ปลาฉลามขาว
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ปลาฉลามขาว ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนถึงปัจจุบัน[1] | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | Eukarya |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
ชั้นย่อย: | Elasmobranchii |
อันดับ: | Lamniformes |
วงศ์: | Lamnidae |
สกุล: | Carcharodon Smith, 1838 |
สปีชีส์: | C. carcharias |
ชื่อทวินาม | |
Carcharodon carcharias (Linnaeus, 1758) | |
ถิ่นที่อยู่อาศัย (สีน้ำเงิน) |
ปลาฉลามขาว (อังกฤษ: great white shark) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง มีขนาดตัวที่ค่อนข้างใหญ่ พบได้ตามเขตชายฝั่งแถบทะเลใหญ่ มีความยาวประมาณ 6 เมตร น้ำหนักประมาณ 2,250 กิโลกรัม ทำให้ปลาฉลามขาวเป็นปลากินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชี่ส์เดียวในสกุล Carcharodon ที่ยังคงสืบทอดเผ่าพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน[3] โดยเป็นปลาที่ถือกำเนิดมาแล้วนานกว่า 16 ล้านปี[1]
วิวัฒนาการ
[แก้]ปลาฉลามขาวมีความสามารถคล้ายกับปลาฉลามสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ว่ามีอวัยวะรับสัมผัสพิเศษซึ่งสามารถตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากปลาที่มีชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ ทุกครั้งที่สิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ใต้ผิวน้ำจะสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา และปลาฉลามขาวมีสัมผัสไวเป็นพิเศษที่สามารถตรวจจับได้แม้มีความแรงเพียง 1/1,000,000,000 โวลต์ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับสามารถตรวจจับแสงแฟลชได้ในระยะ 1,600 กิโลเมตร ปลาชนิดอื่น ๆ ส่วนมากไม่มีพัฒนาการถึงระดับนี้ แต่มีความสามารถที่คล้าย ๆ กันนี้ที่ลายด้านข้างลำตัว
การที่ปลาฉลามขาวจะประสบความสำเร็จในการล่าเหยื่อที่มีความว่องไวสูงอย่างสิงโตทะเลได้ ปลาฉลามขาวถือว่าเป็นปลาฉลามที่มีเลือดอุ่นหนึ่งในหกชนิดที่เป็นที่รู้จัก โดยปลาฉลามขาวมีระบบการเผาผลาญแตกต่างไปจากปลาฉลามทั่วไปที่ความร้อนจะสูญเสียไปในเหงือกและผิวหนัง แต่ปลาฉลามขาวมีการวางตัวของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่มีลักษณะเฉพาะช่วยในการถ่ายเทความร้อนระหว่างเลือดอุ่นและเลือดเย็น ทำให้แกนกลางลำตัวรักษาความร้อนไว้ได้ ประกอบกับมีการวางตัวกล้ามเนื้อแดงที่อุ่นที่บริเวณกลางลำตัว โดยมีระบบแลกเปลี่ยนความร้อนเป็นตัวช่วยลดการสูญเสียความร้อนผ่านผิวหนังลงช่วยให้ปลาฉลามขาวมีอุณหภูมิร่างกายอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส อย่างคงที่แม้ว่าสภาวะแวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็ตามจึงสามารถทำให้ว่ายน้ำและล่าเหยื่อในที่ที่ลึกหรือมีอุณหภูมิต่ำเย็นยะเยือกอย่างเขตอาร์กติกได้[4]
ขนาด
[แก้]ปลาฉลามขาวตัวเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 4–4.8 เมตร[5] หนักประมาณ 880–1,100 กิโลกรัม[6] ตัวเมียมักจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ขนาดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบยังเป็นที่สงสัยอยู่ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้พยายามรวบรวมข้อมูลเท่าทีมีแต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้[7] ทุกวันนี้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ขนาดตัวปกติของปลาฉลามขาวที่โตเต็มที่จะอยู่ราว ๆ 6 เมตร หนักประมาณ 1,900 กิโลกรัม[8] ในช่วง 10 ปีนี้ กินเนสบุ๊ค ออฟ เวิลด์เรคคอร์ด (Guinness Book of World Records) ได้บันทึกปลาฉลามขาวที่ตัวใหญ่ที่สุดไว้ได้ 2 ตัว ซึ่งตัวหนึ่งยาว 11 เมตร จับได้ที่ทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลีย ใกล้กับ พอท แฟร์รี่ (Port Fairy) ในปี 1870 และอีกตัวหนึ่งยาว 11.3 เมตร ติดอวนชาวประมงที่เมือง New Brunswick ประเทศแคนาดา ในปี 1930
จากข้อมูลนี้เอง จึงนำมาประเมินขนาดมาตรฐานของปลาฉลามขาวปกติที่โตเต็มวัย นักวิทยาศาสตร์บางท่านได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือในการวัดทั้งสองครั้งนั้น ซึ่งไม่มีบันทึกใดมีขนาดที่ใกล้เคียงกับ 2 กรณีที่พบนี้เลย ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจึงมีข้อสงสัยที่ว่า การบันทึกที่เมือง New Brunswick อาจเป็นการบันทึกที่มีการเข้าใจผิดในสายพันธุ์ ซึ่งสงสัยว่าน่าจะเป็นปลาฉลามสายพันธุ์อื่น (Basking shark) มากกว่า และทั้งสองตัวที่ถูกบันทึกก่อนหน้านี้ก็มีขนาดที่ใกล้เคียงกัน ข้อสงสัยนี้ได้รับการพิสูจน์โดย เจ.อี. โรนัลด์ (J.E. Reynolds) การประเมินขนาดด้วยกรามซึ่งหลักฐานที่เหลือจากค้นพบครั้งนั้นคือ กระดูกกรามที่เก็บรักษาไว้ซึ่งผลการประเมินคาดว่าขนาดของฉลามที่พบใน พอท แฟร์รี่ น่าจะยาวประมาณ 5 เมตร ซึ่งสันนิษฐานว่าจะมีการบันทึกขนาดผิดพลาดในบันทึกต้นฉบับ
ถิ่นที่อยู่อาศัย
[แก้]ปลาฉลามขาวอาศัยอยู่ตามแถบทะเลชายฝั่งเกือบทั่วทุกมุมโลกที่มีอุณหภูมิระหว่าง 12–24 °C แต่จะอาศัยอยู่หนาแน่นบริเวณอ่าวประเทศออสเตรเลีย ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา แคลิฟอร์เนีย และตอนกลางของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่บริเวณหนึ่งที่หนาแน่นที่สุดอยู่ที่ ไดร์เออร์ ไอร์แลนด์ (Dyer Island, South Africa) ที่แอฟริกาใต้ทั้งยังสามารพบได้ในเขตร้อนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ปลาฉลามขาวเป็นปลาน้ำลึกแต่ที่บันทึกจำนวนส่วนมากจะมาจากแถบทะเลชายฝั่งบริเวณที่มีสิงโตทะเล แมวน้ำ และโลมาอาศัยอยู่ ได้มีความพยายามที่จะสำรวจในบริเวณน้ำลึก ถึงระดับ 1,280 เมตร ผลปรากฏว่าจะพบมากบริเวณผิวน้ำมากกว่า
พฤติกรรมการล่า
[แก้]ฉลามขาวเป็นสัตว์กินเนื้อ[9] เหยื่อที่มันเลือกจะล่ามี ปลา (รวมทั้งปลากระเบนและฉลามที่ตัวเล็กกว่า) โลมา แมวน้ำ สิงโตทะเล และเต่าทะเล ทั้งยังมีชื่อในเรื่องกินไม่เลือกแม้กระทั่งของที่กินไม่ได้[10] ฉลามขาวที่ยาวประมาณ 3.4 เมตร จะเลือกเหยื่อที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม ปีเตอร์ คลิมลี (Peter Klimley) ได้ทำการทดสอบโดยใช้เหยื่อเป็นซากแมวน้ำ หมู และแกะ ผลปรากฏว่าฉลามจู่โจมทุกครั้งแต่กลับปฏิเสธซากเหยื่อทั้ง 3 ชนิดที่ให้พลังงานน้อยกว่าและยังมีข้อถกเถียงว่าระหว่างปลาฉลามขาวกับวาฬเพชฌฆาตว่าตัวไหนจู่โจมมนุษย์มากกว่ากัน[11]
ฉลามขาวจะใช้สัมผัสพิเศษในการหาตำแหน่งเหยื่อจากระยะไกล และใช้สัมผัสในด้านการดมกลิ่น และการฟังเพื่อยืนยันตำแหน่งอีกที ในระยะประชิดฉลามจะใช้สายตาเป็นหลัก ฉลามขาวมีชื่อเสียงในเรื่องเป็นนักล่าที่โหดร้าย เป็นเครื่องจักรสังหาร และมีเทคนิคในการซุ่มโจมตี โดยจู่โจมเหยื่อจากด้านล่าง จากการศึกษาพฤติกรรมพบว่า ฉลามขาวจะจู่โจมบ่อยครั้งในช่วงตอนเช้าภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากพระอาทิตย์ขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการพบเห็นฉลามขาวน้อยลงหลังจากผ่านช่วงเวลานั้นไป อัตราความสำเร็จในการล่าช่วงเช้าอยู่ที่ 55% ในช่วง 2 ชั่วโมงแรกและตกลงเหลือ 40% ในช่วงต่อมา หลังจากพ้นช่วงเช้าไปแล้วก็จะหยุดล่า
เทคนิคการล่าของฉลามขาวแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของเหยื่อ[12] ในการล่าแมวน้ำฉลามขาวจะจู่โจมแมวน้ำจากด้านล่างด้วยความเร็วสูงเล็งตรงกลางลำตัวซึ่งความเร็วในการจู่โจมจะสูงจนกระทั่งฉลามกระโจนขึ้นเหนือผิวน้ำได้ และยังจะตามล่าต่อหลังจากที่จู่โจมครั้งแรกพลาดเป้าอีกด้วย สำหรับแมวน้ำบางชนิดปลาฉลามขาวจะใช้วิธีลากลงมาใต้น้ำจนกระทั่งแมวน้ำหมดแรงดิ้น สำหรับสิงโตทะเลจะใช้วิธีจู่โจมที่ลำตัว แล้วค่อย ๆ ลากมากิน ทั้งยังมีวิธีกัดส่วนสำคัญที่ใช้ในการเคลื่อนไหวแล้วรอให้เลือดไหลจนตายอีกด้วย ซึ่งวิธีนี้ใช้จู่โจมแมวน้ำบางชนิด ส่วนในการล่าโลมา ปลาฉลามขาวจะจู่โจมจากด้านบนหรือด้านล่างเพื่อหลบหลีกการตรวจจับด้วยโซนาร์ของโลมา
พฤติกรรมทั่วไป
[แก้]พฤติกรรมและรูปแบบสังคมของปลาฉลามขาวยังไม่เป็นที่แน่ชัด จากการทดลองล่าสุดพบว่า ปลาฉลามขาวเป็นสัตว์สังคมมากกว่าที่เราคาด ที่แอฟริกาใต้ ปลาฉลามขาวจะเหมือนมีลำดับชั้นทางสังคมโดยขึ้นอยู่กับขนาด เพศ และตำแหน่งจ่าฝูง ตัวเมียจะมีอำนาจมากกว่า ตัวผู้ตัวใหญ่กว่าจะมีอำนาจมากกว่าตัวเล็กกว่า เจ้าถิ่นจะมีอำนาจมากกว่าผู้มาเยือน เมื่อมีการล่าจะสั่งการกันอย่างเป็นระบบ และเมื่อมีความขัดแย้งก็จะมีวิธีการเพื่อหาทางออกแทนที่จะสู้กันถึงตาย ฉลามที่สู้กันเองพบเห็นน้อยมาก แต่บางครั้งก็พบฉลามตัวที่มีรอยกัดซึ่งเป็นขนาดรอยฟันฉลามตัวอื่น ทำให้สันนิษฐานได้ว่าปลาฉลามขาวเป็นสัตว์ที่หวงแหนอาณาเขต เมื่อมีผู้รุกรานก็จะทำการเตือนด้วยการกัดเบา ๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นเจ้าของอาณาเขต
ปลาฉลามขาวเป็นฉลามไม่กี่สายพันธุ์ที่พบว่าสามารถโผล่หัวขึ้นมาเหนือน้ำและมองหาเหยื่อได้และยังสามารถกระโจนขึ้นเหนือน้ำได้ (spy-hopping) มีข้อสงสัยว่าพฤติกรรมนี้อาจเป็นพฤติกรรมที่เรียนรู้มาจากมนุษย์เนื่องจากฉลามมีประสาทรับกลิ่นที่ไวมาก เมื่อปลาฉลามขาวพบกับนักท่องเที่ยวที่มีกลิ่นตัวแรง มันก็มีความอยากรู้อยากเห็นและแสดงความฉลาดของมันออกมาเมื่อสถานการณ์อำนวย
ฉลามขาวมีจมูกที่ไวต่อกลิ่นเลือดเป็นอย่างมาก เพราะฉลามขาวสามารถได้กลิ่นเลือดเพียง 1 หยดที่อยู่ไกลออกไปถึง 3 กิโลเมตร[13][14]
ปลาฉลามขาวกับมนุษย์
[แก้]เรื่องของปลาฉลามขาวจู่โจมมนุษย์ เป็นที่รู้จักกันมากผ่านทางภาพยนตร์ อย่างเช่นเรื่อง จอวซ์ (Jaws) ผลงานของสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) แสดงให้เห็นถึงภาพฉลามที่โหดร้าย กินคน และเป็นอันตรายอย่างยิ่งกับมนุษย์ให้ฝังในใจของผู้ชม[15][16][17] ซึ่งอันที่จริงแล้วมนุษย์ไม่ใช่เหยื่อของฉลามตามธรรมชาติ[18] ตัวอย่างเช่น ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีรายงานยืนยันฉลามจู่โจมมนุษย์เพียง 31 รายในรอบ 200 ปี และเป็นส่วนน้อยที่เสียชีวิต[19] กรณีที่เสียชีวิตจะเป็นกรณีที่ฉลามลองกัดดูมากกว่า เพราะอยากรู้อยากเห็น ปลาฉลามขาวยังลองกัดพวกสิ่งของอื่น ๆ เช่น ทุ่นลอยน้ำ และของที่มันไม่คุ้นเคยอื่น ๆ และบางครั้งก็จะใช้เพียงริมฝีปากกัดโดนนักเล่นเซิร์ฟเพราะอยากรู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่
ในกรณีอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นมาจากความเข้าใจผิด ที่จู่โจมนักเล่นเซิร์ฟจากด้านล่างเพราะเห็นเพียงเงาดูแล้วคล้ายกับแมวน้ำ หลายกรณีเกิดขึ้นในช่วงที่ทัศนะวิสัย ไม่เอื้ออำนวยกับการมองเห็นและในกรณีที่ประสาทสัมผัสด้านอื่นมีประสิทธิภาพลดลงหรืออาจเป็นเพราะว่าสายพันธุ์ของปลาฉลามขาวไม่ค่อยถูกปากกับรสชาติของมนุษย์ หรือรสชาติไม่ค่อยคุ้นเคย[20]
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์มีทฤษฎีที่ว่า ทำไมอัตราการจู่โจมมนุษย์ที่ร้ายแรงถึงต่ำ ไม่ใช่เพราะว่าปลาฉลามขาวไม่ชอบเนื้อมนุษย์ แต่เป็นเพราะมนุษย์สามารถหนีขึ้นจากน้ำได้หลังจากถูกจู่โจมครั้งแรก ในปี 1980 มีรายงานของ จอห์น แม็คคอสเกอร์ (John McCosker) บันทึกว่า นักดำน้ำที่ดำเดี่ยวคนหนึ่งถูกปลาฉลามขาวจู่โจมจนสูญเสียอวัยวะบางส่วนไปแต่ยังว่ายน้ำหนีมาจนได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ให้ขึ้นมาจากน้ำได้ก่อนที่จะถูกปลาฉลามขาวเผด็จศึก จึงสันนิษฐานได้ว่ารูปแบบการจู่โจมของปลาฉลามขาว คือ จู่โจมสร้างบาดแผลสาหัสก่อนในครั้งแรกแล้วรอให้เหยื่อหมดแรงหรือเสียเลือดจนตายแล้วค่อยเข้าไปกิน แต่มนุษย์สามารถขึ้นจากน้ำได้ (อาจหนีขึ้นเรือ) ด้วยความช่วยเหลือของคนอื่นซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่คุ้นเคยสำหรับเหยื่อของปลาฉลามขาวทำให้การจู่โจมครั้งนั้นล้มเหลวไป[21]
ข้อสันนิษฐานอีกประการก็คือ มนุษย์ไม่มีคุณค่าทางอาหารมากพอสำหรับปลาฉลามขาว เพราะว่าปลาฉลามขาวมีระบบการย่อยที่ค่อยข้างช้า และร่างกายของมนุษย์มีกระดูก กล้ามเนื้อและไขมันมากเกินไป ส่วนใหญ่ปลาฉลามขาวจะเป็นฝ่ายหมดความสนใจมนุษย์ที่ถูกโจมตีครั้งแรกก่อนเอง และเหตุที่มนุษย์สียชีวิตก็เพราะสูญเสียเลือดมากเกินไปจากการสูญเสียอวัยวะบางส่วนมากกว่าที่จะเป็นการสูญเสียอวัยวะสำคัญหรือถูกกินทั้งตัว[22]
นักชีววิทยาบางคนให้ความเห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากถูกปลาฉลามขาวจู่โจมในรอบ 100 ปี มีน้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่ถูกสุนัขกัดเสียอีก แต่ความเห็นนี้ยังไม่ค่อยถูกต้องนักเพราะว่ามนุษย์มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสุนัขมากกว่าปลาฉลามขาวจึงมีโอกาสมากกว่าเมื่อเทียบกับฉลาม มนุษย์ได้มีความพยายามที่จะประดิษฐ์ชุดป้องกันฉลามแต่ในปัจจุบันอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันปลาฉลามขาวคือ อิเล็กทรอนิค บีคอน (electronic beacon) ซึ่งนักประดาน้ำและนักเล่นเซิร์ฟจะใช้กัน โดยมันจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปรบกวนสัมผัสพิเศษของปลาฉลามขาว
ทัวร์ปลาฉลามขาว
[แก้]การดำน้ำในกรงกลายเป็นธุรกิจทัวร์ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ต้องการความตื่นเต้นแบบใหม่[23] และผู้ที่ต้องการศึกษาปลาฉลามขาวอย่างใกล้ชิด ผู้มาชมปลาฉลามขาวจะอยู่ในกรงที่มั่นคงแข็งแรงซึ่งจะเป็นจุดที่เห็นปลาฉลามขาวได้ชัดเจนที่สุดโดยที่ยังปลอดภัยอยู่[24] และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสัตว์นักล่าที่ตัวใหญ่ และดุร้ายอย่างปลาฉลามขาวย่อมเป็นสถานการณ์ที่ทำให้อดรีนาลีนฉีดพล่านไปทั่วร่างกาย เป็นประสบการณ์ที่น่าค้นหา ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นอย่างมากในแถบอ่าวของออสเตรเลียที่มีพบปลาฉลามขาวบ่อยครั้ง วิธีการล่อปลาฉลามขาว คือ การใช้เหยื่อที่ชุ่มไปด้วยเลือดไปเป็นเป้าล่อ เรียกความสนใจของปลาฉลามขาว ซึ่งการกระทำดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าจะทำให้ปลาฉลามขาวเริ่มคุ้นเคยกับมนุษย์มากขึ้น และจะมีพฤติกรรมเข้าหามนุษย์แลกกับอาหารซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่อันตราย มีการกล่าวหาว่า การใช้เหยื่อที่ชุ่มด้วยเลือดล่อให้ปลาฉลามขาวเข้ามาใกล้กรงอาจเป็นการยั่วโมโหให้ปลาฉลามขาวจู่โจมกรงจึงได้มีการเลี่ยงให้ใช้เหยื่อล่อให้ค่อนข้างห่างกรงออกไปเพื่อที่ปลาฉลามขาวจะได้ว่ายผ่านไปเฉย ๆ[25]
บริษัทที่ทำธุรกิจทัวร์ประเภทนี้กล่าวว่า พวกเขาต้องตกเป็นแพะรับบาปด้วยเหตุที่ผู้คนพยายามหาเหตุผลใส่ร้ายว่าทำไมปลาฉลามขาวจึงจู่โจมมนุษย์ และยังบอกอีกว่ามีอัตราคนถูกฟ้าผ่าตายมากกว่าอัตราคนที่ถูกฉลามเล่นงานเสียอีก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในประเด็นนี้อย่างจริงจัง และสรุปผลให้ได้ว่าการล่อฉลามแบบนี้จะทำให้พฤติกรรมของปลาฉลามขาวเปลี่ยนไปก่อนที่จะออกกฎหมายห้ามการกระทำเช่นนี้
ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคำแนะนำให้ผู้ที่ต้องการดำน้ำเพื่อชมปลาฉลามขาว ต้องทำการล่อในเขตที่ปลาฉลามขาวจะออกล่าเหยื่อเท่านั้น และต้องห่างจากเขตของคนทั่วไป ไม่ใช่ล่อให้ฉลามมาหาถึงที่ โดยฉลามที่มาจะเป็นเพียงฉลามที่ต้องการล่าซากที่เหลือเท่านั้น และเมื่อมันไม่ได้รับอาหารมันก็จะจากไปเอง และจะไม่คิดว่าการล่อแบบนี้จะทำให้มันได้อาหาร เพื่อตัดสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับปลาฉลามขาวออกจากกันซึ่งนโยบายนี้ได้ถูกนำเสนอไปที่ทางรัฐบาล
ธุรกิจทัวร์ปลาฉลามขาวทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เมื่อเทียบกับการทำประมงที่มีรายได้จำกัด กรามของปลาฉลามขาวคู่เดียวมีค่าถึง 20,000 ยูโร นับเป็นรายได้ที่สูงมากเมื่อเทียบกับการทำประมงต่อวัน อย่างไรก็ตามสัตว์ที่ตายแล้วก็ทำได้เพียงเศษเงินเมื่อเทียบกับสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทัวร์ปลาฉลามขาวเป็นธุรกิจที่มั่นคงกว่าและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ตัวอย่างของบริษัททัวร์บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเรืออยู่ในสังกัด 6 ลำ เรือแต่ละลำบรรทุกคนได้ราว 30 คนต่อวัน หากคนหนึ่งต้องจ่ายค่าชมราว ๆ 50 ยูโรถึง 150 ยูโร ดังนั้นในเวลา 1 วัน บรรดาฉลามที่มาแวะเวียนที่เรือนี้จะทำกำไรให้พวกเขามากถึง 9,000 ยูโรถึง 27,000 ยูโรต่อเรือแต่ละลำ
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Gottfried, M. D.; Fordyce, R. E. (2001). "An associated specimen of Carcharodon angustidens (Chondrichthyes, Lamnidae) from the Late Oligocene of New Zealand, with comments on Carcharodon interrelationships". Journal of Vertebrate Paleontology. 21 (4): 730–739. doi:10.1671/0272-4634(2001)021[0730:AASOCA]2.0.CO;2.
- ↑ Fergusson, I., Compagno, L.; Marks, M. (2000). "Carcharodon carcharias in IUCN 2012". IUCN Red List of Threatened Species, Vers. 2009.1. International Union for Conservation of Nature and Natural Resources. สืบค้นเมื่อ 28 October 2009.
{{cite web}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) (Database entry includes justification for why this species is vulnerable) - ↑ Knickle, Craig. "Tiger Shark". Florida Museum of Natural History Ichthyology Department. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-07. สืบค้นเมื่อ 2 July 2009.
- ↑ หน้า 76-92, ฉลามขาวยักษ์จอมลี้ลับ โดย เอริก แวนซ์. นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย: ฉบับที่ 180 กรกฎาคม 2559
- ↑ "Great White Shark Dimensions & Drawings | Dimensions.com". www.dimensions.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Great white sharks". Animals (ภาษาอังกฤษ). 2010-09-10.
- ↑ "white shark | Size, Diet, Habitat, Teeth, Attacks, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ BlueCadet (2012-12-07). "Fun Facts About Great White Sharks". Oceana USA (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "ฉลาม…นักล่าผู้รักษาสมดุลแห่งท้องทะเล". Greenpeace Thailand (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ https://seaworld.org/animals/all-about/sharks-and-rays/behavior/
- ↑ "Shark Behaviour Facts - Research & Characteristics" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "StackPath". www.tourismtattler.com.
- ↑ "Shark sensory facts". Save Our Sharks (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2021-06-24.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ Contributor, D. T. S. (2021-01-31). "How Far Away Can Sharks Smell Blood". DOWN TO SCUBA (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Ebert, Roger. "Jaws movie review & film summary (1975) | Roger Ebert". rogerebert.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Haden, Jeff (2020-08-18). "Steven Spielberg's Making of 'Jaws' Provides a Master Class in Effective (and Visionary) Leadership". Inc.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Jaws (1975) (ภาษาอังกฤษ), สืบค้นเมื่อ 2021-06-24
- ↑ "ธรรมชาติมหัศจรรย์ ฟิสิกส์ราชมงคล". www.rmutphysics.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-18. สืบค้นเมื่อ 2021-06-24.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "'มนุษย์' กับ 'ฉลาม' ความเชื่อ ความกลัว และความจริง". dailynews. 2015-07-26.
- ↑ "นี่คือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ว่าเหตุใดเราจึงกลัว ฉลาม - National Geographic Thailand". ngthai.com.
- ↑ prachachat (2018-04-17). "ทะเลคือบ้านของฉลาม! "ดร.ธรณ์" ชี้ไม่ได้ตั้งใจทำร้ายคน". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ "รายงานชิ้นใหม่ เกี่ยวกับการจู่โจมของฉลามทั่วโลก". VOA.
- ↑ Charters, Captain Adventure Bay. "Shark Cage Diving with Great White Sharks. Port Lincoln, South Australia". adventurebaycharters.com.au (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Great White Shark Tours". Cape Town Travel (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Shark Cage Diving". Shark Cage Diving with Great White Shark Tours (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Carcharodon carcharias ที่วิกิสปีชีส์