วัดแจงร้อน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดแจงร้อน
วัดแจงร้อน
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 2 ซอยราษฎร์บูรณะ 37 ถนนราษฎร์บูรณะ แขวงราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร 10140
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดแจงร้อน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร บริเวณปากคลองแจงร้อน

ประวัติ[แก้]

สันนิษฐานว่าสร้างวัดขึ้นราวปี พ.ศ. 2300 ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง เดิมมีนามว่า วัดพารา บ้างก็ว่าชื่อ วัดหงษ์ร่อน มีเรื่องเล่าว่าขณะกำลังสร้างวัด มีหงส์ตัวหนึ่งบินร่อนมาอยู่เหนือบริเวณวัด ผู้ที่เคยเห็นอุโบสถหลังเก่า เล่าว่ามีเสาคู่หนึ่งด้านหน้า ยอดเสาหารทำเป็นรูปหงส์กางปีกทั้งสองเสา แต่อุโบสถได้ถูกรื้อไปในปี พ.ศ. 2461 ส่วนชื่อ แจงร้อน ไม่มีใครทราบว่าหมายถึงอะไร บ้างว่าเพี้ยนมาจาก แจงร้อย บ้าง แร้งร่อน บ้าง วัดแจงร้อนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2461[1]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

พระอุโบสถของวัดแจงร้อนปัจจุบัน อาจจะเป็นพระอุโบสถหลังที่ 4 หรือ 5 ที่ได้ปลูกสร้างขึ้นมาบนที่เดียวกัน พระอุโบสถปัจจุบันสร้างสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2466 โดยมี พระครูประสิทธิ์สิกขการ (หลวงพ่อจวน) เป็นผู้ดำริสร้างขึ้น อุโบสถมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 23 เมตร หันหน้าลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันออก

วิหารก่ออิฐถือปูนกว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร ผนังก่อทึบไม่มีหน้าต่าง เข้าใจว่าวิหารนี้สร้างคู่กับพระอุโบสถหลังเดิมที่ถูกรื้อไป เมื่อ พ.ศ. 2461 ลวดลายภายในกรอบหน้าบัน และบนกรอบซุ้มประตู เป็นลวดลายปูนปั้นที่งดงาม ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อหินแดง พระพุทธรูปปางสมาธิทำมาจากศิลาแลงสีแดง[2]

วิหารเป็นแบบพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนศาลาการเปรียญ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 ที่หน้าบันทำเป็นลายปูนปั้นหมูป่ากำลังโผล่หน้าออกมาจากปากถ้ำโดยประดับด้วยกระจกสีเป็นรูปป่า[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติและความสำคัญของวัดแจงร้อน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-27. สืบค้นเมื่อ 2020-08-03.
  2. "วัดแจงร้อน". ฐานข้อมูลท้องถิ่นธนบุรี.[ลิงก์เสีย]
  3. "ประวัติวัดแจงร้อน".