ข้ามไปเนื้อหา

หมู่บ้านสันติคีรี

พิกัด: 20°10′N 99°37′E / 20.167°N 99.617°E / 20.167; 99.617
นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ที่ตั้งของสันติคีรี ตำแหน่งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า

หมู่บ้านสันติคีรี เดิมชื่อ หมู่บ้านแม่สลอง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนดอยแม่สลอง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศเป็นแบบอัลไพน์ และเป็นที่รู้จักกันจากชาวบ้านที่เป็นเผ่าชนภูเขา ไร่ชา และดอกซากุระ

ประวัติศาสตร์ยุคแรกเริ่มของหมู่บ้านสันติคีรีมีศูนย์กลางอยู่ที่การค้าฝิ่นในแถบสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งมีประชากรจากกองพล 93 "กองทัพสาบสูญ" ของสาธารณรัฐจีน มีส่วนพัวพันอยู่ด้วย ภายหลังสงครามกลางเมืองจีนสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2492 บางส่วนของกองกำลังพรรคก๊กมินตั๋งปฏิเสธที่จะยอมจำนน รวมทั้งกองพล 93 นำโดยพลเอกต้วน ซีเหวิน[1] กองพล 93 ทำการสู้รบออกจากมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และทหารได้อยู่อาศัยอย่างเร่ร่อนในป่าของพม่า ก่อนที่จะลี้ภัยเข้ามาในแม่สลอง เพื่อแลกเปลี่ยนกับการลี้ภัยของพวกเขา ทหารกองพล 93 จึงช่วยทำการสู้รบต่อต้านการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์บริเวณพรมแดนไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2525 รัฐบาลไทยตอบแทนโดยการมอบสถานะพลเมืองให้กับทหารก๊กมินตั๋งและครอบครัว

พืชที่ปลูกเพื่อการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชา ได้เข้ามาแทนที่การปลูกฝิ่น และในปัจจุบัน สันติคีรีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "สวิตเซอร์แลนด์น้อย"[2]

ประวัติ

[แก้]

จุดกำเนิดของหมู่บ้านสันติคีรีมีมาตั้งแต่สมัยสิ้นสุดสงครามกลางเมืองจีน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตุง ได้รับชัยชนะในประเทศจีน ส่วนกองทัพก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของจอมทัพเจียง ไคเช็ค ที่พ่ายแพ้ ได้ล่าถอยไปยังไต้หวัน ยกเว้นกรมทหารราบที่ 3 ที่ 5 และกองพล 93 ซึ่งปฏิเสธที่จะยอมจำนน[3] การสู้รบระหว่างกองทัพคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่ห่างไกลบางส่วนของจีน รวมทั้งมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์เคลื่อนทัพเข้าสู่คุนหมิง เมืองหลวงของมณฑล ได้สำเร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. 2493 กรมทหารที่ 3 และที่ 5 ภายใต้การบัญชาการของพลเอกลี เหวินห้วน และต้วน ซีเหวิน ตามลำดับ ได้ทำการสู้รบออกจากยูนนานและหลบหนีเข้าไปในพื้นที่ป่าของพม่า[4]

สงครามยังไม่สิ้นสุดสำหรับทหารก๊กมินตั๋ง หลังจาก "การเดินทางวิบาก" ของพวกเขาตั้งแต่ยูนนานจนถึงรัฐฉานของพม่า ฝ่ายพม่าเมื่อค้นพบว่ามีกองทัพต่างชาติเข้ามาตั้งค่ายในแผ่นดินของตนก็ได้ทำการโจมตี การสู้รบยืดเยื้อกว่า 12 ปี และทหารก๊กมินตั๋งหลายพันคนได้อพยพไปยังไต้หวัน เมื่อจีนเข้าร่วมในสงครามเกาหลี หน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (CIA) มีความต้องการข่าวกรองเกี่ยวกับจีนอย่างมาก ซีไอเอได้หันไปพึ่งนายพลก๊กมินตั๋งทั้งสอง ผู้ซึ่งตกลงที่จะส่งทหารบางส่วนกลับเข้าไปในจีนสำหรับภารกิจในการแสวงหาข่าวกรอง เพื่อเป็นการตอบแทน ซีไอเอได้เสนออาวุธยุทธภัณฑ์ให้แก่นายพลทั้งสองเพื่อยึดจีนคืนจากฐานในรัฐฉาน กองทัพก๊กมินตั๋งพยายามมากกว่าเจ็ดครั้งระหว่าง พ.ศ. 2493 และ 2495 แต่ก็ถูกขับไล่กลับมายังรัฐฉานครั้งแล้วครั้งเล่า[5] การสิ้นสุดของสงครามเกาหลีใน พ.ศ. 2496 มิใช่จุดสิ้นสุดสำหรับการต่อสู้กองทัพคอมมิวนิสต์จีนและพม่า ซึ่งยังคงมีต่อเนื่องมาเป็นเวลาอีกหลายปี โดยได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตันและไต้หวัน ซึ่งเงินทุนนั้นก็ได้รับมาจากการมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้ายาเสพติดบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ[6]

สันติคีรีบนดอยแม่สลอง พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ลี้ภัยในประเทศไทย

[แก้]

พ.ศ. 2504 นายพลต้วนนำทหารก๊กมินตั๋งที่เหนื่อยล้าจากการทำศึกราว 4,000 นายออกจากพม่าเข้ามายังแถบภูเขาแม่สลองในประเทศไทย ในการแลกเปลี่ยนกับการลี้ภัยครั้งนี้ รัฐบาลไทยกำหนดให้พวกเขาช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์[7] ผลที่ตามมาคือ ชาวบ้านที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ทุกวันนี้มีเชื้อชาติจีน เป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากทหารก๊กมินตั๋ง ขณะเดียวกัน พลเอกลี แห่งกรมทหารที่ 3 ได้ก่อตั้งกองบัญชาการใหญ่ขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่[8] กองทัพก๊กมินตั๋งได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กำลังนอกแบบจีน" (CIF) และได้รับการจัดวางให้อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะทำงานพิเศษ ชื่อรหัส "04" โดยอยู่ภายใต้กองบัญชาการทหารสูงสุดในกรุงเทพมหานคร[5]

หลังจากที่ทหารก๊กมินตั๋งมาถึงดอยแม่สลอง ได้ตกลงที่จะถ่ายโอนการบริการกลุ่มให้แก่รัฐบาลไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาคใต้ ประหยัด สมานมิตร ซึ่งถูกย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อคอยดูกองพลก๊กมินตั๋ง ได้ถูกสังหารโดยคอมมิวนิสต์ ไม่นานหลังจากนั้น กองพลก๊กมินตั๋งได้รับคำสั่งให้ช่วยเหลือรัฐบาลไทยในการตอบโต้กองทัพที่กำลังรุกคืบเข้าใกล้ชายแดนทางเหนือของไทย และภัยคุกคามภายในที่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย[9] ได้มีการสู้รบอย่างดุเดือดในแถบภูเขาดอยหลวง ดอยยาว ดอยผาหม่น ปฏิบัติการนองเลือดเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2513 ระยะเวลาห้าปีคร่าชีวิตไปกว่า 1,000 ชีวิต โดยจำนวนมากเสียชีวิตจากทุ่นระเบิด จนกระทั่ง พ.ศ. 2525 ทหารจึงสามารถวางอาวุธและปลดจากหน้าที่กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขที่ดอยแม่สลอง เพื่อเป็นรางวัลแก่การให้ความช่วยเหลือดังกล่าว รัฐบาลไทยมอบสถานะพลเมืองให้แก่ทหารก๊กมินตั๋งและครอบครัวเป็นส่วนใหญ่[9]

แม้รัฐบาลไทยพยายามที่จะรวมกองพลก๊กมินตั๋งและครอบครัวเข้ากับชาติไทย แต่ผู้อาศัยบนดอยแม่สลองกลับเลือกที่จะใช้เวลาหลายปีเกี่ยวข้องกับการค้าฝิ่นผิดกฎหมาย ร่วมกับขุนศึกยาเสพติด ขุนส่า แห่งกองทัพสหฉาน[3] พ.ศ. 2510 ต้วนได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษของวีกเอนด์เทเลกราฟว่า

เรายังต้องต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ที่ชั่วร้ายต่อไป และเพื่อที่จะสู้ คุณต้องมีกองทัพ และกองทัพจะต้องมีปืน และในการที่จะซื้อปืน คุณต้องมีเงิน ในแถบภูเขานี้ เงินเพียงแหล่งเดียวก็คือฝิ่น[10]

— พลเอกต้วน ซีเหวิน (10 มีนาคม 2510)

ตามรายงานของซีไอเอใน พ.ศ. 2514 ดอยแม่สลองเป็นหนึ่งในพื้นที่ผลิตเฮโรอีนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[11] จนกระทั่งปลายทศวรรษ 1980 หลังกองทัพของขุนส่าถูกขับไล่และผลักดันกลับเข้าสู่พม่าโดยกองทัพไทยแล้ว รัฐบาลจึงสามารถควบคุมพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งบางส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการเปลี่ยนพืชที่ปลูกและการให้ชื่อใหม่ สันติคีรี หมายถึง "ภูเขาแห่งสันติภาพ" รัฐบาลพยายามที่จะแยกพื้นที่ดังกล่าวออกจากภาพลักษณ์ในอดีตที่เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น[12] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมาชิกราชวงศ์จักรีพระองค์อื่นมักเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเป็นประจำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์สนับสนุนอดีตทหารผู้ซึ่งเคยต่อสู้ให้กับชาติไทย[9]

สันติคีรีในปัจจุบัน

[แก้]

ก่อนหน้ากลางทศวรรษ 1970 ดอยแม่สลองห้ามคนภายนอกเข้าอย่างเข้มงวด[13] จากประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา สันติคีรีได้พัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีถนนสายแคบที่มีร้านเหล้า ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านน้ำชาตั้งอยู่ข้างทาง ผลที่ตามมาคือ สันติคีรีได้กลายมาเป็นหนึ่งในสิบจุดหมายเดินทางของนักท่องเที่ยวสะพายเป้หลังที่ได้รับความนิยมสูงสุด[14] อดีตทหารได้ตั้งถิ่นฐานลง โดยมีบางส่วนสมรสกับเจ้าสาวเชื้อสายจีนผู้ซึ่งข้ามพรมแดนมาก่อนที่สงครามกลางเมืองจีนจะยุติ และอีกส่วนหนึ่งสมรสกับชาวไทยท้องถิ่น อดีตทหารและผู้สืบเชื้อสายได้ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นชาวจีน ภาษาหลักที่ใช้พูดกันยังคงเป็นภาษาแมนดาริน

โครงการเปลี่ยนพืชประสบความสำเร็จ กระตุ้นให้เกิดการปลูกชา กาแฟ ข้าวโพดและไม้ผล แทนที่ฝิ่นซึ่งเคยปลูกกันมาแต่เดิม ได้มีการจัดตั้งสวนผลไม้และโรงงานชาขึ้น ตามมาด้วยโรงงานการผลิตไวน์ผลไม้และสมุนไพรจีน ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย ไต้หวัน ประชาคมชาวจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน[15]

ภูมิประเทศและภูมิอากาศ

[แก้]

หมู่บ้านสันติคีรีตั้งอยู่บนยอดดอยในอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ห่างจากตัวเมืองประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งเป็นบริเวณยอดสูงสุดของทิวเขาแม่ฟ้าหลวง ที่ระดับความสูง 1,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีภูมิอากาศคล้ายอัลไพน์ โดยมีอากาศหนาวเย็นสดชื่นตลอดทั้งปี และหนาวยะเยือกในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ การเดินทางไปยังหมู่บ้านสันติคีรีสามารถใช้สองเส้นทาง คือ ทางหลวงหมายเลข 1130 และทางหลวงหมายเลข 1234 จากทางใต้ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการตัดถนนลาดยางเข้ามานั้น หมู่บ้านสามารถเข้าถึงได้โดยม้าบรรทุกสัมภาระเท่านั้น[12] ในปัจจุบัน มีบริการรถมินิบัส ให้บริการตั้งแต่ 6.00 น. จนถึง 22.00 น. เส้นทางจากเชียงรายจนถึงหมู่บ้านสันติคีรี[16]

หมู่บ้านสันติคีรีเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาหลายชนเผ่า เช่น อาข่า ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากจีนตอนใต้และพม่า แต่ละชนเผ่าต่างก็มีภาษาเป็นของตนเอง มีประเพณีและวิถีปฏิบัติแบบนับถือผี ผู้สืบเชื้อสายชาวจีนเป็นประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านสันติคีรีมีอยู่ราว 20,000 คน[4]

จุดสังเกตและแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว

[แก้]
อนุสรณ์วีรชน

หมู่บ้านสันติคีรีเป็นที่รู้จักกันดี "ชาอูหลง เป็นชาจีนโบราณคุณภาพสูง มีปริมาณการผลิตกว่า 80% ของการผลิตชาทั้งหมดในจังหวัดเชียงราย (200 ตันต่อปี) ลักษณะภูมิอากาศและพื้นที่หมู่บ้านสันติคีรีมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการปลูกอูหลง[4] โดยปลูกที่ระดับความสูงตั้งแต่ 1,200 เมตร ถึง 1,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล พ.ศ. 2548 หมู่บ้านสันติคีรีได้รับเลือกจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอป จากชาอูหลงคุณภาพดีดังกล่าว เป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว พัฒนาสินค้าและบริการของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญชาวไต้หวันทำงานร่วมกับเกษตรกรท้องถิ่น ในกระบวนการผลิตชาคุณภาพสูงสำหรับตลาดภายในและตลาดส่งออก จำนวนไร่ชาในหมู่บ้านได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 รวมทั้งไร่โชคจำเริญ, วังพุดตาล และไร่ชา 101[17]

ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม จนถึง 2 มกราคมของทุกปี หมู่บ้านสันติคีรีจัดเทศกาลซากุระบานประจำปี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลอง ร่วมกับอำเภอแม่ฟ้าหลวง เทศกาลดังกล่าวเฉลิมฉลองวัฒนธรรมชาวเขาพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมทั้งการขายสิ่งของหัตถกรรม การแสดงแสงและเสียง ขบวนพาเหรดชาวเขา และการประกวดนางงาม[18]

พลเอกต้วน ชีเหวิน เสียชีวิตใน พ.ศ. 2523 และร่างถูกฝังอยู่ในสุสานคล้ายสถูปบนยอดเนินที่สามารถไปถึงได้โดยการปีน 300 เมตร จากยอดเนินดังกล่าว มีมุมพาโนรามาของหมู่บ้าน[8] นอกจากนี้ ยังมีอนุสรณ์สถานทหารก๊กมินตั๋งซึ่งเสียชีวิตระหว่างการรบต่อต้านคอมมิวนิสต์ อนุสรณ์วีรชน พิพิธภัณฑ์ซึ่งมีการจารึกนามผู้เสียชีวิตไว้บนกระดาน ติดตั้งอยู่บนแท่นบูชาในอาคารหลัก ตัวอาคารสร้างขึ้นในรูปแบบศาลเจ้าจีนขนาดใหญ่ จัดแสดงนิทรรศการการต่อสู้ของทหารก๊กมินตั๋ง และการพัฒนาของดอยแม่สลอง[19]

พระบรมธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์ซึ่งสร้างขึ้นบนเนินใกล้กับหมู่บ้าน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นอกจากนี้ ยังมีมุมทิวทัศน์พรมแดนพม่าซึ่งเคยห้ามเข้าในยุคภายใต้การควบคุมของขุนส่า[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The Kuomintang". Shan Herald Agency for News dated 26 July 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-07-01.
  2. 2.0 2.1 "Guide to Mae Salong". One Stop Chiang Mai. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-01. สืบค้นเมื่อ 2007-10-25.
  3. 3.0 3.1 Chua Mui Yoon (25 February 2007). "China's forgotten soldiers". StarMag (The Star Sunday supplement). pp. SM4–5.
  4. 4.0 4.1 4.2 Jinakul, Surath (17 July 2005). "Perspective: 'Lost army' at home in the Mountains of Peace". Bangkok Post. p. P1.
  5. 5.0 5.1 Lintner, Bertil. "The Golden Triangle Opium Trade: An Overview" (PDF). Asia Pacific Media Services. สืบค้นเมื่อ 2007-11-07.
  6. Collins, Larry (3 December 1993). "The CIA drug connection is as old as the agency". International Herald Tribune. p. 5.
  7. Gray, Denis (12 May 2002). "Anti-communist Chinese army in exile fading away". Associated Press. p. 25.
  8. 8.0 8.1 "The lost army". Bangkok Post. 15 November 1998.
  9. 9.0 9.1 9.2 Chua Mui Yoon (25 February 2007). "China's forgotten soldiers—Long March to Peace". StarMag (The Star Sunday supplement). p. SM5.
  10. Endnote: Weekend Telegraph (London) dated 10 March 1967.
  11. Campbell, Colin (3 February 1983). "Thailand's Kuomintang Warlords Go Respectable". The New York Times.
  12. 12.0 12.1 "Natural Attractions — Doi Mae Salong". Thailand.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-22. สืบค้นเมื่อ 2007-07-02.
  13. Gagliardi, Jason (25 February 2002). "Forever China in a Corner of Thailand". Time Magazine dated 18 February 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-15. สืบค้นเมื่อ 2007-07-01.
  14. "Thailand's Top 10". Pass Planet. สืบค้นเมื่อ 2007-11-07.
  15. Gray, Denis (17 April 2002). "Chinese nationalist veterans fade away as stronghold turns to tea and tourism". Associated Press.
  16. Cummings, Joe (2005). Thailand. Lonely Planet. pp. 350–351. ISBN 1740596978.
  17. Theparat, Chatrudee (2 October 2006). "Anyone for a brew? Little Switzerland has a lot to offer with its beautiful scenery and aromatic tea". Bangkok Post. p. B8.
  18. "Travel Guide: January trip bargains". Bangkok Post. 23 December 2004. p. H8.
  19. Weeradet, Thanin (14 December 2006). "Distinctly Yunnan: Doi Mae Salong in Chiang Rai is tea country, the legacy of Chinese who found refuge in this distant dale". Bangkok Post. p. H1.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

20°10′N 99°37′E / 20.167°N 99.617°E / 20.167; 99.617