สงครามกลางเมืองอเมริกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามกลางเมืองอเมริกา

ตามเข็มนาฬิกา จากรูปบนสุด: ยุทธการที่เกตตีสเบิร์ก, ปืนใหญ่ของร้อยเอก จอห์น ทิดบอลแห่งฝ่ายสหภาพ, เชลยศึกฝ่ายสมาพันธรัฐ, เรือรบหุ้มเกราะยูเอสเอส แอตแลนตา, ซากเมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย, ยุทธการที่แฟรงกลิน
วันที่12 เมษายน ค.ศ. 1861 – 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1865 (ตามสนธิสัญญาสงบศึก)[1][a]
สถานที่
ผล ฝ่ายสหภาพชนะ
คู่สงคราม
 สหรัฐ (ฝ่ายสหภาพ)  สมาพันธรัฐ (ฝ่ายสมาพันธรัฐ)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

สหรัฐ อับราฮัม ลินคอล์น X
สหรัฐ วินฟีลด์ เอส. แฮนค็อค
สหรัฐ จอร์จ บี. แม็คเคลแลน
สหรัฐ วิลเลียม ที. เชอร์แมน
สหรัฐ ยูลิสซิส เอส. แกรนท์
สหรัฐ เดวิด จี. ฟารากัต
สหรัฐ จอร์จ จี. มี้ด

สมาพันธรัฐอเมริกา เจฟเฟอร์สัน เดวิส
สมาพันธรัฐอเมริกา โรเบิร์ต อี. ลี
สมาพันธรัฐอเมริกา โจเซฟ อี. จอห์นสตัน
สมาพันธรัฐอเมริกา สโตนวอลล์ แจ็กสัน
สมาพันธรัฐอเมริกา สตีเฟน มัลเลอรี
สมาพันธรัฐอเมริกา พี. จี. ที. โบรีการ์ด
สมาพันธรัฐอเมริกา เจมส์ ลองสตรีท

กำลัง
2,200,000 นาย[b]
698,000 นาย (ณ จุดสูงสุด)[2][3]
750,000–1,000,000 นาย[b][4]
360,000 นาย (ณ จุดสูงสุด)[2][5]
ความสูญเสีย

เสียชีวิตในหน้าที่ 140,414 นาย[6][7] เสียชีวิตในที่คุมขังของสมาพันธรัฐอเมริกา ราว 25,000 นาย[6]
เสียชีวิตด้วยเหตุผลอื่น 224,097 นาย [7]
ได้รับบาดเจ็บ 281,881 นาย [7]

เสียชีวิตรวมแล้ว 364,511 นาย[7]

เสียชีวิตในหน้าที่ 72,524 นาย[8][6]
เสียชีวิตในที่คุมขังของสหรัฐ ราว 30,000 นาย[7]
เสียชีวิตด้วยเหตุผลอื่น 59,297 นาย[9][7]
รวมเสียชีวิตทั้งสิ้น 133,821 นาย[7]

ได้รับบาดเจ็บ 194,026 นาย[7]

สงครามกลางเมืองอเมริกา (อังกฤษ: American Civil War; 12 เมษายน ค.ศ. 1861 – 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1865) เป็นสงครามกลางเมืองซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐ ระหว่างปีคริสต์ศักราช 1861 ถึง 1865 โดยมีมูลเหตุแห่งการสู้รบมาจากข้อโต้แย้งที่ยืดเยื้อเกี่ยวกับการถือครองทาส ระหว่างฝ่ายชาตินิยมสหภาพซึ่งให้ปฏิญาณว่าจะภักดีต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐฝ่ายหนึ่ง กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนออกเป็นสมาพันธรัฐซึ่งสนับสนุนสิทธิของมลรัฐในการคงไว้ซึ่งสถาบันทาสอีกฝ่ายหนึ่ง.

ในบรรดา 34 มลรัฐของสหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861 เจ็ดรัฐทาสทางใต้ของประเทศประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐเพื่อตั้งเป็น สมาพันธรัฐอเมริกา (the Confederate States of America) หรือ "ฝ่ายใต้." ฝ่ายสมาพันธรัฐเติบโตจนมีรัฐเข้าร่วม 11 มลรัฐ โดยรัฐบาลสหรัฐไม่เคยให้การรับรองทางการทูตแก่ฝ่ายสมาพันธรัฐ เช่นเดียวกับประเทศอื่นทุกประเทศ (แม้สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจะให้สถานภาพคู่สงครามแก่สมาพันธรัฐ). ส่วนมลรัฐที่ยังภักดีต่อสหรัฐ เรียกว่า "สหภาพ" (Union) หรือ "ฝ่ายเหนือ" ซึ่งรวมถึงรัฐตามแนวชายแดนที่ยังถือว่าการมีทาสเป็นสิ่งชอบด้วยกฎหมายด้วย.

สงครามเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 เมื่อกองทัพสมาพันธรัฐโจมตีที่ตั้งทหารสหรัฐที่ฟอร์ตซัมเทอร์ในเซาท์แคโรไลนา. ประธานาธิบดีลินคอล์นตอบสนองโดยเรียกระดมพลอาสาสมัครจากแต่ละรัฐ จนเกิดกระแสความเป็นชาตินิยมขึ้นในภาคเหนือขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน. การเปิดฉากสงครามแบ่งแยกดินแดน กระตุ้นให้รัฐติดแนวชายแดนอีกสี่รัฐ ได้แก่ เวอร์จิเนีย เทนเนสซี อาร์คันซอ และนอร์ทแคโรไลนา ประกาศแยกตัวเพิ่ม. ฝ่ายสหภาพควบคุมพื้นที่รัฐชายแดนได้ในช่วงต้นสงครามและเริ่มยุทธวิธีปิดล้อมทางทะเลต่อฝ่ายสมาพันธรัฐ. สงครามที่คาดกันว่าจะยุติลงโดยเร็วกลับส่อเค้ายืดเยื้อ เมื่อทัพของสหภาพเพลี่ยงพล้ำในยุทธการที่บูลรัน และการสู้รบในเขตสงครามตะวันออกเปิดฉากด้วยความได้เปรียบของฝ่ายสมาพันธรัฐ ซึ่งสามารถสกัดกั้นความพยายามของสหภาพในการบุกยึดริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย อันเป็นเมืองหลวงของสมาพันธรัฐได้หลายครั้ง. ความสำเร็จนี้ทำให้ฝ่ายใต้ฮึกเหิม และตัดสินใจบุกขึ้นเหนือในปลายหน้าร้อนปี ค.ศ. 1862. แต่หลังจากการทัพคาบสมุทร (Peninsula Campaign) สิ้นสุดลง ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1862 ฝ่ายสหภาพก็ตั้งตัวติด และสามารถหยุดการรุกคืบของสมาพันธรัฐได้ในยุทธการที่แอนตีแทม (Antietam) ซึ่งทำให้สหราชอาณาจักรเปลี่ยนใจไม่เข้าแทรกแซงในสงครามความขัดแย้งภายในนี้.[10] หลังจากได้ชัยชนะทางยุทธวิธีที่แอนตีแทมไม่กี่วัน ลินคอล์นก็ประกาศเลิกทาส และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม.[11]

ในปี ค.ศ. 1863 การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สองของนายพลสมาพันธรัฐ โรเบิร์ต อี. ลี ยุติลงด้วยความปราชัย ณ ยุทธการที่เกตตีสเบิร์ก. ส่วนในแนวรบด้านตะวันตกนั้น ฝ่ายสหภาพสามารถเข้าควบคุมแม่น้ำมิสซิสซิปปีได้ หลังยุทธการที่ไชโลห์ (Shiloh) และการล้อมวิคสเบิร์ก (Vicksburg) ซึ่งเป็นผลให้ฝ่ายสมาพันธรัฐถูกแบ่งออกตรงกลางและกองทัพถูกทำลายไปเป็นอันมาก. ด้วยความสำเร็จในเขตสงครามตะวันตก ยูลิสซิส เอส. แกรนท์ จึงได้รับอำนาจบังคับบัญชากองทัพทั้งหมดของฝ่ายสหภาพในปี ค.ศ. 1864. จอมพลแกรนท์เข้าจัดโครงสร้างกองทัพและยุทธวิธีการรบเสียใหม่ เพื่อให้กองทัพของ วิลเลียม เทคุมเซห์ เชอร์แมน, ฟิลิป เชอริแดน, และแม่ทัพคนอื่น ๆ สามารถโจมตีสมาพันธรัฐได้จากทุกทิศทาง นอกจากนี้ยังเพิ่มความเข้มงวดในการปิดล้อมทางทะเล. แกรนท์นำการทัพภาคพื้นดินเพื่อเข้ายึดริชมอนด์ โดยพยายามตรึงทัพของนายพลลีเอาไว้ป้องกันเมืองหลวงของฝ่ายสมาพันธรัฐ แต่แล้วเปลี่ยนทางเดินทัพเพื่อไปปิดล้อมปีเตอร์สเบิร์ก และทำลายกองกำลังสมาพันธรัฐที่เหลือของลีเกือบทั้งหมด. แกรนท์มอบอำนาจให้เชอร์แมนเข้ายึดเมืองแอตแลนตาและเคลื่อนทัพไปสู่ทะเล โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายสาธารณูปโภคของสมาพันธรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ. การสู้รบที่สำคัญครั้งสุดท้าย คือ การปิดล้อมปีเตอร์สเบิร์ก กองทัพของลีตัดสินใจทิ้งปีเตอร์สเบิร์กในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1865 และไม่สามารถฟื้นตัวได้อีก ส่งผลให้นายพลโรเบิร์ต อี. ลี ยอมจำนนต่อจอมพลแกรนท์ ณ อาคารศาลแอพโพแมตท็อกซ์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1865. การสิ้นสุดของสงครามนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ซึ่งรับรองสิทธิของพลเมืองที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคทั่วทั้งสหรัฐ.

สงครามกลางเมืองอเมริกานับเป็นสงครามยุคอุตสาหกรรมที่แท้จริงครั้งแรก ๆ ของโลก โดยมีการใช้ทางรถไฟ โทรเลข เรือกลไฟ และอาวุธซึ่งผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อส่งเสริมวัตถุวิสัยทางการทหาร. รูปแบบของสงครามเบ็ดเสร็จ ซึ่งนายพลเชอร์แมนพัฒนาขึ้นในรัฐจอร์เจีย และการสงครามสนามเพลาะรอบปีเตอร์สเบิร์ก เป็นยุทธวิธีทางทหารที่เกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในทวีปยุโรป. สงครามครั้งนี้ยังเป็นสงครามที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้ทหารเสียชีวิตกว่า 620,000 นาย และพลเรือนเสียชีวิตอีกไม่ทราบจำนวน. นักประวัติศาสตร์ จอห์น ฮัดเดิลสตัน ประเมินยอดผู้เสียชีวิตว่า พลเมืองชายรัฐฝ่ายเหนืออายุระหว่าง 20 - 45 ปีเสียชีวิตไปร้อยละ 10 และพลเมืองชายรัฐฝ่ายใต้อายุระหว่าง 18 - 40 ปีเสียชีวิตไปร้อยละ 30[12] ชัยของฝ่ายเหนือหมายถึงจุดจบของสมาพันธรัฐและการถือครองทาสในสหรัฐ และเสริมอำนาจให้แก่รัฐบาลกลาง แต่ปัญหาทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและสีผิวอันเนื่องมาจากสงคราม ยังคงมีอิทธิพลอยู่ไปตลอดยุคบูรณะ ซึ่งดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ. 1877.

สาเหตุของความขัดแย้ง และชนวนสงคราม[แก้]

สาเหตุของสงครามเกิดจากความแตกต่างระหว่างรัฐแต่ละรัฐในสหรัฐ ซึ่งมีรูปแบบและวิถีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก กล่าวคือ รัฐทางใต้มีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้แรงงานทาสในการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ และมีพลเมืองส่วนมากเป็นคนชาติพันธ์แองโกล-แซกซอน ที่นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ และพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก นอกจากนี้การเมืองและระบบเศรษฐกิจภายในรัฐยังถูกควบคุมโดยคนรวยที่ถือครองทาส[13] ระบบความคิดจึงเป็นไปในทางอนุรักษ์นิยม และชาติพันธุ์นิยม โดยยึดมั่นในอัตลักษณ์ความเป็น "ชาวใต้" (Southerner) มากกว่าความเป็นอเมริกัน[14] ในทางกลับกัน รัฐทางตอนเหนือเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่มีระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ไม่พึ่งพาแรงงานทาสมากนัก และมีประชากรจากหลายเชื้อชาติในยุโรปอพยพเข้ามาใหม่อยู่ตลอดเวลา[15] ทำให้เป็นสังคมหลากเชื้อชาติและวัฒนธรรม มีระบบความคิดที่ก้าวหน้ามากกว่า เมื่ออับราฮัม ลินคอล์นซึ่งมีแนวคิดไม่ประนีประนอมกับสถาบันทาสอย่างชัดเจน ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐแบบท่วมท้นในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1860 ทำให้ประชากรผิวขาวใน 11 รัฐทางตอนใต้ไม่พอใจอย่างยิ่ง และรู้สึกว่าการแยกตัวเป็นอิสระเป็นทางเลือกเดียวที่จะรักษาสถาบันทาสไว้ได้[16] เนื่องจากเห็นว่าพวกตนไม่มีผู้แทนอยู่เลยในสภาคองเกรส จนในที่สุดก็รวมกันแยกตัวออกไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในนามว่าสมาพันธรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861

การกดขี่และใช้แรงงานทาส[แก้]

เฟรเดอริค ดักลาส ชาวอเมริกันผิวดำที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ให้มีการเลิกทาส

ความขัดแย้งในประเด็นเรื่องการมีและใช้แรงงานทาส ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1850 เป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่ง ที่ทำให้อเมริกาถูกแยกออกเป็นสองประเทศ แต่เดิมทีนั้นคนอเมริกันที่อาศัยในรัฐทางตอนเหนือช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ส่วนใหญ่ก็มิได้มีความรู้สึกเป็นอคติต่อการมีทาส[17] และในมุมมองของพวกที่ต่อต้านสถาบันทาสเอง ประเด็นเรื่องการมีทาสก็ถูกจำกัดอยู่ในบริบทที่ว่ามันเป็นความชั่วร้ายที่ล้าสมัย และขัดแย้งกับหลักการของสาธารณรัฐนิยมเท่านั้น แม้ในส่วนของรัฐบาลกลางเอง รัฐธรรมนูญสหรัฐในขณะนั้นก็มีบทบัญญัติรับรองชัดเจนว่าทาสที่หลบหนีจะต้องถูกส่งคืนเจ้าของ[18] และคองเกรสก็ออกกฎหมายไล่ล่าทาสที่หลบหนี (Fugitive Slave Act) เพื่อยืนยันสิทธิดังกล่าวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1793 โดยกำหนดโทษจำคุกสำหรับผู้ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ทาสที่หลบหนี ยุทธวิธีหลักที่ฝ่ายต่อต้านสถาบันทาสใช้จึงเน้นที่การกักกันสถาบันทาสให้อยู่แต่ในภาคใต้ โดยออกกฎหมายในระดับมลรัฐลงโทษการกระทำอันเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือติดตามทาสที่หลบหนี เพื่อไม่ให้มีการจับทาสที่หนีมาได้กลับไปเป็นทาสอีก เช่น กฎหมายเพื่อการเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไปของมลรัฐเพนซิลวาเนีย ที่แก้ไขในปี ค.ศ. 1826 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดการขยายตัวของวงจรค้าทาส และปล่อยให้ค่อย ๆ ล้าสมัยจนสูญพันธุ์ไปเอง แต่รัฐทางใต้ที่ยังใช้แรงงานทาสเห็นว่าวิธีการนี้ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของตน และเป็นการมุ่งทำลายเศรษฐกิจของรัฐทางใต้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากฝ้ายจากอเมริกาในภาคพื้นยุโรปที่มีสูงมาก[19] เหล่ารัฐทางใต้มองว่าหากไม่มีแรงงานทาส ตนก็ไม่อาจแข่งขันกับอุตสาหกรรมสิ่งทอผ้าฝ้ายที่กำลังเติบโดอย่างรวดเร็วในรัฐทางตอนเหนือ และในยุโรปได้ นายทาสจากรัฐทางใต้จึงพยายามใช้สรรพวิธีทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย เข้าขัดขวางนโยบายควบคุมสถาบันทาสของรัฐทางเหนือ

ในปี ค.ศ. 1837 ทาสหญิงผิวดำที่เจ้าของเพิ่งเสียชีวิตไป ชื่อ มาร์กาเร็ต มอร์แกน ย้ายภูมิลำเนาจากรัฐแมรีแลนด์ไปยังเพนซิลวาเนีย และถูกจับโดยนักล่าทาส (slavecatcher) ชื่อ เอ็ดเวิร์ด ปริกก์ (Edward Prigg) นายปริกก์ถูกจับกุมฐานละเมิดกฎหมายของรัฐเพนซิลวาเนีย และถูกพิพากษาว่ามีความผิด จำเลยจึงอุทธรณ์ไปยังศาลสูงสุดสหรัฐ ในประเด็นที่ว่ากฎหมายแก้ไข ปี ค.ศ. 1826 ของรัฐเพนซิลวาเนียขัดต่อ "fugitive slave clause" ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ มาตรา 4 ข้อที่ 2 วรรคสาม และขัดหรือแย้งต่อกฎหมายในระดับสหพันธรัฐที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า ศาลสูงสุดสหรัฐพิพากษา ในคดี "ปริกก์ กับ มลรัฐเพนซิลวาเนีย" (Prigg v. Pennsylvania)[20] ปี ค.ศ. 1842 ว่ากฎหมายของเพนซิลวาเนียขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่ผู้ร้องอ้าง เนื่องจากปฏิเสธสิทธิของนายทาสตามกฎหมายไล่ล่าทาสซึ่งหลบหนีที่จะติดตามเอาทาสของตนคืน

บรรดามลรัฐปลอดแรงงานทาส ตอบโต้คำพิพากษาคดี ปริกก์ ด้วยการออกกฎหมายเสรีภาพส่วนบุคคล (personal liberty laws) ประเภทต่าง ๆ ขึ้น เพื่อห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย กระทำการใด ๆ ที่เป็นการริดรอนเสรีภาพส่วนบุคคล เช่น การขัดขวางการหลบหนีของทาส หรือการเลือกปฏิบัติกับนิโกรไม่ว่าจะเป็นทาสหรือไม่[21] แต่รัฐทางใต้ก็โต้แย้งว่ากฎหมายเสรีภาพส่วนบุคคลพวกนี้ เป็นการใช้อำนาจของรัฐเพื่อริดรอนสิทธิใน "ทรัพย์สิน" ของเอกชน

ปัญหาการผนวกดินแดน และการประนีประนอม ปี 1850[แก้]

ข้อเสนอให้ขยายเส้นแบ่งเขตรัฐเสรี-รัฐทาส ตามการประนีประนอมมิสซูรี ออกไปทางตะวันตก ถูกเสนอขึ้นในระหว่างการปราศัยสภาคองเกรส ว่าด้วยการผนวกรัฐเท็กซัสในปี ค.ศ. 1845 และถูกยกขึ้นอีกครั้งระหว่างช่วงวิกฤตการแยกดินแดน ปี ค.ศ. 1860 ในการประนีประนอมคริตเตนเดน

การขยายตัวอย่างรวดเร็วมากของดินแดนในอาณัติของสหรัฐ ระหว่างการประกาศอิสรภาพจนถึงช่วงสงครามกลางเมือง เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างคตินิยมที่สนับสนุนสถาบันทาส และคตินิยมที่สนับสนุนแผ่นดินที่ปลอดทาส (free soil)[22] ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 สหรัฐได้ที่ดินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งจากการซื้อ การเจรจา และการสงคราม เริ่มจากการได้รับโอนพื้นที่ลุยเซียนามาจากนโปเลียนในปี ค.ศ. 1803 ต่อมาการออกเสียงให้ผนวกเอาเท็กซัส (ซึ่งประกาศตัวเป็นอิสรภาพจากเม็กซิโกใน ปี 1836) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐใน ปี ค.ศ. 1845 กลายป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามเม็กซิโก-อเมริกา ในระหว่างปี ค.ศ. 1846-1848 ชัยชนะของอเมริกาในสงครามดังกล่าว เป็นผลให้สหรัฐได้ผนวกดินแดนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก[23] แต่การขยายดินแดนอย่างต่อเนื่องก็ก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งไม่รู้จบ ในเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของการมีทาสในดินแดนที่ถูกผนวกเข้ามา ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทิศทางทางเศรษฐกิจในพื้นที่ใหม่ โดยก่อนหน้านี้ การประนีประนอมมิสซูรี ปี ค.ศ. 1820 (Missouri Compromise) ตกลงห้ามการขยายตัวของสถาบันทาสไปในพื้นที่ตอนเหนือของพื้นที่รับโอนหลุยส์เซียนาที่ยังไม่ได้จัดตั้งเป็นเขตปกครอง เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยอมให้มีการสถาปนามิสซูรีขึ้นเป็นรัฐที่การมีทาสเป็นสิ่งถูกกฎหมาย[24] สำหรับกรณีพิพาทในพื้นที่อันผนวกเข้ามาใหม่หลังสงครามเม็กซิโก-อเมริกา มีการเสนอ เงื่อนไขวิลม็อท (Wilmot Proviso) ขึ้น โดยเงื่อนไขนี้ต้องการให้ดินแดนใหม่ที่ผนวกเข้ามาเป็นดินแดนที่ปลอดจากสถาบันทาส แต่ในขณะนั้นนักการเมืองจากฝ่ายใต้ครองที่นั่งมากกว่าในวุฒิสภา เงื่อนไขวิลม็อทจึงถูกสกัดกั้นและได้รับการโหวตให้ตกไป[25]

การประนีประนอมเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1850 โดยมีการแก้ไข รัฐบัญญัติไล่ล่าทาสหลบหนี ให้เข้มงวดขึ้นไปอีก เพื่อชดเชยกับการยอมให้รัฐแคลิฟอร์เนียที่รับเข้ามาใหม่เป็นรัฐปลอดทาส[23] มีการกำหนดโทษกับผู้รักษากฎหมายในมลรัฐใด ๆ ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายนี้ ดังนั้นสำหรับรัฐทางฝ่ายเหนือแล้ว กฎหมายไล่ล่าทาสหลบหนีฉบับแก้ไขปี 1850 จึงมีนัยว่าประชาชนอเมริกันทั่ว ๆ ไปก็มีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือนักล่าทาสหลบหนีจากทางใต้ ความรู้สึกต่อต้านสถาบันทาสในจิตใจคนอเมริกันจึงเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง มีผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในเครือข่ายทางรถไฟใต้ดินของขบวนการเลิกทาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[23] แม้ในทางวรรณกรรมเอง งานประพันธ์อย่าง "กระท่อมน้อยของลุงทอม" (Uncle Tom's Cabin) ของแฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ก็มุ่งโจมตีพลวัตอันชั่วร้ายของสถาบันทาสที่คอยแยกสมาชิกในครอบครัวออกจากกัน[26][27] กระท่อมน้อยของลุงทอม กลายเป็นหนังสือขายดีมากเป็นประวัติการณ์ มีตีพิมพ์ทั่วโลกกว่า 1.5 ล้านเล่ม แต่ความสำเร็จอย่างล้นหลามนี้ถูกมองว่าเป็นการโจมตีเกียรติยศของชาวรัฐทางใต้ ทำให้เกิดกระแสตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนจากฝ่ายที่สนับสนุนสถาบันทาส จนถึงขนาดว่ามีวรรณกรรมแนว "แอนตี้-ทอม" หรือแนวสนับสนุนสถาบันทาส ออกมาแข่ง[28]

"พวกทาสหลบหนีปลอดภัยในแดนแห่งเสรี" ภาพประกอบ โดย แฮมแมต บิลลิ่งส์ ใน กระท่อมน้อยของลุงทอม, พิมพ์ครั้งแรก. ในภาพแสดง จอร์จ แฮริส, เอลิซา, แฮรี่, และ คุณนาย สมิธ หลังจากหลบหนีไปสู่อิสรภาพ

กฎหมายแคนซัส-เนบราสกา[แก้]

แม้ประชากรส่วนใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งอาศัยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือ จะไม่เห็นด้วยกับการคงไว้ซึ่งสถาบันทาส แต่การแทรกแทรงโดยตรงจากรัฐสภาให้มีการยกเลิกหรือเพียงแต่จำกัดการขยายตัวของสถาบันทาสไม่ว่าในพื้นที่ใดของสหรัฐ ก็ยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เนื่องจากแนวคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญในขณะนั้นยังไม่มีบทคุ้มครองห้ามเลือกปฏิบัติต่อประชาชนอเมริกันด้วยเหตุผลทางสีผิว หรือศาสนา และยังคงถือว่าแต่ละรัฐมีอำนาจจะกำหนดสิทธิหน้าที่ (ซึ่งรวมถึงสิทธิเลือกตั้ง) ของพลเมืองในรัฐอย่างไรก็ได้ แนวคิดหนึ่งที่ยอมรับอย่างกว้างขวางคือ การถือว่าประเด็นเรื่องสถาบันทาสเป็นเรื่องของอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty)[29] มากกว่าที่จะเป็นการเมืองในรัฐสภา และคนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิจะโหวตเสียงกำหนดเอาเองในพื้นที่ที่ตนอาศัยหรือท้องที่ซึ่งตนเข้าไปบุกเบิก แนวคิดเรื่องอธิปไตยปวงชนนี้ถูกสอดเข้าไปในนโยบายของรัฐบาลกลาง ที่สนับสนุนการขยายการตั้งรกรากของประชากรเข้าในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการบุกเบิกในทิศตะวันตก ตัวอย่างที่สำคัญ คือ กฎหมายแคนซัส-เนบราสกา (Kansas-Nebraska) ปี 1854 ซึ่งร่างโดย วุฒิสมาชิก สตีเฟน เอ. ดักลาส[30] กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์จะให้คนเข้าไปจับจองพื้นที่ทำกินตามแนวทางรถไฟข้ามประเทศที่กำลังก่อสร้าง โดยผนวกเอาแนวคิดเรื่องอธิปไตยของปวงชนไว้ แต่กลับเป็นว่านำไปสู่การนองเลือดที่รู้จักกันในชื่อ "แคนซัสหลั่งเลือด" (Bleeding Kansas)[30] เมื่อนักบุกเบิกอุดมการณ์ "แผ่นดินเสรี" (free soilers) เข้าปะทะกับนักบุกเบิกที่สนับสนุนสถาบันทาสจากรัฐมิสซูรีใกล้เคียง ซึ่งแห่กันเข้ามาในแคนซัสเพียงเพื่อที่จะออกเสียงลงมติรับรัฐธรรมนูญของรัฐ การใช้ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่นานหลายปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหกสิบคน และอาจถึงสองร้อยคนภายในแค่สามเดือนแรก[31]

ศาลสูงสุดเข้าแทรกแซง: คำพิพากษาคดี เดร็ด สก็อตต์[แก้]

แนวคิดเรื่องการกำหนดความชอบด้วยกฎหมายของสถาบันทาสโดยทางอธิปไตยปวงชนได้รับการปฏิเสธจากฝ่ายตุลาการสูงสุด (Supreme Court of the United States)[32] ในปี ค.ศ. 1857 ในคำพิพากษาคดี เดร็ด สก็อตต์ กับ แซนด์ฟอร์ด (Dred Scott v Sandford)[33] ตุลาการหัวหน้าศาล โรเจอร์ บี. ทอนีย์ (Roger B. Taney) พิพากษาว่า ไม่มีบทบัญญัติหรือหลักกฎหมายใดในสหรัฐ ที่จะห้ามมิให้นาสทาสพาหรือติดตามทาสของตน เข้าไปในดินแดนบุกเบิกใหม่ของประเทศ โดยตุลาการทอนีย์เห็นว่า "คนนิโกรที่บรรพบุรุษถูกซื้อขายเข้ามาในประเทศนี้ในฐานะทาส" ไม่ว่าจะยังป็นทาสอยู่ หรือได้รับอิสระแล้วก็ดี ไม่อาจมีฐานะเป็นประชาชนอเมริกันได้ และย่อมไม่มีอำนาจที่จะเป็นโจทก์ฟ้องคดีได้ ในศาลสหพันธรัฐ (federal courts) และรัฐบาลสหพันธรัฐย่อมไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะออกกฎหมายควบคุมการมีทาสในดินแดนของสหพันธรัฐ ที่ได้รับมาหลังการก่อตั้งประเทศสหรัฐ" นอกจากนี้เนื้อหาในตอนหนึ่งของคำพิพากษาประกาศว่า

"[พวกนิโกร]เป็นพวกที่ถูกถือว่าเป็นมนุษย์ในอันดับที่ด้อยกว่า มาเป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ จึงย่อมเป็นการไม่เหมาะสมในทางใด ๆ ที่จะนำพวกนี้มาเปรียบเทียบกับคนผิวขาว ไม่ว่าจะในทางความสัมพันธ์ทางสังคม หรือในทางการเมือง; และต่ำชั้นกว่าอย่างไกลลิบ จนถึงขนาดว่าพวกนี้ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่คนผิวขาวจำเป็นจะต้องเคารพ; และพวกนิโกรจึงอาจลดฐานะลงมาเป็นทาสเพื่อประโยชน์ของคนขาว โดยชอบด้วยความยุติธรรม และโดยชอบด้วยกฎหมาย"

— Dred Scott v. Sandford, 60 U.S. 393 (1857)
โรเจอร์ บี. ทอนีย์, ตุลาการหัวหน้าศาลแห่งศาลสูงสุดแห่งสหรัฐ ผู้เขียนคำพิพากษาคดี เดร็ด สก็อต
วุฒิสมาชิก จอห์น เจ. คริตเตนเดน

คำพิพากาษาคดี เดร็ด สก็อตต์ (Dred Scott) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ทั้งโดยสื่อ และนักการเมืองฝ่ายเหนือซึ่งถือว่าคำพิพากษานี้ขัดต่อหลักเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อับราฮัม ลินคอล์น ตอบโต้คำพิพากษานี้ในคำปราศัย "ครัว​เรือน​ไหน​แตก​แยก​กัน​เอง ครัว​เรือน​นั้น​​จะ​ตั้ง​อยู่​ไม่​ได้" ("House Divided Against Itself Cannot Stand")[34] ของตนที่รัฐอิลินอยส์ ในปีเดียวกัน โดยเตือนถึงภัยของคำพิพากษา Dred Scott ที่จะเปลี่ยนอเมริกาทั้งประเทศให้กลายเป็นดินแดนที่การมีทาสเป็นเรื่องชอบด้วยกฎหมาย และท่านยังทำนายว่าอเมริกาจะไม่แบ่งแยกตลอดไป แต่มีชะตากรรมที่จะต้องเปลี่ยนไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งหากไม่ใช่ว่าการมีทาสจะกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายทั้งประเทศ ก็ต้องเป็นว่าการมีทาสจะต้องไม่มีอยู่อีกต่อไป[35] นอกจากนี้คำพิพากษาเดรด สก็อต ยังมีส่วนผลักดันให้ขบวนการนักเลิกทาสปฏิบัติการก้าวร้าวขึ้นไปอีก อย่างเช่น กรณีนักเลิกทาส จอห์น บราวน์ ที่พยายามติดอาวุธให้กับทาสผิวดำเพื่อให้ก่อจลาจลที่ ฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี่ (Harper's Ferry) เวอร์จิเนีย ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1859

การเลือกตั้งประธานาธิบดี กับวิกฤติการแยกดินแดน[แก้]

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2403) มีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ผลักดันสหรัฐเข้าสู่สงครามกลางเมือง ประธานาธิบดี เจมส์ บูแคนัน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น เป็นชาวอเมริกันทางตอนเหนือที่มีความคิดเห็นเข้าข้างฝ่ายใต้ ประธานาธิบดีบูแคนันมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการทำให้เนื้อคำพิพากษาคดี เดร็ด สก๊อต ออกมากว้างในลักษณะเป็นคุณกับนายทาสเช่นนั้น โดยบูแคนันเป็นคนเขียนจดหมายชักจูงให้ตุลาการสมทบแห่งศาลสูงสุดสหรัฐ โรเบิร์ต เกรีย (Robert Grier) โหวตร่วมกับฝ่ายเสียงข้างมากในคณะศาลให้ สก็อตต์ ทาสผิวดำแพ้คดี[36] เพื่อให้ศาลเขียนคำพิพากษาปฏิเสธอำนาจของรัฐบาลกลางในประเด็นที่เกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของสถาบันทาสแบบเด็ดขาด การเข้ากดดันตุลาการในคดี เดร็ด สก็อตต์ ของ ปธน. บูแคนันกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว และก่อเกิดผลสะท้อนกลับเชิงลบทางการเมืองต่อพรรคเดโมแครตเป็นอย่างยิ่ง ความไม่พอใจในคำพิพากษา เดร็ด สก็อตต์ ของชาวอเมริกันในรัฐทางเหนือ ช่วยให้พรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะได้ที่นั่งสภาผู้แทนเพิ่มในการเลือกตั้งกลางเทอม ปี 1858[37] และเข้าควบคุมได้ทั้งสภาคองเกรสในการเลือกตั้งใหญ่ ปี 1860

สว.สตีเฟน เอ. ดักลาส จากอิลินอยส์ เป็นตัวแทนผู้ลงสมัครฯ ของพรรคเดโมแครตฝ่ายเหนือ
จอห์น ซี. เบรกคินริดจ์ รองปธน.สหรัฐ (1857-1861) และผู้ลงสมัครฯของพรรคเดโมแครตฝ่ายใต้
อับราฮัม ลินคอล์น
ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐ (1861–1865)

ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี ค.ศ. 1860 ของพรรครีพับลิกันซึ่งนำโดยอับราฮัม ลินคอล์น เป็นผลมาจากความระส่ำระสายภายในของพรรคเดโมแครต เนื่องจากตัวแทนจากรัฐทางตอนใต้ซึ่งเป็นพวกสนับสนุนสถาบันทาส และคำพิพากษา เดร็ด สก็อตต์ พากัน "วอล์กเอ้าท์" จากการประชุมแห่งชาติของพรรคเดโมแครต เพื่อประท้วงการที่ที่ประชุมปฏิเสธไม่รับมติสนับสนุนนโยบายขยายสถาบันทาส[38] โดยการใช้กฎหมายทาส (slave codes) ในทุกพื้นที่ของสหรัฐ สมาชิกของพรรคเดโมแครตจึงแตกออกเป็นฝ่ายเหนือและใต้ โดยสมาชิกพรรคฝ่ายใต้เป็นพวกสนับสนุนคำพิพากษาคดีเดร็ด สก็อตต์ ฝ่ายนี้จึงแยกตัวออกมาเลือก นายจอห์น ซี. เบรกคินริดจ์ (John C. Breckinridge) ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี มาเป็นผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคเดโมแครตฝ่ายใต้[38] ในขณะที่ นายสตีเฟน เอ. ดักลาส ตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งเดโมแครตฝ่ายเหนือ และเป็นผู้ร่างกฎหมาย แคนซัส-เนบรากา ที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องการกำหนดความชอบด้วยกฎหมายของสถาบันทาสโดยทางอธิปไตยปวงชน (กล่าวคือประสงค์จะให้สภาคองเกรสทำตัวเป็นกลาง ไม่เข้าแทรกแทรงไม่ว่าจะเพื่อจำกัด หรือสนับสนุนการขยายตัวของสถาบันทาสไปในพื้นที่ใหม่ๆของสหรัฐ) ก็ได้รับความนิยมทางตอนเหนือสู้ลินคอล์นไม่ได้[38] ลินคอล์นจึงกวาดคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral vote) ไปแบบท่วมท้น และเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ปี 1860 แม้ว่าจะได้รับคะแนนนิยมทั่วประเทศเพียงแค่ 40%[38] กลายเป็นผู้สมัครพรรครีพับลิกันคนแรกที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี

รัฐทางใต้ทยอยแยกตัว[แก้]

สิ่งพิมพ์โฆษณาการประกาศแยกตัวออกของรัฐเซาท์แคโรไลนา

การเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 1860 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการครองอำนาจทางการเมืองในอเมริกาของฝ่ายใต้ เนื่องจาก 2 ใน 3 ของจำนวนประธานาธิบดีทั้งหมดล้วนมาจากภาคใต้ นับแต่ จอร์จ วอชิงตัน ได้รับเลือกเป็น ปธน. คนแรกในปี ค.ศ. 1789 ความพ่ายแพ้นี้ทำให้รัฐฝ่ายใต้รู้สึกถูกบีบคั้นอย่างมาก และกลายเป็นจุดแตกหักทางการเมือง โดยเพียงสองเดือนหลังชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วประเทศของลินคอล์น มลรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญที่สุดในการผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิของมลรัฐที่จะปกครองและกำหนดตนเอง (state rights) ก็ประกาศแยกตัวออกเป็นรัฐแรก[39] ในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1860 มลรัฐเกษตรกรรมไร่ฝ้ายอีกหกมลรัฐ ได้แก่ มิสซิสซิปปี, ฟลอริดา, แอละแบมา, จอร์เจีย, หลุยส์เซียนา และเท็กซัส ทยอยประกาศแยกตัวออกตามในอีกสองเดือนถัดมา คือระหว่างเดือน มกราคม และกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1861 หกรัฐแรกที่ประกาศแยกตัวมีสัดส่วนของทาสต่อประชากรที่สูงถึงร้อยละ 49[40] แสดงถึงความพึ่งพาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมการเกษตรในระดับที่สูงมาก และรัฐเหล่านี้เชื่อว่าการครองทาสเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ บรรดารัฐที่แยกตัวออกนี้ได้ร่วมกันจัดตั้งเป็น สมาพันธรัฐอเมริกา (Confederacy) ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1861[41] หลังจากจัดตั้งแล้วกองกำลังสมาพัธรัฐก็เริ่มโจมตีทรัพย์สินและป้อมค่ายของรัฐบาลกลางโดยแทบไม่พบการต่อต้านเลย เนื่องจากประธานาธิบดี เจมส์ บูแคนัน แห่งพรรคเดโมแครตกำลังจะหมดวาระ และบูแคนันอ้างว่า "อำนาจที่จะใช้กำลังอาวุธ เพื่อบังคับให้มลรัฐคงอยู่ในสหภาพต่อไปนั้น ไม่ได้อยู่อำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้สภาคองเกรส"[42] อย่างไรก็ดี ทั้งรัฐบาลเดโมแครตของ ปธน.บูแคนัน และฝ่ายพรรครีพับลิกันที่กำลังจะเข้ามาบริหาร ต่างก็ประณามการแบ่งแยกดินแดนว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็พยายามจะประนีประนอมในประเด็นเรื่องการมีทาสอยู่ การประนีประนอมคริตเตนเดนถูกเสนอขึ้นโดยวุฒิสมาชิก จอห์น เจ. คริตเตนเดน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1860 เพื่อแก้ปัญหาการขอแยกดินแดน โดยเสนอให้รื้อฟื้นเอาเส้นพรมแดนระหว่างรัฐเสรี-รัฐทาส ตามการประนีประนอมมิสซูรี ปี 1820 กลับมาใช้ใหม่โดยให้ขยายออกไปทางฝั่งตะวันตก ทั้งยอมให้รัฐทางใต้สามารถคงระบอบทาสไว้ได้แบบถาวร และให้สามารถป้องกันทาสหลบหนีได้ด้วย ข้อเสนอนี้เป็นที่พอใจของฝ่ายใต้ แต่ในที่สุดก็ถูกปัดให้ตกไปทั้งโดยสภาผู้แทนฯสหรัฐ และวุฒิสภาสหรัฐฯ เนื่องจากพรรครีพับลิกันมองว่าเป็นข้อเสนอที่รับไม่ได้เพราะเท่ากับว่ายอมให้มีการขยายตัวของสถาบันทาสไปในพื้นที่ใหม่ๆของสหรัฐได้[43] ความหวังสุดท้ายที่จะรักษาสหภาพไว้จึงหมดลงไป

ลินคอล์นให้สุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่ง[แก้]

ลินคอล์นเข้าสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งหน้าอาคารรัฐสภาที่ยังสร้างไม่เสร็จ

อับราฮัม ลินคอล์น เข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐ ในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1861 ท่านกล่าวในสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ความพยายามแยกรัฐออกเป็นอิสระย่อมเป็นโมฆะ แต่ก็ให้คำยืนยันว่ารัฐบาลของตนจะไม่เริ่มต้นสงครามกลางเมือง โดยกล่าวต่อ "รัฐทางใต้" ว่า "ข้าพเจ้าไม่มีจุดมุ่งหมายโดยตรงหรือโดยอ้อมที่จะแทรกแทรงสถาบันการครองทาสที่ยังมีอยู่ในประเทศสหรัฐ เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าพเจ้าไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะทำเช่นนั้น"[44] ลินคอล์นทำอย่างดีที่สุดที่จะใช้สุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งในการหว่านล้อมเพื่อนร่วมชาติ ให้หันมาปรองดองกัน ให้เห็นถึงความเป็นครอบครัวอเมริกันครอบครัวเดียวกัน ดังพูดคำปิดท้ายสุนทรพจน์

พวกเราไม่ใช่ศัตรูกัน เราเป็นเพื่อน เราจะเป็นศัตรูกันไม่ได้ ถึงความรู้สึกจะบอบช้ำไปบ้าง แต่จะให้สิ่งนี้มาทำลายสายใยของมิตรภาพหาได้ไม่ สายพิณที่น่าพิศวงของความทรงจำ ที่โยงเอาทุกสมรภูมิรบและหลุมศพของวีรบุรุษ เข้าไว้กับทุกหัวใจที่ยังมีชีวิตอยู่ และหินหน้าเตาไฟของทุกครัวเรือน ทั่วดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ จะยังส่งเสียงประสานของความกลมเกลียวแห่งสหภาพอย่างแน่นอน ยามเมื่อมันถูกดีดให้ดังขึ้นอีกครั้ง โดยเทวทูตที่ดีกว่าแห่งธรรมชาติของเรา

— อับราฮัม ลินคอล์น, สุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งครั้งแรก, 4 มี.ค. 1861[45]

แต่หลังจากกองกำลังสมาพันธรัฐ เคลื่องทัพเข้ายึดครองป้อมและทรัพย์สินของรัฐบาลกลางหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ความพยายามที่จะประนีประนอมก็พังทลายลง ลินคอล์นปฏิเสธไม่รับค่าชดเชยราคาทรัพย์สินที่เสียหาย หรือถูกทำลายโดยกองกำลังสมาพันธรัฐ โดยอ้างว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะไม่เจรจา หรือเข้าทำสัญญากับองค์กรที่ไม่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย[46] ทั้งสองฝ่ายจึงหันมาเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม

การจัดตั้งสมาพันธรัฐอเมริกา[แก้]

วิวัฒนาการของสมาพันธรัฐอเมริกา, ระหว่าง 20 ธันวาคม 1860 ถึง 15 กรกฎาคม 1870

สมาพันธรัฐอเมริกาถูกจัดตั้งขึ้นในระหว่าง การประชุมมอนต์กอเมอรี ณ รัฐแอละแบมา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861 - หนึ่งเดือนก่อนที่ลินคอล์นจะเข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม ในระยะแรกมีรัฐเข้าร่วมจัดตั้ง ​6 รัฐ ได้แก่ รัฐเซาท์แคโรไลนา, มิสซิสซิปปี, ฟลอริดา, แอละแบมา, จอร์เจีย และลุยเซียนา โดยมีเท็กซัสเป็นรัฐเข้าร่วมสังเกตการณ์ (ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสมาพันธรัฐ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1861) และมีนาย เจฟเฟอร์สัน เดวิส เป็นประธานาธิบดี เมืองหลวงในระยะแรกอยู่ที่เมืองมอนต์กอเมอรี รัฐแอละแบมา ต่อมามีมลรัฐเข้าร่วมเพิ่มอีก 4 มลรัฐ รวมทั้งสิ้น 11 มลรัฐ และย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย ในวันที่ 30 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน

เปิดฉากการสู้รบ: ยุทธการที่ฟอร์ทซัมเทอร์[แก้]

Crowd surrounding an equestrian statue topped by a huge U.S. flag
การชุมนุมใหญ่ วันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1861, เพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่รูปปั้นวอชิงตันบนหลังม้าที่ยูเนียนสแควร์นครนิวยอร์ก

ป้อมซัมเทอร์ หรือ ฟอร์ทซัมเทอร์ เป็นป้อมปราการของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งอยู่กลางท่าเรือเมืองชาล์สตัล มลรัฐเซาท์แคโรไลนา ในขณะที่กองกำลังสมาพันธรัฐยกพลมาถึงนั้น กองกำลังของรัฐบาลกลางได้ถูกถอนออกไปแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดปะทะกับพลเรือนติดอาวุธ (militia) ในพื้นที่ แต่เดิมรัฐบาลของ ปธน.บิวแคนัน ต้องการให้ทางป้อมถอนกำลังออกไป แต่รัฐบาลใหม่ของลินคอล์นออกคำสั่งให้ทหารรักษาป้อมไว้ก่อน จนกว่าจะถูกยิงใส่ ดังนั้นเมื่อ พันตรีโรเบิร์ต แอนเดอร์สัน นายทหารบัญชาการของฝ่ายสหภาพไม่ปฏิบัติตามคำเรียกร้องให้ยอมจำนนของทางฝ่ายสมาพันธรัฐ เจฟเฟอร์สัน เดวิส จึงสั่งให้ นายพลจัตวา พี. จี. ที. โบรีการ์ด ยิงโจมตีป้อมก่อนที่กองหนุนจะมาถึง กองกำลังของโบรีการ์ดจึงเริ่มยิงโจมตีป้อม เมื่อวันที่ 12 เมษายน 1861 ยิงอยู่สองวันป้อมก็แตก โบรีการ์ดเคยเป็นนักเรียนภายใต้การฝึกสอนของพันตรีแอนเดอร์สันมาก่อนสมัยยังเรียนอยู่ที่เวสต์พอยน์

การโจมตีฟอร์ทซัมเทอร์ เป็นการปลุกกระแสชาตินิยมอเมริกันให้แพร่กระจายไปทั่วทางตอนเหนือ[47] พันตรีแอนเดอร์สันกลายเป็นวีรบุรุษของชาติไปในชั่วข้ามคืน ฝ่ายเหนือเริ่มระดมกำลังตอบโต้ มีการนัดพบ พูดคุยปราศัย ฝ่ายเอกชนก็ช่วยระดมเงิน ส่วนในท้องที่ต่างๆก็มีการระดมกำลังพล ทั้งฝ่ายผู้ว่าการรัฐและฝ่ายนิติบัญญัติก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะตอบโต้[48][49]

อย่างไรก็ดี ความกระตือรือร้นที่จะสู้กลับในภาคเหนือ สะท้อนว่าฝ่ายสหภาพยังประมาทและยังประเมินสเกล หรือขนาดของสงครามที่จะตามมาต่ำเกินไป เพราะขณะนั้นคนส่วนใหญ่ยังคิดว่ามีเพียงรัฐไม่กี่รัฐทางตอนใต้ที่คิดแยกตัวออกจากสหภาพ[50] ปธน. ลินคอล์น เรียกร้องให้ทุกมลรัฐส่งกำลังทหารไปยึดเอาป้อมซัมเทอร์ และทรัพย์สินอื่นๆของรัฐบาลกลางคืน โดยในเบื้องต้นลินคอล์นขอกำลังอาสาสมัครเพียง 75,000 นาย สำหรับประจำการเพียง 90 วันเท่านั้น[51] ผู้ว่ารัฐแมสซาชูเซตส์ส่งหน่วยรบของรัฐลงใต้โดยทางรถไฟในวันถัดไป ส่วนในทางตอนใต้รัฐมิสซูรี พวกหนุนแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ได้เข้ายึดคลังแสงลิเบอร์ตี้ (Lierty Arsenal)[52] ปธน.ลินคอล์นต้องประกาศขออาสาสมัครเพิ่มอีก 42,000 คน ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1861

ในระยะนี้มีรัฐพรมแดน เหนือ-ใต้ ประกาศแยกตัวเพิ่มอีก 4 รัฐ[53] คือ เวอร์จิเนีย, เทนเนสซี, อาร์คันซัส และ นอร์ทแคโรไลนา โดยแต่เดิมรัฐเหล่านี้วางท่าที ไม่ยอมถืออาวุธเข้าห้ำหั่นกับรัฐทางเหนือที่เป็นเพื่อนบ้าน การแยกตัวออกของรัฐเวอร์จิเนียทำให้ นายพลโรเบิร์ต อี. ลี ถอนตัวจากกองทัพฝ่ายสหภาพ โดยอ้างว่าไม่สามารถจับอาวุธขึ้นสู้กับบ้านเกิดของตนได้ ทางฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกาตอบแทนรัฐเวอร์จิเนีย โดยการย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่ริชมอนด์ เมืองหลวงของเวอร์จิเนีย[54]

การสู้รบ[แก้]

สหรัฐสู้รบกันในสงครามกลางเมืองระหว่างวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 จนถึง 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1865 โดยมีการสู้รบกันใน 23 มลรัฐ และในพื้นที่ที่ขณะนั้นยังไม่มีสถานะเป็นมลรัฐ รวมไปถึงพื้นที่ทางน้ำ สงครามกลางเมืองอเมริกาสู้รบกันในพื้นที่นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ วาลเวอร์ด, รัฐนิวเม็กซิโก และ ตุลลาโฮมา, รัฐเทนเนสซี ไปจนถึง เซนต์อัลแบนส์, รัฐเวอร์มอนท์ และเฟอร์นานดินา ณ ชายฝั่งรัฐฟลอริดา สมรภูมิที่มีชื่อบันทึกอย่างเป็นทางการมีถึง 237 สมรภูมิ คนอเมริกันมากกว่าสามล้านคนเข้าร่วมสู้รบในสงครามกลางเมือง และมีคนกว่าหกแสนคนล้มตายในสงครามนี้ หรือคิดเป็นร้อยละสอง ของประชากรอเมริกันทั้งหมด

แผนยุทธศาสตร์[แก้]

แผนที่การแยกดินแดนสหรัฐ ปี 1863
   สหรัฐ
   พื้นที่ฝ่ายสหภาพที่ห้ามการมีทาส
   รัฐชายแดนฝ่ายสหภาพที่ยอมให้มีทาสได้
   ฝ่ายสมาพันธรัฐ
   พื้นที่ฝ่ายสหภาพที่การมีทาสยังเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

เมื่อเริ่มต้นสงคราม ต่างฝ่ายต่างคิดว่าการรบจะจบลงโดยเร็ว แต่หลังจากยุทธการที่บูลรัน (Battle of Bull Run) ก็เป็นที่แน่ว่านี่จะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ เนื่องจากฝ่ายสมาพันธรัฐทราบดีว่าทั้งกำลังพล เทคโนโลยี และขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมของฝ่ายตนเป็นรองมาก แผนยุทธศาสตร์ของฝ่ายสมาพันธรัฐจึงเน้นที่การยืนระยะสงครามให้นานที่สุด เพื่อให้ฝ่ายสหภาพตระหนักถึงราคามหาศาลที่ต้องจ่ายในสงคราม และถอดใจเลิกคิดรวมชาติด้วยกำลังทหารไปเอง

ส่วนเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของทางสหภาพ คือ ต้องการกำหราบฝ่ายกบฏแยกดินแดนลงให้ราบคาบ และป้องกันไม่ให้มีรัฐถอนตัวเพิ่ม ฝ่ายสหภาพจึงกำหนดยุทธศาสตร์ขึ้น 4 ประการ:

  1. ประการแรก คือ ทำการเจรจากับรัฐชายแดนบริเวณเหนือเส้นเมสัน-ดิกสัน[55] (Mason-Dixon line) เช่น มลรัฐแมรีแลนด์ให้คงอยู่ในสหภาพ
  2. ประการที่สอง คือ ทำการปิดล้อมท่าเรือของเมืองใหญ่ๆ ฝ่ายสมาพันธรัฐ เพื่อตัดการค้าและการส่งกำลังบำรุงจากยุโรป หรือจากหมู่เกาะบาฮามัส ซึ่งอยู่ในควบคุมของจักรวรรดิอังกฤษ
  3. ประการที่สาม คือ เข้ายึดครองพื้นที่สำคัญตามแนวลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี เพื่อตัดขาดรัฐทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ จากรัฐฝั่งตะวันออกของสมาพันธรัฐ
  4. ประการสุดท้าย คือ เดินทัพเข้าสู่ดินแดนใจกลางของสมาพันธรัฐ และเข้ายึดครองเมืองหลวงริชมอนด์

การระดมกำลังพล[แก้]

ในขณะที่ฝ่ายสมาพันธรัฐกำลังก่อตัวโดยรัฐร่วมจัดตั้ง 7 รัฐ ที่การประชุมเมืองมอนกอเมอร์รี กำลังพลทั้งหมดของกองทัพสหรัฐมีจำนวนราว 16,000 นาย[53] แต่เหล่าผู้ว่าการรัฐทางเหนือก็เริ่มที่จะระดมกำลังพลเรือนติดอาวุธแล้ว สภาคองเกรสของสหพันธรัฐให้อำนาจประเทศที่ตั้งใหม่นี้มีกำลังทหารได้ไม่เกิน 100,000 นาย ซึ่งทางผู้ว่าการรัฐทางใต้ก็ทะยอยส่งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พอถึงเดือนพฤษภา ปธน.เจฟเฟอร์สัน เดวิสก็กำลังเร่งจะได้ได้กำลังพลถึง 100,000 นาย และสภาคองเกรสสหรัฐก็เร่งระดมพลตอบโต้

โปสเตอร์เชิญชวนอาสาสมัคร กองพันทหารราบที่ 179 แห่งเพนซิลวาเนีย โปสเตอร์เชิญชวนอาสาสมัคร กองพันทหารราบที่ 179 แห่งเพนซิลวาเนีย
โปสเตอร์เชิญชวนอาสาสมัคร กองพันทหารราบที่ 179 แห่งเพนซิลวาเนีย
โปสเตอร์เชิญชวนอาสาสมัครเข้าประจำการในกองทหารม้าปืนยาว

ในปีแรกของสงคราม ทั้งสองฝ่ายมีจำนวนอาสาสมัครเกินกว่าที่ตนจะสามารถฝึกและติดอาวุธให้ได้ แต่ความกระตือรือร้นของประชาชนก็มีอยู่ไม่นาน ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องหันไปพึ่งพาการเกณฑ์ทหาร เพื่อเสริมกำลังของอาสาสมัคร ฝ่ายสมาพันธรัฐออกกฎหมายเรียกเกณฑ์ทหารในเดือนเมษายน ปี 1862 สำหรับชายหนุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 35 ปี โดยยกเว้นการเกณฑ์ทหารให้กับผู้คุมทาส เจ้าหน้าที่รัฐบาล และนักเทศน์ สภาคองเกรสของสหรัฐก็ออกกฎหมายอนุญาตให้มีการเรียกเกณฑ์พลเรือนติดอาวุธในมลรัฐ หากว่าจำนวนอาสาสมัครมีไม่ถึงตามที่โควต้ากำหนด ประชากรอพยพชาวยุโรปเข้าร่วมกองทัพฝ่ายสหภาพเป็นจำนวนมาก ทหารอย่างน้อย 177,000 นายเกิดในประเทศเยอรมนี และ 144,000 นายเกิดในไอร์แลนด์[56]

การเรียกเกณฑ์ทหารไม่ได้รับความนิยมทั้งในทางเหนือ และทางใต้ มีการจลาจลต่อต้านการเกณฑ์ทหารครั้งใหญ่ที่เมืองนิวยอร์กในเดือนกรกฎาคม ปี 1863 ในภาคเหนือประมาณว่ามีคนหนีเกณฑ์ทหารถึง 120,000 คน โดยมีจำนวนไม่น้อยหนีขึ้นไปทางแคนาดา นอกจากนี้ยังมีทหารหนีทัพระหว่างสงครามอีกถึง 280,000 นาย[57] ส่วนภาคใต้ก็มีทหารอย่างน้อย 1000,000 นายที่หนีทัพ คิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 10 แต่บางส่วนเป็นการทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่ได้รับอนุมัติ เพื่อไปดูและพ่อแม่หรือคนในครอบครัวอื่นๆ แต่ก็กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยของตนในภายหลัง[58] ในทางเหนือมีพวกฉวยโอกาส ที่อาสาสมัครเข้าร่วมรบเพียงเพื่อจะเอาโบนัส แล้วก็เปลี่ยนชื่อตัวเพื่อที่จะไปสมัครเข้าประจำการ และรับโบนัสในหน่วยอื่นอีก มีคน 141 คนที่ถูกจับได้ และถูกประหารชีวิต

การสู้รบทางยุทธนาวี[แก้]

กองทัพเรือขนาดเล็กของสหรัฐขยายตังอย่างรวดเร็วในช่วงความขัดแย้ง จากที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการเพียง 6,000 นาย ในปี ค.ศ. 1861 ก็เพิ่มจำนวนเป็น 45,000 นายในปี ค.ศ. 1865 มีเรือ 671 ลำ รวมระวางขับน้ำทั้งสิ้น 510,396 ตัน[59][60] ภารกิจหลักของทัพเรือคือการปิดล้อมท่าเรือของฝ่ายสมาพันธรัฐ เข้าควบคุมระบบแม่น้ำ ต่อต้านหน่วยจู่โจมของฝ่ายสมาพันธรัฐในทะเล และเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดศึกที่มีความเป็นไปได้กับราชนาวีอังกฤษ[61] เนื่องจากความตึงเครียดทางการทูตในกรณีเรือเทรนต์ (Trent Affair) และด้วยความที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษมีพื้นฐานอยู่ที่สิ่งทอ (textile) ประเทศอังกฤษจึงเสียผลประโยชน์จากการปิดล้อมทางทะเลโดยฝ่ายสหภาพอยู่มาก ทำให้มีแรงกดดันจากอุตสาหกรรมสิ่งทอให้เข้าแทรกแทรงความขัดแย้งนี้ อังกฤษจึงมีบทบาทสำคัญในการขนส่งกำลังบำรุงและยุทโธปรณ์ให้กับฝ่ายใต้[62] ยุทธนาวีที่สำคัญๆส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันตก เพราะการเข้าควบคุมลำน้ำสายใหญ่ๆในแถบนั้นมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือสหรัฐ ที่ต้องการรุกเข้าไปสู่พื้นที่ใจกลางของสมาพันธรัฐ ในภาคตะวันออกกองทัพเรือทำหน้าที่ส่งกำลังบำรุงและเคลื่อนกำลังพลไปในพื้นที่ต่างๆ และในบางกรณีก็ใช้ยิงบอมบาร์ดฐานหรือป้อมปราการของฝ่ายสมาพันธรัฐ

ยุทธวิธีปิดล้อมทางน้ำของฝ่ายสหภาพ[แก้]

A cartoon map of the South surrounded by a snake.
"แผนงูอนาคอนดา" ของพลเอก สก็อตต์ 1861. ปิดล้อมทางน้ำอย่างรัดกุม, ต้อนให้พวกกบฏออกจากมิสซูรี มาตามแม่น้ำมิสซิสซิปปี, ฝ่ายหนุนสหภาพในรัฐเคนทักกียังทำตัวเป็นกลาง, อุตสาหกรรมฝ้ายซบเซาในจอร์เจีย.

นายพล วินฟิลด์ สก็อตต์ ได้คิดแผนงูอนาคอนดาขึ้นในราวต้นปี 1861 เพื่อให้ชนะสงครามโดยเสียเลือดเนื้อให้น้อยที่สุด ความคิดเห็นสาธารณะต้องการให้กองทัพสหภาพปฏิบัติการโจมตีทันที เพื่อให้ยึด ริชมอนด์ เมืองหลวงของข้าศึกให้เร็วที่สุด แต่สก็อตต์เป็นเพียงนายทหารอาวุโสเพียงไม่กี่คน ที่ตระหนักว่านี่จะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ และเชื่อว่าการโจมตีเศรษฐกิจของฝ่ายสหพันธรัฐโดยการปิดล้อมทางน้ำเป็นวิธีที่ดีกว่า ลินคอล์นนำแผนของสก็อตต์มาปฏิบัติส่วนหนึ่ง แต่ไม่ฟังคำทัดทานของสก็อตต์เกี่ยวกับระยะเวลาประจำการที่สั้นเพียง 90 วัน ของอาสาสมัคร

ในวันที่ 19 เดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1861 ลินคอล์นประกาศเริ่มยุทธวิธีปิดล้อมทางน้ำ ซึ่งต้องใช้กำลังทัพเรือตรวจตราชายฝั่งแอตแลนติก และอ่าวเม็กซิโกยาว 3,500 ไมล์ (5,600 กิโลเมตร) ครอบคลุมท่าเรือหลัก 12 ท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองท่าที่คับคั่งอย่างนิวออร์ลีนส์ และโมบิล รัฐแอละแบมา นับว่าเป็นความพยายามปิดล้อมชายฝั่งครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จนถึงขณะนั้น ในระยะเริ่มต้น กองทัพเรือสหรัฐมีเรือรบประจำการ 42 ลำ แต่ส่วนใหญ่ล้าสมัย และมีเพียง 3 ลำที่เหมาะสมสำหรับภารกิจปิดล้อมทางทะเล เลขาธิการกองทัพเรือ กิเดียน เวลส์ (Gideon Welles) เดินหน้าขยายจำนวนเรือรบอย่างรวดเร็ว และเริ่มโปรเจกต่อเรือขนาดใหญ่ขึ้นทันที มีการขอซื้อเรือพาณิชย์และเรือขนส่งผู้โดยสารของพลเรือน กองทัพเรือได้เรือกำปั่นไฟ เกือบ 80 ลำ และเรือกำปั่นใบ 60 ลำ เพิ่มขึ้นมาในช่วงสิ้นปีแรกของสงคราม พอถึงเดือนพฤศจิกายนปีถัดไป จำนวนเรือกำปั่นไฟของกองทัพเรือสหรัฐก็เพิ่มเป็น 282 ลำ กับเรือกำปั่นใบอีก 102 ลำ[63] และในตอนท้ายของสงครามฝ่ายสหภาพมีเรือประจำการอยู่ทั้งหมดถึง ๖๗๑ ลำ[64]

การดิ้นรนของทัพเรือฝ่ายสมาพันธรัฐ[แก้]
เรือรบของกองทัพเรือสหภาพ
เรือรบของ กองทัพเรือสมาพันธรัฐ

เมื่อสงครามกลางเมืองเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน 1861 ฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกาแทบไม่มีเรือรบอยู่ในประจำการเลย ความช่วยเหลือส่วนใหญ่ในการส่งกำลังบำรุง และการต่อเรือรบ ล้วนมาจากบริเตนใหญ่[65] นอกจากนี้ฝ่ายสมาพันธรัฐก็ไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่ ปธน.เจฟเฟอร์สัน เดวิส จึงหันไปหาความช่วยเหลือของเอกชน โดยเสนอออกใบสัมปทานสงคราม หรือ เล็ตเตอร์ ออฟ มาร์ก (Letter of Marque) ซึ่งอนุญาตให้เอกชนที่ยอมเอาเรือมาใช้ในภาระกิจหลวงให้ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเรือข้าศึกที่จับได้[66] ทางกองทัพเรือของสมาพันธรัฐจึงประกอบไปด้วยเรือไปรเวทเทียร์ (privateer) เป็นจำนวนมาก แต่ลินคอล์นไม่ยอมรับว่าฝ่ายสมาพันธรัฐมีความชอบธรรม หรืออำนาจใดๆที่จะให้สัมปทานสงครามกับเอกชน และขู่ที่จะปฏิบัติต่อปฏิบัติการของเอกชนในลักษณะนี้ อย่างการกระทำอันเป็นโจรสลัด แต่เนื่องจากสหรัฐไม่ได้เข้าร่วมลงนามใน ประกาศกรุงปารีส ปี 1856 ว่าด้วยกฎหมายพาณิชนาวี ซึ่งห้ามไม่ให้มีไปรเวทเทียร์ ทางรัฐบาลอังกฤษจึงปฏิเสธไม่ยอมรับประกาศของลินคอล์นว่ามีผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศ

ในระยะแรกของสงคราม การปิดล้อมทางทะเลของฝ่ายสหภาพไม่ค่อยได้ผล เพราะกำลังทางเรือมีไม่พอจะไปปิดล้อมชายฝั่งยาวเป็นพันๆไมล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางฝ่ายใต้จึงสามารถใช้เรือกลไฟที่มีความเร็ว หรือ blockade runners แล่นฝ่าการปิดล้อมไปได้ง่ายๆ ลูกเรือของไปรเวทเทียร์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษ ซึ่งมีทั้งที่เป็นทหารเรือจากราชนาวีอังกฤษ และที่เป็นพลเรือน ทั้งนี้เป็นเพราะทางฝ่ายสมาพันธรัฐมีจำนวนทหารเรือ กะลาสี หรือต้นหนที่ได้รับการฝึกแล้วไม่เพียงพอจะปฏิบัติการส่งบำรุงเอง ในระยะแรกฝ่ายสมาพันธรัฐจึงพึ่งพาธุรกิจเอกชนทั้งในภาคใต้เองและในอังกฤษเป็นผู้จัดส่งกำลังบำรุง กับทรัพยากรที่ขาดแคลนเกือบทั้งหมด แต่ต่อมากองทัพเรือสมาพันธรัฐเริ่มติดต่อประเทศในยุโรป เพื่อหาเรือเข้าประจำการเอง

เมื่อเรือเร็วหนีการปิดล้อม (blockade runners) ถูกจับได้ ทั้งตัวเรือและสินค้าที่บรรทุกจะถูกศาลสั่งให้ตกเป็นรางวัลของสงคราม (prize of war) และขายเอาเงินมาแจกจ่ายให้กับลูกเรือของฝ่ายสหภาพ ส่วนลูกเรือที่เป็นคนบริติชก็มักจะถูกปล่อยตัว อย่างไรก็ดีเมื่อขนาดของกองทัพเรือฝ่ายเหนือใหญ่ขึ้นในปีหลังๆของสงคราม การแล่นฝ่าการปิดล้อมก็ทำได้ยากขึ้น เรือใหญ่ๆหมดสิทธิที่จะแล่นฝ่าด่านปิดล้อมไปได้ ต้องอาศัยเรือที่ออกแบบมาเพื่อความเร็วโดยเฉพาะเท่านั้น และโอกาสที่จะถูกฝ่ายข้าศึกจับได้เพิ่มเป็นถึง 1 ใน 3 เมื่อสงครามเข้าสู่ปีที่ 1864[67]

การพัฒนาการของกองทัพเรือสมัยใหม่[แก้]
ภาพการยิงต่อสู้ระหว่างเรือยูเอสเอส มอนิเตอร์ และ ซีเอสเอส เวอร์จิเนีย ในยุทธนาวีที่แฮมพ์ตันโรดส์ ถือเป็นการปะทะกันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเรือรบหุ้มเกราะ ซึ่งเพิ่งเข้ามาแทนที่ เรือรบแนวเส้นประจัญบาน

ถึงแม้จะด้อยกว่ามากในด้านกำลังทางนาวี แต่กองทัพเรือสมาพันธรัฐก็เข็นเอานวัตกรรมด้านการรบทางน้ำออกมาหลายอย่าง ซึ่งมีทั้งการสร้างและดัดแปลงเรือตอปิโดเสากระโดง (Spar Torpedo) และเรือดำนำที่ขับเคลื่อนด้วยมือ ซึ่งออกปฏิบัติการได้สำเร็จแต่กลับมาไม่ถึงฝั่ง เลขาธิการกองทัพเรือสมาพันธรัฐ สตีเฟน มัลลอรี (Stephen Mallory) ตัดสินใจลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ของเรือรบหุ้มเกราะ ไอรอนแคลด เรือรบหุ้มเกราะลำแรกของสงคราม เป็นการเอาเรือเจาะน้ำแข็ง อีน็อค ที่ถูกนายเรือเรือส่วนตัว วี.เอช.ไอวี ยึดมาได้มาปรับปรุงและดัดแปลงติดตั้งเกราะ แล้วเอาเข้าประจำการในชื่อ ซีเอสเอส มานาสซัส (CSS Manassas) แต่ลำที่ฝ่ายสมาพันธรัฐสร้างขึ้นเองลำแรก คือ ซีเอสเอส เวอร์จิเนีย (CSS Virginia) โดย สตีเฟน มัลลอรี สร้างขึ้นด้วยการไปกู้เอาเครื่องจักรมาจากเรือ ยูเอสเอส เมอรริแม็ค (USS Merrimack) ที่ถูกจม แล้วตั้งชื่อใหม่ให้ว่า ซีเอสเอส เวอร์จิเนีย มันปฏิบัติหน้าที่วันแรกเมื่อ 8 มีนาคม ปี 1862 เรือ เวอร์จิเนีย สามารถจมเรือฝ่ายสหภาพที่เป็นเรือไม้ได้หลายลำในการรบวันแรก ในยุทธนาวีแฮมพ์ตันโรดส์ แต่ในวันถัดมาก็เจอคู่ปรับสายพันธ์เดียวกัน ได้แก่ เรือ ยูเอสเอส มอนิเตอร์ (USS Monitor) เรือรบหุ้มเกราะฝ่ายสหภาพที่สร้างตามนวัตกรรมการออกแบบของ จอห์น เอริคสัน การปะทะกันครั้งแรกของเรือรบหุ้มเกราะในอ่าว เชสะพีค (Chesapeake) กินเวลาสามชั่วโมงและจบลงโดยไม่มีฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมาถึงของเทคโนโลยีของยุทธนาวีในยุคต่อไป[68]

เทคโนโลยีเรือรบหุ้มเกราะเป็นความก้าวหน้าสำคัญในเทคโนโลยีการสงครามทางน้ำ สงครามกลางเมืองสหรัฐพิสูจน์ว่าเรือ ไอรอนแคลด ได้เข้ามาแทนที่ เรือรบแนวเส้นประจัญบาน หรือ ship of the line (of battle) ซึ่งครองความเป็นใหญ่ในสงครามทางทะเลมาตลอดสามศตวรรษ เรือที่ถูกสร้างขึ้นในสงครามกลางเมืองสหรัฐ ยังส่งผลกระทบต่อการสงครามในอีกซีกโลกด้วย ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงคือ ซีเอสเอส สโตนวอลล์ (CSS Stonewall) ซึ่งต่อขึ้นที่ บอร์โด ประเทศฝรั่งเศส[69] โดยภายหลังถูกขายต่อและส่งมอบให้กับรัฐบาลเมจิของญี่ปุ่น ในชื่อเรือโคเทะสึ และมีบทบาทสำคัญในการยุติสงครามโบะชิงในญี่ปุ่น

แนวปืนของเรือหุ้มเกราะ ไอรอนแคลด 9 ลำของกองเรือปิดล้อมแอตแลนติกใต้ของฝ่ายสหภาพ จากฝั่งท่าเรือชาร์ลสตัน

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศ[แก้]

การปิดล้อมทางทะเลโดยฝ่ายเหนือมีประสิทธิภาพมากขึ้น ๆ เมื่อเวลาล่วงไป ผลจากการปิดล้อม ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์จากฝ้ายของฝ่ายใต้แทบเป็นอัมพาต มูลค่าการส่งออกตกลงถึงร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสงคราม นอกจากนี้ยังทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงเพราะความที่ขาดแคลนสินค้า การขาดแคลนขนมปังทำให้มีการก่อจลาจลโดยประชากรผู้หญิง ในเมืองริชมอนด์ เมืองหลวงของสมาพันธรัฐ นอกจากนี้ การปิดกั้นแม่น้ำมิสซิสซิปปีโดยฝ่ายสหภาพ ยังทำให้การขนส่งม้า และปศุสัตว์ใหญ่ ๆ จากเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ อย่างเท็กซัส และอาร์คันซัส ไปยังเมืองฝั่งตะวันออกของสมาพันธรัฐเป็นไปแทบไม่ได้ จึงกล่าวได้ว่าการปิดล้อมทางน้ำเป็นผลสำเร็จอย่างใหญ่หลวง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสมาพันธรัฐแพ้สงคราม

สงครามกลางเมืองสหรัฐเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ จักรวรรดิอังกฤษกำลังเป็นผู้นำการค้าเสรีโลก นักการทูตอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ได้รับความสำเร็จในการเจรจาเปิดการค้าในประเทศตะวันออกไกล เช่น สยาม และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ริชาร์ด ค็อบเดน (Richard Cobden) นักธุรกิจ และศาสดาแห่งการค้าเสรีชาวอังกฤษ ก็เป็นผู้ริเริ่มเผยแพร่ปรัชญาในการสร้างสันติระหว่างประเทศโดยการค้าเสรี ดังนั้นเมื่อสงครามกลางเมืองสหรัฐระเบิดขึ้น และนำไปสู่การปิดล้อมทางทะเลที่ตัดเส้นทางการค้าระหว่างอังกฤษ กับฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา จึงทำให้คอบเดนหนักใจมากในตอนต้น (แต่ภายหลังก็มาหนุนหลังฝ่ายสหภาพ เมื่อแน่ใจว่าเป้าหมายของสงครามคือการเลิกทาส) หลังสงครามจบลงฝ่ายสหรัฐเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรจ่ายค่าเสียหาย โดยกล่าวหาว่าอังกฤษไม่ทำตัวเป็นกลางแถมยังแทรกแทรงความขัดแย้งทางการเมืองภายในของตน ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษยอมจ่ายค่าเสียหายให้ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ และค็อบเดนเป็นปากเสียงสำคัญที่สนับสนุนให้รัฐบาลอังกฤษชดใช้ค่าเสียหาย

เขตสงครามตะวันออก[แก้]

เขตสงครามตะวันออก เป็นเวทีรบของการทัพสำคัญๆ (major campaigns) ของ กองทัพโพโทแม็ค - กองทัพใหญ่ฝ่ายสหภาพ โดยเป้าหมายประสงค์หลักของสหภาพ คือ การยึดให้ได้เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย อันเป็นเมืองหลวงฝ่ายสมาพันธรัฐ การทัพเหล่านี้เต็มไปด้วยการล้มลุกคลุกคลาน เพราะต้องเผชิญกับการต่อต้านโดยกองทัพเวอร์จิเนีย์เหนือของฝ่ายสมาพันธรัฐ ซึ่งมีนายพลโรเบิร์ต อี. ลี เป็นผู้บัญชาการ, ประธานาธิบดีลินคอล์นพยายามเสาะหานายพลที่กล้าและสามารถเทียบเคียงกับลีได้ โดยลินคอล์นแต่งตั้งและสับเปลี่ยนเอานายพล เออร์วิน แม็คโดเวล, จอร์จ บี. แม็คเคลแลน, จอห์น โป๊ป, แอมโบรส เบิร์นไซด์, โจเซฟ ฮุกเกอร์, และจอร์จ จี. มี้ด มาเป็นเป็นผู้บัญชาการกองกำลังหลักๆในภาคตะวันออก

ซ้าย: ยุทธการที่แอนตีแทม, การต่อสู้ที่นองเลือดที่สุดในหนึ่งวันใดๆของสงครามกลางเมือง. ขวา: เรือรบหุ้มเกราะของฝ่ายสมาพันธรัฐ ในยุทธนาวีที่แฮมพ์ตันโรดส์ สามารถทำให้กองเรือปิดล้อมของสหภาพแตกกระเจิง จนกระทั่งฝ่ายสหภาพเอาชนะได้ด้วยเรือหุ้มเกราะของตน. ซ้าย: ยุทธการที่แอนตีแทม, การต่อสู้ที่นองเลือดที่สุดในหนึ่งวันใดๆของสงครามกลางเมือง. ขวา: เรือรบหุ้มเกราะของฝ่ายสมาพันธรัฐ ในยุทธนาวีที่แฮมพ์ตันโรดส์ สามารถทำให้กองเรือปิดล้อมของสหภาพแตกกระเจิง จนกระทั่งฝ่ายสหภาพเอาชนะได้ด้วยเรือหุ้มเกราะของตน.
ซ้าย: ยุทธการที่แอนตีแทม, การต่อสู้ที่นองเลือดที่สุดในหนึ่งวันใดๆของสงครามกลางเมือง.
ขวา: เรือรบหุ้มเกราะของฝ่ายสมาพันธรัฐ ในยุทธนาวีที่แฮมพ์ตันโรดส์ สามารถทำให้กองเรือปิดล้อมของสหภาพแตกกระเจิง จนกระทั่งฝ่ายสหภาพเอาชนะได้ด้วยเรือหุ้มเกราะของตน.

กองทัพของฝ่ายสมาพันธรัฐประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นๆของสงคราม โดยสามารถผลักกองกำลังฝ่ายสหภาพภายใต้การนำทัพของ พลตรี เออร์วิน แม็คโดเวล ให้ถอยร่นได้ในยุทธการบูลรัน ณ เมืองมานาสซัส ที่อยู่ห่างจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปเพียง 25 ไมล์ ลินคอล์นเรียกตัว พลตรี จอร์จ บี. แม็คเคลแลน มารับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการใหญ่ (general-in-chief) ของกองทัพสหภาพทั้งหมด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1861 แต่เป็นแค่ในช่วงสั้นๆ ก็ถูกถอดให้มาเป็นผู้บัญชาการกองทัพโพโทแม็คของสหภาพเพียงอย่างเดียว แมคเคลแลนเป็นนายพลหนุ่มอายุเพียง 34 ปี มีทักษะที่ยอดเยี่ยมในการฝึกทหาร จัดระเบียบ และเตรียมกองทัพ แต่ว่าเป็นผู้บัญชาการทหารที่สุขุมเกินเหตุ และไม่ชอบตัดสินใจทำอะไรเสี่ยง

สงครามเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในปี 1862 ปธน.ลินคอล์นต้องการให้เริ่มปฏิบัติการเชิงรุกโดยเร็วที่สุด แม็คเคลแลนตอบสนองโดยการนำกองทัพแห่งโพโทแม็คเข้าโจมตีเวอร์จิเนีย ในการทัพคาบสมุทร (Peninsula Campaign) ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1862 โดยทางคาบสมุทรเวอร์จิเนีย ระหว่างแม่น้ำยอร์ก กับแม่น้ำเจมส์ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของริชมอนด์ กองทัพของแม็คเคลแลนไล่ตามกองทัพของโจเซฟ อี. จอห์นสโตน มาจนถึงปากทางเข้าเวอร์จิเนีย[70] แต่ถูกทัพของจอห์นสโตนตรึงสกัดไว้ได้ ในยุทธการเซเว่นไพน์ (Battle of Seven Pines) จากนั้นนายพล โรเบิร์ต อี. ลี และนายทหารคนสำคัญ - เจมส์ ลองสตรีท กับ สโตนวอลล์ แจ็คสัน - เอาชนะกองทัพของแม็คเคลแลนได้ใน ยุทธการเจ็ดวัน บังคับให้ฝ่ายสหภาพถอยทัพไปได้[71]

การทัพเวอร์จิเนียเหนือ จบลงในปลายฤดูร้อนด้วยชัยชนะของฝ่ายสมาพันธรัฐในยุทธการบูลรันครั้งที่สอง[72] แม็คเคลแลนแข็งขืนคำสั่งของผู้บัญชาการทัพใหญ่ เฮนรี ฮัลเล็ค ไม่ยอมส่งกองหนุนไปช่วยกองทัพเวอร์จิเนียของจอห์น โป๊ป ทำให้ฝ่ายสหภาพแพ้กองทัพของลี แม้ว่าจะมีกำลังรบรวมกันมากกว่าฝ่ายสมาพันธรัฐถึงสองเท่า ผลของความพ่ายแพ้ทำให้ นายพลจอห์น โป๊ป ถูกถอดจากการบังคับบัญชา และกองทัพเวอร์จิเนียถูกยุบไปรวมกับทัพใหญ่ ชัยชนะในศึกบูลรันครั้งที่สอง ทำให้ฝ่ายสมาพันธรัฐฮึกเหิมมาก และเตรียมทัพเพื่อขึ้นโจมตีทางเหนือครั้งแรกทันที โดยในวันที่ 5 กันยายน นายพลลีนำกองทัพเวอร์จิเนียเหนือ มีกำลังพล 45,000 นาย ข้ามแม่น้ำโพโทแม็คเข้าสู่แมรีแลนด์ ทางฝ่ายแม็คเคลแลนเมื่อได้คืนกำลังพลมาจากกองทัพของโป๊ปแล้ว ก็ยกทัพใหญ่ของสหภาพ - กองทัพโพโทแม็ค - เข้าสู้รบกับนายพลลี ในศึกแอนตีแทม ใกล้กับเมืองชาร์ปสเบิร์ก รัฐแมรีแลนด์ โดยเป็นการรบกันวันเดียวที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกามาตราบจนทุกวันนี้[71]; แม้แม็คเคลแลนจะพลาดโอกาสที่จะรุกไล่ติดตามเพื่อทำลายกองทัพของลี ศึกแอนตีแทม ก็ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายสหภาพ เพราะเป็นยุทธการที่สามารถยับยั้งแผนการบุกขึ้นเหนือของลีเอาไว้ได้ การถอยทัพของลีเปิดโอกาสให้ ปธน. ลินคอล์นประกาศเลิกทาส[73] และถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม

การเข้าชาร์จด้วยดาบปลายปืนของกองทัพสหภาพ ในยุทธการแอนตีแทม, 1862

แม้จะทำให้ลีถอยทัพไปได้ แม็คเคลแลนก็ถูกปลดจากตำแหน่งบัญชาการ เพราะลินคอล์นมองว่าเขาสุขุมเกินไป ทำให้พลาดโอกาสทำลายข้าศึก พลตรี แอมโบรส เบิร์นไซด์ เข้ารับตำแหน่งบัญชาการกองทัพโพโทแม็คแทนที่ แต่เบิร์นไซด์ก็เพลี่ยงพล้ำในฤดูหนาวปีนั้นเอง เมื่อทหารของกองทัพสหภาพกว่า 12,000 คน ถูกฆ่า หรือได้รับบาดเจ็บ ในยุทธการที่เฟรดริกสเบิร์ก[74] เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม จากความพยายามโจมตีโดยเปล่าประโยชน์จากทางด้านหน้าซ้ำๆ ต่อฐานที่มั่นบนเนิน Marye's Heights ของกองทัพฝ่ายใต้ เบิร์นไซด์ถูกปลดและ พลตรี โจเซฟ ฮุกเกอร์ ถูกแต่งตั้งเข้าแทนที่

นายพลฮุกเกอร์บัญชาการกองทัพโพโทแม็คที่มีกำลังรบมากกว่า กองทัพเวอร์จิเนียเหนือถึงกว่าสองเท่า แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกองทัพของลีได้ ฮุกเกอร์พ่ายแพ้อย่างยับเยินในยุทธการที่แชนเซเลอร์สวิลล์ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1863[75] แต่นายพลลีก็ต้องเสียนายพล สโตนวอลล์ แจ็กสัน ทหารคู่ใจ ซึ่งถูกยิงที่แขน และเสียชีวิตเพราะอาการแทรกซ้อนในเวลาต่อมา[76] ลินคอล์นรับจดหมายขอถอนตัวจากหน้าที่ของฮุกเกอร์ และแทนที่เขาด้วย นายพลจอร์จ มี้ด ในเดือนมิถุนายน; ฝ่ายสมาพันธรัฐตัดสินใจยกทัพบุกขึ้นเหนืออีกครั้ง แต่คราวนี้กองทัพโพโทแม็คของมี้ด สามารถเอาชนะลีได้ในยุทธการเกตตีสเบิร์ก[77] การรบที่เกตตีสเบิร์กเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 1863 โดยกินเวลา 3 วันเต็มๆ และเป็นศึกที่เสียเลือดเนื้อกันมากที่สุดในสงคราม โดยกองทัพของลีมีทหารบาดเจ็บล้มตาย 28,000 นาย (ในขณะที่กองทัพแห่งโพโทแม็คมีจำนวนความสูญเสียอยู่ที่ 23,000)[78]

เกตตีสเบิร์กถือเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามกลางเมืองอเมริกา การเข้าชาร์จของพิกเก็ตต์ในวันที่ 3 กรกฎาคม แสดงถึงจุดพีคของศักยภาพของกำลังการรบฝ่ายใต้ ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่อาจกลับมามีแนวโน้มที่จะชนะสงครามได้อีก อย่างไรก็ดี นายพลจอร์จ มี้ด ล้มเหลวในการสกัดกั้นการถอยทัพของลี ปล่อยให้ลีหนีไปได้อีกครั้ง ซึ่งทำให้การทัพในฤดูใบไม่ร่วงยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ และทำให้ลินคอล์นไม่พอใจ ลินคอล์นเสาะหาผู้นำทัพคนใหม่ ในแนวรบด้านตะวนตกขณะนั้น กองกำลังป้องกันที่มั่นของฝ่ายใต้ที่ วิคสเบิร์ก ยอมจำนนต่อกองทัพปิดล้อมฝ่ายสหภาพ ทำให้ฝ่ายสหภาพสามารถเข้าควบคุมแม่น้ำมิสซิสซิปปีได้ในที่สุด ส่งผลให้ฝ่ายสมาพันธรัฐฝั่งตะวันตกถูกโดดเดี่ยว และให้กำเนิดผู้นำทัพคนใหม่ที่ลินคอล์นต้องการ: นายพลยูลิสซิส เอส. แกรนต์

เขตสงครามตะวันตก[แก้]

กองกำลังฝ่ายสมาพันธรัฐในเขตสงครามตะวันตกประสบความปราชัยบ่อยครั้ง กองกำลังป้องกันมิสซูรี (Missouri State Guard) ถูกกองทัพฝ่ายเหนือของนายพล ซามูเอล เคอร์ติส ขับออกจากมิสซูรีในยุทธการที่พีริดจ์ตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม[79] การโจมตีเมืองโคลัมบัส (รัฐเคนทักกี) ของแม่ทัพฝ่ายสมาพันธรัฐ, เลออนิดัส พอล์ค, ทำให้เคนทักกีเลิกคงทีท่าความเป็นกลาง และกลายเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายใต้ เมืองแนชวิลล์และศูนย์กลางรัฐเคนทักกีตกเป็นของฝ่ายสหภาพตั้งแต่ช่วงต้นปี 1862 ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนอาหาร และปศุสัตว์ และความโกลาหล

ซ้าย: ยุทธการชิคกาเมากา​, ความสูญเสียหนักที่สุดในยุทธการสองวัน ชัยชนะของฝ่ายสมาพันธรัฐสามารถขับไล่ฝ่ายสหภาพไปได้นาน 2 เดือน ขวา: การเข้ายึดนิวออร์ลีนส์ - เรือหุ้มเกราะของสหภาพฝืนเปิดทาง จมกองเรือฝ่ายสมาพันธรัฐ และทำลายป้อมปืนได้ ซ้าย: ยุทธการชิคกาเมากา​, ความสูญเสียหนักที่สุดในยุทธการสองวัน ชัยชนะของฝ่ายสมาพันธรัฐสามารถขับไล่ฝ่ายสหภาพไปได้นาน 2 เดือน ขวา: การเข้ายึดนิวออร์ลีนส์ - เรือหุ้มเกราะของสหภาพฝืนเปิดทาง จมกองเรือฝ่ายสมาพันธรัฐ และทำลายป้อมปืนได้
ซ้าย: ยุทธการชิคกาเมากา​, ความสูญเสียหนักที่สุดในยุทธการสองวัน ชัยชนะของฝ่ายสมาพันธรัฐสามารถขับไล่ฝ่ายสหภาพไปได้นาน 2 เดือน
ขวา: การเข้ายึดนิวออร์ลีนส์ - เรือหุ้มเกราะของสหภาพฝืนเปิดทาง จมกองเรือฝ่ายสมาพันธรัฐ และทำลายป้อมปืนได้

ฝ่ายสหภาพสามารถเปิดใช้แม่น้ำมิสซิสซิปปีสัญจรลงไปถึงทางใต้ของเทนเนสซี ด้วยการยึดเข้าไอส์แลนด์ No.10 และเมืองนิวแมดริด มลรัฐมิสซูรี, และจากนั้นก็ยึดเมืองเมมฟิสต์ รัฐเทนเนสซี ตามลำดับ กองทัพเรือสหภาพสามารถยึดนิวออร์ลีนส์ได้ในเดือนเมษายน 1862[80] ซึ่งทำให้กองกำลังฝ่ายสหภาพครองมิสซิสซิปปีได้เกือบทั้งหมด มีเพียงเมืองป้อมปราการวิคสเบิร์กของรัฐมิสซิสซิปปีเท่านั้นที่ป้องกันมิให้ฝ่ายเหนือเข้าควบคุมแม่น้ำได้ทั้งสาย

นายพลแบร็กซ์ตัน แบร็กก์ นำฝ่ายสมาพันธรัฐเข้ารุกรานรัฐเคนทักกีครั้งที่สอง แต่จบลงด้วยชัยชนะที่ไม่มีความหมายในยุทธการเพอร์รีวิลล์ โดยแบร็กก์ต้องหยุดการรุกรานเคนทักกีและถอนกำลัง เพราะไม่มีแรงสนับสนุนจากทางสมาพันธรัฐ การทัพสโตนส์ริเวอร์สิ้นสุดลง เมื่อกองทัพของแบร็กก์พ่ายให้กับ พลตรีวิลเลียม โรสครานส์ในยุทธการสโตนส์ริเวอร์รัฐเทนเนสซี[81]

ฝ่ายสมาพันธรัฐได้ชัยชนะเหนือสหภาพแบบชัดเจน ก็เฉพาะที่ยุทธการชิคกะเมากาเท่านั้น; กองทัพของนายพลแบร็กก์ ที่ได้รับกำลังเสริมจากเวอร์จิเนียภายใต้การนำของพลโทเจมล์ ลองสตรีท สามารถเอาชนะโรสครานส์ และบังคับให้โรสครานส์ถอยทัพไปชัตตานูกาได้

นักยุทธศาสตร์คนสำคัญของสหภาพในแนวรบตะวันตก คือ ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ ผู้ได้รับชัยชนะในหลายสมรภูมิ ทั้งยุทธการที่ฟอร์ทเฮนรี, ยุทธการที่ฟอร์ทโดเนลสัน (เป็นผลให้ฝ่ายสหภาพเข้าควบคุมแม่น้ำเทนเนสซี และแม่น้ำคัมเบอร์แลนด์ได้), ยุทธการไชโลห์[82], และยุทธการวิคสเบิร์ก[83] ซึ่งเพิ่มความแข็งแกร่งของอำนาจควบคุมแม่น้ำมิซิสซิปปีของฝ่ายสหภาพ แกรนต์เดินทัพเข้ากู้สถานการณ์ของโรสแครนส์ และพิชิตแบร็กก์ลงได้ในศึกชัตตานูกาครั้งที่สาม[84] ขับไล่กองกำลังสมาพันธรัฐออกจากเทนเนสซี และเปิดเส้นทางไปสู่แอตแลนตากับใจกลางของฝ่ายสมาพันธรัฐ

เขตสงครามทรานส์-มิสซิสซิปปี[แก้]

ซ้าย: การสังหารหมู่ลอว์เรนซ์: ควอนทริลเข้ายึดโรงแรมในแคนซัส (รัฐปลอดทาส) นาน 1 วัน, เผาอาคาร 185 หลัง, สังหารผู้ชายและเด็กชายรวม 182 ศพ[85] ขวา: เนธาเนียล ลีออน เข้ายึดท่าเรือและคลังแสงในเมืองเซนต์หลุยส์ นำกองกำลังสหภาพเข้าขับไล่รัฐบาลฝ่ายสมาพันธรัฐในมิสซูรี[86] ซ้าย: การสังหารหมู่ลอว์เรนซ์: ควอนทริลเข้ายึดโรงแรมในแคนซัส (รัฐปลอดทาส) นาน 1 วัน, เผาอาคาร 185 หลัง, สังหารผู้ชายและเด็กชายรวม 182 ศพ[85] ขวา: เนธาเนียล ลีออน เข้ายึดท่าเรือและคลังแสงในเมืองเซนต์หลุยส์ นำกองกำลังสหภาพเข้าขับไล่รัฐบาลฝ่ายสมาพันธรัฐในมิสซูรี[86]
ซ้าย: การสังหารหมู่ลอว์เรนซ์: ควอนทริลเข้ายึดโรงแรมในแคนซัส (รัฐปลอดทาส) นาน 1 วัน, เผาอาคาร 185 หลัง, สังหารผู้ชายและเด็กชายรวม 182 ศพ[85]
ขวา: เนธาเนียล ลีออน เข้ายึดท่าเรือและคลังแสงในเมืองเซนต์หลุยส์ นำกองกำลังสหภาพเข้าขับไล่รัฐบาลฝ่ายสมาพันธรัฐในมิสซูรี[86]

การรบแบบกองโจรในวงกว้าง เป็นลักษณะทั่วไปของพื้นที่ทรานส์-มิสซิสซิปปี เนื่องจากฝ่ายสมาพันธรัฐมีความขาดแคลนกำลังพลและลอจิสติกส์ที่มีความจำเป็นต่อการมีกองกำลังถาวรไว้ต่อสู้กับฝ่ายสหภาพ[87][88] กองโจรเคลื่อนที่อย่าง ควอนทริลส เรดเดอร์ส (Qualtrill's Raiders) สร้างความพรั่นพรึงในชนบท โดยโจมตีทั้งที่มั่นทหารและที่อยู่อาศัยพลเรือน[89] กลุ่มติดอาวุธ "Sons of Liberty" และ "Order of the American Knights" เข้าทำร้ายประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายสหภาพ และทหารที่ไม่มีอาวุธ

ปฏิบัติการทางทหารขนาดเล็กมีขึ้นเป็นหย่อมๆ ทางใต้และทางตะวันตกของมิสซูรี โดยฝ่ายสหภาพซึ่งต้องการจะเข้าควบคุม "อาณาเขตอินเดียน" (Indian Territory) และ "อาณาเขตนิวเม็กซิโก" กองกำลังฝ่ายสหภาพขับไล่การเคลื่อนที่เข้าสู่นิวเม็กซิโกของฝ่ายสมาพันธรัฐในปี 1862 รัฐบาลพลัดถิ่นของแอริโซนาถอนตัวเข้ามาอยู่ในเท็กซัส สงครามระหว่างเผ่าชนพื้นเมืองระเบิดขึ้นในอาณาเขตอินเดียน นักรบประมาณ 12,000 คนจากเผ่าอินเดียนต่างๆ เข้าร่วมกับฝ่ายสมาพันธรัฐ ส่วนที่เข้าร่วมกับทางสหภาพมีจำนวนน้อยกว่า[90] นักรบเชโรกีที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ นายพลจัตวาสแตน วาตี (Stand Watie) นายพลคนสุดท้ายที่ยอมจำนนในสงครามนี้[91]

นายพลเอ็ดมันด์ เคอร์บี สมิธ ได้รับมอบหมายให้บัญชาการแผนกทรานส์-มิสซิสซิปปี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่วงกว้าง (ทั้ง อาร์คันซัส, ลุยเซียนาตะวันตก และเท็กซัส) แต่มีกำลังทหารในบังคับบัญชาแค่ประมาณ 30,000 นาย หลังยุทธการปิดล้อมวิคสเบิร์ก และพอร์ตฮัดสันจบลงในเดือนกรกฎาคม ปี 1863 ฝ่ายสหภาพเข้ายึดวิคสเบิร์กและท่าเรือฮัดสันได้ ทำให้หน่วยของนายพลเคอร์บี สมิธ ถูกตัดขาดจากเมืองหลวงที่ริชมอนด์ ต่อมาสมิธได้รับหนังสือแจ้งจาก เจฟเฟอร์สัน เดวิส ว่า จะไม่มีความช่วยเหลือใดๆมาจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปีอีก แต่แม้จะขัดสนทรัพยากร เคอร์บี สมิธ ก็สะสมอาวุธไว้พอสมควรในคลังแสงที่ไทเลอร์ (Tyler) และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบขุนศึก (fiefdom) หาเลี้ยงกองทัพในเท็กซัส ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "เคอร์บี สมิธดอม" (Kirby Smithdom)[92] ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1864 นายพลริชาร์ด เทย์เลอร์ ผู้ใต้บังคับบัญชาของสมิธ นำทัพเอาชนะกองทัพสหภาพได้ในการทัพที่เรดริเวอร์ (Red River Campaign)[93] และทำให้เท็กซัสอยู่ในความควบคุมของฝ่ายสมาพันธรัฐไปจนตลอดสงคราม

จุดจบของสงคราม[แก้]

การเข้ายึดเวอร์จิเนีย[แก้]

พอเข้าปี ค.ศ. 1864 ลินคอล์นก็มอบอำนาจสั่งการกองทัพทั้งหมดให้กับ จอมพล ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ โดยแกรนต์ใช้กองทัพโพโทแม็ค (Army of the Potomac) เป็นกองบัญชาการ และให้อำนาจบัญชาการกองกำลังทางแนวรบตะวันตกเกือบทั้งหมดแก่ พลตรี วิลเลียม ที. เชอร์แมน จอมพลแกรนต์มีความเข้าใจคอนเซปต์ของสงครามเบ็ดเสร็จ ทั้งยังเห็นตรงกับลินคอล์น และเชอร์แมนว่า วิธีเดียวที่จะพิชิตฝ่ายสมาพันธรัฐและยุติสงครามได้ ก็คือการทำลายทั้งกองกำลัง และฐานทางเศรษฐกิจของฝ่ายข้าศึกโดยสิ้นเชิง แต่เน้นย้ำว่าเป้าหมายไม่ใช่พลเรือนของฝ่ายตรงข้าม หากแต่เป็นการเข้ายึดเสบียงอาหาร และทำลายบ้าน เรือกสวนไร่นา และทางคมนาคมทางรถไฟ ซึ่งมิฉะนั้นทรัพยากรเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ทางการสงครามโดยฝ่ายกบฏ[94] แกรนต์สร้างยุทธศาสตร์แบบครบวงจรขึ้นเพื่อโจมตีฝ่ายข้าศึกจากหลายทิศทาง นายพลจอร์จ มี้ด กับเบนจามิน บัทเลอร์ ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนพลเข้าประชิด นายพลลี ไม่ไกลจากริชมอนด์, นายพลฟรานซ์ ซีเกล (และต่อมาฟิลิป เชอริแดน) ให้เข้าโจมตี เชเนินโดอา วัลเลย์ (Shenandoah Valley), นายพลเชอร์แมนได้รับคำสั่งให้ลงใต้เพื่อเข้ายึดแอตแลนตา และเดินทัพต่อไปจนถึงแอตแลนติก, ส่วนนายพลจอร์จ ครุก กับวิลเลียม แอเวอเรล มีหน้าที่ปฏิบัติการณ์โจมตีเส้นทางรถไฟลำเลียงในเวสต์เวอร์จิเนีย, และสุดท้ายให้พลตรีเนธานเนียล พี. แบงค์ส เข้ายึดเมืองโมบิลรัฐแอละแบมา[95]

ศพทหารที่ตายจากการโจมตีในเดือนพฤษภาคม 1864 ของ ริชาร์ด เอส. อีเวลล์ - ในยุทธการที่สป็อตซิลเวเนีย — ทำให้การเดินทัพเข้าสู่ริชมอนด์ของแกรนต์ล่าช้าในการทัพโอเวอร์แลนด์
The Peacemakers โดย จอร์จ ปีเตอร์ อเล็กซานเดอร์ ฮีลลี่ portrays เชอร์แมน, แกรนต์, ลินคอล์น, และ เดวิด ดิกซัน พอร์เตอร์ กำลังหารือถึงแผนสำหรับสัปดาห์สุดท้ายของสงคราม บนเรือกลไฟ ริเวอร์ควีน เดือนมีนาคม ปี 1865

กองทัพของแกรนต์เริ่มการทัพโอเวอร์แลนด์ โดยมีเป้าประสงค์ที่จะดึงนายพลลีมาป้องกันเมืองริชมอนด์ เพื่อที่จะตรึงทัพใหญ่ของลีเอาไว้และทำลายเสีย โดยเบื้องต้นกองกำลังสหภาพพยายามเดินทัพผ่านลีไปให้ได้ ทำให้ต้องเข้าสู้รบกันในหลายยุทธการ ยุทธการที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ยุทธการที่วิลเดอร์เนส, ยุทธการที่สป็อตซิลเวเนีย และ ยุทธการที่โคลด์ฮาร์เบอร์ การสู้รบในสมรภูมิเหล่านี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องสูญเสียอย่างหนัก และบังคับให้กองทัพสมาพัธรัฐของนายพลลี ต้องถอยร่นหลายครั้ง นายพลเบนจามิน บัทเลอร์พยายามโอบปีกกองทัพของลีจากทางทิศใต้ เพื่อเข้าตีเมืองหลวง แต่เดินทัพชักช้าทำให้ล้มเหลว ถูกกองทัพหนุนของนายพลโบรีการ์ดตรึงสกัดไว้ที่คุ้งน้ำบริเวณหมู่บ้านเบอมิวดาฮันเดร็ด[96] ความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ก็ไม่ต่างกับภายใต้การนำของผู้บัญชาการคนก่อน ๆ แต่นายพลแกรนต์ต่างออกไปเพราะเดินหน้าสู้ต่อไปแทนที่จะหนี ความมุ่งมั่นของแกรนต์สามารถกดดันกองทัพเวอร์จิเนียเหนือของลี ให้ถอยกลับไปเมืองหลวงริชอมนด์ได้ และในระหว่างที่ลีกำลังเตรียมการป้องกันริชมอนด์ แกรนต์ก็เปลี่ยนเส้นทางลงใต้แบบไม่มีใครคาดคิด ข้ามแม่น้ำเจมส์ และเริ่มยุทธการล้อมเมืองปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งต้องสู้รบกันแบบสงครามสนามเพลาะ เป็นเวลานานกว่าเก้าเดือน[97]

แกรนต์พบทหารคู่ใจ คือ นายพลฟิลิป เชอริแดน (Phillip Sheridan) ผู้ที่ก้าวร้าวเฉียบขาดพอที่จะได้ชัยในการทัพที่หุบเขาเชนันโดอาห์ (Valley Campaigns of 1864) เชอริดันในทีแรกถูกรุกต้องถอยร่นในยุทธการที่นิวมาร์เก็ต ภายใต้การคุมทัพของนายพล จอห์น ซี. เบรกคินริดจ์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐในรัฐบาลของเจมส์ บูแคนัน ยุทธการที่นิวมาร์เก็ตเป็นชัยชนะครั้งสุดท้ายของฝ่ายสมาพันธรัฐในสงครามนี้ เชอริดันใช้ความอุตสาหะเพิ่ม และสามารถเอาชนะพลตรีจูบัล เออลี ได้ในหลายสมรภูมิ ซึ่งรวมถึงการรบครั้งตัดสินในยุทธการที่ซีเดอร์ครีก (Battle of Cedar Creek) จากนั้นเชอริดันก็เข้าทำลายฐานผลิตทางการเกษตรใน เชนันโดอา วัลเลย์ อันเป็นยุทธวิธีแบบเดียวกับที่นายพลเชอร์แมนใช้ในจอร์เจีย[98]

ทางฝ่ายนายพลเชอร์แมนก็เคลื่อนทัพจาก ชัตตานูกา (Chattanooga) ในเทนเนสซีลงสู่แอตแลนตา ระหว่างทางก็ตีทัพสมาพันธรัฐของนายพลโจเซฟ อี. จอห์นสัน กับจอห์น เบลล์ ฮู้ด แตกกระเจิงไป เมืองแอตแลนตาแตกในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1864 (ซึ่งเป็นการรับประกันว่าลินคอล์นจะได้รับเลือกเป็น ปธน. อีกสมัย) ทัพของจอห์น ฮู้ด ออกจากพื้นที่แอตแลนตาแล้วเข้าคุกคามเส้นทางส่งกำลังบำรุงของเชอร์แมน จากนั้นก็รุกเข้าเทนเนสซีเพื่อตลบหลังในการทัพแฟรงคลิน-แนชวิลล์ ผู้บัญชาการทัพสหภาพ พลตรีจอห์น แม็คอัลลิสเตอร์ สโคฟิลด์ตีทัพของฮู้ดแตกพ่าย จนหมดขีดความสามารถในการรบ ในยุทธการที่แนชวิลล์[99]

ทัพของเชอร์แมนเคลื่อนออกจากแอตแลนตาโดยไม่มีจุดหมายที่แน่ชัด ทำลายไร่ฟาร์มในจอร์เจียไปถึง 1 ใน 5 ในการ "เดินทัพไปสู่ทะเล" (March to the Sea) ที่เลื่องชื่อในเรื่องของความไร้ปราณีในการปฏิบัติการ เชอร์แมนมาถึงฝั่งแอตแลนติกที่ ซาวันนาห์ มลรัฐจอร์เจีย ในเดือนธันวาคมปี 1864 กองทัพของเชอร์แมนพ่วงเอาทาสผิวดำที่ได้รับอิสรภาพแล้วเป็นพัน ๆ คนติดมาด้วย ไม่มีการสู้รบอย่างสลักสำคัญในระหว่างการเดินทัพ จากนั้นเชอร์แมนก็เปลี่ยนทางขึ้นสู่เหนือผ่านเซาท์แคโรไลนา และนอร์ทแคโรไลนา จนไปบรรจบกับแนวทัพของสมาพันธรัฐที่เวอร์จิเนีย[100]

กองทัพของลีมีกำลังรบเบาบางลงไปมาก ทั้งจากความสูญเสียในการรบ และการหนีทัพ ความพยายามของฝ่ายสมาพันธรัฐครั้งสุดท้ายที่จะขับไล่กองกำลังของฝ่ายสหภาพที่ ปีเตอร์สเบิร์ก ล้มเหลวในยุทธการที่ไฟว์ฟอร์คส เมื่อวันที่ 1 เมษายน ทำให้ฝ่ายสหภาพเข้าล้อมพื้นที่รอบ ริชมอนด์-ปีเตอร์สเบิร์ก ไว้ได้โดยรอบ ตัดขาดเมืองหลวงริชมอนด์ออกจากสมาพันธรัฐอย่างสิ้นเชิง นายพลลีเห็นว่าเมืองหลวงจะเสียแก่ข้าศึกเสียแล้ว ก็ตัดสินใจส่งจดหมายไปแจ้ง ปธน. เจฟเฟอร์สัน เดวิส ให้อพยพคนออกจากเมือง[101] มีการจลาจลเผาทรัพย์สินต่างๆในเมืองริชมอนด์ เมื่อกองพลที่ 25 ของสหภาพเดินทางมาถึงไฟก็ไหม้อาคารต่างๆเสียหายเป็นอันมาก ส่วนหน่วยรบที่เหลือของสมาพันธรัฐก็ถูกตีแตกในยุทธการที่เซย์เลอร์สครีก (Battle of Sayler's Creek)[102]

ฝ่ายสมาพันธรัฐยอมจำนน[แก้]

นายพลโรเบิร์ต อี. ลี ได้รับสารจากนายพลแกรนต์ขอให้ยอมจำนนเสีย ลียังพยายามสู้ต่อ และพยายามจะฝ่ากองกำลังของเชอริแดนที่ปิดถนนใกล้กับ แอพโพแมตท็อกซ์ คอร์ทเฮ้าส์ไว้ แต่เมื่อพบว่าทางเลือกเดียวที่เหลือคือต้องรบแบบกองโจรในป่า ลีจึงตัดสินใจยอมวางอาวุธ แล้วส่งสารถึงแกรนต์กองทัพเวอร์จิเนียเหนือว่าขอยอมจำนน[103] สงครามกลางเมืองอเมริกาเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1865 ณ บ้านของ วิลเมอร์ แม็คลีน (McLean House)[104] กองกำลังสมาพันธรัฐที่ยังไม่ยอมทิ้งอาวุธ ก็ทยอยกันยอมจำนนเมื่อข่าวการยอมแพ้ของนายพลลีทราบไปถึง

ในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1865 ประธานาธิบดีลินคอล์น ถูกนาย จอห์น วิลค์ส บูธ นักแสดงที่ฝักใฝ่ฝ่ายสมาพันธรัฐลอบยิง ลินคอล์นเสียชีวิตในรุ่งเช้าวันถัดไป และ แอนดรูว์ จอห์นสัน กลายเป็นประธานาธิบดีแทนที่ ต่อมาในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1865 นายพล โจเซฟ อี. จอห์นสตัน ยอมจำนนต่อนายพลเชอร์แมน พร้อมทหารกองทัพเทนเนสซีเกือบ 90,000 นาย ที่เบนเนตเพลส ใกล้กับเดอรัม (Durham) นอร์ทแคโรไลนา ประธานาธิบดีจอห์นสันออกแถลงการณ์ ประกาศจุดสิ้นสุดของการก่อความไม่สงบ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1865 ประธานาธิบดี เจฟเฟอร์สัน เดวิส ถูกจับกุมในวันถัดมา กำลังรบในแผนกทรานส-มิสซิสซิปปี (Trans-Mississippi) ของเคอร์บี สมิธ ยอมจำนนในวันที่ 2 มิถุนายน[105] และ ในวันที่ 23 มิถุนายน ผู้นำชาโรกีอินเดียน แสตนด์ วาตี (Stand Watie) กลายเป็นนายพลฝ่ายสมาพันธรัฐคนสุดท้ายที่ยอมจำนนพร้อมกองกำลังของตน[106]

ชัยชนะของฝ่ายสหภาพ และผลพวงของสงคราม[แก้]

ผลกระทบในด้านต่าง ๆ ของสงครามกลางเมืองอเมริกายังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ผลทางเศรษฐกิจนั้นค่อนข้างชัด เกษตรกรรมฝ้ายของรัฐทางใต้พังพินาศ ภาคใต้ของสหรัฐกลายเป็นพื้นที่ยากจนไปอีกเกือบร้อยปี จากที่เคยร่ำรวยมาก่อน ในขณะที่ภาคเหนือและตะวันตกร่ำรวยขึ้น อำนาจทางการเมืองของนายทาส และเศรษฐีจากภาคใต้ยุติลง อาจจะกล่าวได้ว่า สหรัฐในช่วงก่อนสงคราม เป็นประเทศที่ฝ่ายเหนือและใต้แข่งขันกันเอาวิสัยทัศน์ และความเชื่อของตนเข้ากำหนดทิศทางของประเทศ แต่ผลของสงครามกลางเมืองทำให้การแข่งขันในทางวิสัยทัศน์ยุติลง นักประวัติศาสตร์ เจมส์ แม็คเฟอร์สันกล่าวว่า "ชัยชนะของสหภาพทำลายวิสัยทัศน์ชาวใต้เกี่ยวกับอเมริกา และเป็นการรับประกันว่าวิสัยทัศน์ของฝ่ายเหนือ จะกลายมาเป็นวิสัยทัศน์ของคนอเมริกัน [ทั้งประเทศ]"[107] ด้วยเหตุนี้จึงไม่เป็นการเกินไปที่จะกล่าวว่า ประเทศสหรัฐในปัจจุบันเป็นผลผลิตของสงครามกลางเมือง

ตารางเปรียบเทียบฝ่ายสหภาพ และฝายสมาพันธรัฐ ค.ศ.1860–1864[108]
ปี สหภาพ สมาพันธรัฐ
ประชากร 1860 22,100,000 (71%) 9,100,000 (29%)
1864 28,800,000 (90%)[c] 3,000,000 (10%)[109]
เสรี 1860 21,700,000 (81%) 5,600,000 (19%)
ทาส 1860 400,000 (11%) 3,500,000 (89%)
1864 น้อยมาก 1,900,000[d]
ทหาร 1860–64 2,100,000 (67%) 1,064,000 (33%)
ทางรถไฟ (ไมล์) 1860 21,800 (71%) 8,800 (29%)
1864 29,100 (98%)[110] น้อยมาก
สินค้าอุตสาหกรรม 1860 90% 10%
1864 98% น้อยมาก
การผลิตอาวุธ 1860 97% 3%
1864 98% น้อยมาก
ม้วนฝ้าย 1860 น้อยมาก 4,500,000
1864 300,000 น้อยมาก
การส่งออก 1860 30% 70%
1864 98% น้อยมาก

นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าชัยชนะของลินคอล์นในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 1864 เหนือแม็คเคลแลน (อดีตนายพลแห่งกองทัพโพโทแม็ค ซึ่งถูกถอดออกจากหน้าที่หลังยุทธการที่แอนตีแทม แล้วหันมาเล่นการเมือง) เป็นเหตุการณ์ที่ยุติความไม่แน่นอนทางการเมืองของฝ่ายสหภาพ และดับความหวังของฝ่ายใต้ที่คิดว่าจะได้เอกราชหากลินคอล์นไม่ได้เป็น ปธน. สมัยที่สอง ณ จุดนั้นลินคอล์นได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากทั้งฝ่ายรีพับลิกัน, ฝ่ายเดโมแครตสายสงคราม, รัฐแนวตะเข็บชายแดน, ทาสที่ได้รับการปลดปล่อย และ การไม่เข้าแทรกแทรงของฝ่ายบริเตน และฝรั่งเศส

นักประวัติศาสตร์อีกฝ่ายโต้เถียงว่าฝ่ายใต้ไม่มีหวังจะชนะมาตั้งแต่ต้น เพราะศักยภาพในการทำสงครามต่างกันมาก โดยเฉพาะความได้เปรียบของฝ่ายเหนือในระยะยาว กล่าวคือยิ่งสงครามยิ่งยืดเยื้อ ความได้เปรียบของฝ่ายเหนือยิ่งแสดงออกมาชัด นักประวัติศาสตร์สงคราม เชลบี ฟุท (Shelby Foote) เปรียบเทียบว่า ฝ่ายเหนือเหมือนคนที่สู้โดยเอามือหนึ่งไพล่หลังไว้ และจะเอาจริงเมื่อไหร่ก็ได้ หากถูกฝ่ายสมาพันธรัฐกดดันจนถึงจุดหนึ่ง (ซึ่งอยู่อีกไกลมาก) และตลอดสงครามนี้ ฝ่ายใต้ไม่เคยบังคับให้ฝ่ายเหนือเอาจริงได้ด้วยซ้ำ ตนจึงแน่ใจว่าฝ่ายใต้ไม่เคยมีโอกาสที่จะชนะในสงครามนี้

ราคาของสงคราม[แก้]

สงครามกลางเมืองทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายไม่น้อยกว่า 1,030,000 ราย (คิดเป็นร้อยละสามของประชากรทั้งหมด) รวมเป็นทหารที่เสียชีวิต 620,000 นาย โดยสองในสามเป็นเพราะโรคระบาดและการติดเชื้อ และมีพลเรือย 50,000 คนเสียชีวิต นักประวัติศาสตร์บางรายเชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไป และความเป็นจริงยอดทหารเสียชีวิตอาจสูงถึง 750,000 - 850,000 นาย หรือกว่าสองเท่าของทหารอเมริกันที่ตายในสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามกลางเมืองจึงนับว่าพร่าชีวิตคนอเมริกันไปมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามครั้งอื่นๆรวมกัน

การสำรวจสำมะโนครัวปี 1860 พบว่าร้อยละ 6 ของชายอเมริกันผิวขาวในรัฐทางเหนือ อายุระหว่าง 13 - 43 ปี ตายในสงคราม ในภาคใต้อัตรานี้สูงถึงร้อยละ 18 ทหารประมาณ 56,000 คนตายในค่ายนักโทษระหว่างสงคราม และผู้ที่พิการสูญเสียแขนขามีประมาณ 60,000 คน

จากการสำรวจบันทึกโดย นักประวัติศาสตร์ ฟ็อกซ์ วิลเลียม ฝ่ายเหนือมีทหารตายรวม 359,528 นาย คิดเป็นร้อยละ 15 ของทหารกว่า 2 ล้านนายที่เข้ารับใช้ชาติ โดยในจำนวนนี้:

  • 110,070 ตายในสนามรบ (67,000) หรือเนื่อจากพิษบาดแผล (43,000)
  • 199,790 ตายเพราะโรคภัยไข้เจ็บ (ร้อยละ 75 เกี่ยวข้องกับสงคราม)
  • 24,866 ตายในค่ายกักกันนักโทษของฝ่ายสมาพันธรัฐ
  • 15,741 ตายเพราะสาเหตุอื่นๆ

อย่างไรก็ดีนี่เป็นจำนวนที่ต่ำกว่าจำนวนผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตอย่างเป็นทางการที่ประเมินโดย United States Nation Park Service:

สหภาพ: 853,838

  • 110,100 ตายในสนามรบ
  • 224,580 ตายเพราะโรค
  • 275,154 บาดเจ็บในการปฏิบัติหน้าที่
  • 211,411 ถูกจับ (รวมถึง 30,192 นาย ที่ตายในฐานะเชลยสงคราม)

สมาพันธรัฐอเมริกา: 914,660

  • 94,000 ตายในสนามรบ
  • 164,000 ตายเพราะโรค
  • 194,026 บาดเจ็บในการปฏิบัติหน้าที่
  • 462,634 ถูกจับ (รวมถึง 31,000 นาย ที่ตายในฐานะเชลยสงคราม)

การเลิกทาส[แก้]

การบูรณะหลังสงคราม[แก้]

ผลกระทบทางเทคโนโลยีของสงคราม[แก้]

อนุสรณ์ และการรำลึกถึง[แก้]

การอ้างถึงในงานทางศิลปะและวัฒนธรรม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. กระสุนนัดสุดท้ายถูกยิงเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1865
  2. 2.0 2.1 จำนวนทหารทั้งหมดที่ถูกรับใช้
  3. "Union population 1864" aggregates 1860 population, average annual immigration 1855–1864, and population governed formerly by CSA per Kenneth Martis source. Contrabands and after the Emancipation Proclamation freedmen, migrating into Union control on the coasts and to the advancing armies, and natural increase are excluded.
  4. "Slave 1864, CSA" aggregates 1860 slave census of Virginia, North Carolina, South Carolina, Georgia and Texas. It omits losses from contraband and after the Emancipation Proclamation, freedmen migrating to the Union controlled coastal ports and those joining advancing Union armies, especially in the Mississippi Valley.

อ้างอิง[แก้]

  1. "The Belligerent Rights of the Rebels at an End. All Nations Warned Against Harboring Their Privateers. If They Do Their Ships Will be Excluded from Our Ports. Restoration of Law in the State of Virginia. The Machinery of Government to be Put in Motion There". The New York Times. The New York Times Company. Associated Press. May 10, 1865.
  2. 2.0 2.1 "Facts". National Park Service.
  3. "Size of the Union Army in the American Civil War": Of which 131,000 were in the Navy and Marines, 140,000 were garrison troops and home defense militia, and 427,000 were in the field army.
  4. Long, E. B. The Civil War Day by Day: An Almanac, 1861–1865. Garden City, NY: Doubleday, 1971. OCLC 68283123. p. 705.
  5. "The war of the rebellion: a compilation of the official records of the Union and Confederate armies; Series 4 – Volume 2", United States. War Dept 1900.
  6. 6.0 6.1 6.2 Fox, William F. Regimental losses in the American Civil War (1889)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 "Official DOD data". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-06. สืบค้นเมื่อ 2015-05-03.
  8. John W. Chambers, II, ed. in chief, The Oxford Companion to American Military History. Oxford University Press, 1999, ISBN 978-0-19-507198-6. P. 849.>
  9. Time Life Books; 1st edition (1987), ASIN B000LF840C [1]
  10. Howard Jones, Abraham Lincoln and a New Birth of Freedom: The Union and Slavery in the Diplomacy of the Civil War (1999) p. 154.
  11. Frank J. Williams, "Doing Less and Doing More: The President and the Proclamation—Legally, Militarily and Politically," in Harold Holzer, ed. The Emancipation Proclamation (2006) pp. 74–5.
  12. Huddleston 2002, p. 3.
  13. Paul Boyer; และคณะ (2010). The Enduring Vision, Volume I: To 1877. Cengage Learning. p. 343.
  14. Laurence F. Jones; Edward C. Olson (1996). Political Science Research: A Handbook of Scope and Methods. HarperCollins College Publishers. p. 143. ISBN 978-0-06-501637-6. Then, in the buildup to the Civil War, large numbers of Americans began thinking of themselves as something other than American, for example, southerners.
  15. Catton 1960, p. 10.
  16. Coates, Ta-Nehisi (22 June 2015). "What This Cruel War Was Over". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ 21 December 2016.
  17. Catton 1960, pp. 7–8.
  18. U.S. Constitution, Art.IV, sec. 2, Cl.3
  19. Arrington, Benjamin T. "Industry and Economy during the Civil War". National Park Service (ภาษาอังกฤษ).
  20. PRIGG V. PENNSYLVANIA, 41 U. S. 539 :: Volume 41 :: 1842 :: US Supreme Court Cases from Justia & Oyez
  21. Baker, H. Robert. "Personal Liberty Laws". ESSENTIAL CIVIL WAR CURRICULUM (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 14 September 2017.
  22. Murray, Williamson; Wayne, Hsieh (2016). A savage War: A Military History of the Civil War. Princetn Univ. Press.
  23. 23.0 23.1 23.2 Catton 1960, p. 11.
  24. "Missouri Compromise" (ภาษาอังกฤษ). History Channel. สืบค้นเมื่อ 14 September 2017.
  25. "Wilmot Proviso" (ภาษาอังกฤษ). History Channel. สืบค้นเมื่อ 14 September 2017.
  26. James Munro McPherson, Drawn With the Sword: Reflections on the American Civil War, Oxford University Press, 1997, p. 29.
  27. Uncle Tom's Cabin by Harriet Beecher Stowe, Vintage Books, Modern Library Edition, 1991, p. 150 ("The most dreadful part of slavery, to my mind, is its outrages of feelings and affections—the separating of families, for example.")
  28. Jordan-Lake, Joy (2005). Whitewashing Uncle Tom's Cabin: Nineteenth-Century Women Novelists Respond to Stowe. Vanderbilt University Press.
  29. Catton 1960, p. 13.
  30. 30.0 30.1 Dunne & Regan 2015, pp. 30–31.
  31. Watts, Dale (1995). ""How Bloody Was Bleeding Kansas? Political Killings in Kansas territory, 1854–1861"". Kansas History: A Journal of the Central Plains. 18 (2): 116–29.
  32. Finkelman, Paul (2007). "Scott v. Sandford: The Court's Most Dreadful Case and How it Changed History" (PDF). Chicago-Kent Law Review. 82 (3): 41.
  33. Dred Scott v. Sandford, 60 U.S. 393 (1857)
  34. Address to the people of Illinois, in Collected Works of Abraham Lincoln, I, p. 315
  35. House Divided Speech, Lincoln Home (last visited Sep 15, 2017)
  36. Faragher, John Mack; และคณะ (2005). Out of Many: A History of the American People (Revised Printing (4th Ed) ed.). Englewood Cliffs, N.J: Prentice Hall. p. 388. ISBN 0-13-195130-0.
  37. "Party Divisions of the House of Representatives". United States House of Representatives. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2017.
  38. 38.0 38.1 38.2 38.3 Dunn & Regan 2015, p. 36.
  39. Catton 1960, p. 19.
  40. "Date of Secession Related to 1860 Black Population", America's Civil War
  41. McPherson 1988, p. 24.
  42. [http://www.presidency.ucsb.edu/ws/index.php?pid=29501 Buchanan, James,Fourth Annual Message to Congress on the State of the Union December 3, 1860]
  43. Rhodes, James Ford. History of the United States from the compromise of 1850 to the McKinley-Bryan campaign of 1896 Volume III (1920) pp. 41–66
  44. "First Inaugural Address of Abraham Lincoln (อังกฤษ)". The Avalon Project.
  45. ibid.
  46. Potter & Fehrenbacher 1976, p. 572–73.
  47. Catton 1960, pp. 25–26.
  48. Allan Nevins, The War for the Union: The Improvised War 1861–1862 (1959), pp. 74–75.
  49. McClintock, Russell (1959). Lincoln and the Decision for War: The Northern Response to Secession. Chapel Hill: The University of North Carolina Press. p. 254-74. ISBN 978-0-8078-3188-5.
  50. Rhodes, James Ford. History of the United States from the compromise of 1850 to the McKinley-Bryan campaign of 1896 Volume III (1920) pp. 291–92
  51. McPherson 1988, p. 274.
  52. Howard Louis Conard (1901). Encyclopedia of the History of Missouri. p. 45.
  53. 53.0 53.1 Catton 1960, p. 26.
  54. McPherson 1988, pp. 276–307.
  55. Catton 1960, p. 33.
  56. Albert Bernhardt Faust, The German Element in the United States (1909) v. 1, p. 523 online
  57. Judith Lee Hallock, "The Role of the Community in Civil War Desertion." Civil War History (1983) 29#2 pp. 123–34. online.
  58. Bearman, Peter S. (1991). ""Desertion as localism: Army unit solidarity and group norms in the U.S. Civil War"". Social Forces. 70 (2): 321–42.
  59. Tucker, Pierpaoli & White 2010, p. 462.
  60. Welles 1865, p. 152.
  61. Bourne 1961, p. 623-25.
  62. Sven Beckert, "Emancipation and empire: Reconstructing the worldwide web of cotton production in the age of the American Civil War." American Historical Review 109#5 (2004): 1405–1438. in JSTOR; Beckert, Empire of cotton: A new history of global capitalism (2014) pp 241–73.
  63. Appletons' annual cyclopaedia and register of important events of the year: 1862. New York: D. Appleton & Company. 1863. p. 604.
  64. "U.S. Navy, Maritime History of Massachusetts--A National Register of Historic Places Travel Itinerary". nps.gov. สืบค้นเมื่อ 31 October 2015.
  65. Bulloch 1884, p. 2.
  66. Scharf 1894, p. 53-54.
  67. "American Civil War: The Blockade and the War at Sea". historyofwar.org. สืบค้นเมื่อ 31 October 2015.
  68. Nelson 2005, p. 345.
  69. Sondhaus, Naval Warfare 1815–1914, p. 85.
  70. McPherson 1988, pp. 424–27.
  71. 71.0 71.1 McPherson 1988, pp. 538–44.
  72. McPherson 1988, pp. 528–33.
  73. McPherson 1988, pp. 557–558.
  74. McPherson 1988, pp. 571–74.
  75. McPherson 1988, pp. 639–45.
  76. Noyalas, Jonathan A. (2010). Stonewall Jackson's 1862 Valley Campaign. Arcadia Publishing. p. 93.
  77. McPherson 1988, pp. 653–663.
  78. McPherson 1988, p. 664.
  79. McPherson 1988, pp. 404–05.
  80. McPherson 1988, pp. 418–20.
  81. McPherson 1988, pp. 480–83.
  82. McPherson 1988, pp. 405–13.
  83. McPherson 1988, pp. 637–38.
  84. McPherson 1988, pp. 677–80.
  85. Keegan 2009, p. 270.
  86. Keegan 2009, p. 100.
  87. James B. Martin, Third War: Irregular Warfare on the Western Border 1861–1865 (Combat Studies Institute Leavenworth Paper series, number 23, 2012)
  88. Michael Fellman, Inside War: The Guerrilla Conflict in Missouri during the Civil War (1989). แค่เฉพาะในมิสซูรีก็มีการเข้าห้ำหั่นกันกว่า 1,000 ครั้ง ระหว่างหน่วยรบประจำการ กับหน่วยรบกองโจรที่สนับสนุนสมาพันธรัฐ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในดินแดนตะวันตกที่เพิ่งได้รับการบุกเบิกใหม่
  89. Bohl, Sarah (2004). "A War on Civilians: Order Number 11 and the Evacuation of Western Missouri". Prologue. 36 (1): 44–51.
  90. Graves, William H. (1991). "Indian Soldiers for the Gray Army: Confederate Recruitment in Indian Territory". Chronicles of Oklahoma. 69 (2): 134–145.
  91. Neet, J. Frederick; Jr (1996). "Stand Watie: Confederate General in the Cherokee Nation". Great Plains Journal. 6 (1): 36–51.
  92. Davis 1999, p. 94.
  93. Maritime Activity Reports (1942), Marine News, vol. 29
  94. U.S. Grant (1990). Personal Memoirs of U.S. Grant; Selected Letters. Library of America. p. 247. ISBN 0-940450-58-5.
  95. Field, Ron (2013). Petersburg 1864–65: The Longest Siege. Osprey Publishing. p. 6.[ลิงก์เสีย]
  96. McPherson 1988, pp. 723–24.
  97. "Civil War Battle Summaries by Campaign". American Battlefield Protection Program. National Park Service. c. 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-11. สืบค้นเมื่อ December 12, 2016.
  98. McPherson 1988, pp. 778–79.
  99. McPherson 1988, pp. 812–15.
  100. McPherson 1988, pp. 825–30.
  101. McPherson 1988, pp. 846.
  102. McPherson 1988, pp. 847–48.
  103. McPherson 1988, pp. 848.
  104. McPherson 1988, pp. 849.
  105. "General Kirby Smith Surrenders the Trans-Mississippi Forces". February 7, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-07. สืบค้นเมื่อ 2017-09-21. Web. Retrieved February 6, 2016.
  106. Morris, John Wesley (1977). Ghost towns of Oklahoma. University of Oklahoma Press. pp. 68–69. ISBN 0-8061-1420-7.
  107. McPherson 1988, p. 861.
  108. ความยาวเส้นทางรถไฟมาจาก: Chauncey Depew (ed.), One Hundred Years of American Commerce 1795–1895, p. 111; สำหรับจำนวนประชากร ดู "1860 U.S. Census" (PDF).; Carter, Susan B., บ.ก. (2006). The Historical Statistics of the United States: Millennial Edition (5 vols).
  109. Martis, Kenneth C., "The Historical Atlas of the Congresses of the Confederate States of America: 1861–1865" Simon & Schuster (1994) ISBN 0-13-389115-1 p. 27. At the beginning of 1865, the Confederacy controlled one-third of its congressional districts, which were apportioned by population. The major slave-populations found in Louisiana, Mississippi, Tennessee, and Alabama were effectively under Union control by the end of 1864.
  110. Digital History Reader, U.S. Railroad Construction, 1860–1880 Virginia Tech, Retrieved August 21, 2012. "Total Union railroad miles" aggregates existing track reported 1860 @ 21800 plus new construction 1860–1864 @ 5000, plus southern railroads administered by USMRR @ 2300.

บรรณานุกรม[แก้]

</ref>

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]