ข้ามไปเนื้อหา

อาหารจากเส้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อาหารจากเส้น เป็นประเภทของอาหารที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ เช่นใน เอเชียตะวันออก และ อุษาคเนย์ รวมไปถึงบางส่วนของยุโรป โดยมีความหลากหลายต่างไปตามแต่ละประเทศ ทั้งด้านวัตถุดิบที่ใช้, ขนาดและรูปร่างของเส้น และ วิธีการประกอบอาหาร เป็นต้น

อาหารจากเส้นที่พบได้ทั่วไปที่สุดในประเทศไทยคือ ก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นอาหารประเภทเส้นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า และมีสีขาว แต่หลายคนใช้คำว่าก๋วยเตี๋ยวในการเรียกรวมอาหารจากเส้นทั้งหมดไปด้วยแม้จะทำจากวัตถุดิบอื่นก็ตาม อย่างไรก็ตาม นอกจากก๋วยเตี๋ยวแล้วยังมีอาหารจากเส้นซึ่งทำโดยวัตถุดิบอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น ราเม็ง หรือ อูดง ซึ่งทำจากแป้งสาลี, พาสตา ซึ่งทำจากแป้งข้าวสาลีดูรัม และ โซบะ ซึ่งทำจากแป้งบักวีต เป็นต้น

อาหารจากเส้นแบ่งตามวัตถุดิบทำเส้น

[แก้]

อาหารประเภทเส้นสามารถทำขึ้นได้จากวัตถุดิบต่างกันออกไปหลากหลาย แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วอาจแบ่งตามวัตถุดิบได้ดังนี้[1][2]

ชื่อเรียก วัตถุดิบ
ราเม็ง แป้งสาลี น้ำอัลคาไล
ยากิโซบะ
จัมปง
โซเม็ง เกลือ
ฮิยามุงิ
อูดง
คิชิเม็ง
โฮโต
พาสตา แป้งข้าวสาลีดูรัม เกลือ
โซบะ แป้งบักวีต (อาจผสมแป้งสาลี)
วุ้นเส้น แป้งถั่วเขียว
ก๋วยเตี๋ยว แป้งข้าวเจ้า
ชิราตากิ คนเนียกุ
โทโกโรเต็ง สาหร่ายสีแดง
เกียวดง เนื้อปลาบด

โซเม็ง, อูดง, ฮิยามุงิ และ คิชิเม็ง มีวัตถุดิบเหมือนกันคือแป้งสาลีผสมเกลือ แต่ต่างกันที่ขนาด กำหนดโดยมาตรฐานกสิกรรมญี่ปุ่น (日本農林規格, JAS) ดังนี้[1][3]

ชื่อเรียก ขนาด (มม.)
โซเม็ง ไม่เกิน 1.3
ฮิยามุงิ 1.3 - 1.7
อูดง 1.7 ขึ้นไป
คิชิเม็ง กว้าง 4.5 หนา 2.0

อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้เป็นแค่ค่าโดยประมาณและอาจมีข้อยกเว้นได้

อาหารจากเส้นของชาติต่าง ๆ

[แก้]

อาหารประเภทเส้นนอกจากก๋วยเตี๋ยวในอาหารไทยแล้ว ยังพบในอาหารของชาติอื่นอีก ดังนี้[4]

  • จีน ส่วนใหญ่เป็นบะหมี่น้ำ, บะหมี่แห้ง มีหลายรูปแบบและหลายรสชาติตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ
  • ญี่ปุ่น อาหารประเภทเส้นของญี่ปุ่นมีหลายแบบ ได้แก่ โซบะ ลักษณะของเส้นใหญ่กว่าเส้นบะหมี่ธรรมดา ทำจากบักวีตผสมแป้งสาลี, ราเม็ง ทำจากแป้งสาลีผสมไข่ นิยมทำเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ มีหลายแบบตามเครื่องที่ราดบนหน้า, อุด้ง ทำจากแป้งสาลีผสมเกลือและน้ำ ไม่ใส่ไข่
  • เกาหลี มีเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น เส้นแนงเมียน ทำจากบักวีตผสมแป้งมันฝรั่ง ดาวเมียน ทำจากแป้งมันเทศ เป็นต้น
  • เวียดนาม เรียกเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าว่า เฝอ ส่วนเส้นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าหมักเคลือบด้วยแป้งมันสำปะหลังเรียก จ๋าว คนไทยเรียกจ๋าวว่าก๋วยจั๊บญวน
  • ลาว พบทางชายแดนที่ติดกับจีน ซึ่งชาวไทลื้อและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ มีข้าวซอยแบบเดียวกับชาวไทใหญ่และชาวไทลื้อในจีน
  • พม่า มีอาหารเส้นที่คล้ายข้าวซอยของทางภาคเหนือของไทย เรียกเข้าโซย ได้รับอิทธิพลจากชาวไทใหญ่
  • ชาวมลายูในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีอาหารเส้นเรียกละก์ซา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก lakhsha ในภาษาเปอร์เซีย ละก์ซาในแต่ละถิ่นจะต่างกันไป เช่น ละก์ซาในรัฐกลันตันคล้ายขนมจีนน้ำยาของไทย ส่วนละก์ซาปีนังใช้เส้นหมี่ขาว ละก์ซาเลอมักใช้เส้นที่คล้ายจ๋าวของเวียดนาม เป็นต้น
  • ฟิลิปปินส์ เรียกอาหารเส้นว่าปันสิด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคนจีนที่เข้ามาค้าขายในฟิลิปปินส์ คำว่าปันสิด มาจาก pan it sit ในภาษาจีนฮกเกี้ยน
  • อิตาลี อาหารเส้นที่มีชื่อเสียงคือพาสตา อาจจะมาจากขนมปังสมัยกรีก-โรมันหรือจาก lakhsha ของชาวอาหรับ พาสตาของอิตาลีมีหลายแบบ แบบหนึ่งที่เป็นที่รู้จักทั่วไปคือ มะกะโรนี

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 あの麺は何でできている?麺類、原材料の違い!!がすぐ分かる
  2. 麺類の種類一覧!意外と知らない麺の基本をまとめて紹介
  3. 「そうめん」と「ひやむぎ」の違いは太さだけ? 製法や歴史・カロリーを調査!
  4. ศิริลักษณ์ รอตยันต์, บ.ก. (มิถุนายน 2007). noodle varieties อาหารเส้นนานาชาติ. กรุงเทพฯ: แสงแดด. ISBN 978-974-9665-82-4.