เรือพี่น้อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาร์เอ็มเอส โอลิมปิก และเรือแฝดลำน้องสาว อาร์เอ็มเอส ไททานิก ที่เบลฟาสต์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1912

เรือพี่น้อง หรือ เรือแฝด (อังกฤษ: sister ship) คือเรือในชั้นเดียวกันหรือมีการออกแบบที่เหมือนกันกับเรืออีกลำหนึ่ง ซึ่งจะมีรูปแบบตัวเรือและโครงสร้างส่วนบนเกือบเหมือนกัน ขนาดใกล้เคียงกัน และมีคุณลักษณะและอุปกรณ์ใกล้เคียงกันโดยประมาณ และมักจะใช้รูปแบบการตั้งชื่อร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อตามสิ่งของหรือบุคคลประเภทเดียวกัน เช่น สถานที่ กลุ่มดาว ประมุขของรัฐ หรือด้วยการสัมผัสอักษรบางอย่าง โดยทั่วไปแล้ว ชั้นเรือจะถูกตั้งชื่อตามเรือลำแรกของชั้นนั้น บ่อยครั้ง เรือแฝดจะมีความแตกต่างกันมากขึ้นในระหว่างการประจำการ เนื่องจากอุปกรณ์ (ในกรณีของเรือเดินทะเลคือ อาวุธยุทโธปกรณ์) จะถูกปรับเปลี่ยนแยกกัน

ตัวอย่างเช่น เรือรบของสหรัฐฯ: ยูเอสเอส ไอโอวา (USS Iowa), ยูเอสเอส นิวเจอร์ซีย์ (USS New Jersey), ยูเอสเอส มิสซูรี (USS Missouri) และยูเอสเอส วิสคอนซิน (USS Wisconsin) เป็นเรือแฝดกัน แต่ละลำอยู่ในชั้นเรือประจัญบานชั้นไอโอวา

เรือแฝดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ เรือเดินสมุทรชั้นโอลิมปิก ของบริษัทไวต์สตาร์ไลน์ (White Star Line) ซึ่งประกอบด้วยเรืออาร์เอ็มเอส โอลิมปิก (RMS Olympic), อาร์เอ็มเอส ไททานิก (RMS Titanic) และ เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก (HMHS Britannic) เช่นเดียวกับเรือเดินสมุทรลำอื่นๆ เรือแฝดจะทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมวิ่ง เรือแฝดลำอื่นๆ เช่น เอ็มเอส เอ็กซ์ปลอเรอร์ออฟเดอะซีส์ (MS Explorer of the Seas) และเอ็มเอส แอดเวนเจอร์ออฟเดอะซีส์ (MS Adventure of the Seas) ของบริษัทรอยัลแคริบเบียนอินเตอร์เนชันแนล (Royal Caribbean International)

เรือกึ่งแฝด (อังกฤษ: Half-sister ship) หมายถึงเรือในชั้นเดียวกัน แต่มีความแตกต่างที่สำคัญบางประการ ตัวอย่างเช่นเรือลาดตระเวนประจัญบานชั้นเคอเรจัส (Courageous-class battlecruisers) ของอังกฤษ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยที่เรือสองลำแรกติดตั้งปืนขนาด 15 นิ้ว (381 มม.) แต่ลำสุดท้ายคือเอชเอ็มเอส ฟิวเรียส (HMS Furious) ติดตั้งปืนขนาด 18 นิ้ว (457 มม.) แทน ทั้งสามลำถูกดัดแปลงเป็นเรือบรรทุกอากาศยาน โดยฟิวเรียส แตกต่างจากเรือพี่น้องลำอื่น คือมีหอบังคับการที่เล็กกว่ามาก อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรือบรรทุกอากาศยานชั้นเอสเซ็กซ์ (Essex-class aircraft carriers)ของสหรัฐฯ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีทั้ง"ลำเรือยาว" และ "ลำเรือสั้น"

ส่วนในเรือเหาะ เช่น ยูเอสเอส แอครอน (USS Akron) และยูเอสเอส มาคอน (USS Macon) ของสหรัฐฯ และเรือเหาะชั้นฮินเดินบวร์ค คือ เอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดินบวร์ค (LZ 129 Hindenburg) และเอลเซท 130 กรัฟ เซพเพลิน 2 (LZ 130 Graf Zeppelin II) ของเยอรมัน

ความแตกต่างทางการค้าที่ยอมรับโดยทั่วไปของเรือแฝด มีดังต่อไปนี้:

  • ประเภท: ประเภทเรือที่เหมือนกัน (เทกอง, บรรทุกสินค้าเหลว, โรโร, ฯลฯ)
  • น้ำหนักขณะไม่ได้บรรทุก (Dry Weight Tonnage; DWT): ± 10% (หากเรือมีขนาด 100,000 DWT, น้ำหนักจะอยู่ที่ 90,000–110,000 DWT)
  • ผู้สร้าง: บริษัทต่อเรือเดียวกัน (ไม่ใช่ที่ตั้งอู่ต่อเรือหรือประเทศที่สร้าง)

เกณฑ์ที่สำคัญคือมีการออกแบบตัวเรือที่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น

องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization; IMO) ได้กำหนดขอบเขตของเรือแฝด ในปี 2006 ว่า:

  • เรือพี่น้อง หรือเรือแฝด คือเรือที่สร้างขึ้นในอู่เรือเดียวกันจากแบบแปลนเดียวกัน
  • ค่าความต่างของน้ำหนักเรือที่ยอมรับได้ ควรอยู่ระหว่าง 1–2% ของน้ำหนักเรือลำดับแรกของชั้นเรือนั้นๆ ขึ้นอยู่กับความยาวของเรือ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]