การต่อต้านยิว
ส่วนหนึ่งของ |
ศาสนายูดาห์ |
---|
การต่อต้านยิว (อังกฤษ: Antisemitism หรือ Anti-semitism หรือ anti-Semitism หรือ Judeophobia) เป็นคำที่ใช้ในการบรรยายความเป็นอคติ (prejudice) ต่อหรือความรู้สึกต่อต้านชาวยิว ที่มักจะมาจากความมีอคติต่อศาสนา, วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ของชาวยิว
แม้ว่าที่มาของคำว่า “ลัทธิความเป็นอคติต่อเซมิติค” ในภาษาอังกฤษ “Antisemitism” ตามอักขระแล้วจะหมายถึงความเป็นอคติต่อชนเซมิติค (Semitic peoples) แต่โดยทั่วไปคำนี้จะหมายถึงเฉพาะความเป็นอคติต่อชาวยิวตั้งแต่เริ่มใช้กันมา[1][2]
ความเป็นอคติต่อชาวยิวอาจจะออกมาในรูปแบบหลายอย่างตั้งแต่การแสดงการต่อต้านหรือความชิงชังอย่างไม่มีเหตุผลอันเหมาะสมต่อชาวยิวเพียงคนเดียวที่แสดงออกโดยการแสดงความเกลียดชังหรือการเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงการรวมตัวของกลุ่มชนที่บางครั้งก็อาจจะถึงระดับรัฐ, ตำรวจ หรือทหารในการสร้างความเสียหายและทำร้าย (pogroms) กลุ่มชนชาวยิวทั้งกลุ่ม
เหตุการณ์การไล่ทำร้ายและสังหาร (persecution) ที่เป็นที่รู้จักกันก็รวมทั้งสงครามครูเสดครั้งที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1096, การขับไล่ชาวยิวออกจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1290, การไต่สวนศรัทธาของสเปน (Spanish Inquisition), การขับไล่ชาวยิวออกจากสเปน (Alhambra decree) ในปี ค.ศ. 1492, การขับไล่ชาวยิวออกจากโปรตุเกส ในปี ค.ศ. 1497, โพกรมต่างๆในประวัติศาสตร์ และที่สำคัญที่สุดคือโครงการการล้างชาติพันธุ์ภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในนาซีเยอรมนี
ลักษณะ
[แก้]นักประวัติศาสตร์โรมันคาทอลิกเอ็ดเวิร์ด แฟลนเนอรี (Edward Flannery) แบ่งลักษณะของความเป็นอคติต่อชาวยิวเป็นสี่อย่าง:[3]
- ความอคติทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ เช่นโดยซิเซโรและชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh)
- ความอคติทางศาสนาที่บางครั้งก็เรียกว่า “ลัทธิการต่อต้านศาสนายูดาย” (anti-Judaism)
- ความอคติในความเป็นชาติของชาวยิว เช่นโดยวอลแตร์และนักคิดของยุคเรืองปัญญาคนอื่นๆ ผู้กล่าวโจมตีชาวยิวตรงที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ไม่เหมือนกลุ่มชนอื่นเช่น ในเรื่องของความโลภและความจองหอง และการรักษาวัฒนธรรมอย่างมั่นคง เช่นกฎแคชรูท (kashrut) ที่เกี่ยวกับการรักษากฎเกี่ยวกับอาหารการกิน และการรักษาประเพณีวันชาบัต (Shabbat)
- ความอคติทางชาติพันธุ์ต่อชาวยิว (racial antisemitism) เช่นในการพยายามทำลายล้างชาติพันธุ์ให้หมดสิ้นในนาซีเยอรมนีภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ในคริสต์ทศวรรษ 1990 นักเขียนบางคนก็อ้างว่าพบหัวข้อความอคติใหม่อีกลักษณะหนึ่งที่ออกมาในรูปของความเป็นอคติที่มาจากทั้งนักการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายจัด, ฝ่ายขวาจัด และฝ่ายอิสลามหัวรุนแรงพร้อมๆ กัน ซึ่งความอคติจากกลุ่มนี้เน้นความเป็นปฏิปักษ์ต่อไซออนนิสม์ และการตั้งถิ่นฐานในมาตุภูมิของชาวยิวในประเทศอิสราเอล[4]
ที่มา
[แก้]ที่มาของคำว่า “ความเป็นอคติต่อชาวยิว” ในภาษาอังกฤษ “antisemitic” (antisemitisch) อาจจะใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1860 โดยผู้คงแก่เรียนชาวออสเตรียิวมอริทซ์ ชไตน์ชไนเดอร์ (Moritz Steinschneider) ในวลี “antisemitic prejudices” (เยอรมัน: "antisemitische Vorurteile") (ความมีอคติต่อชาวเซมิติค) [5] ชไตน์ชไนเดอร์ใช้วลีนี้ในการบรรยายความคิดของเอิร์นเนสต์ เรนัน (Ernest Renan) ที่กล่าวถึงสาเหตุที่ว่า “ชนเซมิติค” มีลักษณะต่ำกว่า “ชนอารยัน” ทฤษฎีเคลือบแคลงทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์, วัฒนธรรม และ “ความก้าวหน้า” เหล่านี้แพร่หลายไปทั่งยุโรปในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะเมื่อนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมชาวปรัสเซียไฮน์ริค ฟอน ไทรท์สเคอ (Heinrich von Treitschke) เผยแพร่ปรัชญาการดูถูกชาติพันธุ์อย่างกว้างขวาง สำหรับไทรท์สเคอแล้วคำว่า “เซมิติค” ก็คือไวพจน์ของคำว่า “ชนยิว”
ในปี ค.ศ. 1873 นักหนังสือพิมพ์ชาวเยอรมันวิลเฮล์ม มารร์ (Wilhelm Marr) พิมพ์จุลสารชื่อ “ชัยชนะของของความเป็นยิวต่อของความเป็นเยอรมัน. ข้อสังเกตจากความเห็นนอกกรอบความคิดทางศาสนา” (“Der Sieg des Judenthums über das Germanenthum. Vom nicht confessionellen Standpunkt aus betrachtet”) ที่มารร์ใช้คำว่า “ชนเซมิติค” (Semitismus) และคำว่า “ชนยิว” แลกเปลี่ยนกัน แม้ว่ามารร์จะไม่ได้ใช้คำว่า “Antisemitismus” หรือ “ความมีอคติต่อชนเซมิติค” ในจุลสาร การใช้คำหลังนี้ก็ตามมาโดยธรรมชาติจากคำว่า “Semitismus” ที่เป็นการแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อชนยิวในฐานะกลุ่มชน หรือความเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นยิว หรือความเป็นปฏิปักษ์ต่อปรัชญาของความเป็นยิว ที่มารร์เห็นว่าเป็นสิ่งที่แทรกซึมเข้ามาในวัฒนธรรมเยอรมัน[6] ในจุลสารฉบับต่อมา “ทางสู่ชัยชนะของความเป็นเยอรมันต่อความเป็นยิว” (The Way to Victory of the Germanic Spirit over the Jewish Spirit) ที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1880 มารร์ขยายความคิดเพิ่มขึ้นและเริ่มใช้คำภาษาเยอรมัน “Antisemitismus” (ความมีอคติต่อชาวเซมิติค) ที่มาจากคำว่า “Semitismus” ที่ใช้ในจุลสารฉบับแรก
จุลสารกลายมาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ในปีเดียวกันมารร์ก็ก่อตั้ง “กลุ่มสันนิบาตผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อเซมิติค” (Antisemiten-Liga) ซึ่งเป็นองค์การเยอรมันองค์การแรกที่มีจุดประสงค์ในการต่อต้านสิ่งที่กลุ่มเห็นว่าเป็นอันตรายต่อประเทศเยอรมนีและวัฒนธรรมเยอรมันที่มาจากชาวยิวและอิทธิพลของชาวยิว และสนับสนุนโครงการโยกย้ายประชากร (Population transfer) ด้วยกำลังออกจากเยอรมนี
เท่าที่ทราบคำว่า “ความมีอคติต่อชาวเซมิติค” เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1881 เมื่อมารร์พิมพ์ “Zwanglose Antisemitische Hefte” และวิลเฮล์ม เชอร์เรอร์ ใช้คำว่า “Antisemiten” ใน “สิ่งพิมพ์เสรีใหม่” (Neue Freie Presse) ฉบับเดือนมกราคม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Antisemitism has never anywhere been concerned with anyone but Jews." Bernard Lewis. "Semites and Antisemites" เก็บถาวร 2011-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Islam in History: Ideas, Men and Events in the Middle East, The Library Press, 1973.
- ↑ See, for example:
- "Anti-Semitism", Encyclopaedia Britannica, 2006.
- Paul Johnson. A History of the Jews, HarperPerennial 1988, p 133 ff.
- Bernard Lewis. "The New Anti-Semitism" เก็บถาวร 2011-09-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The American Scholar, Volume 75 No. 1, Winter 2006, pp. 25-36. The paper is based on a lecture delivered at Brandeis University on March 24, 2004.
- ↑ Flannery, Edward H. The Anguish of the Jews: Twenty-Three Centuries of Antisemitism, Stimulus Books, first published 1965, this edition 2004.
- ↑ * Phyllis Chesler. The New Antisemitism: The Current Crisis and What We Must Do About It, Jossey-Bass, 2003, pp. 158-159, 181
- Warren Kinsella. The New antisemitism เก็บถาวร 2007-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, accessed March 5, 2006
- "Jews predict record level of hate attacks: Militant Islamic media accused of stirring up new wave of antisemitism", The Guardian, August 8, 2004.
- Endelman, Todd M. "Antisemitism in Western Europe Today" in Contemporary Antisemitism: Canada and the World. University of Toronto Press, 2005, pp. 65-79
- Matas, David. Aftershock: Anti-Zionism and antisemitism, p.31. Dundurn Press, 2005.
- ↑ In: Alex Bein. The Jewish Question: Biography of a World Problem. Fairleigh Dickinson University Press, 1990, Page 594. ISBN 0-8386-3252-1
- ↑ Wilhelm Marr. Sieg des Judenthums über das Germanenthum. Vom nicht confessionellen Standpunkt aus betrachtet. Rudolph Costenoble. 1879, 8th edition. Archive.org