หวง เย่อหัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หวง ยื่อหัว)
หวง เย่อหัว
หวงเย่อหัว กับ การแข่งขันกีฬาฟุตบอล
หวงเย่อหัว กับ การแข่งขันกีฬาฟุตบอล
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด4 กันยายน พ.ศ. 2504 (62 ปี)
ส่วนสูง179 ซม.
คู่สมรสเหลียง เจียหัว (พ.ศ. 2531-2563)
คู่ครองกง ฉือเอิน (พ.ศ. 2528–2529)
บุตรหวงจื่อฉิง (Adrian Wong)
อาชีพนักแสดง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2523-ปัจจุบัน
ผลงานเด่น-บทหลี่ถัง ใน เหยี่ยวถลาลม (พ.ศ. 2524)
-บทซีจุ๊ ใน แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (พ.ศ. 2525)
-บทก๊วยเจ๋ง ใน มังกรหยก ภาค1 ฉบับปีพ.ศ. 2526
-บทหลี่มี่ ใน ศึกลำน้ำเลือด (พ ศ.2530)
-บทติงโหย่วเจี้ยน ใน คู่แค้นสายโลหิต (พ.ศ. 2532)
-บทหลี่ต้าโหย่ว ใน เจ้าพ่อสนามม้า (พ.ศ. 2536)
-บทเฉียวฟง ใน แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (พ.ศ. 2540)
ฐานข้อมูล
IMDb

หวงเย่อหัว (จีนตัวย่อ: 黄日华; จีนตัวเต็ม: 黃日華; พินอิน: Huáng Rìhuá:หฺวัง รื่อหฺวา; กวางตุ้ง:หว่อง หยัดหว่า; เกิด 4 กันยายน พ.ศ. 2504) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า เฟลิกซ์ หว่อง (Felix Wong) เป็นนักแสดงชายยอดนิยมชาวฮ่องกง ที่อดีตเคยมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากทั่วเอเชียในช่วงต้นยุคทศวรรษที่ 80-ปลายยุคทศวรรษที่ 90 และมีผลงานละครชุดที่ได้รับความนิยมทั่วเอเชียมากมาย เช่น มังกรหยก ภาค1 1983, เทพบุตรสลัม, เหยี่ยวถลาลม, คู่แค้นสายโลหิต และ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า เวอร์ชั่น 1982 และ 1997 ฯลฯ ซึ่งผลงานละครของเขาเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในแง่ของเรตติ้ง และทำให้เขากลายเป็นพระเอกจอแก้วเบอร์หนึ่งของทางช่องสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ต่อจากโจวเหวินฟะ

หวงเย่อหัว แรกเริ่มใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติแต่หลังจบชั้นมัธยมปลายแล้วเขาได้ตัดสินใจไปสมัครคัดเลือกเป็นนักแสดงกับทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบีในรุ่นที่ 9 เมื่อปีพ.ศ. 2523 (1980) ในขณะที่ยังเรียนการแสดงกับทางช่องอยู่ก็ได้มีโอกาสแสดงเป็นตัวประกอบในละครดัง ๆ หลายเรื่อง หลังจากเรียนจบในปีถัดมาก็ได้เริ่มอาชีพนักแสดงอย่างเต็มตัวและได้รับการผลักดันส่งเสริมจากทางช่องให้เป็นหนึ่งในกลุ่มดาวรุ่งชายมาแรง 5 พยัคฆ์ทีวีบี ประกอบไปด้วย หวง เย่อหัว, เหมียวเฉียวเหว่ย, ทัง เจิ้นเยี่ย, หลิวเต๋อหัว และ เหลียงเฉาเหว่ย ซึ่งทั้งห้าคนต่างก็มีผลงานละครที่โด่งดังตามแนวทางของแต่ละคน และหวงเย่อหัว ถือได้ว่าเป็นนักแสดงชายที่ประสบความสำเร็จทางด้านเรตติ้งกับงานละครมากกว่าคนอื่นในกลุ่มห้าพยัคฆ์

บทบาทการแสดงของเขาที่ดัง ๆ ในผลงานละครที่มีเรตติ้งสูง ๆ มีหลายเรื่องได้แก่ หลี่ถัง ใน เหยี่ยวถลาลม (พ.ศ. 2524), ซีจุ๊ ในละครเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้า (ฉบับปีพ.ศ. 2525), ก๊วยเจ๋ง ในละคร มังกรหยก ภาค1 ฉบับปีพ.ศ. 2526, หลี่มี่ ตัวร้ายใน ศึกลำน้ำเลือด (พ.ศ. 2530), ติงโหย่วเจี้ยน ในละครสากลยอดนิยมตลอดกาลเรื่อง คู่แค้นสายโลหิต (พ.ศ. 2532), หลี่ต้าโหย่ว ใน เจ้าพ่อสนามม้า (พ.ศ. 2536) และ เฉียวฟงในละครเรื่อง แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (ฉบับปีพ.ศ. 2540) โดยเฉพาะบทบาท ก๊วยเจ๋ง ที่เขาแสดง ได้รับคำชื่นชมจากคนดูละครในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นบทบาทที่คนดูประทับใจและประสบความสำเร็จมากที่สุดในชีวิตการแสดงของเขา

หลังจากปีพ.ศ. 2540 ความนิยมในตัว หวงเย่อหัว ลดลงไปพร้อม ๆ กับหมดยุคทองของละครซีรีส์ฮ่องกง ผลงานละครในยุคหลัง ๆ ของเขาไม่ประสบความสำเร็จเหมือนในอดีต แต่ผลงานที่พอจะเป็นที่รู้จักในระยะหลังของ หวง เย่อหัว กลับเป็นบทบาทในภาพยนตร์ได้แก่ นางสาวกำไก่ (Golden Chicken 2002) ในปี พ.ศ. 2545, คนอยากหญ่าย โตยกกำลัง 10 (Wait 'til You're Older 2005) ในปีพ.ศ. 2548 และภาพยนตร์จากโปรเจกต์ของ "หลิวเต๋อหัว" ที่เขาสามารถดึงเอา 4นักแสดงในกลุ่มห้าพยัคฆ์ทีวีบีกลับมาร่วมแสดงกันได้อีกครั้ง ในเรื่อง เกิดมาโหดตามพินัยกรรม 2 (Brothers 2007) ในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้ามาถ่ายทำหลายฉากในประเทศไทย นอกจากงานแสดงแล้วเขายังเป็นสมาชิกของทีมฟุตบอลรวมดาราฮ่องกงพรีเมียร์ลีกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 (1986) และในอดีตช่วงละครฮ่องกงโด่งดังในไทยเคยเข้ามาฟาดแข้งกระชับมิตร กับทีมฟุตบอลดาราออลสตาร์ในงานครบรอบวันเกิดของช่อง 3 หลายครั้งอีกด้วย

ชีวิตส่วนตัว หวงเย่อหัวสมรสแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2531 กับเหลียง เจียหัว (เสียชีวิตเมื่อปีพ.ศ. 2563) ซึ่งก็เป็นอดีตนักแสดงสมทบหญิงของสถานีโทรทัศน์ทีวีบีด้วยเช่นกันและมีบุตรสาวด้วยกันหนึ่งคน คือ หวงจื่อฉิง (Adrian Wong) ซึ่งปัจจุบันเธอได้เป็นนักแสดงคนหนึ่งในวงการบันเทิงฮ่องกงตามรอยพ่อและแม่เช่นกัน

ประวัติ[แก้]

ชีวิตแรกเริ่มและก้าวแรกในวงการบันเทิง (พ.ศ. 2504-2525)[แก้]

พ่อและแม่ของหวงเย่อหัวดั้งเดิมเป็นชาวจีน ที่อาศัยอยู่ที่เมืองฮุ่ยโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ต่อมาได้อพยพมาตั้งรกรากที่ฮ่องกง และได้กำเนิดบุตรชายชื่อว่า หวงเย่อหัว เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2504

หวงเย่อหัว เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง มีบิดาชื่อว่า "หวงกุ้ย" โดยมีเขาเป็นบุตรคนที่สามซึ่งเป็นบุตรคนเล็กของครอบครัว และมีพี่สาวอีกสองคน ในวัยเด็กเขาได้รับอิทธิพลจากคุณพ่อของเขาที่ชอบดูฟุตบอลมาก ส่งผลให้ในช่วงวัยรุ่น หวงเย่อหัวชอบและสนใจในกีฬาฟุตบอล เป็นอย่างมากถึงขนาดใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะได้มีโอกาสเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพและติดทีมชาติ โดยที่เขามีทีมฟุตบอลที่เป็นทีมโปรด คือ "ทีมหนันหัว" ต่อมาในราวปลายปีพ.ศ. 2522 หลังจากที่เขาเพิ่งเรียนจบในระดับชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียน เซนต์โบนาเวนเทอร์คอลเลจ แอนด์ ไฮสคูล (St. Bonaventure College & High School) ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมที่อยู่ในเครือคริสตจักรคาทอลิกแห่งขหนึ่งในฮ่องกงแล้ว จากเดิมที่เคยวาดฝันอยากจะเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพ แต่แล้วเขาได้ตัดสินใจไปสมัครคัดเลือกเป็นนักเรียนการแสดงของทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ในรุ่นที่ 9 ด้วยบุคลิกที่โดดเด่นทั้งหน้าตาและส่วนสูงทำให้เขาสามารถผ่านการคัดเลือกและเข้าอบรมเป็นนักแสดงกับทางค่าย ซึ่งในรุ่นนั้นมี เหมียวเฉียวเหว่ย เป็นนักเรียนการแสดงร่วมรุ่นที่ต่อมาทั้งคู่สนิทกันมากจนกลายเป็นเพื่อนซี้มาถึงปัจจุบัน[1][2][3][4][5]

หวงเย่อหัว ต้องใช้เวลาเรียนการแสดงกับทางช่องเป็นระยะเวลา 1 ปีและในช่วงที่เขากำลังเรียนการแสดงอยู่นั้นทางช่องก็ลองให้เขาประเดิมรับบทตัวประกอบในละครแนวสยองขวัญ เรื่อง ตำนานพิศวง ปี4 (Mystery Beyond Season 4) นับได้ว่าเป็นละครเรื่องแรกในชีวิตการแสดงของเขาและในปีเดียวกันเขาก็ได้แสดงเป็นตัวประกอบในละครดัง ๆ อีกหลายเรื่อง ได้แก่ ละครกึ่งสากลสุดฮิตเรื่อง เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ภาค1 และภาค3 (The Bund & The Bund III), คมเฉือนคม ภาค 1 (The Shell Game) เป็นต้น ในปีถัดมาพ.ศ. 2524 (1981) หวงเย่อหัวได้เรียนจบการอบรมและเริ่มอาชีพนักแสดงอย่างเต็มตัวทันที จากเดิมที่ทางช่องให้เขารับบทเป็นแค่ตัวประกอบก็ได้ขยับมาเป็นตัวละครสมทบในละครเรื่อง ไอ้หนุ่มเฮงระเบิด (The Misadventure of Zoo) จากผลงานการแสดงในรื่องนี้ทำให้เขาถูกจับตามองในฐานะดาวรุ่งมาแรงคนหนึ่ง และในปีเดียวกันเขาได้ถูกคัดเลือกจากฝ่ายผลิตละครโทรทัศน์ของค่ายทีวีบี ให้รับบทนำเป็นพระเอกครั้งแรกกับบท หลี่ถัง ในละครเรื่อง เหยี่ยวถลาลม (The Lonely Hunter) คู่กับ ดาราสาวรุ่นพี่ชื่อดังในขณะนั้นอย่าง เจิ้งอวี้หลิง ซึ่งถือได้ว่าเขาใช้เวลาในการไต่เต้าจากตัวประกอบจนมาได้รับบทเป็นพระเอกในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยในเรื่องเขาได้เล่นกับเพื่อนนักแสดงชายร่วมรุ่นสุดซี้ อย่าง เหมียวเฉียวเหว่ยอีกด้วย หลังจากละครเรื่องนี้ได้ออนแอร์ออกอากาศ ทั้งหวงเย่อหัวและเหมียวเฉียวเหว่ย ต่างก็แจ้งเกิดทันที และละครเรื่อง "เหยี่ยวถลาลม" ก็ได้รับความนิยมทั้งในฮ่องกงและประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย ส่วนผลงานละครเด่นเรื่องอื่น ๆ ในปีเดียวกัน ได้แก่ รักในสายรุ่ง (Come Rain, Come Shine), สองเทพบุตรโลกันตร์ (Master Fat Shan-chan), รักข้ามรุ่น (Summer of 1981), วีรบุรุษเส้าหลิน (The Young Heroes of Shaolin)

หลังจากที่เขาได้แจ้งเกิดเต็มตัว กับบทหลี่ถัง ในละครเรื่อง เหยี่ยวถลาลม ทำให้ในปีถัดมา พ.ศ. 2525 ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบีผลักดันส่งเสริมเขาอย่างเต็มที่ โดยมอบงานละครให้เขาแสดงมากมายหลายเรื่องด้วยกัน เช่น 13 องค์รักษ์ล่าพระกาฬ (The Wild Bunch), เทพบุตรสลัม (Soldier of Fortune) ซึ่งทั้งสองเรื่องก็มีเรตติ้งดี ตามต่อด้วยผลงานกำลังภายในสุดฮิตแห่งปีเรื่อง 8 เทพอสูรมังกรฟ้า (Demi-Gods and Semi-Devils 1982) ในบทซีจุ๊ ต่างนำพาซึ่งความนิยมในตัวเขาเพิ่มเข้าไปอีก และในช่วงนี้เองที่ทางฝ่ายการผลิตของสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ได้คัดเลือกเขาให้รับบทนำเป็นก๊วยเจ๋ง คู่กับดาราสาวดาวรุ่งมาแรง องเหม่ยหลิง ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามารับบทนำเป็น อึ้งย้ง กับผลงานละครกำลังภายในฟอร์มใหญ่ที่กำลังจะสร้างเรื่อง มังกรหยก ภาค 1 (The Legend of the Condor Heroes 1983) ซึ่งเป็นวรรณกรรมสุดคลาสสิกของ กิมย้ง โดยจะมีการสร้างแบ่งแยกออกเป็น 3 ภาคย่อย และเมื่อมีการประกาศรายชื่อนักแสดงที่จะเข้ามาสวมบทบาทต่าง ๆ ให้ผู้คนได้รับทราบ ก็ได้สร้างความฮือฮาในตอนนั้น เป็นอย่างมาก

โด่งดังเป็นพลุแตกในละครมังกรหยกและมีปัญหาขัดแย้งกับบริษัททีวีบี (พ.ศ. 2526-2531)[แก้]

ปีพ.ศ. 2526 (1983) ผลงานละครกำลังภายในฟอร์มใหญ่เรื่อง มังกรหยก ได้ออนแอร์ลงสู่หน้าจอทีวี โดยมีเรตติ้งคนดูสูงสุดตลอดกาลอยู่ที่ 99% [6][7] ทำให้ทั้ง หวงเย่อหัว และดาราสาวน้องใหม่อย่าง องเหม่ยหลิง ดังเปรี้ยงปร้างสุดกู่ทันที

อีกทั้งเรตติ้งทั่วเอเชียสูงมากทำให้ละครเรื่องนี้ ได้รับรางวัล "หนึ่งในสิบละครทีวีบีที่มีเรตติ้งสูงที่สุดในโลก" (該劇是TVB全球收視率最高的十部劇集之一) โดยมียอดผู้ชมดูสดทั่วโลก มากกว่า 356 ล้านคน

พอใกล้สิ้นปีทาง สถานีโทรทัศน์ทีวีบี ได้ก่อตั้งกลุ่ม 5 พยัคฆ์ทีวีบี ขึ้นมาโดยมี 5 นักแสดงชายดาวรุ่งมาแรง 5 คนของทางค่าย ซึ่งประกอบด้วย เหมียวเฉียวเหว่ย, หลิวเต๋อหัว, ทัง เจิ้นเยี่ย, เหลียงเฉาเหว่ย และเขา

ต้นปีพ.ศ. 2527 (1984) ผลงานละครแนวราชวงศ์เรื่อง ยุทธจักรชิงจ้าวบัลลังค์ (The Foundation) ที่เขาได้มีโอกาสร่วมเล่นกับดาราสาวคู่ขวัญ องเหม่ยหลิง อีกครั้ง เมื่อลงสู่จอละครเรื่องนี้ก็ได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ทว่าในขณะที่เขาได้รับความนิยมอย่างสูงอยู่นั้น เมื่อถึงกลางปีเดียวกันก็เกิดปัญหาขึ้นมาเพราะเขาได้หมดสัญญากับทางค่ายทีวีบี และทางช่องก็ต้องการให้เขาต่อสัญญาระยะยาว 5 ปี แต่ว่าเขาได้ปฏิเสธและต่อสัญญาไปแค่ 3 ปี (1984-1987) จึงเป็นสาเหตุทำให้ทางค่ายไม่พอใจในตัวเขาเป็นอย่างมากถึงขนาดแช่แข็งโดยการลดบทบาทของเขาลงและหันไปผลักดันส่งเสริมนักแสดงชายดาวรุ่งมาแรงซึ่งอยู่ในกลุ่มทีม 5 พยัคฆ์อย่าง เหลียงเฉาเหว่ย แทนเพราะ เหลียงเฉาเหว่ยตกลงยอมเซ็นสัญญาระยะยาว 5 ปีกับทางบริษัททีวีบีเป็นคนแรก อีกทั้งทางช่องยังผลักดันส่งเสริมให้ดาราชาย เหมียวเฉียวเหว่ย ที่ขณะนั้นเพิ่งโด่งดังจากบท เอี้ยคังเข้าเล่นประกบกับดาราสาวชื่อดัง องเหม่ยหลิง แทนเขาในเรื่องต่อ ๆ มาแล้วให้ หวงเย่อหัว แสดงประกบกับดาราสาวคนอื่นที่ยังไม่ค่อยดังรวมถึงเหล่านักแสดงหญิงดาวรุ่งแทน และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผลงานละครในช่วงกลางปีพ.ศ. 2527-2529 ของ หวงเย่อหัวในหลายต่อหลายเรื่อง เรตติ้งความนิยมประสบความสำเร็จในระดับกลาง ๆ เท่านั้นเช่น เปากง กับมือปราบตี้ชิง (Pao Ching-tin: Law Enforcer), รักหนึ่งกิโลเมตร (Can Anybody Help), พยัคฆ์หนุ่มนักสืบ (Young Detective), สวนทางรัก (It Takes All Kinds), จอมยุทธเจ้าสำราญ (The Young Wanderer), เพ็กฮ่วยเกี่ยม แค้นกระบี่โค่นบัลลังค์ (Sword Stained with Royal Blood), รุ่นใหม่มาแรง (The Tough Fight), ศึกอภินิหารเหมาซาน (The Brothers Under the Skin), ซิติงซาน ขุนศึกตะวันออก (General Father, General Son) และ จอมโจรอาหนิว (The Ordeal Before the Revolution) มีแต่ผลงานละครเรื่อง ขุนศึกตระกูลหยาง (The Yang's Saga 1985) เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ได้รับความนิยมสูง แต่ทว่าละครเรื่องนี้กลับไม่ใช่ตัวเขาที่แสดงนำเป็นตัวเอกเพียงคนเดียวเพราะเป็นละครที่นำนักแสดงชายทั้งหมดในกลุ่ม 5 พยัคฆ์ทีวีบีมาแสดงร่วมกันเนื่องในโอกาสพิเศษครบรอบ 18 ปีของสถานีโทรทัศน์ทีวีบี จึงไม่นับว่าเป็นละครที่มีชื่อเสียงของหวงเย่อหัวโดยตรง เพราะบทบาทในเรื่องนี้ของทั้ง 4 พยัคฆ์ทีวีบี มีความโดดเด่นเท่า ๆ กัน ยกเว้นเพียงหนึ่งพยัคฆ์ในกลุ่ม คือดาราชาย ทังเจิ้นเยี่ย คนเดียวเท่านั้นที่บทบาทในเรื่องกลับไม่โดดเด่นเท่าพยัคฆ์คนอื่น ๆ สาเหตุเพราะเขาได้รับผลกระทบจากการเป็นต้นเหตุที่ทำให้แฟนสาวดาราชื่อดัง องเหม่ยหลิง ต้องเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนั่นเอง

ในปีพ.ศ. 2530 หวงเย่อหัว ต่อสัญญากับทีวีบีอีกสามปีคือ 1987-1990 และผลงานในปีพ.ศ. 2530 (1987) เริ่มด้วยละครแนวสากลยุคใหม่เรื่อง เฮงแน่...ชีวิตนี้ (The Upstart, the Self-Made Man) เมื่อออกฉายลงจอเรตติ้งกลาง ๆ แต่ในปีเดียวกันเขากลับมามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมากอีกครั้ง จากความสำเร็จในการแสดงเป็นตัวร้ายกับบท "หลี่มี่" ในผลงานละครฟอร์มใหญ่ประจำปีเรื่อง ศึกลำน้ำเลือด (The Grand Canal 1987) ซึ่งการแสดงของเขาในเรื่องนี้เป็นที่กล่าวขวัญจากผู้ชมละครอย่างมากในตอนนั้นเพราะเป็นการพลิกคาแร็กเตอร์จากพระเอกมารับแสดงตัวร้ายเป็นครั้งแรกและเขาก็สามารถแสดงบทตัวโกงนี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมจนได้รับคำชื่นชมจากสื่อต่าง ๆ มากมาย จึงทำให้ต่อมาทางช่องทีวีบีได้ยื่นบทตัวร้ายให้แก่เขาในเรื่องถัดมาอีกหลายเรื่อง เช่น คัมภีร์​มรณะ​, เจงกิสข่า​น, เลือดล้างแผ่นดิน เป็นต้น แต่หวงเย่อหัวเองกลับรู้สึกว่าไม่ต้องการที่จะรับบทร้ายแบบนี้อีกเพราะกลัวผู้ชมจะติดภาพลักษณ์เขาแบบนั้น

ผลงานในปีพ.ศ. 2531 (1988) ได้แก่ ละครฟอร์มใหญ่ยักษ์แห่งปีเรื่อง ศึกน้องเยซูสะท้านแผ่นดิน (Twilight of a Nation) และ คัมภีร์มรณะ (Kay Moon Gwai Guk) จนมาถึงในช่วงปลายปีทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ได้ทำการคัดเลือกนักแสดงชายที่จะมารับบท ติงโหย่วเจี้ยน ในละครสากลฟอร์มใหญ่แห่งปีเรื่อง คู่แค้นสายโลหิต (Looking Back in Anger) แต่จากปัญหาเรื่องการต่อสัญญาของเขากับทางค่ายที่เรื้อรังมานาน ทำให้ตอนแรกทางช่องไม่ได้สนใจที่จะเลือกเขาให้มารับบทนี้เลยแม้แต่น้อย แต่ทว่าทางฝ่ายการผลิตละครของเรื่องนี้กลับมองว่า หวงเย่อหัว เหมาะสมกับบทบาทพระเอกในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงทำการติดต่อให้เขาเข้ามารับบทนี้[8]

ละครยอดนิยมเรื่อง คู่แค้นสายโลหิต (พ.ศ. 2532)[แก้]

เมื่อละครสากลฟอร์มใหญ่แห่งปี เรื่อง คู่แค้นสายโลหิต ออนแอร์ออกอากาศและติดอันดับละครที่มีเรตติ้งสูงสุดแห่งปี ด้วยเรตติ้งเฉลี่ยต่อตอน 47 คะแนน ส่งผลให้ชื่อเสียงของ หวงเย่อหัวกลับมาได้รับความนิยมอย่างสูงอีกครั้ง และยังเป็นละครที่สร้างชื่อเสียงให้อย่างมากกับดาราที่ได้ร่วมแสดงในเรื่องนี้ด้วยกันอีกหลายคน เช่น โจว ไห่เม่ย, หลิวเจียหลิง, เส้าเหม่ยฉี, ซัง เทียนเอ๋อ โดยเฉพาะดาราชาย เวินเจ้าหลุน ที่โด่งดังเป็นพลุแตกกับบทตัวร้าย "ติงโหย่วคัง" ที่เขาสามารถแสดงบทตัวโกงนี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม อีกทั้งละครดราม่าเข้มข้นเรื่องนี้ยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเมื่อได้มีการนำออกฉายลงสู่จอโทรทัศน์ทั่วเอเชียและทั่วโลก โดยทำยอดรวมผู้ชมดูสดผ่านทีวีครั้งแรกทั่วทุกมุมโลกมากถึง 431 ล้านคน จนคว้ารางวัล ละครทีวีบีที่มีเรตติ้งสูงสุดทั่วโลก

และในช่วงที่เขากลับมาได้รับความนิยมอย่างสูงอีกครั้ง แต่ทว่าเขาก็เกิดมีปัญหาขัดแย้งกับทางบริษัททีวีบีอีกรอบ แต่คราวนี้เขาตัดสินใจออกจากค่ายทีวีบี หันไปเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงให้กับบริษัทคู่แข่ง อย่าง สถานีโทรทัศน์เอทีวีแทน ผลงานละครที่เล่นให้กับค่ายทีวีบีก่อนจะย้ายสังกัดไป ได้แก่ เลห์โหด (Greed), สงครามหัวใจ (Battle of the Heart) และ กระบี่มารตั๊กโกว ฉิวโป๊ (Kim-mo Tuk-ku Kau-pai 1990)

ย้ายสังกัดไปสถานีโทรทัศน์เอทีวีและเป็นนักแสดงอิสระ (พ.ศ. 2533-2536)[แก้]

กลางปีพ.ศ. 2533 หลังจากหมดสัญญาการเป็นนักแสดงกับทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบี หวงเย่อหัวตัดสินใจเดินออกจากสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ที่ ๆ ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา และหันไปอยู่กับค่ายคู่แข่งอย่างสถานีโทรทัศน์เอทีวี แทนโดยประเดิมบทบาทในละครเรื่อง เลือดรักเลือดแค้น (Heaven's Retribution) และตามด้วยละครเรื่อง เหยียบขึ้นมาใหญ่ , เหนือคนเหนือโปลิศ (The Good, The Ghost, And The Cop), ดับแค้นโคตรอำมหิต (All Out of Love) ซึ่งผลงานละครเหล่านี้กับทางค่ายเอทีวี ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี หลังจากนั้นก็หมดสัญญากับเอทีวีและผันตัวเองไปเป็นนักแสดงอิสระ และไปรับงานแสดงละครไต้หวันเรื่อง เคยรักฉันบ้างไหม (The Imperial Wanderer) โดยในเรื่องนี้ได้มีโอกาสเล่นประกบกับอดีตคู่ขวัญจากละครคู่แค้นสายโลหิตอีกครั้ง อย่าง โจวไห่เม่ย หลังจากปิดกล้องละครที่ไต้หวันแล้ว เขาก็กลับมารับงานแสดงละครที่ฮ่องกงอีกครั้ง โดยครั้งนี้เขารับงานแสดงกับทั้งของค่ายทีวีบีและค่ายเอทีวี ได้แก่ละครเรื่อง เจ้าพ่อสนามม้า (Racing Peak) ของค่ายทีวีบี และละครเรื่อง เฉือนคมจิ้งจอกเงิน (The Silver Tycoon)ของค่ายเอทีวี ซึ่งทั้งสองเรื่องต่างก็ประสบความสำเร็จทางด้านเรตติ้งเช่นกัน นับได้ว่าเขาเป็นนักแสดงชายเพียงไม่กี่คนในวงการละครที่มีผลงานละครฮิตกับทั้งสองค่าย

กลับไปเซ็นสัญญากับทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบีอีกครั้ง (พ.ศ. 2537-2539)[แก้]

ในขณะที่เขายังคงรู้สึกสบายใจกับการเป็นนักแสดงอิสระ อยู่นั้น ทางสถานีทีวีบีได้ยื่นข้อเสนอเม็ดงามเพื่อที่จะดึงเขาให้กลับเข้ามาเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงกับทางค่ายอีกครั้ง และก็สำเร็จเมื่อเขาได้ตัดสินใจเซ็นสัญญากับบริษัททีวีบีตามข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายต่างพอใจ และแน่นอนค่ายทีวีบีก็ประเคนผลงานละครให้เขาแสดงนำมากมาย ได้แก่ละครเรื่อง เลือดนอกอก (Love Cycle), เพชรฆาตสาวอำมหิต (Burden of Proof), เปาบุ้นจิ้น ฉบับทีวีบี (Justice Pao) มี 2 ภาค โดยตี้หลุง รับบทเป็น ท่านเปาปุ้นจิ้น และหวงเย่อหัว รับบท จั่นเจา, แผนล้างมาเฟีย (The Criminal Investigator), แผนล้างมาเฟีย ภาค 2 (The Criminal Investigator II), สะไภ้เจ้าพ่อ (She Was Married to the Mob) แต่ผลงานละครเหล่านี้ได้รับความนิยมในระดับกลาง ๆ เท่านั้น

บทบาทเฉียวฟงและหมดยุค (พ.ศ. 2540-2547)[แก้]

ในปีพ.ศ. 2540 บทบาทเฉียวฟง ที่เขาแสดงในละครกำลังภายในรีเมคเรื่อง 8 เทพอสูรมังกรฟ้า ทำให้ชื่อของ หวงเย่อหัว กลับมาเป็นที่พูดถึงเกรียวกราวอย่างมากอีกครั้ง และถึงแม้ว่าละครเรื่องนี้ในอดีต ซึ่งเป็นเวอร์ชันเก่าที่ทางทีวีบีเคยสร้างเอาไว้เมื่อปีพ.ศ. 2525 (1982) จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเพราะได้ดาราชาย เหลียงเจียเหยิน มารับแสดงในบทเฉียวฟง ได้อย่างยอดเยี่ยมก็ตาม แต่สำหรับ หวงเย่อหัวในบทเดียวกันนั้นหลายสื่อมากมายก็ยังชื่นชมว่า เขาสามารถแสดงบทเฉียวฟงออกมาได้ดีมากจนสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ และนับได้ว่าเป็นผลงานละครเรื่องสุดท้ายของเขาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงทั่วเอเชีย ก่อนที่จะหมดยุคทองของละครชุดฮ่องกง

หลังจากที่ฮ่องกงได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากอังกฤษกลับคืนสู่ประเทศจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 (1997) วงการบันเทิงฮ่องกงก็ค่อย ๆ เริ่มเข้าสู่ยุคตกต่ำในตลาดเอเชียมาตั้งแต่นั้น โดยถูกส่วนแบ่งการตลาดเอเชียกับละครซีรีส์จากประเทศอื่น ๆ เช่น ไต้หวัน, จีน และเกาหลี โดยเฉพาะซีรีส์เกาหลี ในตอนนั้นสามารถไปตีตลาดนอกประเทศเกาหลีได้สำเร็จและไปดังในหลาย ๆ ประเทศในแถบเอเชีย และเกิดกระแสฟีเวอร์ซีรีส์เกาหลีขึ้นมาแทนละครชุดฮ่องกงโดยเฉพาะในประเทศไทย เป็นผลทำให้ละครดังในฮ่องกงหลายเรื่องไม่ได้ไปแพร่หลายตามตลาดเอเชีย และถึงแม้จะมีละครดังในฮ่องกงบางเรื่องได้นำออกสู่ตลาดเอเชีย แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมหรือประสบความสำเร็จเหมือนดั่งในอดีตอีกเลย

ผลงานในยุคหลัง ๆ ของเขาที่พอจะเป็นที่รู้จักเช่น เลือดรัก เลือดทรนง (Secret of the Heart), จิ้งจอกภูเขาหิมะ (The Flying Fox of Snowy Mountain), โจโฉ ผู้ไม่ยอมให้ใคร ทรยศ (Incurable Traits), ตำนานยาจกซู (The Legend of Master Soh), สิงห์เตะเหนือเสือมัดใต้ (Kung Fu Master from Guangdong), ศึกชิงขุมทรัพย์สะท้านภพ (Treasure Raiders), ยอดทนายหัวใจเพชร (Law 2002) และ แฟ้มลับคดีปริศนา (Mystic Detective Files 2004) เป็นต้น

ผลงานระยะหลัง (พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน)[แก้]

ถึงแม้จะเข้าสู่ยุคตกต่ำของละครชุดฮ่องกงในตลาดต่างประเทศก็ตาม แต่สำหรับในเกาะฮ่องกงเองแล้วความนิยมในละครของบ้านเกิดของตัวเองก็ยังคงเหมือนเดิม

ในปีพ.ศ. 2552 (2009) ละครเรื่อง องค์กรล่าล้างทรชน (Interpol) ลงสู่จอโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการกลับมาร่วมงานกับทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบี อีกครั้ง หลังจากมีปัญหากับทางช่องและห่างหายไปรับเล่นภาพยนตร์ อยู่พักหนึ่ง

แต่ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2553 (2010) หลังจากละครสากลฟอร์มใหญ่เรื่อง คู่เดือดตำรวจเหล็ก (Gun Metal Grey) ได้ออนแอร์ลงสู่จอ แต่เรตติ้งของผู้ชมละครในฮ่องกง กลับไม่ประสบความสำเร็จเลย ต่อมาหวงเย่อหัวไม่พอใจที่ทางค่ายทีวีบีไม่ยอมโปรโมตผลงานละครเรื่องนี้ที่เขานำแสดง และได้วิจารณ์ออกมาทางสื่อรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เขามักจะมีปัญหากระทบกระทั่งกับทางช่อง เช่นเรื่องค่าตัวที่น้อยมากเมื่อเทียบกับที่อื่น และการถ่ายทำละครที่หามรุ่งหามค่ำจนทำให้นักแสดงแทบไม่มีเวลาพักผ่อน และเรื่องที่ทางสถานีมักจะเลือกที่รักมักที่ชังโดยให้สิทธิพิเศษกับดาราลูกรักของทางค่ายบางคน และเลือกที่จะโปรโมตละครชุดบางเรื่องอย่างไม่เป็นธรรม[9][10]

ต่อมาหลังจากข้อความที่เขาได้วิจารณ์เผยแพร่ออกไป เป็นสาเหตุให้ หวงเย่อหัว ถูกทางช่องสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ขึ้นบัญชีดำโดยการแบนถาวรจนเขาไม่สามารถกลับเข้าไปรับงานแสดงกับทางช่องได้อีกเลย

หลังจากที่ห่างหายจากวงการละครไปนาน เพราะโดนทางค่ายทีวีบีแบนไม่ป้อนงานละครให้จนกระทั่งหมดสัญญา ต่อมาเขาก็ไม่ได้เป็นนักแสดงในค่ายใดค่ายหนึ่งโดยตรง แต่แล้วในปีพ.ศ. 2557 (2014) เขาได้ถูกเชิญให้ร่วมแสดงละครให้กับสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ ที่ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์เอชเคทีวี (HKTV) โดยมีผลงานละครกับทางค่ายใหม่นี้ ได้แก่เรื่อง สายรุ้งแห่งชีวิต (Beyond the Rainbow 2015) และ ยอดคนสมองกล (Paranormal Mind 2015) ล่าสุดเขาได้มีผลงานภาพยนตร์แนวแอ็คชั่นเรื่อง คนคมล่า ระเบิดเมือง (Shock Wave 2017)

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย[แก้]

ถึงแม้ดาราชาย หวงเย่อหัวจะไม่ประสบความสำเร็จกับผลงานทางด้านภาพยนตร์เหมือนสองพยัคฆ์ทีวีบี อย่าง หลิวเต๋อหัว และเหลียงเฉาเหว่ย ก็ตาม แต่ถ้านับเฉพาะความสำเร็จกับผลงานทางด้านละครโทรทัศน์ หวงเย่อหัว คือนักแสดงชายที่ได้รับความนิยมสูงสุดทางด้านเรตติ้งละคร มากกว่า 4 พยัคฆ์ทีวีบี ที่เหลือ

เป็นที่ทราบกันดีว่า บทบาท หลี่ถัง ในละครกึ่งสากลสุดฮิตเรื่อง เหยี่ยวถลาลม คือบทบาทที่แจ้งเกิดให้กับเขาได้อย่างเต็มตัวในฐานะพระเอก ก่อนจะมาโด่งดังเป็นพลุแตกกับผลงานถัดมา ในการสวมบทบาท ก๊วยเจ๋ง ในละครกำลังภายในยอดนิยมตลอดกาลเรื่อง มังกรหยก ฉบับปีพ.ศ. 2526 และนับได้ว่าบทบาท ก๊วยเจ๋ง เป็นการแสดงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในชีวิตการเป็นนักแสดงของ หวงเย่อหัว แต่เมื่อมีการถามว่าบทบาทเรื่องไหนที่เขาแสดงแล้วชอบมากที่สุดเป็นการส่วนตัว คำตอบกลับเป็น บทบาท เฉียวฟง ในละครกำลังภายในรีเมค เรื่อง แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ฉบับปีพ.ศ. 2540 และบทบาทหลี่ต้าโหย่ว ในละครสากลสุดฮิตเรื่อง เจ้าพ่อสนามม้า ซึ่งเป็นผลงานละครในปีพ.ศ. 2536 [11]

ผลงานด้านการแสดง[แก้]

ละครโทรทัศน์[แก้]

ปีพ.ศ. เรื่อง หมายเหตุ
2523 (1980) ตำนานพิศวง ปี4(Mystery Beyond) (Season 4) ตัวประกอบ
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (The Bund)
The Broken Thread
ห้วงรักห้วงกรรม (Family)
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ภาค 3 The Bund III
คมเฉือนคม ภาค 1(The Shell Game)
2524 (1981) ไอ้หนุ่มเฮงระเบิด(The Misadventure of Zoo)
เหยี่ยวถลาลม (The Lonely Hunter)
มรสุมสายรุ่ง (Come Rain, Come Shine)
สองเทพบุตรโลกันตร์ (Master Fat Shan-chan)
รักข้ามรุ่น(Summer of 1981)
วีรบุรุษเส้าหลิน(The Young Heroes of Shaolin)
2525 (1982) 8 เทพอสูรมังกรฟ้า(Demi-Gods and Semi-Devils)
ยอดรักนักแข่ง (The Roller Coaster)
13 องค์รักษ์ล่าพระกาฬ (The Wild Bunch)
เทพบุตรสลัม(Soldier of Fortune)
2526 (1983) มังกรหยก(The Legend of the Condor Heroes ) 3 parts
เกมส์รัก...เกมส์ชีวิต (In the Game Boat)
2527 (1984) ยุทธจักรชิงจ้าวบัลลังค์ The Foundation
เปากง กับมือปราบตี้ชิง (Pao Ching-tin: Law Enforcer)
รักหนึ่งกิโลเมตร (Can Anybody Help)
พยัคฆ์หนุ่มนักสืบ(Young Detective)
สวนทางรัก (It Takes All Kinds)
2528 (1985) จอมยุทธเจ้าสำราญ (The Young Wanderer)
เพ็กฮ่วยเกี่ยม แค้นกระบี่โค่นบัลลังค์(Sword Stained with Royal Blood)
รุ่นใหม่มาแรง (The Tough Fight)
ขุนศึกตระกูลหยาง(The Yang's Saga)
2529 (1986) ศึกอภินิหารเหมาซาน(The Brothers Under the Skin)
ซิติงซาน ขุนศึกตะวันออก(General Father, General Son)
จอมโจรอาหนิว(The Ordeal Before the Revolution)
2530 (1987) เฮงแน่...ชีวิตนี้ (The Upstart, the Self-Made Man)
ศึกลำน้ำเลือด(The Grand Canal)
เจงกีสข่านผู้พิชิต (Genghis Khan)
2531 (1988) ศึกน้องพระเยซูสะท้านแผ่นดิน (Twilight of a Nation)
คัมภีร์มรณะ (Kay Moon Gwai Guk)
It's No Heaven ภาพยนตร์โทรทัศน์ (television film)
Bik Cheung Wai Leung
2532 (1989) คู่แค้นสายโลหิตLooking Back in Anger
เลห์โหด (Greed)
สงครามหัวใจ (Battle of the Heart)
2533 (1990) กระบี่มารตั๊กโกว ฉิวโป๊ (Kim-mo Tuk-ku Kau-pai)
เลือดรักเลือดแค้น (Heaven's Retribution) ATV
Dap Jun Kong Wu Lo ภาพยนตร์โทรทัศน์ (television film)
2534 (1991) เหนือคนเหนือโปลิศ (The Good, The Ghost, And The Cop) ATV
ดับแค้นโคตรอำมหิต(All Out of Love)
2535 (1992) เคยรักฉันบ้างไหม (The Imperial Wanderer) ละครไต้หวัน ร่วมแสดงกับ โจวไห่เม่ย
2536 (1993) เจ้าพ่อสนามม้า(Racing Peak)
เฉือนคมจิ้งจอกเงิน (The Silver Tycoon) ATV ร่วมแสดงกับ เจิ้ง หัวเชี่ยน
2537 (1994) เลือดนอกอก (Love Cycle)
เพชรฆาตสาวอำมหิต (Burden of Proof) ภาพยนตร์โทรทัศน์ (television film)
Ching Nam Tsam
2538 (1995) เปาบุ้นจิ้น (Justice Pao) 2 parts ตี้หลุง เป็น ท่านเปาปุ้นจิ้น
แผนล้างมาเฟีย(The Criminal Investigator)
Man on The Verge of A Nervous Breakdown television film
television film
2539 (1996) แผนล้างมาเฟีย ภาค 2 (The Criminal Investigator II)
สะไภ้เจ้าพ่อ (She Was Married to the Mob) television film
television film
2540 (1997) '8 เทพอสูรมังกรฟ้า (Demi-Gods and Semi-Devils) Nominated — TVB Anniversary Award for Best Actor
2541 (1998) เลือดรัก เลือดทรนง (Secret of the Heart)
2542 (1999) จิ้งจอกภูเขาหิมะ (The Flying Fox of Snowy Mountain)
2543 (2000) พรุ่งนี้ไม่เคยเหมือนเดิม (Time Off)
โจโฉ ผู้ไม่ยอมให้ใคร ทรยศ (Incurable Traits) โจโฉ
ตำนานยาจกซู (The Legend of Master Soh)
Point of No Return Jiang Qihua
2544 (2001) สิงห์เตะเหนือเสือมัดใต้ (Kung Fu Master from Guangdong)
The Pearl King Wei Antian
2545 (2002) ศึกชิงขุมทรัพย์สะท้านภพ (Treasure Raiders)
ยอดทนายหัวใจเพชร (Law 2002)
2546 (2003) Asian Heroes
2547 (2004) แฟ้มลับคดีปริศนา (Mystic Detective Files)
The Dragon Heroes
2552 (2009) องค์กรล่าล้างทรชน (Interpol 2009)
2553 (2010) คู่เดือดตำรวจเหล็ก Gun Metal Grey Nominated — TVB Anniversary Award for Best Actor (Top 5)
2558 (2015) Beyond the Rainbow ค่าย HKTV
Paranormal Mind

ภาพยนตร์[แก้]

ปีพ.ศ. เรื่อง รับบท หมายเหตุ
2425 (1982) 8 เทพอสูรมังกรฟ้า(Demi-Gods and Semi-Devils) Hui-juk
2526 (1983) ลูกบ้าดีเดือด (Mad, Mad 83) รับเชิญ กับ องเหม่ยหลิง
2527 (1984) ยุทธจักร จิ้งจอกฟ้า (New Tales of the Flying Fox) Wu Fei
2529 (1986) ใครว่ะ...อย่าซ่า (Who's the Crook) Wong Wah
2531 (1988) สวรรค์นี้...ไม่มีคำตอบ (It's No Heaven)
2532 (1989) กัดฟันเดินหน้าแล้วท้าชน (Fury of a Tiger) Mak See
ยุทธการถล่มค่ายอินทรีเหล็ก (Leng Nui Ying Hung) รับเชิญ
In the Line of Fire รับเชิญ
2534 (1991) เพื่อเพื่อน...สับมันเลย (The Tigers) Ben
2535 (1992) ขันทีคนสุดท้าย ภาค 2 (Twilight of the Forbidden City) Wu Ching-chung
2537 (1994) ไอ้หนุ่มหมัดเมา ภาค 2 (Drunken Master II) Fishmonger Tsan
2544 (2001) We're No Heroes รับเชิญ
(2545) 2002 นางสาวกำไก่ (Golden Chicken) Richard
2546 (2003) City of SARS Hospital superintendent
นางสาวกำไก่ ภาค 2 (Golden Chicken 2) Richard
2547 (2004) In Laws, Out Laws
2548 (2005) คนอยากหญ่าย โตยกกำลัง 10 (Wait 'til You're Older) Chan Man
2550 (2007) เกิดมาโหดตามพินัยกรรม 2 (Brothers) Ghostie
2551 (2008) Pretty to Think So Man in suit
2552 (2009) แค้นเขามีไว้ให้ชำระ (Vengeance 2009) Python
Turning Point Senior Inspector Poon Man-kei
2554 (2011) ฉันรัก...ฮ่องกง (I Love Hong Kong) Fish Ball Wah รับเชิญ
เกมกล คนเงื่อนเงิน (Life Without Principle) Fiery Sam รับเชิญ
2556 (2013) 7 เพชฌฆาตทะเลทราย (7 Assassins) Tit Wan
2560 (2017) คนคมล่า ระเบิดเมือง (Shock Wave) Officer Chow

อ้างอิง[แก้]

  1. "ยอดพระเอกแห่ง TVB". October 14, 2012. สืบค้นเมื่อ January 18, 2019.
  2. "เรื่องราวบางมุมของ หวงเย่อหัว". October 10, 2012. สืบค้นเมื่อ January 18, 2019.
  3. "56ปีของหวงเย่อหัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-29. สืบค้นเมื่อ 2019-01-18.
  4. "บันทึกรักของ หวงเย่อหัว". January 22, 2014. สืบค้นเมื่อ January 18, 2019.
  5. "ปัญหาครอบครัวของ หวงเย่อหัว". February 25, 2014. สืบค้นเมื่อ January 18, 2019.
  6. ""มังกรหยก 1983 เรตติ้งสูงสุด"". โดย Baidu.
  7. ""เรตติ้งสูงสุด" ของเวอร์ชันมังกรหยก". โดย Read01. กุมภาพันธ์ 27, 2559. สืบค้นเมื่อ มกราคม 20, 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ""หวงเย่อหัว เกือบไม่ได้เล่นละครคู่แค้นสายโลหิต"". โดย hket. ธันวาคม 12, 2562. สืบค้นเมื่อ มกราคม 22, 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "ขึ้นบัญชีดำ "หวงเย่อหัว"". โดย mgronline. สิงหาคม 5, 2556. สืบค้นเมื่อ มกราคม 23, 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "สถานีโทรทัศน์ทีวีบีขึ้นบัญชีดำนักแสดงชื่อดังหลายคน". โดย. สิงหาคม 5, 2556. สืบค้นเมื่อ มกราคม 23, 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "บทสัมภาษณ์และประวัติของ "หวงเย่อหัว"". โดย wangchao. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-21. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 14, 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]