ศานตินิเกตัน
ศานตินิเกตัน พลปุระ | |
---|---|
ย่าน | |
ศานตินิเกตันคฤหะ ในศานตินิเกตันอาศรม | |
พิกัด: 23°41′N 87°41′E / 23.68°N 87.68°E | |
ประเทศ | อินเดีย |
รัฐ | เบงกอลตะวันตก |
อำเภอ | พีรภูม |
ความสูง | 30 เมตร (100 ฟุต) |
ภาษา | |
• ทางการ | เบงกอล, อังกฤษ |
เขตเวลา | UTC+5:30 (IST) |
PIN | 731204 (พลปุระ) 731235 (ศานตินิเกตัน) 731236 (ศรีนิเกตัน) |
รหัสโทรศัพท์/STD | +91 03463 |
ศานตินิเกตัน (อักษรโรมัน: Shantiniketan) เป็นย่านในเมืองพลปุระ ตำบลพลปุระ อำเภอพีรภูม รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ห่างไปทางเหนือราว 152 กิโลเมตรจากโกลกาตา ศานตินิเกตันสถาปนาขึ้นโดยมหาฤษีเทเวนทรนาถ ฐากุร และต่อมาได้รับการขยับขยายโดยบุตรของเขา รพินทรนาถ ฐากุร ปัจจุบันศานตินิเกตันเป็นเมืองมหาวิทยาลัยสืบเนื่องมาจากการสถาปนาวิศวภารตี ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของรพินทรนาถ ฐากุร[1]
ประวัติศาสตร์
[แก้]ในปี 1863 เทเวนทรนาถ ฐากุร ได้เช่าที่ดินขนาด 20 เอเคอร์ (81,000 ตารางเมตร) เป็นการถาวรด้วยค่าเช่าปีละ 5 รูปี จากภุวัน โมหัน สิงห์ (Bhuban Mohan Sinha) ตลุกทรจากรายปุระในพีรภูม บนที่ดินนี้มีต้นฉติม (chhatim; ต้นตีนเป็ด) สองต้นปลูกอยู่ ฐากุรสร้างเรือนรับรองขึ้นหนึ่งหลัง และตั้งชื่อให้กับที่ดินนี้ว่า "ศานตินิเกตัน" แปลว่า "ที่พำนักแห่งสันติ" เมื่อเวลาผ่านไป พื้นที่นี้โดยรวมค่อย ๆ ลายมาเป็นที่รู้จักในชื่อศานตินิเกตันเช่นกัน[2]
พินัย โฆษ กล่าวว่าในกลางศตวรรษที่ 19 พลปุระยังเป็นเพียงสถานที่เล็ก ๆ หลังศานตินิเกตันเติบโตขึ้น พลปุระก็เติบโตไปเช่นกัน พื้นที่จำนวนหนึ่งของพลปุระถือเป็น ซามินดารี ของตระกูลสิงห์ (Sinha) แห่งรายปุระ ภุวัน โมหัน สิงห์ ได้พัฒนาหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้นในแถบพลปุระ และตั้งชื่อว่า ภุวันทังคะ (Bhubandanga) ปัจจุบันหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับศานตินิเกตันพอดี ภุวันทังคะเคยเป็นแหล่งมั่วสุมของกลุ่มอาชญากรรมต่าง ๆ ที่เลื่องชื่อ และไม่มีความชั่งใจในการจะสังหารคน ต่อมาจึงเกิดข้อพิพาทและการเผชิญหน้ากันระหว่างศานตินิเกตันกับกลุ่มอาชญากร แต่สุดท้ายหัวหน้ากลุ่มอาชญากรได้ศิโรราบแก่เทเวนทรนาถ และเริ่มเปลี่ยนมาช่วยเขาในการพัฒนาพื้นที่นี้แทน เทเวนทรนาถเคยนั่งสมาธิอยู่เบื้องใต้ต้นฉติม (chhatim) ในศานตินิเกตันนี้ เทเวนทรนาถได้รับแรงบันดาลใจมาจากเดอะคริสตัลพาลิซ ซึ่งเดิมทีสร้างขึ้นที่ฮายด์พาร์กในลอนดอน เพื่อใช้จัดแสดงเกรตเอ็กซิบิชั่นเมื่อปี 1851 ก่อนที่ต่อมาจะถูกย้ายออกไป เขาได้สร้างโถงขนาด 60 คูณ 30 ฟุตขึ้น เพื่อใช้สำหรับการสวดภาวนาพราหโม หลังคาของโถงเป็นกาะเบื้อง ส่วนพื้นปูด้วยหินอ่อนสีขาว ส่วนที่เหลือของอาคารทำมาจากกระจกเช่นเดียวกับเดอะคริสตัลพาลิซที่ลอนดอน อาคารนี้ได้ดึงดูดผู้คนมรจากทุกสารทิศมานับตั้งแต่ช่วงแรกสุด[3] รพินทรนาถ ฐากุร เดินทางมายังศานตินิเกตันเป็นครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 1878 ขณะนั้นอายุ 17 ปี ในปี 1888 เทเวนทรนาถได้อุทิศอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดให้เพื่อการก่อตั้งพรหมวิทยาลัย (Brahmavidyalaya) ขึ้น ผ่านทางการตั้งทรัสต์ ในปี 1901 รพินทรนาถได้เริ่มต้นตั้งพรหมจารียาศรม (Brahmacharyaashrama) ขึ้น ที่ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อปถภาวนาตั้งแต่ปี 1925[3][4]
ตระกูลฐากุรเป็นครอบครัวผู้นำการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตและสังคมในเบงกอลผ่านกิจกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน[5] สภาแวดล้อมที่โชรสังโก ฐากุรพารี หนึ่งในฐานของตระกูลฐากุรในโกลกาตา เต็มไปด้วยดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม และการละคร[6] รพินทรนาถ ฐากุร ได้ก่อตั้งวิศวภารตีขึ้นที่ศานตินิเกตันในปี 1921 และวิทยาลัยได้รับสถานะมหาวิทยาลัยกลางและเป็นสถาบันที่มีความสำคัญระดับชาติในปี 1951[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Pearson, WW.: Santiniketan Bolpur School of Rabindranath Tagore, illustrations by Mukul Dey, The Macmillan Company, 1916
- ↑ Basak, Tapan Kumar, Rabindranath-Santiniketan-Sriniketan (An Introduction), p. 2, B.B.Publication
- ↑ 3.0 3.1 Ghosh, Binoy, Paschim Banger Sanskriti, (ในภาษาเบงกอล), part I, 1976 edition, pages 299-304, Prakash Bhaban, Kolkata
- ↑ "Visva Bharati". History. Visva Bharati. สืบค้นเมื่อ 25 July 2019.
- ↑ Deb, Chitra, Jorasanko and the Thakur Family, Pages 64-65, in Calcutta: The Living City, Volume I, edited by Sukanta Chaudhuri, Oxford University Press.
- ↑ Jorasanko and the Thakur Family by Chitra Deb in Calcutta, the Living City, edited by Sukanta Chaudhuri, Vol I, page 66
- ↑ "Visva Bharati". About Visva-Bharati. Visva Bharati. สืบค้นเมื่อ 25 July 2019.