หมื่นชาติเข้าถวายบรรณาการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมื่นชาติเข้าถวายบรรณาการ (萬國來朝圖, 1761) ฉบับฤดูหนาว พิพิธภัณฑ์พระราชวัง (北京故宮博物院).[1]
ฉบับฤดูร้อนของ หมื่นชาติเข้าถวายบรรณาการ (萬國來朝圖, 1761). พิพิธภัณฑ์พระราชวัง (北京故宮博物院).
จักรพรรดิเฉียนหลง ขณะพระชนมายุ 65 พรรษา ในพระราชวังต้องห้าม ทรงเข้าร่วมพระราชพิธี

หมื่นชาติเข้าถวายบรรณาการ (จีน: 萬國來朝圖; พินอิน: Wànguó láicháo tú, วาดขึ้นในปี ค.ศ. 1761) เป็นภาพวาดขนาดมหึมา (299x207 ซม.) ในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งแสดงภาพคณะทูตจากนานาประเทศเข้าเฝ้าจักรพรรดิเฉียนหลง ที่พระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1750[1]

ภาพวาดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความเป็นสากลและความเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ชิง เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียและยุโรปจะถวายบรรณาการต่อจักรพรรดิจีนเป็นระยะ ๆ[1] โดยจีนมีการวาดภาพแบบนี้มานานแล้ว (ซึ่งถือเป็น "ภาพวาดการถวายบรรณาการในแต่ละช่วงเวลา") โดยเริ่มวาดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ประเพณีการวาดภาพวาดดังกล่าวสิ้นสุดลงในช่วงที่เกิดสงครามฝิ่น ซึ่งทำลายอุดมคติของจักรวรรดิจีนอันยิ่งใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของโลก และเปิดทางให้จีนตระหนักรู้ว่าตนก็เป็นเพียงประเทศหนึ่งเช่นเดียวกับประเทศทั้งหลาย[1] หลักการดังกล่าวเป็นหนึ่งในการแสดงความเคารพต่อจักรพรรดิจีนอย่างไม่มากก็น้อย โดยจะมีการนำบรรณาการไปถวายต่อจักรพรรดิจีนเป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ต่อการรับทราบถึงการเป็นผู้นำของจีน[2] ภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิงได้กล่าวถึงไว้ว่า "จักรพรรดิทรงประทับอยู่ตรงกลาง ควบคุมอยู่เหนือชาติอื่น ๆ และทุกสรรพสิ่งภายใต้พระอาทิตย์"[2]

การใช้คำว่า "หมื่นชาติ" ("萬國") มีความหมายโดยนัยหมายถึงการมีชาติเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนนับไม่ถ้วน

เอเชีย[แก้]

ราชทูตที่เข้ามาถวายบรรณาการจากนานาประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลี (朝鮮) อันนาม (安南) รีวกีว (琉球國) สยาม (暹羅國) ลูซอน (呂宋, ฟิลิปปินส์) ซูลู (蘇祿) พม่า (緬甸國)

ซินเจียง[แก้]

ราชทูตบางส่วนจากดินแดนซินเจียงซึ่งเพิ่งถูกยึดครองโดยราชวงศ์ชิง (สงครามชิง-ซูงการ์) มีชนเผ่า เช่น อี่ลี้ (伊犁) มาจากศูนย์กลางเดิมของรัฐข่านซูงการ์ อุกตูร์ปัน (烏什) คัชการ์ (喀什喀爾) และยาร์เคน (葉爾奇木) เป็นต้น

ยุโรป[แก้]

ราชทูตจากหลายชาติในยุโรปยังได้ส่งบรรณาการมาถวายแก่จีน เช่น ฝรั่งเศส (法蘭西) ฮอลแลนด์ (荷蘭) อังกฤษ (英吉利) และรัสเซีย (鄂羅斯國)

ภาพพิมพ์ยอดนิยมร่วมสมัยกับ หมื่นชาติเข้าถวายบรรณาการ[แก้]

ภาพพิมพ์ปีใหม่ (เหนียนฮวา 年畫) ชื่อ "หมื่นชาติเข้าถวายบรรณาการ" (Wanguo laichao tu 萬國來朝圖) โดย หวัง จุนฟู่ (王君甫) กลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17[3]

แม้ว่าหมื่นชาติเข้าถวายบรรณาการค่อนข้างเหมือนจริงและได้มาจากธรรมเนียมการวาดภาพของคณะเยซูอิตของจูเซปเป คาสตีลลิโอเน ภาพลักษณะนี้ยังก่อให้เกิดภาพพิมพ์ร่วมสมัยยอดนิยมบางภาพที่มีชื่อเดียวกัน แต่มีการแสดงภาพล้อเลียนมากกว่ามาก เช่น ภาพพิมพ์ปีใหม่ (เหนียนฮวา 年畫) โดย หวัง จุนฟู่ (王君甫, กลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17)[3] ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประเพณีศิลปะพื้นบ้านของจีนที่มีจุดประสงค์เพื่อทางการค้าโดยจำหน่ายให้กับครัวเรือนทั่วไปในช่วงเทศกาลปีใหม่[3]

หมื่นชาติเข้าถวายบรรณาการ (萬國來朝圖) ของหวัง จุนฟู่ ยังพรรณนาถึงต่างประเทศต่าง ๆ ที่มาเยือนราชสำนักของจักรพรรดิด้วย แต่เป็นไปในลักษณะที่ค่อนข้างแปลกประหลาด ผู้ถวายบรรณาการหลายคนที่มาถึงประตูเจิ้งหยางเหมิน (正陽門) ของพระราชวังต้องห้ามนั้นเป็นภาพที่มีความเข้าใจเชิงล้อเลียนมากขึ้นเกี่ยวกับภูมิศาสตร์และกายภาพต่างประเทศ: ภาพพิมพ์อัดแน่นไปด้วยราชทูตของ "ประเทศคนแคระ" (小人國) ประเทศของคนหน้าอกมีรู (穿心國) ญี่ปุ่น (日本) อินเดีย (天竺) ประเทศมุสลิม (回回國) ฮอลแลนด์ (荷蘭) ยักษ์ใหญ่แห่งปาตาโกเนีย (長人國) และ “มหาสมุทรตะวันตก” (西洋) อาจเป็นทวีปยุโรป[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Liu, Xin (12 August 2022). Anglo-Chinese Encounters Before the Opium War: A Tale of Two Empires Over Two Centuries (ภาษาอังกฤษ). Taylor & Francis. pp. 45–46. ISBN 978-1-000-63756-4.
  2. 2.0 2.1 Wade, Geoff; Chin, James K. (19 December 2018). China and Southeast Asia: Historical Interactions (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 135. ISBN 978-0-429-95213-5.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Zhang, Qiong (26 May 2015). Making the New World Their Own: Chinese Encounters with Jesuit Science in the Age of Discovery (ภาษาอังกฤษ). BRILL. pp. 352–353. ISBN 978-90-04-28438-8.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]