dalmacija เรือสนับสนุนเรือดำน้ำ Hvar และเรือดำน้ำ Hrabri และ Nebojša ล่องเรือไปยังเกาะมอลตา เกาะคอร์ฟูของกรีซในทะเลไอโอเนียน และเมืองบีเซิร์ทในตูนิเซียในอารักขาของฝรั่งเศส โดยเรือและลูกเรือสร้างความประทับใจที่ดียิ่งขณะเยือนมอลตา[30] ใน พ.ศ. 2475 กองเรือราชนาวีอังกฤษรายงานว่าราชนาวียูโกสลาเวียอยู่ในช่วงขาดงบประมาณ ทำให้การซ้อมรบและการฝึกยิงปืนใหญ่ลดลง[31] ใน พ.ศ. 2482 ความเร็วสูงสุดที่เรือชั้น 250ที สามารถทำได้ระหว่างประจำการในยูโกสลาเวียลดลงเหลือ 24 นอต (44 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 28 ไมล์ต่อชั่วโมง)[5]

    สงครามโลกครั้งที่สองและหลังสงคราม[แก้]

    ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 ยูโกสลาเวียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อฝ่ายอักษะที่มีเยอรมนีเป็นผู้นำบุกครองประเทศ โดยในช่วงเวลาการรุกราน ที1 ได้รับมอบหมายให้อยู่เขตทางใต้ของกองบัญชาการป้องกันชายฝั่งแห่งราชนาวียูโกสลาเวีย ซึ่งตั้งอยู่ที่อ่าวกอตอร์[32] พร้อมด้วยเรือพี่น้อง ที8 แม้ว่า ที1 จะประจำอยู่ในกองเรือตอร์ปิโดที่ 3 อย่างเป็นทางการ แต่กลับถูกทอดทิ้งอยู่ที่กอตอร์ เมื่อกำลังส่วนอื่นของกองเรือเคลื่อนพลไปที่ท่าเรือชิเบนีก ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของแดลเมเชียก่อนการบุกครอง ตามแผนการโจมตีซาราของอิตาลี ทางตอนเหนือของแดลเมเชีย[33] ไม่นานหลังจากการยอมจำนนของยูโกสลาเวีย ที1 ถูกราชนาวีอิตาลียึดและใช้เรือต่อไปภายใต้ชื่อเดิมของยูโกสลาเวีย โดย ที1 มีหน้าที่ลาดตระเวนคุ้มกันชายฝั่งในเอเดรียติก มีการเปลี่ยนปืนของเรือเป็นปืนต่อต้านอากาศยาน 76 มิลลิเมตร (3.0 นิ้ว) แอล/40 สองกระบอก[34] และสะพานเดินเรือถูกปิด[3] ตัวเรือยังถูกทาสีลายพรางที่ทำให้ลายตา[35] เรือได้รับการจัดสรรให้กับมารีดัลมาเซีย กองบัญชาการทหารทางทะเลประจำแดลเมเชีย (อิตาลี: Comando militare maritime della Dalmatia) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ตั้งแต่เกาะเปรมูดาในเอเดรียติกเหนือถึงท่าเรือบาร์ในเขตผู้ว่าการมอนเตเนโกรของอิตาลี[36] เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2486 ขณะที่ ที1 กำลังปฏิบัติการคุ้มกันเรือกลไฟ กัสซาลา ใกล้แหลมเมนเดอร์ส (ปัจจุบันคือแหลมเมนดรา ใกล้เมืองอูลตซิญ ประเทศมอนเตเนโกร ซึ่งตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแอลเบเนียในอารักขาของอิตาลี) ได้ถูกโจมตีโดยเรือดำน้ำ ไทกริส ของอังกฤษ โดย ไทกริส ยิงตอร์ปิโดสี่ลูกแต่พลาดเปเาหมายทั้งสองลำ[37]

    หลังอิตาลียอมจำนนเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2486 ที1 ได้รับภารกิจคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน Annarella และเรือบรรทุกสินค้า Milano ร่วมกับเรือพิฆาตชั้นโรโซลีโน ปีโล Giuseppe Cesare Abba กองทหารเยอรมันบนเรือ Milano ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง แต่อิตาลีเริ่มถอนกำลังออกจากอ่าวกอตอร์ในตอนเย็นของวันที่ 10 กันยายน และในวันรุ่งขึ้น เรือหลายลำถูกเคลื่อนย้ายไปยังท่าเรือของฝ่ายสัมพันธมิตรในอิตาลีหรือมอลตา รวมถึง ที1, Giuseppe Cesare Abba, เอ็มอี47 และเรือกวาดทุ่นระเบิดบางลำที่บรรทุกลูกเรืออิตาลีประมาณ 400 นาย[28][38] เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ที1 ได้รับการส่งคืนให้กับราชนาวียูโกสลาเวียพลัดถิ่นในมอลตา[28][39][c] ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ที1 ถูกโอนย้ายการดูแลไปยังรัฐบาลสหพันธ์ประชาธิปไตยยูโกสลาเวียใหม่ เช่นเดียวกับเรือของราชนาวีพลัดถิ่นที่เหลือ[42]

    เรือได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น กอเลชนิตซา โดยกองทัพเรือยูโกสลาเวีย (เซอร์เบีย-โครเอเชีย: Jugoslavenska Ratna Mornarica, JRM; Југословенска Pатна Mорнарица) และเข้าประจำการในฐานะ stražarski brod (เรือคุ้มกัน) ด้วยสมญานาม เอ็สบีอาร์ 91 ต่อมาเรือได้รับการจัดประเภทใหม่เป็น patrolni brod (เรือลาดตระเวน) ด้วยสมญานาม พีบีอาร์ 91 มีการปรับแต่งเรือใหม่หลังสงครามยุติลง ทั้งการเปลี่ยนปืนของเรือเป็นปืน Bofors 40 มิลลิเมตร (1.6 นิ้ว) แอล/60 สองกระบอกบนแท่นเดี่ยว เป็นปืน Flakvierling 38 20 มิลลิเมตร (0.79 นิ้ว) บนแท่นสี่ส่วนและแท่นคู่อย่างละหนึ่งกระบอก และท่อยิงตอร์ปิโดหนึ่งชุดถูกเอาออก เรือได้รับการติดตั้งชั้นเก็บระเบิดน้ำลึกสองชั้น ระหว่างประจำในกองทัพเรือยูโกสลาเวีย เรือสามารถทำความเร็วสูงสุด 22 kn (41 km/h; 25 mph) ทำให้มีพิสัย 980 nmi (1,810 km; 1,130 mi) ที่ความเร็ว 12 kn (22 km/h; 14 mph) และสามารถบรรจุลูกเรือได้ 52 นาย กอเลชนิตซา เข้าประจำการในกองเรือที่ 6 สังกัดกองทัพเรือยูโกสลาเวีย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยเรือพิฆาตคุ้มกัน และยังได้รับการใช้งานในการฝึกด้วย จนกระทั่งเรือเริ่มเสียหายใน พ.ศ. 2498[43] หลังปลดประจำการและอาวุธ เรือถูกใช้เป็นเรือเป้าหมายและจมลงที่อ่าวชันยิตซา ใกล้กับปากอ่าวกอตอร์ด้านตะวันตก ซึ่งในปัจจุบันสถานที่นี้กลายเป็นแหล่งดำน้ำเพื่อสันทนาการ[28][44] ส่วนชุดท่อยิงตอร์ปิโดของเรือถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เทคนิคนิโคลา เทสลา ณ กรุงซาเกร็บ ประเทศโครเอเชีย[45]

    หมายเหตุ[แก้]

    1. แอล/30 หมายถึงความยาวของปืน ในกรณีนี้ปืนแอล/30 เท่ากับปืนขนาด 30 คาลิเบอร์ ซึ่งหมายความว่าปืนยาว 30 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของปากกระบอกปืน[8]
    2. ไม่มีเวลาที่แน่นอนเมื่อมีการโจมตีเกิดขึ้นโดย Seiche ระบุว่าเวลาคือ 03:15 นาฬิกา เมื่อเรือแซ็นต์ อิชต์วาน ถูกโจมตี[20] ขณะที่ Sokol ระบุว่าเป็นเวลา 03:30 นาฬิกา[19]
    3. มีแหล่งข้อมูลหนึ่งระบุว่าเรือถูกยึดโดยเยอรมนีและได้รับการส่งมอบให้กับกองทัพเรือของรัฐเอกราชโครเอเชียซึ่งเป็นรัฐหุ่นเชิด[1] แต่นอกเหนือจากข้อมูลของ Freivogel และ Rastelli แล้ว แหล่งอื่น ๆ ระบุว่าเรือได้รับการส่งมอบให้กับราชนาวียูโกสลาเวียในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2486[34][40][41]

    เชิงอรรถ[แก้]

    1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 Gardiner 1985, p. 339.
    2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Greger 1976, p. 58.
    3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Freivogel 2020, p. 102.
    4. Freivogel 2020, p. 106.
    5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Freivogel 2020, p. 103.
    6. 6.0 6.1 6.2 Freivogel 2020, pp. 102–103.
    7. 7.0 7.1 O'Hara, Worth & Dickson 2013, pp. 26–27.
    8. Friedman 2011, p. 294.
    9. Greger 1976, pp. 11–12.
    10. Freivogel 2019, p. 68.
    11. Freivogel 2019, p. 69.
    12. Cernuschi & O'Hara 2015, p. 171.
    13. Cernuschi & O'Hara 2015, p. 168.
    14. Freivogel 2019, p. 186.
    15. Halpern 2012, p. 229.
    16. Freivogel 2019, p. 221.
    17. Freivogel 2019, p. 320.
    18. Sokol 1968, pp. 133–134.
    19. 19.0 19.1 Sokol 1968, p. 134.
    20. 20.0 20.1 Sieche 1991, pp. 127, 131.
    21. Sokol 1968, p. 135.
    22. Freivogel 2019, p. 380.
    23. Cernuschi & O'Hara 2015, p. 37.
    24. 24.0 24.1 Vego 1982, p. 345.
    25. Djukanović 2023, p. 11.
    26. 26.0 26.1 Freivogel 2020, p. 12.
    27. Chesneau 1980, p. 355.
    28. 28.0 28.1 28.2 28.3 28.4 Freivogel 2020, p. 104.
    29. Jarman 1997a, p. 733.
    30. Jarman 1997b, p. 183.
    31. Jarman 1997b, p. 451.
    32. Niehorster 2013.
    33. Freivogel & Rastelli 2015, p. 93.
    34. 34.0 34.1 Brescia 2012, p. 151.
    35. Freivogel & Rastelli 2015, p. 135.
    36. Freivogel & Rastelli 2015, pp. 126 & 130.
    37. Freivogel & Rastelli 2015, p. 142.
    38. Freivogel & Rastelli 2015, pp. 171–172.
    39. Freivogel & Rastelli 2015, p. 103.
    40. Chesneau 1980, p. 357.
    41. Whitley 1988, p. 186.
    42. Freivogel 2021, p. 14.
    43. Freivogel 2021, pp. 107–108.
    44. Freivogel 2021, p. 108.
    45. Freivogel 2021, p. 107.

    อ้างอิง[แก้]

    • Brescia, Maurizio (2012). Mussolini's Navy. บรานซ์ลี, เซาท์ยอร์กเชอร์: Seaforth Publishing. ISBN 978-1-59114-544-8.
    • Cernuschi, Enrico & O'Hara, Vincent P. (2015). "The Naval War in the Adriatic Part I: 1914–1916". ใน Jordan, John (บ.ก.). Warship 2015. ลอนดอน: Bloomsbury. pp. 161–173. ISBN 978-1-84486-295-5.
    • Chesneau, Roger, บ.ก. (1980). Conway's All the World's Fighting Ships 1922–1946. ลอนดอน: Conway Maritime Press. ISBN 978-0-85177-146-5.
    • Djukanović, Bojka (2023). Historical Dictionary of Montenegro. แลนแฮม, แมริแลนด์: Rowman & Littlefield Publishers. ISBN 978-1-5381-3915-8.
    • Freivogel, Zvonimir & Rastelli, Achille (2015). Adriatic Naval War 1940-1945. ซาเกร็บ, โครเอเชีย: Despot Infinitus. ISBN 978-953-7892-44-9.
    • Freivogel, Zvonimir (2019). The Great War in the Adriatic Sea 1914–1918. ซาเกร็บ, โครเอเชีย: Despot Infinitus. ISBN 978-953-8218-40-8.
    • Freivogel, Zvonimir (2020). Warships of the Royal Yugoslav Navy 1918-1945. ซาเกร็บ, โครเอเชีย: Despot Infinitus. ISBN 978-953-8218-72-9.
    • Freivogel, Zvonimir (2021). Warships of the Royal Yugoslav Navy 1945-1991. ซาเกร็บ, โครเอเชีย: Despot Infinitus. ISBN 978-953-366-006-6.
    • Freivogel, Zvonimir (2022). Austro-Hungarian Torpedo-Boats in World War One. ซาเกร็บ, โครเอเชีย: Despot Infinitus. ISBN 978-953-366-036-9.{{cite book}}: CS1 maint: ignored ISBN errors (ลิงก์)
    • Friedman, Norman (2011). Naval Weapons of World War One. แอนแนโพลิส, แมริแลนด์: Naval Institute Press. ISBN 978-1-84832-100-7.
    • Gardiner, Robert, บ.ก. (1985). Conway's All the World's Fighting Ships 1906–1921. ลอนดอน: Conway Maritime Press. ISBN 978-0-85177-245-5.
    • Greger, René (1976). Austro-Hungarian Warships of World War I. ลอนดอน: Allan. ISBN 978-0-7110-0623-2.
    • Halpern, Paul G. (2012). A Naval History of World War I. แอนแนโพลิส, แมริแลนด์: Naval Institute Press. ISBN 978-0-87021-266-6.
    • Jarman, Robert L., บ.ก. (1997a). Yugoslavia Political Diaries 1918–1965. Vol. 1. สเลา, บาร์กเชอร์: Archives Edition. ISBN 978-1-85207-950-5.
    • Jarman, Robert L., บ.ก. (1997b). Yugoslavia Political Diaries 1918–1965. Vol. 2. สเลา, บาร์กเชอร์: Archives Edition. ISBN 978-1-85207-950-5.
    • Niehorster, Leo (2013). "Balkan Operations Order of Battle Royal Yugoslavian Navy Coastal Defense Command 6th April 1941". Leo Niehorster. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2015.
    • O'Hara, Vincent; Worth, Richard; Dickson, W. (2013). To Crown the Waves: The Great Navies of the First World War. แอนแนโพลิส, แมริแลนด์: Naval Institute Press. ISBN 978-1-61251-269-3.
    • Sieche, Erwin F. (1991). "S.M.S. Szent István: Hungaria's Only and Ill-Fated Dreadnought". Warship International. แทลีโด, โอไฮโอ: International Warship Research Organization. XXVII (2): 112–146. ISSN 0043-0374.
    • Sokol, Anthony Eugene (1968). The Imperial and Royal Austro-Hungarian Navy. แอนแนโพลิส, แมริแลนด์: U.S. Naval Institute. OCLC 1912.
    • Vego, Milan (1982). "The Yugoslav Navy 1918–1941". Warship International. แทลีโด, โอไฮโอ: International Naval Research Organisation. XIX (4): 342–361. ISSN 0043-0374.
    • Whitley, M. J. (1988). Destroyers of World War Two: An International Encyclopedia. แอนแนโพลิส, แมริแลนด์: Naval Institute Press. ISBN 978-0-87021-326-7.