สโมสรฟุตบอลเดอะนิวเซนส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เดอะนิวเซนส์
ชื่อเต็มสโมสรฟุตบอลเดอะนิวเซนส์แห่งออสเวสตรีทาวน์และคลันซันต์ฟรายด์
ฉายาเดอะเซนส์, ทีเอ็นเอส
ชื่อย่อTNS
ก่อตั้งค.ศ. 1959
สนามพาร์กฮอลล์
ออสเวสตรี มณฑลชรอปเชอร์ ประเทศอังกฤษ
ความจุ2,034 ที่นั่ง (มีที่นั่ง 1,034 อัน)
ประธานไมก์ แฮร์ริส
ผู้จัดการแอนโทนี ลิมบริก
ลีกแม่แบบ:Welsh football updater
แม่แบบ:Welsh football updaterแม่แบบ:Welsh football updater
เว็บไซต์เว็บไซต์สโมสร
สีชุดทีมเยือน

สโมสรฟุตบอลเดอะนิวเซนส์แห่งออสเวสตรีทาวน์และคลันซันต์ฟรายด์ (อังกฤษ: The New Saints of Oswestry Town & Llansantffraid Football Club เวลส์: Clwb Pêl-droed y Seintiau Newydd) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ เดอะนิวเซนส์ หรือ ทีเอ็นเอส เป็นสโมสรฟุตบอลตัวแทนจากเมืองออสเวสตรีในมณฑลชรอปเชอร์ ประเทศอังกฤษ และหมู่บ้านคลันซันต์ฟรายด์-อัม-เมฮายน์ (เวลส์: Llansantffraid-ym-Mechain) ในมณฑลโพวิส ประเทศเวลส์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างกัน 8 ไมล์ (13 กิโลเมตร) สโมสรนี้แข่งขันในเวลช์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2018–19 เดอะนิวเซนส์ชนะเลิศติดต่อกันเป็นสมัยที่ 8 และสร้างสถิติเป็นสโมสรที่ชนะเลิศมากที่สุดคือ 13 สมัย[1]

สโมสรนี้ก่อตั้งใน ค.ศ. 1959 ในชื่อสโมสรฟุตบอลคลันซันต์ฟรายด์ หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1997 สโมสรได้เปลี่ยนชื่อเป็นสโมสรฟุตบอลโทเทิลเน็ตเวิร์กโซลูชันส์ตามชื่อผู้สนับสนุน ใน ค.ศ. 2003 สโมสรนี้ได้ยุบรวมกับสโมสรฟุตบอลออสเวสตรีทาวน์ และเปลี่ยนมาใช้ชื่อเดอะนิวเซนส์ซึ่งเป็นชื่อในปัจจุบันในอีกสามปีถัดมา

สนามเหย้าของทีเอ็นเอสคือพาร์กฮอลล์ในเมืองออสเวสตรี หลังจากย้ายจากสนามเดิมที่คลันซันต์ฟรายด์ใน ค.ศ. 2007 พาร์กฮอลล์รองรับผู้ชมได้ 2,034 คน โดยมีที่นั่งจำนวน 1,000 ที่นั่ง และมีแผนการที่จะขยายสนามให้รองรับผู้ชมได้ 3,000 ในอนาคต[2]

ประวัติ[แก้]

คลันซันต์ฟรายด์[แก้]

สโมสรเริ่มก่อตั้งโดยใช้ชื่อสโมสรฟุตบอลคลันซันต์ฟรายด์เพื่อเป็นตัวแทนของหมู่บ้านคลันซันต์ฟรายด์-อัม-เมฮายน์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้ชายแดนติดต่อกับอังกฤษใน ค.ศ. 1959 และใช้สนามรีครีเอชันกราวด์ (Recreation Ground) เป็นสนามเหย้า คลันซันต์ฟรายด์เข้าแข่งขันในมอนต์โกเมอรีเชอร์อเมเจอร์ฟุตบอลลีก ซึ่งเป็นลีกฟุตบอลระดับสี่ของเวลส์ในขณะนั้น คลันซันต์ฟรายด์ชนะเลิศจำนวน 7 ครั้ง เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 1989–90 คลันซันต์ฟรายด์ได้รับเลือกให้เข้าสู่เซ็นทรัลเวลส์ลีก (หรือมิดเวลส์ลีกในปัจจุบัน) พวกเขาแข่งขันเพียงฤดูกาลเดียวก็ได้ตำแหน่งรองชนะเลิศและเลื่อนชั้นสู่คัมรีอัลไลอันซ์ หลังจากนั้นพวกเขาก็ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง โดยในฤดูกาล 1992–93 พวกเขาได้เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในฐานะทีมชนะเลิศของคัมรีอัลไลอันซ์ และชนะเลิศการแข่งขันเวลช์อินเทอร์มิเดียตคัพด้วย

โทเทิลเน็ตเวิร์กโซลูชันส์[แก้]

คลันซันต์ฟรายด์ชนะเลิศเวลช์คัพใน ค.ศ. 1996 และได้สิทธิ์เข้าแข่งขันยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพเป็นครั้งแรก ในช่วงเวลานั้น บริษัทโทเทิลเน็ตเวิร์กโซลูชันส์ซึ่งเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในเมืองออสเวสตรีได้เสนอข้อตกลงเป็นผู้สนับสนุนมูลค่า 250,000 ปอนด์แลกกับการพ่วงชื่อบริษัทเข้าไปในชื่อสโมสรเป็นสโมสรฟุตบอลโทเทิลเน็ตเวิร์กโซลูชันส์ คลันซันต์ฟรายด์ ในรอบคัดเลือกพวกเขาจับสลากพบกับรุคคอร์ซุฟซึ่งเป็นทีมชนะเลิศฟุตบอลถ้วยจากโปแลนด์ พวกเขาเสมอ 1–1 ที่เวลส์ก่อนจะแพ้ 5–0 ที่โปแลนด์ ในปีถัดมาพวกเขาเปลี่ยนชื่อเหลือเพียงสโมสรฟุตบอลโทเทิลเน็ตเวิร์กโซลูชันส์เท่านั้น ซึ่งทำให้เป็นสโมสรแรกในสหราชอาณาจักรที่ตั้งชื่อโดยใช้ชื่อผู้สนับสนุนเท่านั้น และนับแต่นั้นมาพวกเขายังได้เข้าแข่งขันฟุตบอลระดับทวีปยุโรปอีกหลายครั้ง การแข่งขันฟุตบอลถ้วยยุโรปนัดเหย้าของพวกเขามักจะใช้สนามของสโมสรอื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเช่นนิวทาวน์หรือเรกซัมเนื่องจากรีครีเอชันกราวด์ซึ่งเป็นสนามเหย้าจริงของพวกเขาเองนั้นไม่ผ่านมาตรฐานของยูฟ่า ในการแข่งขันกับแมนเชสเตอร์ซิตีใน ค.ศ. 2003 พวกเขาใช้มิลเลนเนียมสเตเดียมที่คาร์ดิฟฟ์ซึ่งมีความจุ 72,000 ที่นั่งเป็นสนามเหย้า

ยุบรวมกับออสเวสตรีทาวน์[แก้]

ในฤดูร้อน ค.ศ. 2003 ผู้ถือหุ้นของสโมสรฟุตบอลออสเวสตรีทาวน์เข้าประชุมร่วมกับทีเอ็นเอสเพื่อเจรจาการยุบรวมทีม แม้ว่าผู้ถือหุ้นบางส่วนจะไม่ทราบเรื่องนี้ก็ตาม ออสเวสตรีทาวน์ซึ่งมีฐานะทางการเงินด้อยกว่านั้นอยู่ไม่ไกลจากทีเอ็นเอสนัก และแข่งขันในลีกของเวลส์เช่นกันแม้ว่าจะตั้งอยู่ในมณฑลชรอปเชอร์ในประเทศอังกฤษก็ตาม สมาคมฟุตบอลเวลส์ได้รับรองการรวมทีมในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2003 แม้ว่าเดิมทีเดียวนั้นยูฟ่าไม่เห็นด้วยกับการยุบรวมทีมที่อยู่ในคนละประเทศกัน แต่ยูฟ่าก็รับรองในเวลาต่อมา

ฤดูกาล 2003–04 ทีเอ็นเอสไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน พวกเขาได้เพียงรองชนะเลิศทั้งในลีกและเวลช์คัพ โดยตำแหน่งชนะเลิศทั้งสองรายการนั้นเป็นของริล อย่างไรก็ตาม ทีเอ็นเอสได้ตำแหน่งชนะเลิศทั้งสองรายการในฤดูกาลถัดมา

ในช่วงปิดฤดูกาลก่อนเริ่มฤดูกาล 2005–06 หลังจากที่ยูฟ่าไม่อนุมัติให้ลิเวอร์พูลซึ่งชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเข้าแข่งขันในฤดูกาลถัดไป ทีเอ็นเอสได้เสนอตัวแข่งขันกับลิเวอร์พูลแบบนัดเดียวเพื่อชิงสิทธิ์เข้าแข่งขันรอบคัดเลือกรอบแรก[3] หลังจากที่ยูฟ่าได้ตกลงให้ลิเวอร์พูลเข้าแข่งขันในรอบคัดเลือกรอบแรกได้ ทีเอ็นเอสและลิเวอร์พูลก็จับสลากได้พบกันเอง โดยการแข่งขันนัดแรกที่แอนฟีลด์ ลิเวอร์พูลเป็นฝ่ายชนะ 3–0 จากแฮตทริกของสตีเวน เจอร์ราร์ด นัดที่สองซึ่งแข่งขันที่เรกซัมนั้น จีบรีล ซีเซทำประตูขึ้นนำก่อนที่เจอร์ราร์ดซึ่งเปลี่ยนตัวลงมาทำเพิ่มได้อีกสองประตู ทำให้ลิเวอร์พูลชนะด้วยผล 3–0 เช่นกัน แม้ว่าทีเอ็นเอสจะเป็นฝ่ายแพ้ในการแข่งขันก็ยังได้รับการยกย่อง โดยเฉพาะเจอราร์ด โดเฮอร์ตี ผู้รักษาประตูชาวไอร์แลนด์เหนือซึ่งราฟาเอล เบนิเตซได้ยกย่องว่าเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในการแข่งขันทั้งสองนัด[4]

เดอะนิวเซนส์[แก้]

ต้น ค.ศ. 2006 บริติชเทเลคอมได้เข้าควบรวมกิจการของโทเทิลเน็ตเวิร์กโซลูชันส์[5] ซึ่งทำให้ข้อตกลงการเป็นผู้สนับสนุนสิ้นสุดลงเมื่อจบฤดูกาล 2005–06 และจำเป็นต้องหาชื่อใหม่ในการแข่งขันฤดูกาลถัดไป ซึ่งพวกเขาตกลงกันได้ว่าจะใช้ชื่อ "เดอะนิวเซนส์" ซึ่งสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของทั้งสองสโมสรที่ควบรวมกันก่อนหน้านี้ โดยคลันซันต์ฟรายด์มีฉายาว่า "เดอะเซนส์" มาก่อน ในขณะที่ประวัติศาสตร์ของเมืองออสเวสตรีเองก็เกี่ยวข้องกับออสวอลด์แห่งนอร์ทัมเบรียซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องเป็นนักบุญออสวอลด์ นอกจากนี้ชื่อใหม่ยังสอดคล้องกับอักษรย่อ "ทีเอ็นเอส" ของชื่อทีมในขณะนั้นด้วย ตราใหม่ของสโมสรได้ออกแบบให้มีรูปสัตว์สองตัว ได้แก่มังกรซึ่งสื่อถึงคลันซันต์ฟรายด์ในเวลส์ และสิงโตซึ่งสื่อถึงออสเวสตรีในอังกฤษ[6]

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าเดอะนิวเซนส์ได้แจ้งขอใช้สนามเดวาสเตเดียมซึ่งเป็นสนามของสโมสรเชสเตอร์ซิตีเพื่อแข่งขันในฤดูกาล 2010–11 หลังจากไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณสำหรับการสร้างอัฒจันทร์ใหม่ขนาด 1,000 ที่นั่งที่พาร์กฮอลล์ ซึ่งในขณะนั้นสโมสรเชสเตอร์ซิตีเองก็ประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน เดวาสเตเดียมนั้นตั้งคร่อมเขตแดนระหว่างอังกฤษและเวลส์ โดยอัฒจันทร์และพื้นสนามตั้งอยู่ในเวลส์ ในขณะที่อาคารสำนักงานของสโมสรอยู่ในอังกฤษ และเชสเตอร์ซิตีเองก็สังกัดอยู่กับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ[7] อย่างไรก็ตาม การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ เชสเตอร์ซิตีล้มละลายในเวลาต่อมา และเดอะนิวเซนส์ยังคงใช้สนามพาร์กฮอลล์ตามเดิมในฤดูกาลถัดมา

เดอะนิวเซนส์ชนะเลิศเวลช์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2009–10 และเข้าแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2010–11 ในรอบคัดเลือก โดยจับสลากได้พบกับโบฮีเมียนส์จากสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งชนะเลิศลีกของไอร์แลนด์พรีเมียร์ดิวิชันในรอบคัดเลือกรอบที่สอง โดยถึงแม้ว่าการแข่งขันนัดแรกที่ดาลีเมาต์พาร์ก กรุงดับลิน โบฮีเมียนส์จะเอาชนะไปได้ 1–0 ในวันที่ 13 กรกฎาคม[8] แต่เดอะนิวเซนส์กลับมาเอาชนะได้ที่พาร์กฮอลล์ด้วยผล 4–0 และชนะด้วยผลประตูรวม 4–1 ซึ่งเป็นการชนะครั้งแรกในฟุตบอลถ้วยระดับทวีปนับตั้งแต่เข้าแข่งขันครั้งแรกใน ค.ศ. 1996[9] แพต เฟนลอน ผู้จัดการสโมสรโบฮีเมียนส์ได้ตำหนิผลงานของลูกทีมว่า "น่าอับอาย" และ "ทำให้สโมสร ลีก และประเทศเสียชื่อเสียง"[10] ซึ่งผลการแข่งขันครั้งนั้นถือเป็นหนึ่งในผลการแข่งขันฟุตบอลถ้วยยุโรปที่แย่ที่สุดของโบฮีเมียนส์ในรอบ 40 ปี[11] เดอะนิวเซนส์ผ่านเข้ารอบไปพบกับอันเดอร์เลคต์ซึ่งชนะเลิศจากเบลเจียนเฟิสต์ดิวิชัน เอ โดยแพ้ทั้งสองนัดด้วยผลรวม 6–1 และผ่านเข้าไปแข่งขันกับซีเอสเคเอ โซเฟียจากบัลแกเรียในรอบคัดเลือกยูโรปาลีกก่อนจะแพ้ด้วยผลรวม 5–2

ในฤดูกาลถัดมา เดอะนิวเซนส์ในฐานะรองชนะเลิศเวลช์พรีเมียร์ลีกได้ผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือกยูโรปาลีก โดยเอาชนะคลิฟตันวิลล์จากไอร์แลนด์เหนือด้วยผลรวม 2–1 ในรอบแรกก่อนจะแพ้มีจือแลนจากเดนมาร์กด้วยผลรวม 8–3 ในรอบถัดมา

วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2016 เดอะนิวเซนส์ชนะเคฟเวน ดรูอิดส์ 2–0 ซึ่งเป็นการชนะครั้งที่ 27 ติดต่อกัน และกลายเป็นสโมสรในลีกสูงสุดที่ชนะติดต่อกันมากที่สุดในโลก โดยทำลายสถิติเดิมของอายักซ์ที่ทำไว้ 26 นัดระหว่างทศวรรษ 1970[12] แต่สถิติของพวกเขาหยุดลงเพียง 27 นัดหลังจากที่เสมอกับนิวทาวน์ 3–3 ในการแข่งขันนัดถัดมา[13]

ผลงานในระดับทวีป[แก้]

การแข่งขัน[แก้]

ฤดูกาล การแข่งขัน รอบ คู่แข่งขัน นัดแรก นัดที่สอง ผลรวม
1996–97 ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ QR   รุค คอร์ซุฟ 1–1 (H)[a] 0–5 (A) 1–6
2000–01 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1Q   เลวาเดีย ทาลลินน์ 2–2 (H)[a] 0–4 (A) 2–6
2001–02 ยูฟ่าคัพ QR   ปอลอญญา วอร์ซอ 0–4 (A) 0–2 (H)[a] 0–6
2002–03 ยูฟ่าคัพ QR   อามีกา วรอญกี 0–5 (A) 2–7 (H)[b] 2–12
2003–04 ยูฟ่าคัพ QR   แมนเชสเตอร์ ซิตี 0–5 (A) 0–2 (H)[c] 0–7
2004–05 ยูฟ่าคัพ 1Q   เอิสเต 0–2 (A) 1–2 (H)[a] 1–4
2005–06 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1Q   ลิเวอร์พูล 0–3 (A) 0–3 (H)[a] 0–6
2006–07 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1Q   แอ็มอือเปอา 0–1 (A) 0–1 (H)[b] 0–2
2007–08 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1Q   แวนต์สปิลส์ 3–2 (H)[b] 1–2 (A) 4–4 (a)
2008–09 ยูฟ่าคัพ 1Q   ซูดูวา มารียัมโปเล 0–1 (A) 0–1 (H)[b] 0–2
ยูฟ่ายูโรปาลีก 1Q   ฟราม เรคยาวิก 1–2 (A) 1–2 (H) 2–4
2010–11 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2Q   โบฮีเมียนส์ 0–1 (A) 4–0 (H) 4–1
3Q   อันเดอร์เลคต์ 1–3 (H) 0–3 (A) 1–6
ยูฟ่ายูโรปาลีก PO   ซีเอสเคเอ โซเฟีย 0–3 (A) 2–2 (H) 2–5
2011–12 ยูฟ่ายูโรปาลีก 1Q   คลิฟตันวิลล์ 1–1 (H) 1–0 (A) 2–1
2Q   มีจือแลน 1–3 (H) 2–5 (A) 3–8
2012–13 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2Q   เฮลซิงบอร์ย 0–0 (H) 0–3 (A) 0–3
2013–14 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2Q   แลเกีย วอร์ซอ 1–3 (H)[a] 0–1 (A) 1–4
2014–15 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2Q   สลอวัน บราติสลาวา 0–1 (A) 0–2 (H) 0–3
2015–16 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1Q   เบ36 ทอร์สเฮาน์ 2–1 (A) 4–1 (H) 6–2
2Q   วิเดโอตอน 0–1 (H) 1–1 (A) 1–2
2016–17 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1Q   เตรเปนเน 2–1 (H) 3–0 (A) 5–1
2Q   อาโปเอล 0–0 (H) 0–3 (A) 0–3
2017–18 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1Q   ยูโรปา 1–2 (H) 3–1 (A) 4–3
2Q   ริเยกา 0–2 (A) 1–5 (H) 1–7
2018–19 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1Q   ชเกนเดีย 0–5 (A) 4–0 (H) 4–5
ยูฟ่ายูโรปาลีก 2Q   ลิงคอล์น เรดอิมป์ส 2–1 (H) 1–1 (A) 3–2
3Q   มีจือแลน 0–2 (H)[d] 1–3 (A) 1–5
2019–20 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 1Q   เฟรอนีเกลี 2–2 (H) 1–0 (A) 3–2
2Q   โคเปนเฮเกน 0–2 (H) 0–1 (A) 0–3
ยูฟ่ายูโรปาลีก 3Q   ลูโดโกเรตส์ รัซกราด 0–5 (A) 0–4 (H) 0–9
2020–21 ยูฟ่ายูโรปาลีก 1Q   เอ็มเอ็ชกา ชิลินา 3–1 (ต่อเวลา) (H)
2Q   เบ36 ทอร์สเฮาน์ 2–2 (ลูกโทษ 4–5) (A)
2021–22 ยูฟ่าคอนเฟอเรนซ์ลีก 1Q   เกลนโทรัน 1–1 (A) 2–0 (H) 3–1
2Q   เคานอ ฌัลกิริส 5–0 (A) 5−1 (H) 10−1
3Q   วิกตอเรีย เปิลเซน 4–2 (H) 1–3 (ต่อเวลา) (A) 5–5 (ลูกโทษ 1–4)
หมายเหตุ
  • QR: รอบคัดเลือก
  • 1Q: รอบคัดเลือกรอบแรก
  • 2Q: รอบคัดเลือกรอบที่สอง
  • 3Q: รอบคัดเลือกรอบที่สาม
  • PO: รอบเพลย์ออฟ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 แข่งขันที่เรสคอร์สกราวด์ เร็กซัม
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 แข่งขันที่แลตแทมพาร์ก นิวทาวน์
  3. แข่งขันที่มิลเลนเนียมสเตเดียม คาร์ดิฟฟ์
  4. แข่งขันที่คาร์ดิฟฟ์ซิตีสเตเดียม คาร์ดิฟฟ์

สรุป[แก้]

การแข่งขัน แข่งขัน ชนะ เสมอ แพ้ ประตูได้ ประตูเสีย ผลต่าง
ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 33 9 4 20 34 58 −24
ยูฟ่าคัพและยูฟ่ายูโรปาลีก 20 2 3 15 15 51 −36
ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 2 0 1 1 1 6 −5
รวม 55 11 8 36 50 115 –65

อ้างอิง[แก้]

  1. "Saints crowned Champions for thirteenth time". Welsh Premier League. 13 เมษายน 2562.
  2. "Park Hall, Oswestry". The New Saints of Oswestry Town F.C. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2007.
  3. Welsh club offer Liverpool lifeline เก็บถาวร 21 กุมภาพันธ์ 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, RTÉ, 26 พฤษภาคม 2005.
  4. Benitez praise for TNS goalkeeper, BBC Sport Online, 19 กรกฎาคม 2005. Retrieved 12 กรกฎาคม 2006.
  5. "BT to 'expand' TNS after buy-out". BBC. 31 ตุลาคม 2548. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2552. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "The New Saints F.C. Crest & Club History".
  7. "The New Saints look at moving to Chester's Deva Stadium". BBC Sport. 10 กุมภาพันธ์ 2553. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2553. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "Bohemians 1–0 TNS". RTÉ Sport. 13 กรกฎาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 กรกฎาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "The New Saints 4–0 Bohemians (4–1 agg)". RTÉ. 20 กรกฎาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กรกฎาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. "Embarrassed Fenlon slams 'disgraceful' Bohs". rte.ie. 21 กรกฎาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กรกฎาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "Fenlon fumes as sorry Gypsies sent crashing". Irish Independent. 21 กรกฎาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. Brown, Tom (30 ธันวาคม 2559). "Welsh Premier League: Champions New Saints break Ajax world record". BBC Sport. สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "New Saints' world-record run of victories is ended by 3-3 draw with Newtown". BBC Sport. 14 มกราคม 2560. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]