ละครโทรทัศน์เกาหลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ซีรีส์เกาหลี)
สัญลักษณ์ของละครโทรทัศน์เรื่อง Boys Over Flowers (รักฉบับใหม่หัวใจ 4 ดวง)

ละครโทรทัศน์เกาหลี หรือที่นิยมเรียกว่า ซีรีส์เกาหลี[1] (เกาหลี: 한국 드라마) คือละครโทรทัศน์ในรูปแบบทีผลิตเป็นภาษาเกาหลี มีหลายเรื่องของละครโทรทัศน์เกาหลีที่กลายเป็นที่นิยมไปทั่วเอเชียและเกิดเป็นปรากฏการณ์ของกระแสเกาหลีหรือที่เรียกว่า "ฮัลลยู" (한류) นอกจากจะได้รับความนิยมไม่ใช่แค่ที่เกาหลีหรือเฉพาะเอเชียเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมในส่วนอื่น ๆ ของโลกเช่นละตินอเมริกา, ตะวันออกกลาง และที่อื่น ๆ ในความเข้าใจที่ตรงกัน ละครโทรทัศน์เกาหลีที่บทความนี้อ้างถึงหมายถึงเฉพาะละครโทรทัศน์เกาหลีที่ผลิตจากประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น

ในประเทศไทย ละครโทรทัศน์เกาหลีได้รับความนิยมมาพร้อมกับกระแสเกาหลี โดยในบางสถานีโทรทัศน์ได้นำละครโทรทัศน์เกาหลีเข้ามาฉาย และได้รับความนิยมในบางส่วน โดยช่องแรกที่ได้ฉาย คือ ช่อง 5 จากเรื่อง Wish Upon a star (หรือ Star in My Heart; ลิขิตแห่งดวงดาว)[2] ในปี ค.ศ. 2000 ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 ไอทีวีได้ฉายละครโทรทัศน์เกาหลีมากถึง 14 เรื่อง[3] จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2005 ช่อง 3 ได้ฉายเรื่อง Jewel in the Palace (แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง) ละครโทรทัศน์เกาหลีในแนวย้อนยุค ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมากจนกลายเป็นปรากฏการณ์หนึ่งในสังคมไทย[4] ส่งผลให้ละครโทรทัศน์เกาหลีได้รับความนิยมขึ้นมา ทำให้มีการนำเข้ามาฉายในเรื่องต่าง ๆ ในหลากหลายแนวทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ มากขึ้น[1] และทำให้นักแสดงเกาหลีหลายคนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่นิยมขึ้นมา เช่น อี ยองแอ[5], อิม ยุนอา[6], จาง กึนซอก[7], ฮัน กาอิน [8], จอน จีฮยอน[9], ฮัม อึนจอง[10], ซง จุงกิ[11] เป็นต้น

เอกลักษณ์ของละครโทรทัศน์เกาหลีเมื่อเทียบกับละครโทรทัศน์ไทยแล้ว ได้รับการยอมรับว่า มีการผลิตที่ใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า ถึงแม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาด และบทละครก็ไม่ดูหลุดเกินไปจากความเป็นจริงในชีวิต หรือตัวละครไม่แสดงออกทางอารมณ์จนเกินเลยความเป็นจริง อีกทั้งเนื้อเรื่องแม้ผูกได้หลายชั้นแต่ไม่ซับซ้อน[12] แต่ข้อเสียก็คือ โครงเรื่องมักจะซ้ำกัน เช่น นางเอกมักเป็นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ป่วย ขี้โรค ทำให้น่าสงสาร และวนเวียนอยู่กับปัญหาในครอบครัว ซึ่งจุดนี้ทำให้ผู้ชมบางประเทศเกิดความเบื่อหน่าย[13]

จนกระทั่งในต้นปี ค.ศ. 2014 กระแสของละครโทรทัศน์เกาหลีในไทยเริ่มซบเซาลง พร้อม ๆ กับกระแสเกาหลีในวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างอื่นด้วย[14] แต่ก็ยังมีการฉายอยู่ และได้รับความนิยมในบางเรื่อง[15] เช่น Descendants of the Sun (ชีวิตเพื่อชาติ รักนี้เพื่อเธอ) ในปี ค.ศ. 2016 ที่เกิดเป็นกระแสในหลายประเทศที่เข้าฉาย รวมถึงประเทศไทยด้วยที่เป็นรู้จักอย่างกว้างขวางเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เอ่ยถึงและแนะนำให้รับชมเพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรักชาติ[16] และต่อมาในกลางเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน มีการปิดตัวลงของเว็บไซต์บางเว็บที่เผยแพร่ละครโทรทัศน์เกาหลีในแบบออนไลน์ แต่ผิดกฎหมาย เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเอสบีเอสและเอ็มบีซีเอาจริงเอาจังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น[17]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2015 สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น ได้ประกาศยุติการออกอากาศละครโทรทัศน์เกาหลี โดยให้เหตุผลว่าระยะหลังละครโทรทัศน์เกาหลีไม่ได้รับความนิยมเหมือนก่อน โดยมีเรื่อง Empress Ki (กีซึงนัง จอมนางสองแผ่นดิน) ออกอากาศเป็นเรื่องสุดท้าย[18] แต่ความนิยมในจีนกลับไม่ลดลง และในช่วงกลางปี ค.ศ. 2014 กลับมีค่าลิขสิทธิ์ที่แพงขึ้น โดยเรื่อง Fated to Love You ของสถานีโทรทัศน์เอ็มบีซี ซึ่งถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่แบบออนไลน์ในจีน มีมูลค่าถึง 120 ล้านวอน หรือราว 3,800,000 บาท ต่อตอน มากกว่าค่าลิขสิทธิ์เรื่อง My Love from the Star (ยัยตัวร้ายกับนายต่างดาว) ที่มีมูลค่าถึง 1,200,000 บาท ต่อตอนเสียอีก[19]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "เกาหลี ฟีเวอร์ ซีรีส์ละครฮิตติดจอตู้". positioningmag. 2006-02-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 14 October 2015.
  2. "K-Pop ผงาด เกาหลีพันธุ์แรงแซง J-POP". ผู้จัดการออนไลน์. June 18, 2009. สืบค้นเมื่อ September 2, 2016.[ลิงก์เสีย]
  3. "'กระแส Korean Wave กว่า 10 ปีในประเทศไทย'". thebridgesmagazine. สืบค้นเมื่อ 17 October 2015.
  4. "ปรากฏการณ์ แดจังกึม... กระหึ่มจอตู้". positioningmag. 2006-02-05. สืบค้นเมื่อ 14 October 2015.[ลิงก์เสีย]
  5. "รวมมิตรผลงาน -ลียองเอ -ตั้งแต่สมัยก่อน - ปัจจุบัน". jabchai. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 15 October 2015.
  6. ""อิม ยุนอา" สาวสวยเจ้าเสน่ห์แห่งวง Girls' Generation". PPTV. 2014-07-07. สืบค้นเมื่อ 15 October 2015.
  7. "Jang Geun Suk จางกึนซอก ชังกึนซอก". โคตรฮิต. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-15. สืบค้นเมื่อ 15 October 2015.
  8. "Han Ga In ฮันกาอิน". โคตรฮิต. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-15. สืบค้นเมื่อ 15 October 2015.
  9. "ข่าว "จวนจีฮุน - อันแจฮยอน" เยือนเมืองไทยแบบส่วนตัว". ทีเอ็นเอ็น24. 2014-07-21. สืบค้นเมื่อ 15 October 2015.
  10. "พี่เหมโกโคเรีย! เจมส์ มาร์ ประกบนางเอกเกาหลี ฮัมอึนจอง (T-ara) ลง Microlove". สนุกดอตคอม. 2015-10-13. สืบค้นเมื่อ 15 October 2015.
  11. "รู้จักสามีแห่งชาติ บิ๊กบอสซงจุงกิ ทหารหนุ่มสุดฮ็อต จากซีรีส์ Descendants of the Sun". แพรว. 2016-05-06. สืบค้นเมื่อ 2016-11-22.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "ทำไม "ละครเกาหลี" ถึงดังกว่าของ "ไทยและยุ่น" ?". unigang.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 13 December 2015.
  13. "ละครไทยในอาเซียน". กรุงเทพธุรกิจ. 26 November 2015. สืบค้นเมื่อ 13 December 2015.
  14. "กระแสซีรีส์เกาหลีหดหาย? ญี่ปุ่นจะวนกลับมาอีก?". ไทยรัฐ. 2014-02-18. สืบค้นเมื่อ 14 October 2015.
  15. แจ๋วริมจอ (2015-12-28). "ทางเลือกซีรีส์เกาหลี". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 14 September 2016.
  16. "Descendants Of The Sun ละครที่นายกฯ แนะนำให้ดู". ช่องนาว. 2016-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-02. สืบค้นเมื่อ 14 September 2016.
  17. "แฟนคลับซีรีส์เกาหลีใจสลาย หลัง "เว็บโคตรฮิต" โดนลิขสิทธิ์ต้องปิดตัว !". พีพีทีวี. 2016-11-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-17. สืบค้นเมื่อ 2016-11-22.
  18. "ทีวีญี่ปุ่น NHK หยุดออกอากาศซีรีส์เกาหลี". ผู้จัดการออนไลน์. 12 October 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-15. สืบค้นเมื่อ 13 October 2015.
  19. "ค่าลิขสิทธิ์ซีรีส์เกาหลีฉายในจีน ราคาตอนละ 3.8 ล้านบาท". ไนน์เอ็นเตอร์เทน. 2014-07-12. สืบค้นเมื่อ 2016-11-22.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]