วิกิพีเดีย:โลกของสัตว์/บทความแนะนำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กรุ 1/2550

บทความแนะนำ ประจำปี 2551
บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2551

เต่า (Turtle) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลื้อยคลาน อันดับ Chelonia เต่าจัดอยู่ในประเภทสัตว์เลือดเย็น เป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาวมากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง มีกระดูกที่แข็งปกคลุมบริเวณแผ่นหลังเรียกว่า "กระดอง" ซึ่งประกอบด้วยแคลเซียมเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเกิดเหตุจวนตัวหรือพบภัยอันตรัย เต่าสามารถหดหัว ขา และหางของตนเองเข้าไปหลบซ่อนภายในกระดองเพื่อป้องกันตัวได้ ยกเว้นเต่าบางชนิดที่ไม่สามารถทำได้

เต่าเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ได้ช้า อาศัยและใช้ช่วงชีวิตหนึ่งอยู่ในน้ำทั้งน้ำจืดและทะเล แต่เต่าบางชนิดก็ไม่ต้องอาศัยน้ำเลย เรียกว่า "เต่าบก" ซึ่งเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ เต่ายักษ์อัลดาบร้า (Geochelone gigantica) ที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะในทวีปแอฟริกา ในขณะที่เต่าน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคือเต่าอัลลิเกเตอร์ (Macrochelys temminckii) อาศัยอยู่ตามหนองน้ำในทวีปอเมริกาเหนือ...อ่านเพิ่มเติม


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ควาย (Buffalo) หรือกระบือ จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความใกล้ชิดกับงานเกษตรกรรมของประเทศทางแถบเอเซียมากที่สุด เพราะชาวนานิยมเลี้ยงควายสำหรับเป็นแรงงาน เพื่อไว้ไถนา บ้างก็ใช้เป็นพาหนะในการเข้าไปทำไร่ทำนา ในประวัติศาสตร์ชาติไทย นายทองเหม็นแห่งหมู่บ้านบางระจันก็ขี่ควายออกไปรบ ปัจจุบันมีการฆ่าควายเพื่อนำเนื้อเป็นอาหาร จึงนับว่าควายมีประโยชน์หลากหลายประการ ปัจจุบันมีการใช้แรงงานควายน้อยลง เพราะชาวนานิยมใช้รถไถในการทำไร่ทำนาแทน

ควายเป็นสัตว์มีสี่ขาเท้าเป็นกีบ ตัวขนาดใกล้เคียงกับวัว โตเต็มวัยเมื่ออายุระหว่าง 5-8 ปี น้ำหนักของควายตัวผู้โตเต็มวัย โดยเฉลี่ยประมาณ 520-560 กิโลกรัม ตัวเมียเฉลี่ยประมาณ 360-440 กิโลกรัม ตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย มีผิวสีเทาถึงดำ (บางตัวมีสีชมพู เรียกว่า ควายเผือก) มีเขาเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัว ปลายเขาโค้งเป็นวงคล้ายพระจันทร์เสี้ยว แยกได้เป็นสองกลุ่มคือควายป่าและควายบ้าน และควายบ้านนั้นก็แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ควายปลัก (swamp bufffalo) และ ควายแม่น้ำ (river buffalo)...อ่านเพิ่มเติม


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551

วาฬเพชฌฆาต (The Orca or Killer Whale) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม วาฬเพชฌฆาตเรียกอีกชื่อว่า ออก้า เป็นสปีชี่ส์ที่ใหญ่ที่สุดในในวงศ์ Delphinidae ของโลมา สามารถพบเห็นได้ในมหาสมุทรทั่วโลก ตั้งแต่แถบอาร์กติกและแอนตาร์กติก จนถึงทะเลในแถบเขตร้อน วาฬเพชฌฆาตเป็นนักล่าที่ชาญฉลาด ส่วนมากล่าปลาเป็นอาหาร ในบางสายพันธุ์จะล่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างแมวน้ำ สิงโตทะเล หรือแม้กระทั่งวาฬขนาดใหญ่ วาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์สังคม โดยสีณนิษฐานได้จากพฤติกรรมทางสังคมที่ซับซ้อนของมัน อย่างเช่น เทคนิคการล่า การส่งเสียงที่สามารถสื่อความหมายระหว่างกันได้

ถึงแม้ว่าวาฬเพชฌฆาตจะไม่จัดอยู่ในสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ แต่ในบางพื้นที่มันก็ได้รับความคุ้มครอง อันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของสารพิษในน้ำทะเล การตกเป็นเหยื่อของนักล่าที่ใหญ่กว่าแล้วเพิ่มจำนวนไม่ทัน การถูกจับโดยบังเอิญระหว่างการทำประมง การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การถูกมนุษย์ล่า โดยส่วนมากแล้ววาฬเพชฌฆาตจะไม่ทำร้ายมนุษย์ มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่พบว่าทำร้ายมนุษย์ อย่างเช่น ในกรณีของวาฬเพชฌฆาตในสวนน้ำ วาฬเพชฌฆาต เป็นสปีชี่ส์เดียวในสกุล Orcinus เป็นหนึ่งในหลายสปีชี่ส์ที่นักสัตววิทยาชาวสวีเด็น แคโรลัส ลินแนอัส (Carolus Linnaeus) ได้ให้คำอธิบายไว้ในผลงานที่ชื่อ ซิสเตมาเนเชอร่า (Systema Naturae) ในปี 1758 ศตวรรษที่ 18 ว่าวาฬเพชฌฆาตเป็น 1 ใน 35 สปีชี่ส์ของวงศ์โลมา เหมือนกับวาฬหัวทุย (Sperm Whale) ในวงศ์ Physeter ซึ่งในสกุล Orcinus จะมีหลายสปีชี่ส์ด้วยกัน นักชีววิทยาโบราณคดี (paleontologist)...อ่านเพิ่มเติม


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2551

ปูมะพร้าว (Coconut Crab) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมอาร์โธรพอด เป็นปูที่วิวัฒนาการมาจากปูเสฉวน เป็นสัตว์ขาปล้องขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน กิตติศัพท์ที่ว่าปูมะพร้าวสามารถเจาะลูกมะพร้าวด้วยก้ามอันทรงพลังนั้นเป็นที่รู้จักกันดี ในบางครั้งปูมะพร้าวถูกเรียกว่า ปูปล้น หรือ ปาล์มขโมย ทั้งนี้เนื่องจากปูมะพร้าวมักจะขโมยข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านที่ส่องประกาย อย่างเช่น หม้อหรือถ้วยแสตนเลส บางคนเรียกปูมะพร้าวว่า ปูเสฉวนบก แต่อันที่จริงนอกจากปูมะพร้าวแล้ว ยังมีปูชนิดอื่นอีกที่จัดได้ว่าเป็นปูเสฉวนบกเช่นกัน นอกจากนี้ ปูมะพร้าวอาจมีชื่อเรียกต่างกันไปอีกในแต่ละที่ เช่น ที่เกาะกวม ปูมะพร้าวจะถูกเรียกว่า อายูยู

ขนาดตัวของปูมะพร้าวนั้นหลากหลาย ตัวเต็มวัย ของปูมะพร้าวสามารถเจริญเติบโตจนมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม และความยาวของลำตัว 40 เซนติเมตร แต่ถ้านับรวมช่วงขาแล้วจะยาวถึง 1 เมตรได้ทีเดียว โดยทั่วไปตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีรายงานว่ามีการพบปูมะพร้าวที่หนักถึง 17 กิโลกรัม และมีความยาวของลำตัว 1 เมตร ซึ่งเป็นที่เชื่อว่านี่คือขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นไปได้ของสัตว์ขาปล้องที่อยู่บนบก ปูมะพร้าวมีอายุประมาณ 30-60 ปี ลำตัวของปูมะพร้าวก็เหมือนกับสัตว์ทศบาททั่วไป คือประกอบด้วยส่วนหัวอก (เซฟาโลโทแรกซ์)และส่วนท้องที่มี 10 ขา ขาคู่หน้าสุดของปูมะพร้าวเป็นก้ามขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเจาะลูกมะพร้าว และสามารถยกน้ำหนักได้ถึง 29 กิโลกรัม ขาอีกสามคู่ถัดมามีลักษณะคล้ายแหนบ ใช้สำหรับเดินและปีนป่าย (ปูมะพร้าวสามารถใช้ขาทั้งสามคู่นี้ไต่ต้นมะพร้าวได้สูงถึง 6 เมตร) ส่วนขาคู่สุดท้ายนั้นเล็กมาก ใช้สำหรับทำความสะอาดอวัยวะหายใจ ขาคู่นี้มักจะอยู่ในกระดองตรงช่องที่บรรจุอวัยวะหายใจ...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

วาฬเพชฌฆาตควายเต่า


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551

บีเกิ้ล (Beagle) เป็นสายพันธุ์สุนัขมีถิ่นกำเนิดในประเทศสหราชอาณาจักร จัดอยู่ในจำพวกกลุ่มสุนัขล่าเนื้อ(Hound) มีขนสั้นปกคลุมร่างกาย ใบหูปรกแนบกับส่วนหัว เป็นสุนัขที่มีประสาททางด้านการดมกลิ่นเป็นเลิศ (scent hounds) ที่พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาครั้งแรก ด้วยจุดประสงค์เพื่อเป็นผู้ช่วยมนุษย์ ในกีฬาการล่าต่าง ๆ โดยเฉพาะการล่ากระต่าย ด้วยประสาทด้านการดมกลิ่นที่ไวมาก จึงได้มีการฝึกให้เป็นสุนัขตรวจสอบของผิดกฎหมาย อย่างเช่น ยาเสพติด วัตถุระเบิด ฯลฯ แต่บีเกิ้ลยังได้รับความนิยมในฐานะสัตว์เลี้ยงเช่นกัน ด้วยขนาดตัวที่พอเหมาะ เป็นสุนัขอารมณ์ดี และสุขภาพแข็งแรงทนทานต่อโรค ด้วยคุณสมบัตินี้เอง บีเกิ้ลยังถูกใช้ในงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์อีกด้วย

สุนัขสายพันธุ์บีเกิ้ลมีมากว่า 2000 ปีแล้ว และมีชื่อเสียงมากในยุคของพระนางอลิซาเบท (Elizabethan era) ซึ่งปรากฏในงานวรรณกรรม จิตรกรรม ภาพยนตร์ โทรทัศน์และหนังสือการ์ตูนเรื่องสนู๊ปปี้ (Snoopy) ก็เป็นบีเกิ้ลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดตัวหนึ่งของโลก บีเกิ้ลเป็นสุนัขที่สุภาพ พวกมันค่อนข้างเป็นมิตร ไม่ดุร้ายเกินไปหรือเฉื่อยชาเกินไป ชอบอยู่กันเป็นกลุ่มแม้ว่าจะพอใช้กันคนแปลกหน้าได้บ้าง แต่มันก็เชื่องคนง่ายเกินจึงไม่เหมาะที่จะเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน แต่ว่ามันยังคงเห่าหรือหอนบ้างเมื่อเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้า...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

ปูมะพร้าววาฬเพชฌฆาตควาย


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551

สิงโต (Lion) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ในวงศ์ Felidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับแมว สิงโตจัดอยู่ในวงศ์ Panthera leo มีขนาดลำตัวใหญ่ขนาดไล่เลี่ยกับเสือโคร่ง ขนสีน้ำตาล ไม่มีลวดลาย ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนสร้อยคอยาว ขนปลายหางเป็นพู่ ชอบอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่ง น้ำหนักประมาณ 250 กิโลกรัม หรือราว 550 ปอนด์ ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า มักทำหน้าที่ล่าเหยื่อ น้ำหนักประมาณ 180 กิโลกรัม หรือราว 400 ปอนด์ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาและประเทศอินเดีย ในป่าธรรมชาติ สิงโตมีอายุขัยประมาณ 10-14 ปี ส่วนสิงโตที่อยู่ในกรงเลี้ยงมีอายุยืนถึง 20 ปี

สิงโตในอดีตพบกระจายอยู่ตามทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก มีสายพันธุ์มากมายแต่ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ปัจจุบันพบเพียงแค่ในทวีปแอฟริกา ในทวีปเอเซียยังคงมีอยู่บ้างเช่นบางแห่งในประเทศอินเดียแถบตะวันตก มี 3 สายพันธุ์ย่อย (Subspecies) คือสิงโตแอฟริกา (Panthera leo leo) สิงโตอินเดียหรือสิงโตเอเชีย (Panthera leo persica) ซึ่งตัวเล็กกว่า และสิงโตขาว (Panthera leo krugeri) พบในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ซึ่งเป็นพันธุ์ย่อยอีกชนิดของสิงโตแอฟริกาซึ่งมีสีขาวตลอดทั้งลำตัว แต่ไม่ใช่สิงโตเผือก เพิ่งมีการค้นพบและศึกษาเมื่อไม่นานมานี้...อ่านเพิ่มเติม


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551

กิล่ามอนสเตอร์ (Gila Monsator) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลื้อยคลาน เป็นกิ้งก่าที่มีพิษชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heloderma suspectum พบในเขตทะเลทรายอริโซน่าทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา กิล่ามอนสเตอร์เมื่อโตเต็มวันมีความยาวถึงสองฟุต จัดเป็นกิ้งก่าขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศสหรัฐอเมริกา ลำตัวมีลายดำ ชมพู ส้ม และเหลือง อุปนิสัยเชื่องช้า มักหลบในโพรงเป็นส่วนใหญ่ ล่าสัตว์จำพวกหนู นกและไข่ต่าง ๆ เป็นอาหาร กิล่ามอนสเตอร์สามารถผลิตพิษที่มีผลต่อระบบประสาทของเหยื่อ โดยพิษจะส่งเข้าสู่เหยื่อผ่านทางฟันทางกรามล่าง แต่พิษนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตต่อมนุษย์

กิล่ามอนสเตอร์เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการคุ้มครองโดยกฎหมาย ทั้งในท้องถิ่นคือกฎหมายรัฐอริโซน่า และในระดับประเทศคือกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเม็กซิโก ส่วนในระดับนานาชาติกิล่ามอนสเตอร์เป็นสัตว์ในบัญชีหมายเลข ๒ ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) โดยห้ามส่งออกหรือนำเข้าโดยปราศจากใบอนุญาต ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

สิงโตบีเกิ้ลปูมะพร้าว


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551

แมลง (Insect) จัดอยู่ในไฟลัมอาร์โธรโพดา เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในคลาส Insecta เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและมีการแพร่กระจายกว้างขวางที่สุดในไฟลัม Arthropoda และเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายมากที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมด โดยมีมากกว่า 800,000 สปีชี่ส์ ซึ่งมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆรวมกัน แมลงพบได้ในเกือบทุกสภาพแวดล้อมในโลก แม้แต่ในทะเลยังพบแมลงบางชนิดได้ ประมาณไว้ว่า มีแมลงปอ 5,000 ชนิด ตั๊กแตนตำข้าว 2,000 ชนิด ตั๊กแตน 20,000 ผีเสื้อ 170,000 ชนิด แมลงวัน 120,000 ชนิด มวน 8,200 ชนิด ด้วง 360,00 ชนิด ผึ้ง ต่อ แตน และมด 110,000 ชนิด ที่จำแนกชื่อแล้ว และเมื่อรวมกับชนิดที่ยังไม่ได้จำแนกชื่อประมาณว่าน่าจะมี 20 ล้าน ถึง 50 ล้านชนิด

แมลงตัวเต็มวัยในปัจจุบันมีขนาดตั้งแต่ 0.139 มม. คือ เตียนเบียน Myrmarid ชนิด Dicopomorpha echmepterygisถึงขนาด 55.5 ซม. คือ ตั๊กแตนกิ่งไม้ ชนิด Phoboeticus serratipes ส่วนแมลงที่หนักที่สุดที่มีการตีพิมพ์ คือ จิ้งโกร่งถ้ำ (Giant Weta ; Order Orthoptera;Family Rhapidophoridae:Genus Deinacrida) หนัก 70 กรัม ส่วนแมลงที่หนักใกล้เคียงคือ ด้วงโกลิแอท (Goliathus goliatus,Goliathus regius) และ ด้วงหนวดยาวชนิด Titanus giganteusโดยยังไม่มีใครรู้แน่นอนว่าแมลง 3 ชนิดนี้ตัวใดหนักที่สุด การศึกษาเกี่ยวกับแมลงจัดอยู่ในสาขาวิชากีฏวิทยา บางทีเรียกเพี้ยนเป็นแมง...อ่านเพิ่มเติม


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2551

ปลิง (Aquatic Leech) จัดอยู่ในไฟลัมแอนเนลิดา เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลักษณะลำตัวเป็นข้อปล้องและยืดหยุ่น อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำนิ่งตามหนอง และอยู่ตามพื้นที่ชื้นแฉะเช่นบริเวณป่าดงดิบเขตร้อน ดำรงชีพโดยการดูดเลือดสัตว์อื่นรวมทั้งเลือดมนุษย์เป็นอาหาร ปลิงดำรงชีวิตด้วยการดูดเลือดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลานและ ปลาบางชนิด และเนื่องจากไม่มีดวงตาจึงอาศัยการจับแรงสั่นสะเทือนจากการเคลื่อนไหวของเหยื่อด้วยแรงสั่นสะเทือนในน้ำ จะคอยชูตัวอยู่ตามพื้นดินหรือไต่ขึ้นไปบนกิ่งไม้ มีสัมผัสที่ไวต่อกลิ่นและอุณหภูมิ เมื่อเหยื่อเข้าใกล้มันจะใช้อวัยวะที่เรียกว่าแว่นดูด (Sucker) เกาะเข้ากับตัวเหยื่อ ซึ่งอวัยวะนี้มีทั้งด้านหน้าและด้านท้าย โดยมันจะใช้แว่นท้ายในการยึดเกาะ

เมื่อปลิงสามารถเกาะผิวเนื้อของเหยื่อแล้ว จะค่อยๆ ไต่อย่างแผ่วเบาเพื่อหาที่หลบซ่อนตัว หลังจากนั้นจะใช้แว่นหน้าลงบนผิวเนื้อของเหยื่อเพื่อดูดเลือด โดยปลิงจะปล่อยสารชนิดหนึ่งคล้ายกับยาชาเข้าสู่ผิวหนัง และเวลาที่ปลิงดูดเลือดจะปล่อยสารออกมา 2 ชนิด ซึ่งได้แก่สารฮีสตามีน (Histamine) ช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว และสารฮีรูดีน (Hirudin) มีคุณสมบัติต้านทานการแข็งตัวของเลือด เมื่อปลิงดูดเลือดอิ่มจนมีลักษณะตัวอ้วนบวมแล้วจะปล่อยตัวร่วงลงสู่พื้นดินเอง...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

แมลงกิล่ามอนสเตอร์สิงโต


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551

แพนด้ายักษ์ (Giant Panda) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม คนไทยนิยมเรียกหมีแพนด้า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์หมี (Ursidae) ถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน อาหารโปรดของแพนด้ายักษ์คือไผ่ นอกนั้นจะเป็นหญ้าชนิดอื่น ๆ ลักษณะเฉพาะของแพนด้ายักษ์คือมีขนสีดำรอบดวงตา, ใบหู, บ่า และขาทั้งสี่ข้าง ส่วนอื่นประกอบด้วยขนสีขาว ปัจจุบันแพนด้ายักษ์เป็นหนึ่งในสัตว์สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดสายพันธุ์หนึ่งของโลก จากการสำรวจประชากรแพนด้าปี พ.ศ. 2547 มีแพนด้ายักษ์ประมาณ 1,600 ตัวอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ และมีประมาณ 160 ตัวที่เลี้ยงในกรงเลี้ยง

แพนด้ายักษ์มีถิ่นอาศัยอยู่ตามพื้นที่ภูเขา เช่น มณฑลเสฉวน มณฑลชานซี มณฑลกานซูและเขตปกครองตนเองทิเบต แพนด้ายักษ์เป็นสัญลักษณ์ของกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund:WWF) องค์กรด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 แพนด้าได้กลายเป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศจีน และรูปภาพของมันได้อยู่บนเหรียญทองของจีน ถึงแม้พวกมันจะจัดอยู่ในวงศ์ของหมี แต่พฤติกรรมการกินของมันแตกต่างจากหมีโดยสิ้นเชิง แพนด้าเป็นสัตว์กินพืชเป็นอาหาร โดย 99% ของอาหารที่มันกินคือไผ่ แต่บางทีอาจพบว่ามันก็กินไข่ ปลา และแมลงบางชนิดในไม้ไผ่ที่มันกิน นี่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

ปลิงแมลงกิล่ามอนสเตอร์


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551

หอยเต้าปูน (Cone snail or cone shell) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมมอลลัสคา ชั้นแกสโทรโพดา เป็นสัตว์นักล่า พบได้ตามแถบแนวปะการัง เปลือกมีสีสันสดใส และมีลวดลายสวยงาม ดึงดูดสายตา แต่มีบางสายพันธุ์ที่สีของหอยเต้าปูนจะซ่อนอยู่ภายใต้เนื้อเยื่อพิเศษ ที่ยังไม่ทราบการทำงานที่แน่ชัด (Periostracum) บางชนิดในแถบทะเลเขตร้อน จะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ มีมากกว่า 500 สปีชี่ส์ จัดเป็นสัตว์กินเนื้อ มักจะล่าหนอนทะเล ปลาเล็ก ๆ หอย หรือแม้กระทั่งหอยเต้าปูนด้วยกันเองเป็นอาหาร เนื่องจากเคลื่อนที่ได้ช้า จึงมีการพัฒนาอาวุธเฉพาะตัวขึ้นมาคือ เข็มพิษ (venomous harpoon) เพื่อใช้สำหรับล่าเหยื่อและทำให้เหยื่อหมดสติก่อนกลายเป็นอาหาร ที่มีความรวดเร็วสูง ซึ่งในสายพันธุ์ขนาดใหญ่ พิษของหอยเต้าปูนมีความรุนแรงมากพอที่จะฆ่าคนได้

หอยเต้าปูนเป็นสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม มีเปลือกห่อหุ้มอยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตราย จากสัตว์อื่น ๆ ในท้องทะเล มีเข็มพิษเป็นอาวุธ พิษของหอยเต้าปูนเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความซับซ้อนในโครงสร้างของพิษ อีกทั้งยังออกฤทธิหลากหลาย ทำให้ยากที่จะป้องกันได้ ซึ่งพัฒนาการนี้เองทำให้หอยเต้าปูนได้เปรียบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น สามารถทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตชนิดเฉียบพลันได้ภายใน 1/200 วินาที ความเร็วในการจู่โจมอยู่ที่ 1/4 วินาที...อ่านเพิ่มเติม

บทความแนะนำก่อนหน้านี้:

แพนด้ายักษ์ปลิงแมลง


บทความแนะนำ
บทความแนะนำประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551

นกเงือก (Hornbill) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ชั้นสัตว์ปีก เป็นนกขนาดใหญ่ ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด นกเงือกเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขัง ตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก

ประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ซึ่งในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ใน จังหวัดนครราชสีมา มี 4 ชนิด ได้แก่ นกกก หรือ นกกะวะหรือ นกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ และ นกแก๊ก หรือนกแกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบ 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงืกปากย่น นกเงือกชนหิน นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง ...อ่านเพิ่มเติม