อิคิดนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อีคิดนา)
สำหรับ อีคิดนา ในเทพปกรณัมดูที่ อีคิดนา (เทพปกรณัม)
อีคิดนา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Monotremata
วงศ์: Tachyglossidae
Gill, 1872
สกุล

Tachyglossus
    T. aculeatus
Zaglossus
   Z. attenboroughi
   Z. bruijnii
   Z. hacketti (สูญพันธุ์)
   Z. robustus (สูญพันธุ์)

อีคิดนา (Echidna) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ ตัวกินมดหนาม (Spiky Anteater) เป็นสัตว์ประจำท้องถิ่นของออสเตรเลีย พบในนิวกินีและออสเตรเลีย นอกจากตุ่นปากเป็ดแล้วมีเพียงอีคิดนาเท่านั้น ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับโมโนทรีมาตา (Monotremata) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงสองชนิดเท่านั้นที่ออกลูกเป็นไข่

ลักษณะทั่วไป[แก้]

อีคิดนามีรูปร่างคล้ายเม่นตัวเล็ก ๆ มีขนหยาบและขนหนาม (spine) ปกคลุมตลอดตัว เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณสามสิบเซนติเมตร จมูกเรียวยาว ขาสั้นแข็งแรง อุ้งเล็บใหญ่ ขุดดินได้ดี อีคิดนามีปากเล็ก ไม่มีฟัน หาอาหารโดยการฉีกท่อนไม้ผุ ขุดจอมปลวก ใช้ลิ้นเหนียว ๆ กวาดปลวก มด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ แล้วบดเหยื่อกับเพดานปากก่อนกลืน

อีคิดนาเป็นสัตว์ที่สันโดษมาก มักหากินไปตามลำพัง ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์มันจะตามกลิ่นไปหาคู่ อีคิดนาผสมพันธุ์ในช่วงกลางฤดูหนาว หรือประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพราะมีขาสั้นอีคิดนาจึงเดินช้าและงุ่มง่าม แต่ว่ายน้ำเก่งจนน่าแปลกใจเนื่องจากอีคิดนานั้นสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่มีลักษณะคล้ายตุ่นปากเป็ด

พฤติกรรมทั่วไป[แก้]

อีคิดนา ตาไว จมูกไว แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะดูน่าเกรงขามแต่อีคิดนาเป็นสัตว์ขี้อายและขี้กลัว ที่ข้อเท้าหลังของอีคิดนาตัวผู้มีเดือยยื่นออกมาคล้ายของตุ่นปากเป็ด ในขณะที่ตุ่นปากเป็ดสามารถใช้เดือยแทงและปล่อยพิษใส่ศัตรูได้ อีคิดนากลับไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว เมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้บุกรุกมันจะหลบมากกว่าสู้ อาจจะซ่อนตัวในพุ่มไม้ หรือแทรกตัวเข้าไปในโพรงขอนไม้ ซอกหิน หรือมุดลงในดิน หากไม่มีทางเลือกอื่นมันก็จะม้วนตัวกลมให้หนามยื่นออกไปรอบตัว

มีศัตรูไม่กี่ชนิดที่สามารถทำร้ายอีคิดนาได้ เช่น สุนัข หมาป่าดิงโก แมว หมู ศัตรูเหล่านี้ต้องเคยผ่านประสบการณ์กับอีคิดนามาก่อน จึงรู้ว่าเมื่ออีคิดนาวัยผู้ใหญ่ม้วนตัวจะมีจุดอ่อนที่ท้อง เพราะมันไม่สามารถม้วนจนกลมเป็นลูกบอลได้เหมือนอีคิดนาวัยอ่อน และเชื่อกันว่าสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดกินลูกอีคิดนา อีคิดนาวางไข่ครั้งละหนึ่งฟองเท่านั้น หลังผสมพันธุ์ยี่สิบสองวันอีคิดนาตัวเมียจะวางไข่เปลือกนิ่มออกมาหนึ่งฟอง แล้วใส่ไว้ในถุงหน้าท้องคล้ายของจิงโจ้ ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นมาในระยะผสมพันธุ์ ฟักไข่ไว้ในถุงสิบวัน ลูกอีคิดนาจึงออกจากไข่ ลูกอ่อนของอีคิดนาเรียกว่า พักเกิ้ล (puggle) มีขนาดไม่เกินสองเซนติเมตร

เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับโมโนทรีมาตาไม่มีหัวนม มีเพียงฐานนมสองข้าง พักเกิ้ลจึงดูดนมจากท่อเล็ก ๆ ที่ฐานนมแม่ และอาศัยอยู่ในถุงหน้าท้องแม่สี่สิบห้าถึงห้าสิบห้าวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ขนหนามเริ่มขึ้นแล้ว แม่อีคิดนาจะขุดโพรงอนุบาลไว้ใส่ลูก และกลับมาให้นมทุกห้าวัน ลูกอีคิดนาหย่านมตอนอายุประมาณเจ็ดเดือน อีคิดนาเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนและปรับตัวเก่ง ในเขตภูเขาช่วงหน้าหนาวมันจะจำศีลอย่างกบ ในเขตทะเลทรายตอนกลางวันมันจะหลบร้อนอยู่ในอุโมงค์หรือหลืบหิน ออกหากินเฉพาะตอนกลางคืน ในเขตอากาศอบอุ่นส่วนใหญ่จะออกมาตอนพลบค่ำ แต่หากอากาศหนาวขึ้นมันก็จะออกมาหากินได้ทั้งวัน

การจำแนกประเภท[แก้]

อีคิดนาแยกเป็น 2 สกุล คือ Zaglossus กับ Tachyglossus

  • สกุล Zaglossus เป็นอีคิดนาจมูกยาว มีจมูกยาวคล้ายตัวกินมด แบ่งออกเป็น 4 สปีชีส์ สูญพันธุ์ไปแล้ว 2 สปีชีส์
    1. สปีชีส์ Zaglossus attenboroughi
      • เป็นอีคิดนาจมูกยาวที่เรียกว่า Cyclops Long-beaked Echidna เพิ่งค้นพบได้ไม่นาน ในบางพื้นที่ของนิวกินี ซึ่งสูงกว่าเขตที่อีคิดนาจมูกยาวสปีชีส์ Zaglossus bruijnii อาศัยอยู่
    2. สปีชีส์ Zaglossus bruijnii
      • เป็นอีคิดนาจมูกยาวที่เรียกว่า Long-beaked Echidna อาศัยอยู่ในป่าแถบที่ราบสูง หรือภูเขาสูงในนิวกินี อาหารคือหนอนและแมลงที่ขุดคุ้ยได้จากกองใบไม้ที่ทับถมกันอยู่ในป่า
    3. สปีชีส์ Zaglossus hacketti สูญพันธุ์แล้ว ศึกษาจากฟอสซิล
    4. สปีชีส์ Zaglossus robustus สูญพันธุ์แล้ว ศึกษาจากฟอสซิล
  • สกุล Tachyglossus
    • เป็นอีคิดนาจมูกสั้น ที่เรียกว่า Short-beaked Echidna (ดูภาพประกอบ) มีเพียงสปีชี่ส์เดียว คือ Tachyglossus aculeatus พบในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของนิวกินี และทั่วทวีปออสเตรเลีย ตั้งแต่เขตภูเขาที่มีหิมะปกคลุมไปจนถึงเขตทะเลทราย อีคิดนาจมูกสั้นตัวเล็กกว่าอีคิดนาจมูกยาว แต่มีขน (hair) ยาวกว่า โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่อยู่ในแทสเมเนียจะมีขนยาวมากจนมองแทบไม่เห็นขนหนาม (spine)

สถานภาพ[แก้]

แม้จะไม่สามารถบอกได้ว่าอีคิดนาจมูกสั้นมีจำนวนประมาณเท่าไร แต่เชื่อกันว่ามันอยู่ในสถานภาพที่ไม่มั่นคงนัก ลักษณะและพฤติกรรมของอีคิดนาจะแตกต่างกันออกไปตามถิ่นอาศัย การแยกกันอยู่อย่างกระจัดกระจายทำให้ถูกโจมตีจากสัตว์อื่นได้ง่าย พื้นที่อาศัยลดน้อยลงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อจำนวนอีคิดนา อีคิดนาจมูกยาวอยู่ในรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์แล้ว และอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะชาวนิวกินีล่ามันเป็นอาหารด้วย

เบ็ดเตล็ด[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]