เมตตานิสังสสุตตปาฐะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เมตตานิสังสสุตตปาฐะ หรือ เมตตานิสังสสุตตปาโฐ เป็นพุทธพจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าด้วยอานิสงส์ของการเจริญเมตตา ซึ่งได้รับการบันทึกไว้ในพระสุตตันตปิฎก และในเวลาต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในบทสวดมนต์ ที่ชาวพุทธนิยมสวดสาธยาย ได้รับการรวบรวมไว้ในภาณวาร หรือหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง

ที่มา[แก้]

เมตตานิสังสสุตตปาฐะ เป็นการรวบรวมเอาเนื้อหาจากเมตตสูตร ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก และจากเมตตสูตร ในทสก-เอกาทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก โดยเมตตสูตร ในอัฏฐกนิบาต กล่าวถึงอานิสงส์ของเมตตา 8 ประการ ขณะที่เมตตสูตรในทสก-เอกาทสกนิบาต กล่าวถึงอานิสงส์ 11 ประการ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาเกี่ยวกับอานิสงส์ตรงกันทั้ง 2 พระสูตร เพียงแต่ในพระสูตรหลังมีการเพิ่มอานิสงส์เข้ามาอีก 3 ประการ นอกจากนี้ เมตตสูตร ในอัฏฐกนิบาต ยังได้มีการเพิ่มคาถาเข้ามาว่าด้วยคุณแห่งการเจริญเมตตา ว่าไม่ยังให้ผู้ันั้นก่อเวรกับใคร เป็นต้น

ทั้งนี้ ในเมตตสูตรบทหลังซึ่งปรากฏอานิสงส์ 11 ประการ มิได้ระบุถึงสถานที่แสดงพระสูตรไว้ แต่ในเมตตสูตรบทแรกได้ระบุไว้ว่า สมเด็จ "พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี" แล้วทรงตรัสพระสูตรนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย [1] ซึ่งเมื่อนำพระสูตรทั้ง 2 มารวมกันเป็นเมตตานิสังสสุตตปาฐะ เนื้อความจึงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น กล่าวคือ เมตตสูตรแรกปรากฎสถานที่แสดง แต่อานิสงส์มีเพียง 8 ประการ ขณะที่เมตตสูตรที่ 2 ไม่ปรากฎที่มา แต่มีเนื้อหากล่าวถึงอานิสงส์ 11 ประการ ขณะที่เมตตานิสังสสุตตปาฐะ ปรากฎสถานที่แสดงพระสูตรจากเมตตสูตรแรก และอานิสงส์ 11 ประการจากเมตตสูตรหลัง

เนื้อหา[แก้]

เนื้อหาของเมตตานิสังสสุตตปาฐะ (รวมถึงเมตตสูตรทั้ง 2 สูตร) กล่าวถึงอานิสงส์ของการเจริญเมตตา หรือเมตตาเจโตวิมุติ ว่ามีทั้งสิ้น 11 ประการ กล่าวคือ

  1. หลับก็เป็นสุข [2] [3]
  2. ตื่นก็เป็นสุข [4] [5]
  3. ไม่ฝันเห็นสิ่งลามก [6] [7]
  4. เป็นที่รักของมนุษย์ [8] [9]
  5. เป็นที่รักของอมนุษย์ [10] [11]
  6. เทวดาย่อมรักษา [12] [13]
  7. ไฟ ยาพิษ หรือศาตราไม่กล้ำกรายผู้นั้น [14] [15]
  8. จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว [16]
  9. สีหน้าย่อมผ่องใส [17]
  10. เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ [18]
  11. เมื่อแทงตลอดคุณธรรมที่สูงขึ้นไปยังไม่ได้ ย่อมไปบังเกิดในพรหมโลก [19] [20]

จากนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสย้ำเตือนว่า "เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติ อันบุคคลเสพแล้วเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับ สั่งสมดีแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ 11 ประการนี้แล" [21]

ในพระสูตรทั้ง 2 จบลงเพียงเท่านี้ แต่ในเมตตานิสังสสุตตปาฐะได้มีสร้อยท้ายต่อไปว่า "อิทมโวจ ภควา อตฺตมนา เต ภิกขุ ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทนฺติ" หรือ "พระผู้มีพระภาคเจ้า, ได้ตรัสธรรมปริยายอันนี้แล้ว, พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น, ก็มีใจยินดีพอใจในภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า, พระองค์นั้น ด้วยประการฉะนี้แล" [22]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม 4 หน้า 292
  2. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม 4 หน้า 292
  3. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  4. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม 4 หน้า 292
  5. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  6. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม 4 หน้า 292
  7. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  8. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม 4 หน้า 292
  9. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  10. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม 4 หน้า 292
  11. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  12. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม 4 หน้า 292
  13. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  14. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม 4 หน้า 292
  15. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  16. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  17. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  18. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  19. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม 4 หน้า 292
  20. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  21. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5 หน้า 551
  22. สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว). 2538. หนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง. กรุงเทพฯ. มหามกุฏราชวิทยาลัย. หน้า 120

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม 4
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม 5
  • สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว). 2538. หนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง. กรุงเทพฯ. มหามกุฏราชวิทยาลัย.