วิกิพีเดีย:โลกของสัตว์/บทความแนะนำ/2550

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บทความแนะนำ ประจำปี 2550


บทความแนะนำประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550

เสือ (Tiger) เป็นชื่อเรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดในวงศ์ ฟิลิดี (Felidae) ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับแมวโดยชนิดที่เรียกว่าเสือมักมีขนาดลำตัวค่อนข้างใหญ่กว่าและอาศัยอยู่ภายในป่า ขนาดของลำตัวประมาณ 168 - 227 เซนติเมตรและหนักประมาณ 180 - 245 กิโลกรัม รูม่านตากลม เป็นสัตว์กินเนื้อกลุ่มหนึ่ง มีลักษณะและรูปร่างรวมทั้งพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากสัตว์ในกลุ่มอื่น หากินเวลากลางคืน มีถิ่นกำเนิดในป่า เสือส่วนใหญ่ยังคงมีความสามารถในการปีนป่ายต้นไม้ (ยกเว้นเสือชีต้า Cheetah) เสือทุกชนิดมีกรามที่สั้นและแข็งแรง มีเขี้ยว 2 คู่สำหรับกัดเหยื่อ ทั่วทั้งโลกมีเสืออยู่ประมาณ 37 ชนิด ซึ่งรวมทั้งแมวบ้านด้วย...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

ไม่มี


บทความแนะนำประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2550

เสือดาว (Leopard) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในวงศ์ฟิลิดี (Felidae) เป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่รองจากเสือโคร่ง ลำตัวสีน้ำตาลอมเหลืองหรือมีสีเหลือง มีลายจุดสีดำแต้มบริเวณลำตัวเป็นจำนวนมากโดยลายจุดจะเรียงตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ โดยจะปรากฏเฉพาะที่บริเวณด้านหลังและด้านข้างของลำตัว แตกต่างจากบริเวณส่วนหัว ขา เท้า บริเวณใต้ท้องที่จะมีจุดสีดำปรากฏอยู่เช่นเดียวกับขนใต้ท้องที่มีสีขาวหรือสีเทา ขนาดความยาวหัวถึงลำตัว 107-129 เซนติเมตร หางมีความยาว 79.2 - 99.1 เซนติเมตร ใบหูมีความยาว 6.5 - 7.4 เซนติเมตร และหนัก 45 - 65 กิโลกรัม เสือดาวและเสือดำ จัดอยู่ในเสือชนิดเดียวกัน ซึ่งส่วนมากคนโดยทั่วไปจะเข้าใจผิดว่า เสือดาว และ เสือดำ เป็นเสือคนละชนิดกัน...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

เสือ


; บทความแนะนำประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกตาพอง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudochelidon sirintarae (Thonglongya, 1968) ชื่อสามัญ White-eyed River-Martin เป็นนกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับ นกนางแอ่น พบครั้งแรกบริเวณบึงบอระเพ็ด เมื่อ พ.ศ. 2511 เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีความยาวจากปากจดหาง ประมาณ 12 -13 ซม. ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 ซม. ชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบ เรียกนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” เนื่องจากลักษณะของตาที่มีวงขาวล้อมรอบ ลักษณะโดยทั่วไป ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงินเข้ม บางส่วน บริเวณหน้าผาก มีกระจุกขนสีดำ คล้ายกำมะหยี่ ขอบตาขาวเด่นชัด นัยน์ตา และ ม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อๆ ขนบริเวณตะโพกสีขาว ตัดกับสีของลำตัว ขนหาง มนกลม แต่ขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมา เป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 ซม. มองเห็นได้ชัดเจน บริเวณใต้คอสีน้ำตาลอมดำ แข้ง และ ขา สีชมพู...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

เสือดาว - เสือ


บทความแนะนำประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550

เสือชีตาห์ (Cheetah) เป็นเสือที่อาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนา เป็นเสือรูปร่างเพรียว ขนาดเล็กกว่าเสือดาวเล็กน้อย ขายาว ขนหยาบ สีเหลืองอ่อน จนถึงสีเหลืองอมแดง ตามลำตัวมีลายจุดเป็นสีดำ ปลายหางหนึ่งในสามมีวงแหวนสีดำ ปลายสุดสีขาว มีเส้นสีดำจากใต้หัวตามาที่มุมปากทั้งสองข้าง หูเล็กกลม ขนท้ายทอยยาวและตั้งขึ้นเป็นแผง คอสั้น จัดเป็นสัตว์ที่วิ่งได้เร็วที่สุดในโลก สามารถวิ่งได้เร็วประมาณ 110-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นผลมาจากกระดูกสันหลังของเสือชีตาห์ สามารถโค้งงอตามการเคลื่อนที่ของร่างกาย และเมื่อเสือชีตาห์พุ่งตัวไปด้านหน้า กระดูกสันหลังจะเหยียดออกจนสุด ปัจจุบันเสือชีตาห์ลดจำนวนลงในทวีปเอเชียเหลืออยู่แค่ในอิหร่านไม่เกิน 20 ตัว ส่วนในอาฟริกาประมาณการว่าเหลืออยู่ราว 4,000 ตัวเท่านั้น...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร - เสือดาว - เสือ


บทความแนะนำประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550

แพนด้าแดง (Red Panda) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ailurus fulgens อยู่ในวงศ์ Ailuridae มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแรคคูนและกระรอกรวมกัน หัวมีขนาดใหญ่ จมูกแหลม ขาสั้นคล้ายหมี ขนตามลำตัวมีหลากหลาย มีทั้งสีน้ำตาลเข้ม น้ำตาลเหลืองและน้ำตาลแดง ขนบริเวณลำคอยาวและนุ่มฟู หางเป็นพวงยาวคล้ายกับหางของกระรอก มีลายปล้องสีน้ำตาลแดงสลับขาว มีความลำตัวและหัว 51 - 64 ซ.ม. หางยาว 50 - 63 ซ.ม. มีน้ำหนัก 3 - 4.5 ก.ก.

มีการกระจายพันธุ์พบตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ตั้งแต่ภาคเหนือของประเทศอินเดีย ทิเบต เนปาล ภูฏาน จีน ภาคเหนือของพม่า และภาคเหนือของประเทศลาวบริเวณที่ติดกับจีน โดยอาศัยอยู่ในป่าที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,500 - 4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

เสือชีตาห์ - นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร - เสือดาว


บทความแนะนำประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550

งูจงอาง (King Cobra) เป็นงูพิษขนาดใหญ่ โดยทั่วไปมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 2.5 - 4 เมตร จัดเป็นงูพิษที่มีขนาดยาวที่สุดในโลก ซึ่งตัวที่ยาวเป็นสถิติโลกมีความยาวถึง 5.59 เมตร เป็นงูจงอางไทย ถูกยิงได้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2467 น้ำหนักประมาณ 6 - 10 กิโลกรัม มีลูกตาดำและกลม หัวใหญ่กลมทู่ สามารถแผ่แม่เบี้ยได้เช่นเดียวกับงูเห่า ลำตัวเรียวยาว ว่ายน้ำเก่ง มีหลายสีแต่โดยทั่วไปจะมีสีน้ำตาลแดงอมเขียว ท้องมีสีเหลืองจนเกือบขาว มีสีแดงเกือบส้มที่บริเวณใต้คอ มีพิษร้ายแรงแต่ไม่เท่างูเห่า มีผลทางระบบประสาท (Neurotoxin) ที่รุนแรง

พิษของงูจงอางสามารถทำให้คนหรือสัตว์ตายได้ เนื่องจากปริมาณพิษที่ฉีดออกจากเขี้ยวพิษมีมาก งูจงอางมีนิสัยค่อนข้างดุร้าย แต่ถ้าไม่จวนตัวหรือถูกรุกรานก่อนจะไม่ทำร้าย อาหารของงูจงอางคืองูอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเช่น หนู กบ ตะกวด จัดอยู่ในสกุล Ophiophagus เป็นสกุลของงูพิษที่มีผลต่อระบบประสาท มีรากศัพท์จากภาษาละตินมีความหมายว่า "กินงู"...อ่านเพิ่มเติม


บทความแนะนำประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2550

ปลาฉลามขาว (Great white shark) จัดอยู่ในประเภทสัตว์มีแกนสันหลัง เป็นนักล่าแห่งท้องทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดตัวที่ค่อนข้างใหญ่ พบได้ตามเขตชายฝั่งแถบทะเลใหญ่และในมหาสมุทร มีความยาวประมาณ 6 เมตร น้ำหนักประมาณ 2,250 กิโลกรัม ปลาฉลามขาวเป็นปลานักล่าสปีชี่ส์เดียวในสกุล Carcharodon ที่ยังเหลืออยู่ ปลาฉลามขาวมีความสามารถคล้ายกับปลาฉลามสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีอวัยวะรับสัมผัสพิเศษ ที่สามารถตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่แผ่ออกมาจากปลาที่มีชีวิต ที่เคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ

ทุกครั้งที่สิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ใต้ผิวน้ำ จะสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา และปลาฉลามขาวมีสัมผัสที่ไวเป็นพิเศษ ที่สามารถตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้แม้มีความแรงเพียง 1/1000,000,000 โวลท์ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับสามารถตรวจจับแสงแฟลชได้ในระยะ 1600 กิโลเมตร ปลาชนิดอื่น ๆ ส่วนมากไม่มีพัฒนาการถึงระดับนี้ แต่มีความสามารถที่คล้าย ๆ กันนี้ ที่ลายด้านข้างลำตัว การที่ปลาฉลามขาวจะประสบความสำเร็จในการล่าเหยื่อ ที่มีความว่องไวสูงอย่างสิงโตทะเล สัตว์เลือดเย็นอย่างปลาฉลามขาว ได้พัฒนาระบบรักษาความร้อนภายในร่างกาย...อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

งูจงอาง - แพนด้าแดง - เสือชีตาห์


บทความแนะนำประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550

นกเขียวก้านตอง (Leafbird) เป็นชื่อของสกุลและวงศ์ ของนกขนาดเล็กประเภทหนึ่งในตระกูลนกเกาะคอน มีถิ่นที่อยู่ในอินเดียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนก 1 ใน 2 วงศ์ซึ่งเป็นนกเฉพาะถิ่นของเขตนิเวศวิทยาอินโดมาลายัน โดยอีกวงศ์หนึ่งคือนกแว่นตาขาว เดิมสกุลนกเขียวก้านตอง อยู่ในวงศ์นกเขียวคราม ร่วมกับสกุลนกแว่นตาขาว แต่ภายหลังได้แยกวงศ์ออกมาทั้งสองสกุล ตั้งเป็นวงศ์ใหม่คือ วงศ์นกเขียวก้านตอง และวงศ์นกแว่นตาขาว นกเขียวก้านตองมีลักษณะคล้ายนกในวงศ์นกปรอดซึ่งเป็นวงศ์ใกล้เคียงกัน หากแต่มีสีสันสดใสกว่า นอกจากนี้ นกเขียวก้านตองเป็นนกที่มีลักษณะแตกต่างระหว่างเพศ โดยที่ตัวผู้จะมีสีสันสดใสกว่า หรือมีสีสันมากกว่า นกเขียวก้านตองวางไข่ 2-3 ฟองต่อครั้ง ในรังบนคาคบต้นไม้

ที่มาของชื่อนกเขียวก้านตอง มาจากลักษณะทางกายภาพของตัวนกเอง ในภาษาไทยมีความหมายตรงตัวคือหมายถึงนกที่มีสีเขียวแบบก้านของใบตองกล้วย ส่วนในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Leaf Bird แปลว่าเป็นนกที่มีสีเขียวดังใบไม้ นอกจากนี้ในชื่อสกุลของชื่อวิทยาศาสตร์ซึ่งเรียกว่า Chrolopsis ก็มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ Chlor หรือ khloros แปลว่าสีเขียว และ opsi หรือ opsis แปลว่าการปรากฏ ความหมายคือ"นกที่มีสีเขียว" กินลูกไม้ น้ำหวานดอกไม้ และแมลงเป็นอาหาร โดยมีลิ้นที่เรียวเล็ก เป็นอุปกรณ์ในการกินน้ำหวานจากดอกไม้ มักชอบกระโดดหากิน...อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

ฉลามขาว - งูจงอาง - แพนด้าแดง


บทความแนะนำประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammalia) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง โดยคำว่า Mammalia มาจากคำว่า Mamma ที่มีความหมายว่า "หน้าอก" เป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่มีการวิวัฒนาการและพัฒนาร่างกายที่ดีหลากหลายประการ รวมทั้งมีระบบประสาทที่เจริญก้าวหน้า สามารถดำรงชีวิตได้ในทุกสภาพสิ่งแวดล้อม มีขนาดของร่างกายและรูปพรรณสัณฐานที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะของสายพันธุ์ มีลักษณะเด่นคือมีต่อมน้ำนมที่มีเฉพาะในเพศเมียเท่านั้น เพื่อผลิตน้ำนมเพื่อใช้เลี้ยงลูกวัยแรกเกิด เป็นสัตว์เลือดอุ่น มีขนเป็นเส้น ๆ (hair) หรือขนอ่อน (fur) ปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย เพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิในร่างกาย ยกเว้นสัตว์น้ำที่ไม่มีขน

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ไม่จัดอยู่ในประเภทสัตว์กลุ่มใหญ่ คือมีจำนวนประชากรประมาณ 4,500 ชนิด ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับนก ที่มีประมาณ 9,200 ชนิด และปลาอีกประมาณ 20,000 ชนิด รวมทั้งแมลงอีกประมาณ 800,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสัตว์บก เช่น สุนัข ช้าง ลิง เสือ สิงโต จิงโจ้ เม่น หนู ฯลฯ สำหรับสัตว์น้ำที่จัดเป็นเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ได้แก่ โลมา วาฬ มานาทีและพะยูน แต่สำหรับสัตว์ปีกประเภทเดียวที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมคือค้างคาว ซึ่งกระรอกบินและบ่างนั้น ไม่จัดอยู่ในประเภทของสัตว์ปีก เนื่องจากใช้ปีกในการร่อนไปได้เพียงแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่ออกลูกเป็นตัว ยกเว้นตุ่นปากเป็ดและอีคิดนาเท่านั้นที่ออกลูกเป็นไข่...อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

นกเขียวก้านตอง - ฉลามขาว - งูจงอาง