สวนปริศนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวนปริศนา  
ปกปี พ.ศ. 2454
ผู้ประพันธ์ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนทท์
ชื่อเรื่องต้นฉบับThe Secret Garden
ประเทศสหรัฐอเมริกา
สหราชอาณาจักร
ภาษาภาษาอังกฤษ
ประเภทวรรณกรรมเด็ก
สำนักพิมพ์Frederick A. Stokes (สหรัฐอเมริกา)
Heinemann (สหราชอาณาจักร)
วันที่พิมพ์2454 (ค.ศ. 1911)
ชนิดสื่อพิมพ์ (ปกแข็งและปกอ่อน)
หน้า375

สวนปริศนา หรือ สวนลับ หรือ ในสวนศรี หรือ ในสวนลับ (อังกฤษ: The Secret Garden) เป็นวรรณกรรมเด็กของนางฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เนทท์ ที่เดิมพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 แล้วต่อมาจึงพิมพ์รวมเป็นหนังสือครั้งแรกในปี 2545 ปัจจุบันเป็นหนังสือยอดนิยมเล่มหนึ่งของผู้เขียน และนับว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิกสำหรับเด็ก ซึ่งได้ดัดแปลงทำเป็นละครและภาพยนตร์แล้วหลายครั้งหลายครา

โครงเรื่อง[แก้]

แมรี่ เล็นน็อกซ์ เป็นเด็กหญิงมีปัญหา ขี้โรค และไม่มีใครรักอายุ 10 ขวบที่เกิดในประเทศอินเดียกับพ่อแม่ชาวอังกฤษที่ร่ำรวยแต่เห็นแก่ตัว ส่วนมากคนใช้เป็นคนดูแลเธอ ผู้ตามใจเธอทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไม่ให้ไปกวนพ่อแม่ เธอจึงโตเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวและเห็นแก่ตัว ในกาลครั้งหนึ่ง อหิวาตกโรคได้เกิดในอินเดีย ทำให้พ่อแม่และคนใช้ทั้งหมดของเธอเสียชีวิต จนมีคนพบแมรี่ยังรอดชีวิตอยู่คนเดียวในบ้านที่เปล่าเปลี่ยว

เธอได้ไปอยู่กับบาทหลวงชาวอังกฤษและครอบครัวของเขาเป็นระยะสั้น ๆ ก่อนส่งไปอยู่ที่ยอร์กเชอร์ ประเทศอังกฤษ กับนายอาร์คิบอล์ด เครเว็น ผู้เป็นลุงที่ไม่เคยพบมาก่อนโดยอยู่ในคฤหาสถ์ชื่อว่า มิสเซิลเธวตแมเนอร์ ตอนแรก เธอก็คงเป็นตัวของเธอเอง คือหน้าหงิกและไม่สุภาพ เพราะเธอไม่ชอบบ้านหลังใหญ่โตของคุณลุง ไม่ชอบคนในบ้าน และไม่ชอบทุ่งโล่งรอบ ๆ ที่ใหญ่มหาศาลมากที่สุด ซึ่งดูทั้งรกทั้งไม่งามในหน้าหนาว ผู้ดูแลบอกให้เธออยู่แค่ในห้องสองห้องของเธอ และเล่นด้วยตัวเองโดยไม่มีคนสนใจ

มีสาวใช้ใจดีชื่อว่า มาร์ธา โซว์เออร์บี้ ที่เล่าเรื่องของนางเครเว็นที่เสียชีวิตไปแล้วว่า เธอได้ใช้เวลาเป็นวัน ๆ ในสวนล้อมด้วยกำแพงที่เป็นส่วนตัวเพื่อปลูกต้นกุหลาบ แต่ต่อมานางเครเว็นเสียชีวิตเพราะกิ่งไม้ใหญ่ตกมาทับเธอ ทำให้นายเครเว็นเสียใจจนกระทั่งล็อกปิดสวนแล้วฝังกุญแจไม่ให้ใครรู้ แมรี่สนใจเรื่องนี้มากจนกระทั่งกิริยาที่ไม่ดีของเธอก็เริ่มอ่อนลง

อีกไม่นานเท่าไร เธอก็กลับพอใจเป็นเพื่อนกับมาร์ธา, เบ็น เว็ธเธอร์สแตฟ์ คนสวน, และนกเขนน้อยยุโรป (คล้ายนกกางเขน แต่หางสั้นกว่าและสีไม่เหมือนกัน) ที่เป็นกันเองและเธอจัดบุคลิกให้คล้าย ๆ มนุษย์ ความอยากอาหารของเธอก็เลยเจริญขึ้น ทำให้แข็งแรงขึ้น โดยเล่นคนเดียวอยู่ในทุ่ง ส่วนมารดาของมาร์ธาก็ซื้อเชือกกระโดดให้แก่แมรี่หวังให้เธอแข็งแรง ซึ่งแมรี่ก็ชอบเล่นกับมันทันที แมรี่ใช้เวลาคิดถึงเรื่องทั้งสวนลับนี้และเสียงคนร้องที่เธอได้ยินตอนกลางคืน แม้ว่า พวกคนใช้จะอ้างว่าไม่ได้ยินเสียงร้อง

เมื่อแมรี่กำลังสำรวจรอบ ๆ สวน เพื่อนนกก็ดึงให้เธอสนใจดินที่พึ่งกลับขึ้นมาใหม่ ซึ่งแมรี่ก็พบกุญแจสำหรับสวนลับ แล้วในที่สุดก็ประตูที่เปิดเข้าไปในสวน เธอขอมาร์ธาอุปกรณ์สำหรับทำสวน ซึ่งมาร์ธาส่งน้องชายอายุ 12 ขวบชื่อดิกอนนำมาให้ แมรี่กับดิกอนก็รู้สึกชอบเป็นเพื่อนกัน เพราะดิกอนใจดีกับสัตว์และมีอัธยาศัยดี ด้วยความอยากจะรู้เรื่องทำสวน แมรี่ก็เลยบอกถึงสวนลับให้ดิกอนรู้

ในคืนนั้น แมรี่ได้ยินเสียงร้องอีก จึงไปตามเสียง แล้วพบเด็กชายตัวเล็ก ๆ อายุใกล้ ๆ เธอ ที่อยู่ในห้องนอนที่ซ่อนอยู่อย่างไม่คาดฝัน โดยมีชื่อว่าคอลิน ไม่นานเท่าไร แมรี่ก็รู้ว่า เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน เพราะว่า เขาเป็นลูกชายลุงของเธอ มารดาของเขาได้เสียชีวิตเมื่อเขายังเป็นทารก และเขามีโรคไขสันหลังที่ไม่ชัดเจนอะไรบางอย่าง ในอาทิตย์นั้น แมรี่ก็ไปเยี่ยมเขาทุกวัน ทำให้เขาสนใจเรื่องทุ่ง ดิกอนและสัตว์เพื่อน ๆ ของดิกอน และสวน แทนการสนใจปัญหาตัวเอง

แมรี่ในที่สุดก็สารภาพกับดิกอนว่ารู้ว่าสวนอยู่ที่ไหน แล้วตกลงกันว่า คอลินควรจะได้อากาศที่สดชื่น ต่อมา ก็ให้อุ้มคอลินขึ้นรถเข็นของเขา แล้วนำมาที่สวน เป็นครั้งแรกที่เขาออกมานอกบ้านเป็นเวลาหลายปี ในขณะที่อยู่ในสวน เด็ก ๆ ก็ตกใจเมื่อเห็นเบ็น เว็ธเธอร์สแตฟ์ มองข้ามกำแพงเข้ามาบนบันไดยืนนอกสวน ผู้แปลกใจและโกรธว่าเด็ก ๆ กำลังเล่นอยู่ในสวนของแม่คอลิน และเขาก็ยอมรับว่า เขานึกว่า คอลินเป็นเด็กพิการ ซึ่งท้าทายให้คอลินยืนขึ้นจากเก้าอี้แล้วพบว่า ขาของเขาปกติ แม้ว่าจะอ่อนแอเพราะไม่ได้ใช้มานาน

คอลินมาที่สวนทุกวัน และร่วมมือกับเพื่อน ๆ เก็บความลับเรื่องสุขภาพที่ดีขึ้นตั้งใจจะสร้างความแปลกใจให้พ่อของเขา ผู้ยังเดินทางและยังเศร้าเรื่องความตายของภรรยาอยู่ เมื่อสุขภาพของคอลินดีขึ้นเรื่อย ๆ พ่อของเขาที่อยู่ห่างไกลก็รู้สึกดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งคืนหนึ่งฝันเห็นภรรยาร้องเรียกเขาจากในสวน เมื่อเขาได้รับจดหมายจากมารดาของมาร์ธา เขาก็ถือโอกาสกลับมาที่บ้าน

เขามาเดินที่นอกกำแพงสวนคิดถึงภรรยาของเขา แต่ได้ยินเสียงจากข้างใน แล้วพบว่าประตูไม่ได้ล็อก และตกใจที่เห็นสวนกำลังออกดอกอย่างงดงามและลูกชายที่ได้สุขภาพกลับคืนมา พวกคนใช้ต่อมาก็ได้มองอย่างงง ๆ เห็นนายเครเว็นเดินกลับมาที่บ้านพร้อมกับลูกชายที่วิ่งมาด้วยข้าง ๆ

สวน Great Maytham Hall ในเคนต์ ประเทศอังกฤษ

ธีมหลัก[แก้]

การฟื้นตัว[แก้]

ความเจริญขึ้นของสวนและของแมรี่เป็นสัญลักษณ์หลักของหนังสือ ที่ได้แรงดลใจส่วนหนึ่งจากความสนใจของผู้เขียนในทฤษฎีของลัทธิ Christian Science[1] คือสวนลับที่คฤหาสถ์มิสเซิลเธวตแมเนอร์ เป็นที่ ๆ เกิดทั้งความหายนะและการฟื้นตัวของครอบครัว[2]

โดยใช้สวนเป็นแนวเรื่อง นางเบอร์เนทท์ได้เขียนเรื่องพลังธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้รักษา ตามตัวอักษรเลยก็คือ แมรี่ เล็นน็อกซ์ ได้เกิดชีวิตชีวาขึ้นพร้อม ๆ กับสวนของเธอ และก็เป็นอย่างนั้นด้วยสำหรับคอลินและนายเครเว็น คือ เมื่อพวกเขาหันไปสนใจอะไรนอกเหนือไปจากปัญหาของตัวเอง พวกเขาจึงได้พบความสุขและชีวิตใหม่

มีอะไรในเรื่องที่ขนานกันหลายอย่างเมื่อกล่าวถึงการฟื้นสภาพ คือ แมรี่มาถึงบ้านในฤดูหนาว เมื่อดอกไม้ในสวนกำลังจำศีลอยู่ เธอจึงไม่แน่ใจว่าต้นไม้ตายหมดหรือยัง โดยขนานกัน แมรี่เป็นเด็กในอินเดียที่ไม่มีบุคลิกภาพอะไรเพราะไม่มีใครสนใจในเธอ มีแต่คนสนใจในฐานะของเธอและพ่อแม่ แมรี่จึงเป็นเด็กหญิงที่ "จำศีล" อยู่เช่นกัน ผู้ต้องได้การดูแลเหมือนกับต้นไม้ต้องการ

แมรี่ดูแลสวน และดิกอน ผู้สามารถทำสัตว์ให้เชื่องได้ ก็ดูแลแมรี่ ก่อนที่เขาจะมาช่วย แมรี่ไม่รู้จักว่าควรจะประพฤติกับเด็กอายุราวกันอย่างไร ว่าควรมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ เล่น หรือใช้จินตนาการ ดิกอนช่วยดึงบุคลิกของเธอออกมา ช่วยแก้พฤติกรรมอย่างใจดีเมื่อเธอผิดพลาด และแสดงความเมตตากรุณาต่อเธอเป็นคนแรก ๆ นอกเหนือไปจากมาร์ธาพี่สาว มองในหลาย ๆ แง่ ดิกอนเป็นเหมือนกับเทวดาเด็ก คล้าย ๆ กับปีเตอร์ แพน เขาไม่เหมือนคนอื่นและน่ารักมาก คล้ายกับเทวดาประจำทุ่ง แม้ว่ารูปร่างจะไม่งามมาก

การฟื้นสภาพก็แพร่กระจายต่อไปเพราะว่าเมื่อดิกอนให้ความคิดใหม่ ๆ ความสนใจ และความเมตตาแก่แมรี่ แมรี่ก็หันไปทางคอลินแล้วเทอุดมคติและหลักเหล่านั้นให้แก่เขา ซึ่งเป็นเด็กชายที่เหงาโดดเดี่ยวยิ่งกว่าแมรี่ ความพิการและความเชื่อมั่นว่าเขาจะตาย ขยายอุปมาว่าด้วยสวนแม้ออกไปอีก คือ คอลิน ที่อยู่ในบ้านตลอด ก็เหมือนกับต้นไม้ที่ไม่ได้แสงตะวัน เขาเหี่ยวแห้ง (คือกล้ามเนื้อฝ่อเพราะไม่ได้ออกกำลัง) และไม่มีความสุขเลย เมื่อแมรี่เริ่มคุยกับเขาทุกวัน เพื่อสร้างความสนใจและนำแสงตะวันมาให้เขาในชีวิต คอลินก็ลุกตื่นขึ้น เด็กทั้งสามคนเล่นในสวนแล้วเติบโตเป็นตัวของตัวเอง และ "มนต์" ในการดูแลผู้อื่นก็เป็นธีมหลักอย่างหนึ่งในความสัมพันธ์ที่เกี่ยวพันกันไปหมดเช่นนี้

ความสำนึกเห็นใจผู้อื่น[แก้]

เรื่องเป็นการประจัญกันระหว่างสามัญสำนึกกับ "ภูมิปัญญา" ที่ยอมรับกันในสมัยนั้น โดยที่สามัญสำนึกเป็นผู้ชนะ ทั้งคนใช้และพ่อมองว่าทำให้เด็กเสียหายเพราะได้ความเชื่อผิด ๆ จากหมอที่ใช้ "ความรู้" ของแพทย์ในยุคนั้น ส่วนบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ของความสำนึกเห็นใจผู้อื่นแบบอังกฤษ ก็คือ ซูซาน โซว์เออร์บี้ ผู้เป็นมารดาของมาร์ธาและดิกอน ผู้มีพฤติกรรมเหมือนกับแม่ ที่ยินดียอมรับเด็กที่ไม่มีใครรักเช่นแมรี่และคอลิน เธอสำนึกถึงความสำคัญของการหัวเราะที่ช่วยให้ทั้งสองแข็งแรงขึ้น แต่ก็สำนึกถึงความสำคัญของการทะเลาะกันเพื่อแสดงความสำคัญของสิ่งที่ตนพูดด้วย เธอมักจะทำสังเกตการณ์โดยเป็นโฆษกให้กับผู้เขียน เช่น อุปมาว่าด้วยโลกเหมือนกับส้ม ซึ่งก็คือ "ไม่มีเด็กคนไหนเป็นเจ้าของโลก แต่ไม่นานก็จะค้นพบส่วนที่ตนพึงได้" เธอยังให้ข้อสังเกตด้วยว่า สิ่งที่แย่ที่สุดสองอย่างในโลกคือ "เมื่อเด็กไม่เคยได้อะไรตามใจเลย" (แมรี่) หรือ "เมื่อเด็กได้ทุกอย่างตามใจ" (คอลิน) ความเป็นกันเอง เป็นผู้ดูแลห่วงใย และความเชื่อในวิธีพยาบาลที่ง่าย ๆ ในที่สุดก็ช่วยทำลายอุปสรรคสุดท้ายของแมรี่และคอลิน คือ อุดมคติที่ถือชนชั้นวรรณะ ตำแหน่ง และความหยิ่งยโสโอหัง ที่ทำให้ไม่สำนึกเห็นใจผู้อื่น

ซูซาน โซว์เออร์บี้ ก็เป็นสัญลักษณ์ของสามัญสำนึกที่ทำให้เธอสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับแมรี่และคอลินได้ เมื่อเด็ก ๆ รู้สึกหิวอย่างปิดบังไม่ได้ เธอก็จะนำอาหารมาให้ เมื่อแมรี่อธิบายถึงการแสดงละครที่ร้ายกาจและเกินไปของคอลินว่า ยังป่วยอยู่ เธอก็สนับสนุนให้หัวเราะและวางกลยุทธ์ ก่อนที่เธอจะรู้เรื่องสวนลับและคอลิน เธอก็ปล่อยให้ดิกอนเก็บความลับของเขา แม้เขาเสนอว่าจะบอก เธอเป็นตัวอย่างที่ดิเลิศสำหรับความไว้วางใจ การทำตามความเหมาะสม และนิสัยเป็นกันเอง ตรงกันข้ามกับความมั่งคั่งของมิสเซิลเธวตแมเนอร์ กับนายเครเว็น และกับการดูแลรักษาคอลิน เมื่อเด็กทำตามสามัญสำนึกแบบชาวบ้านของเธอแทนที่จะทำตาม "วิทยาศาสตร์" ที่ซับซ้อน จึงฟื้นสภาพได้เนื่องจากอากาศที่ดีในฤดูร้อน การออกกำลังกาย การหัวเราะ และสามัญสำนึกแบบอังกฤษ

การเอาชนะความช้ำใจ[แก้]

ทั้งแมรี่และคอลินเกิดความช้ำใจพอสมควรในวัยเด็ก ผลของความช้ำใจแสดงอย่างละเอียดในหนังสือไม่เหมือนกับหนังสือเด็กทั่วไป

คอลินยอมรับว่า เขาทำให้ตัวเองตีโพยตีพายอย่างควบคุมไม่ได้เนื่องจากความคิดที่ไม่ดี แม้ว่าเขาจะรู้สึกถูกหัวเราะเยาะ และกังวลว่าผู้ใหญ่ที่ดูแลเขาจะคิดถึงเขาอย่างไร จึงไม่ยอมรับเรื่องนี้กับใครนอกจากแมรี่ เพราะเขาเข้าใจว่า เธอผู้เป็นเด็กเหมือนกัน จะไม่หัวเราะเขา สิ่งที่คอลินกลัวที่สุดก็คือถูกหัวเราะ เพราะเขามั่นใจอยู่แล้วว่าคนมักหัวเราะเยาะเขา เขาเชื่อว่าเขาจะเสียชีวิตอีกไม่นาน แต่ความเจ็บป่วยที่ไม่มีอยู่จริง ๆ ของเขามักมาจากความหวาดระแวงของตัวเองและการคิดมากเกินไปโดยไม่มีอะไรอย่างอื่นทำ

ความสำนึกเห็นใจผู้อื่นไม่ใช่จะเปรียบได้โดยตรงกับ "การเข้าไปยุ่งมากเกินไป" เท่านั้น แต่ยังเทียบกับ "การเข้าไปยุ่งแบบผิด ๆ" ได้อีกด้วย คือ โดยยอมคอลิน และเห็นชอบกับความกลัวแบบเด็ก ๆ ของเขาทุกอย่าง พวกคนดูแลจึงเพิ่มความวิตกกังวลและความบ้าคลั่ง แทนที่จะสอนเขาวิธีที่มีประโยชน์เพื่อรับมือกับอารมณ์ซึมเศร้าและความวิตกกังวลจนทำอะไรไม่ถูกของตนเอง

สำหรับแมรี่ เธอไม่มีใครสอนให้เข้ากับเด็กอื่น ๆ ได้ เช่น เมื่อเธอไปอยู่กับครอบครัวบาทหลวงชั่วคราว เธอทนลูกชายเขาแทบไม่ได้ ผู้ล้อเธอไม่เลิกเพราะว่าเธอเคร่งครัดและไม่ยุ่งกับคนอื่น ความไม่สุภาพและความหน้างอของแมรี่เป็นตัวซ่อนความอายและความกลัวของเธอ (เหมือนกับสัจพจน์ที่กล่าวในหนังสือว่า สัตว์จะขู่ก็ต่อเมื่อมันกลัว)

แมรี่มักจะเรียนรู้ประพฤติตามคนรอบ ๆ ข้างเมื่อไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จึงกลายเป็นกระจกสะท้อนสำหรับคนรอบข้างให้เห็นสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบในตนเอง เช่น เมื่อเลียนแบบพฤติกรรมที่พ่อแม่ของเธอมีต่อเธอ เธอจึงเป็นคนที่ไม่ยุ่งกับใครและหยิ่งเมื่อกำลังข้ามเรือ เมื่อเธอพบกับหัวหน้าแม่บ้าน คือ นางเม็ดล็อก ผู้มักจะพูดถึงแมรี่เหมือนกับเธอไม่ได้อยู่ที่นั่น แมรี่จึงเริ่มประพฤติเหมือนกับนางไม่ได้อยู่ที่นั่นเหมือนกัน (เช่น แมรี่อยู่ห่าง ๆ นางที่สถานีรถไฟ เพราะว่า "เธอไม่อยากให้ใครคิดว่า เธอเป็นลูกสาว") เมื่อแมรี่ไปถึงมิสเซิลเธวต (กับนางเม็ดล็อกผู้มารับ) เธอก็รู้สึกเหงา โกรธ และสับสนแล้ว

มาร์ธาเป็นคนแรกที่แสดงความเมตตาต่อเธอ และแม้ว่า แมรี่จะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ๆ แต่แมรี่ก็เริ่มมีเมตตากลับคืนเมื่อเธอเริ่มปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ ความเมตตาของมาร์ธาเป็นกุญแจเปิดประตูจิตใจของแมรี่ที่กำลังจำศีลอยู่ มาร์ธาบอกเธอถึงเรื่องสวนลับ ให้เชือกกระโดนแก่เธอ และบอกแม่กับน้องชาย (คอลิน) ของเธอว่า แมรี่เป็นเด็กที่แปลกและเหงาแค่ไหน แล้วจึงทำให้แมรี่ได้เพื่อนเล่น (คือคอลิน) แม้ว่า มาร์ธาจะไม่ได้ยุ่งกับแมรี่และสวนลับโดยตรง แต่แมรี่ก็เริ่มเข้าใจถึงความเมตตาที่มาร์ธาให้แก่เธอ เพราะมันทำให้แมรี่รู้สึกเสียความภาคภูมิใจและเสียแรง จุดเปลี่ยนของแมรี่ก็คือเมื่อเธอขอบคุณมาร์ธา โดยสำนึกได้เป็นครั้งแรกว่า มาร์ธาและมารดาของเธอเสียทรัพย์ที่หามาได้โดยยากเพื่อแมรี่แทนการทำให้กับครอบครัวของตน

สวนและธีมการฟื้นสภาพดำเนินไปพร้อม ๆ กับความยอมรับว่า เด็กเกิดความช้ำใจในวัยเด็ก ผู้เขียนไม่ได้ทำให้แมรี่หรือคอลินดูน่ารักหรือดูโรแมนติก แต่ว่า ผู้เขียนเล่าให้ผู้อ่านฟังว่า ความช้ำใจสามารถมีผลต่อเด็กได้อย่างไร แต่ก็บอกถึงความฟื้นสภาพทางจิตใจได้ดีของเด็ก และสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้เมื่อหันความสนใจไปจากความมืดมิดในตน แล้วเข้าไปสู่แสงสว่างและความอบอุ่นที่ไม่รู้จักจบสิ้นของสวนลับ การหัดเดินใหม่ของคอลินเป็นก้าวแรก (ทั้งโดยตรงและโดยอุปมา) ไปสู่การได้สุขภาพกลับคืน และไปจากวัยเด็กที่พิการ

การผสมผสานเรื่องจริงกับจินตนาการ (Magical realism)[แก้]

วิธีหนึ่งที่แมรี่และคอลินฟื้นสภาพจากเหตุการณ์ร้ายในอดีตได้ เป็นการทำตามความเหมาะสมแบบอังกฤษอย่างหนึ่งที่ทุกวันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นอำนาจของการคิดในเชิงบวก และความเชื่อว่าความคิดเช่นนั้นจะช่วยรักษาทั้งกายใจ คือ แมรี่กับคอลินเริ่มพูดถึง มนต์ขลังของสวน แม้ว่า ดิกอนจะอ้างว่า มนต์ ความจริงก็คือการดำเนินของพระเป็นเจ้าผ่านทุ่งและป่า ผู้เขียนเชื่อหลักของลัทธิ Christian Science ที่เชื่อในพระเจ้าว่าเป็นพลังแห่งชีวิตแทนที่จะเป็นบุคคลใดคนหนึ่ง

ดังนั้น "มนต์" จึงเป็นคำรื่นหูสำหรับความคิดเชิงบวกที่เชื่อมกับธีมหลัก 3 อย่างในหนังสือ คือ การฟื้นสภาพของสวนให้ผลเป็นการคิดเชิงบวก ความคิดเชิงบวกหันความสนใจจากความช้ำใจและฟื้นสภาพทางจิตใจให้อย่างไม่น่าเชื่อต่อเด็ก และที่สุดก็คือ มันเป็นทางที่ดีในการดำเนินชีวิต ที่จะรู้สึกรู้ค่าขอบคุณ และมีความสุขกับธรรมชาติและกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับคฤหาสถ์หลังใหญ่ที่มีห้องเป็นร้อย พลังธรรมชาติจึงเป็นตัว "มนต์" เอง ซึ่งทำให้คอลินหายจากโรคทั้งทางกายและทางใจ ธรรมชาติยังให้อุปมาโดยตรงเมื่อแสดงลูกนกที่หัดบินพร้อม ๆ กับคอลินหัดเดิน

เด็ก ๆ ร้องเพลงและท่องมนต์เป็นพิธีเพื่อช่วยให้คอลินดีขึ้น และเมื่อคอลินดีขึ้น ความเชื่อในเรื่องที่ดีก็ได้รับการยืนยัน ในมุมมองหลาย ๆ อย่าง นี่เป็นความเชื่อทางศาสนาอย่างหนึ่ง เพราะว่าความเชื่อในอำนาจเหนือตัวเอง จะมีกำลังขึ้นเมื่อสิ่งที่สวดขอเกิดจริง ๆ

แม้ว่าการผสมผสานเรื่องจริงกับจินตนาการ คือ Magic realism (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่บอกอย่างละเอียดสมจริง โดยเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ) มักจะพบในวรรณกรรมละตินอเมริกัน แต่นกเขนน้อยก็มีบทบาทในเรื่องนี้ คือ นกมักจะประพฤติอะไรที่ดูจะมีความหมายและเหมือนคน ยิ่งไปกว่านกธรรมดาทั่วไป เช่น นกร้องต่อแมรี่ บินลงจับด้ามเสียมของคนสวน และชวนให้แมรี่ตามไปในทางไกลอันรกไปด้วยพุ่มไม้ ซึ่งในที่สุดเขาก็จิกเอาดินขึ้นจากที่ที่กุญแจสวนลับฝังอยู่ นกยังติดตามเฝ้าสังเกตแมรี่คล้ายเป็นเทวดาประจำตัว โดยสร้างรังในสวน ได้คู่ (เช่นกับแมรี่ที่ได้คนเล่นด้วย) และเริ่มชีวิตใหม่เหมือนกับเด็ก ๆ ที่เริ่มชีวิตใหม่เช่นกัน บางครั้ง ผู้เขียนจะเล่าเรื่องจากมุมมองของนกว่ามันเฝ้าดูเด็กโตและออกกำลังกายกันอย่างไร และแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวในหนังสือโดยตรง แต่นกอาจจะทำรังที่เห็นได้ชัดบนต้นไม้ที่กิ่งตกทับนางเครเว็น ทำให้เธอคลอดคอลินก่อนกำหนด ไอเดียว่า นกประพฤติเหมือนกับบุคคล อาจให้พิจารณาว่านกเป็นเทวดาประจำตัว คือ เป็นวิญญาณของมารดาของคอลิน (คือนางลิลิธ เครเว็น) ที่ได้กลับมาที่สวนเพื่อสนับสนุนให้แมรี่ช่วยสามีและลูกชายของเธอจากการทำลายกันและกันด้วยความประพฤติของตน และนก ซึ่งคนสวนเล่าว่า เป็นตัวเดียวที่เข้าไปและออกจากสวน อาจแสดงให้เห็นถึงความเหงาของนางเครเว็นที่สามีของเธอได้หยุดมาเยี่ยมเธอที่สวน

ประวัติการพิมพ์[แก้]

ปกหน้า พ.ศ. 2454

หนังสือเขียนเป็นบางส่วนเมื่อนางเบอร์เนทท์ไปเยี่ยมสวน Buile Hill Park ที่เมืองซอลฟอร์ด เทศมณฑล Greater Manchester[3] โดยตอนแรกพิมพ์เป็นตอน ๆ เริ่มตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี 2453 ในนิตยสารสำหรับผู้ใหญ่ The American Magazine ต่อมาในฤดูร้อนของปี 2454 จึงพิมพ์เป็นหนังสือสมบูรณ์แบบโดยสำนักพิมพ์ Frederick A. Stokes ในนครนิวยอร์ก และ Heinemann ในนครลอนดอน โดยมีปกวาดโดย M.B.Kirk ลิขสิทธิ์ของหนังสือหมดอายุในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2530 และเกือบทั้งหมดทั่วโลกโดยปี 2538 จึงเปลี่ยนหนังสือให้เป็นสาธารณสมบัติ หลังจากนั้น จึงมีหนังสือทั้งแบบตัดและแบบเต็มพิมพ์ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 และต้น 1990 รวมทั้งมีรูปสีทำอย่างสวยสดงดงาม เช่นที่พิมพ์โดย David R. Godine ในปี 2532

Great Maytham Hall ในเทศมณฑลเคนต์ เป็นที่ที่นางเบอร์เนทท์ได้อยู่อาศัยเป็นระยะหนึ่งเมื่อแต่งงาน ซึ่งมักจะอ้างกันว่าเป็นแรงดลใจของทิวทัศน์ในหนังสือ[4] นอกจากนั้น นางเบอร์เน็ทท์ยังมีสวนใหญ่อยู่ที่บ้าน รวมทั้งสวนกุหลาบที่น่าชม ถึงกระนั้น ก็มีข้อสังเกตว่า นอกจากสวนแล้ว ความจริง Maytham Hall และมิสเซิลเธวตแมเนอร์ ต่างกันมาก[4] หนังสือเมื่อเขียนอยู่มีชื่อว่า Mistress Mary โดยมาจากเพลงเด็กชื่อว่า Mary, Mary, Quite Contrary (แมรี่ แมรี่ คนช่างขวางโลก)

การตอบรับจากสาธารณชน[แก้]

การวางตลาดหนังสือเพื่อทั้งผู้ใหญ่และเด็กอาจมีผลต่อการตอบรับในเบื้องต้น คือ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้การตอบรับดีเท่ากับงานของผู้เขียนก่อน ๆ ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่[5] เป็นที่นิยมน้อยมากเทียบกับหนังสือเล่มก่อน ๆ เป็นระยะเวลานาน นักเขียนท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า การฟื้นความนิยมต่อมาต้องเทียบกับการแทบไม่เหลือชื่อแม้ช่วงผู้เขียนเสียชีวิตในปี 2467 ที่ประกาศการเสียชีวิตได้กล่าวถึงหนังสือลอร์ดน้อยฟอนเติลรอย โดยไม่ได้บอกชื่อหนังสือเล่มนี้เลย[6]

แต่ว่า เพราะการศึกษาวรรณกรรมใน 25 ปีที่ผ่านมา งานนี้จึงเด่นขึ้นเรื่อย ๆ คือ มักจะกล่าวว่า เป็นหนังสือเด็กที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 20[5] ในงานสำรวจความเห็นสาธารณชนของบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษปี 2546 เพื่อระบุ "นิยายที่เป็นที่รักที่สุดของชาติ" (ที่ไม่เฉพาะเพียงแค่นิยายเด็ก) หนังสืออยู่ที่ตำแหน่ง 51[7] ส่วนงานโพล์ออนไลน์ในปี 2550 ของสมาคมการศึกษาแห่งชาติสหรัฐเรียกหนังสือว่า เป็นหนึ่งใน "หนังสือที่ครูแนะนำสำหรับเด็กท๊อป 100"[8] ในปี 2555 School Library Journal (วารสารห้องสมุดโรงเรียน) ซึ่งพิมพ์ทุกเดือนสำหรับลูกค้าในสหรัฐ ให้หนังสือตำแหน่งที่ 15 ของนิยายเด็กตลอดกาล[9] โดยที่ หนังสือ A Little Princess อยู่ที่ตำแหน่ง 56 และหนังสือ ลอร์ดน้อยฟอนเติลรอย ไม่ติดแม้ใน 100 อันดับแรก[9] นักเขียนผู้หนึ่ง (Jeffrey Moussaieff Masson) พิจารณาหนังสือว่าเป็น "หนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยเขียนเพื่อเด็ก"[10]

การดัดแปลง[แก้]

วิดีโอตัวอย่างจากคณะละคร Angel Exit Theatre Company ที่ดัดแปลงหนังสือเป็นละครออกแสดงทั่วประเทศในปี 2555 พร้อมกับงานฉลองครบ 100 ปีของนิยาย

บริษัท Famous Players-Lasky Corporation (ต่อมา พาราเมาต์พิกเจอส์) ถ่ายภาพยนตร์แรกในปี 2462 โดยมีดาราวัยรุ่นอายุประมาณ 17 ปี แสดงเป็นแมรี่และดิกอน แต่ฟิลม์นี้ต่อมาสาบสูญไป ในปี 2492 บริษัท MGM ถ่ายทำการดัดแปลงครั้งที่สอง โดยถ่ายในฟิลม์ขาวดำ แต่ถ่ายสวนที่บูรณะเสร็จตอนหลังด้วยเทคโนโลยี Technicolor ต่อมา BBC ถ่ายภาพยนตร์เป็นตอน ๆ หลายครั้งในปี 2495, 2503 รวมทั้งปี 2518 ซึ่งต่อมาขายเป็นแผ่นดีวีดี[11]

ในปี 2530 โปรแกรม Hallmark Hall of Fame ถ่ายทำภาพยนตร์ทีวีที่โคลิน เฟิร์ธปรากฏในบทคอลินเมื่อโต และถ่ายที่ Highclere Castle ซึ่งต่อมารู้จักดีในฐานเป็นที่ถ่ายทำซีรีส์ดาวน์ตันแอบบีย์ ในปี 2536 โรงถ่าย American Zoetrope ถ่ายหนังโดยมีผู้อำนวยการบริหารคือนายฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ในปี 2537 บริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพอเมริกันถ่ายทอดการ์ตูน ซึ่งออกเป็นวิดีโอในปีต่อมาโดย Paramount Home Video[12][13]

ในประเทศญี่ปุ่น เอ็นเอชเคทำการดัดแปลงหนังสือเป็นอนิเมะในปี 2534-2535 ชื่อว่า アニメ ひみつの花園 (Anime Himitsu no Hanazono) โดยแบ่งเป็น 39 ตอน แม้ว่าจะไม่มีแปลเป็นอังกฤษ แต่ก็แปลเป็นภาษาอื่น ๆ รวมทั้งภาษาสเปน อิตาลี โปแลนด์ และตากาล็อก

มีการทำเป็นละครแสดงในโรงหลายครั้ง ในปี 2534 มีละครเพลงที่เริ่มแสดงบนถนนบรอดเวย์ ซึ่งได้รับเสนอเพื่อรางวัลโทนี 7 รางวัล โดยชนะในเรื่อง Best Book of a Musical และ Best Featured Actress

ในปี 2556 คณะอุปรากรณ์ซานฟรานซิสโกได้จ้างให้สร้างอุปรากรณ์ดัดแปลงมาจากนิยาย ซึ่งเล่นเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในปี 2557 มีการดัดแปลงเรื่องเป็นละครเวทีในเมืองเชสเตอร์[14]

ในปี 2558 มีการดัดแปลงทำสื่อประสมเป็นตอน ๆ ของนิยายชื่อว่า "The Misselthwaite Archives" และโหลดขึ้นยูทูบ ซึ่งมีทั้งหมด 40 ตอน โหลดตลอดเดือนมกราคมจนถึงเดือนตุลาคม โดยมีทั้งจดหมาย อีเมล บริการข้อความสั้น บัญชีสื่อสังคม และเอกสารอื่น ๆ เกี่ยวกับตัวละคร[15][16]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. Byatt, Antonia Susan (19 เมษายน 2005). "A small person's paradise..." New Statesman. ISSN 1364-7431. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มกราคม 2011. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2017.
  2. Gohike, Madelon S. (เมษายน 1980). "Re-Reading The Secret Garden". College English. National Council of Teachers of English. 41 (8): 894–902. JSTOR 376057. S2CID 152068923.
  3. "Buile Hill Park". Salford City Council. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2023.
  4. 4.0 4.1 Thwaite, Anne (5 ตุลาคม 2006). Carpenter, Angelica Shirley (บ.ก.). In the Garden: Essays in Honour of Frances Hodgson Burnett. A Biographer Looks Back. Lanham, MD: Scarecrow Press. pp. 26–42. ISBN 0-8108-5288-8.
  5. 5.0 5.1 Lundin, Anne H. (5 ตุลาคม 2006). Carpenter, Angelica Shirley (บ.ก.). In the Garden: Essays in Honour of Frances Hodgson Burnett. The Critical and Commercial Reception of The Secret Garden, 1911–2004. Lanham, MD: Scarecrow Press. pp. 187–203. ISBN 978-0-8108-5288-4.
  6. Lundin, Anne H. (2 สิงหาคม 2004). Constructing the Canon of Children's Literature: Beyond Library Walls. Routledge. p. 133. doi:10.4324/9780203312940. ISBN 978-0-203-31294-0.
  7. "The Big Read". BBC. 2 กันยายน 2014.
  8. "Teachers' Top 100 Books for Children". National Education Association. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2012.
  9. 9.0 9.1 Bird, Elizabeth (7 กรกฎาคม 2012). "A Fuse #8 Production, Top 100 Chapter Book Poll Results". School Library Journal. Media Source. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2012.
  10. Masson, Jeffrey Moussaieff (1980). The Oceanic Feeling: The Origins of Religious Sentiment in Ancient India. Dordrecht, Holland: D. Reidel. ISBN 90-277-1050-3.
  11. Traxy (16 มกราคม 2011). "The Secret Garden (1975)". Thesqueee.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 กันยายน 2011. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2011.
  12. "ABC Weekend Specials: The Secret Garden (TV episode 1994)" – โดยทาง อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส.
  13. Lynne Heffley (4 พฤศจิกายน 1994). "TV Review: Animated 'Garden' Wilts on ABC". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2014.
  14. "The Secret Garden". Grosvenor Park Open Air Theatre. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 มีนาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2017.
  15. "The Misselthwaite Archives". สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2018.
  16. "The Misselthwaite Archives" – โดยทาง อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]