อิสิคิลิสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อิสิคิลิสูตรเป็นพระสูตรซึ่งว่าด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้า และว่าด้วยเรื่องที่มาที่ไปของภูเขาอิสิคิลิ ในเขตพระนครราชคฤห์ ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ และด้วยความที่เนื้อหาพระสูตรมีการเอ่ยถึงพระนามของพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นจำนวนมาก รวมถึงคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น จึงถือกันว่าเป็นพระสูตรอันมรมงคล มีความศักดิ์สิทธิ์ จึงนำมารวบรวมไว้ในภาณวารหรือบทสวดมนต์หลวง โดยจัดอยู่ในภาณวารที่ 3 ร่วมกับคิริมานันทสุตตปาฐะ หรือคิริมานนทสูตร

ที่มา[แก้]

พระผู้มีพระภาคเจ้าปรารภพระสูตรนี้ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลิ เขตพระนครราชคฤห์ ซึ่งภูเขาอิสิคิลิเป็นหนึ่งในภูเขาทั้ง 5 ลูกที่รายล้อมกรุงราชคฤห์เป็นเสมือนหนึ่งปราการธรรมชาติ ที่ด้านหนึ่งของภูเขาอิสิคิลิมีศิลาสีดำเรียกว่ากาฬสิลา เป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงโปรดประทับพร้อมกับหมู่สงฆ์ นอกจากนี้ ภูเขาอิสิคิลิ ยังเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ปรากฎในพระไตรปิฎกหลายเหตุการณ์ เช่น เป็นสถานที่ที่พระทัพพมัลลบุตรเถระจัดเสนาสนะรับรองพระภิกษุทั้งหลาย จนท่านได้รับการย่องให้เป็นเอตทัคคะในทางผู้จัดเสนาสนะ และยังเป็นสถานที่ที่พระวักกลิเกิดความน้อยใจจนคิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงปรารภว่า พระพุทธเจ้าสามารถอธิษฐานจนมีพระชนม์ชีพยืนยาวถึงหนึ่งกัลป์ได้ หากมีผู้ปรารถนา และอาราธนาให้พระองค์ดำรงอยู่ถึงเพียงนั้น แต่พระอานนท์มิได้เฉลียวใจอาราธนาพระองค์ [1]

เนื้อหา[แก้]

เนื้อหาของอิสิคิลิสูตรสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกสมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงปรารภถึงที่มาและนามของภูเขาทั้งหลายที่รายล้อมกรุงราชคฤห์อันได้แก่ภูเขาเวภาระ ภูเขาปัณฑวะ ภูเขาเวปุลละ นภูเขาคิชฌกูฏ และภูเขาอิสิคิลิ โดยตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ภูเขาเหล่านี้ ยกเว้นภูเขาอิสิคิลิล้วนเคยมีชื่อเรียกขาน หรือนามบัญญัคติเป็นอื่นทั้งสิ้น ดังความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลิ เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ เหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาเราทั้งหลายนี่ พวกเธอแลเห็นภูเขาเวภาระนั่นหรือไม่ ฯ

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า เห็น พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภูเขาเวภาระนั่นแล มีชื่อเป็นอย่างหนึ่ง มีบัญญัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอแลเห็นภูเขาปัณฑวะนั่นหรือไม่ ฯ

ภิ. เห็น พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภูเขาปัณฑวะนั่นแล ก็มีชื่อเป็นอย่างหนึ่งมีบัญญัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอแลเห็นภูเขาเวปุลละนั่นหรือไม่ ฯ

ภิ. เห็น พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภูเขาเวปุลละนั่นแล ก็มีชื่อเป็นอย่างหนึ่งมีบัญญัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอแลเห็นภูเขาคิชฌกูฏนั่นหรือไม่ ฯ

ภิ. เห็น พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ภูเขาคิชฌกูฏนั่นแล ก็มีชื่อเป็นอย่างหนึ่งมีบัญญัติเป็นอีกอย่างหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอแลเห็นภูเขาอิสิคิลินี้หรือไม่ ฯ

ภิ. เห็น พระพุทธเจ้าข้า ฯ[2]

จากนั้นสมเด็จพระพระผู้มีพระภาคตรัสถึงมูลเหตุอันทำให้ภูเขาอิสิคิลิมีนามดังนี้ คืออิสิคิลิ กล่าวคือ ภูเขาซึ่งกลืนกินฤาษี (อิสี คิละติ คิ - อิสิคิลิ)[3] ขณะที่ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่พระองค์ปรารภเรื่องภูเขาอิสิคิลิมิใช้ด้วยพระองค์ปรารถนาจะเล่าขานเร่องภูเขา แต่ทรงปรารถนาจะตรัสเล่าเร่ืองราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า ณ ภูเขาแห่งนี้ โดยทรงเล่าไว้ดังนี้ว่า

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่ภูเขาอิสิคิลินี้แล มีชื่อก็เช่นนี้ มีบัญญัติก็เช่นนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระปัจเจกพุทธ ๕๐๐ องค์ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานาน พระปัจเจกพุทธเหล่านั้น เมื่อกำลังเข้าไปสู่ภูเขานี้ คนแลเห็น แต่ท่านเข้าไปแล้ว คนไม่แลเห็น มนุษย์ทั้งหลายเห็นเหตุดังนี้นั้น จึงพูดกันอย่างนี้ว่า ภูเขาลูกนี้ กลืนกินฤาษีเหล่านี้ ชื่อว่า อิสิคิลิ นี้แลจึงได้เกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักบอก จักระบุ จักแสดงชื่อของพระปัจเจกพุทธทั้งหลาย พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ [4]

จากนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเอ่ยพระนามของพระปัจเจกพุทธเจ้า ทั้งหลาย ซึ่งเคยประทับในภูเขาอิสิคิลิ ดังเนื้อความในพระไตรปิฎกก ว่าดังนี้

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระปัจเจกสัมพุทธชื่ออริฏฐะ ๑ ชื่ออุปริฏฐะ ๑ ชื่อตครสิขี ๑ ชื่อยสัสสี ๑ ชื่อสุทัสสนะ ๑ ชื่อปิยทัสสี ๑ ชื่อคันธาระ ๑ ชื่อปิณโฑละ ๑ ชื่ออุปาสภะ ๑ ชื่อนิถะ ๑ ชื่อตถะ ๑ ชื่อสุตวา ๑ ชื่อภาวิตัตตะ ๑ ได้อาศัยอยู่ที่ภูเขาอิสิคิลินี้มานาน [5]

เธอทั้งหลาย จงฟังเราระบุชื่อของท่านที่มีธรรมเป็นสาระกว่าสัตว์ ไม่มีทุกข์ หมดความอยาก ได้บรรลุโพธิญาณอย่างดี เฉพาะตนผู้เดียว ผู้ปราศจากลูกศร สูงกว่านรชน ต่อไปเถิด พระปัจเจกพุทธ ผู้มีตัณหาเครื่องนำไปในภพสิ้นแล้ว คือ อริฏฐพุทธ ๑ อุปริฏฐพุทธ ๑ ตครสิขีพุทธ ๑ ยสัสสีพุทธ ๑ สุทัสสนพุทธ ๑ ปิยทัสสีพุทธ ๑ คันธารพุทธ ๑ ปิณโฑลพุทธ ๑ อุปาสภพุทธ ๑ นิถพุทธ ๑ ตถพุทธ ๑ สุตวาพุทธ ๑ ภาวิตัตตพุทธ ๑ สุมภพุทธ ๑ สุภพุทธ ๑ เมถุลพุทธ ๑ อัฏฐมพุทธ ๑ อัสสุเมฆพุทธ ๑ อนิฆพุทธ ๑ สุทาฐพุทธ ๑ พระปัจเจกพุทธ ผู้มีอานุภาพมาก คือ หิงคูพุทธ ๑ หิงคพุทธ ๑ พระมุนีชื่อชาลีมี ๒ องค์ และอัฏฐกพุทธ ๑ โกสัลลพุทธ ๑ อถพุทธ ๑ สุพาหุพุทธ ๑ อุปเนมิพุทธ ๑ เนมิพุทธ ๑ สันตจิตตพุทธ ๑ สัจจพุทธ ๑ ตถพุทธ ๑ วิรชพุทธ ๑ ปัณฑิตพุทธ ๑ กาฬพุทธ ๑ อุปกาฬพุทธ ๑ วิชิตพุทธ ๑ ชิตพุทธ ๑ อังคพุทธ ๑ ปังคพุทธ ๑ คุติจฉิตพุทธ ๑ ปัสสีพุทธ ๑ ได้ละอุปธิอันเป็นมูลแห่งทุกข์แล้ว อปราชิตพุทธได้ชนะมารและพลมาร สัตถาพุทธ ๑ ปวัตตาพุทธ ๑ สรภังคพุทธ ๑ โลมหังสพุทธ ๑ อุจจังคมายพุทธ ๑ อสิตพุทธ ๑ อนาสวพุทธ ๑ มโนมยพุทธ ๑ พันธุมาพุทธ ๑ ผู้ตัดมานะได้ ตทาธิมุตพุทธ ๑ วิมลพุทธ ๑ เกตุมาพุทธ ๑ เกตุมพราคพุทธ ๑ มาตังคพุทธ ๑ อริยพุทธ ๑ อัจจุตพุทธ ๑ อัจจุตคามพยามกพุทธ ๑ สุมังคลพุทธ ๑ ทัพพิลพุทธ ๑ สุปติฏฐิตพุทธ ๑ อสัยหพุทธ ๑ เขมาภิรตพุทธ ๑ โสรตพุทธ ๑ ทุรันนยพุทธ ๑ สังฆพุทธ ๑ อุชชยพุทธ ๑ พระมุนี ชื่อสัยห อีกองค์หนึ่งผู้มีความเพียรไม่ทราม พระพุทธ ชื่ออานันทะ ชื่อนันทะ ชื่ออุปนันทะ ๑๒ องค์ และภารทวาชพุทธ ผู้ทรงร่างกายในภพสุดท้าย โพธิพุทธ ๑ มหานามพุทธ ๑ อุตตรพุทธ ๑ เกสีพุทธ ๑ สิขีพุทธ ๑ สุนทรพุทธ ๑ ภารทวาชพุทธ ๑ ติสสพุทธ ๑ อุปติสสพุทธ ๑ ผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกในภพได้ อุปสีทรีพุทธ และสีทรีพุทธ ผู้ตัดตัณหาได้ มังคลพุทธ เป็นผู้ปราศจากราคะ อุสภพุทธ ผู้ตัดข่ายอันเป็นมูลแห่งทุกข์ อุปณีตพุทธ ได้บรรลุบทอันสงบ อุโปสถพุทธ ๑ สุนทรพุทธ ๑ สัจจนามพุทธ ๑ เชตพุทธ ๑ ชยันตพุทธ ๑ ปทุมพุทธ ๑ อุปปลพุทธ ๑ ปทุมุตตรพุทธ ๑ รักขิตพุทธ ๑ ปัพพตพุทธ ๑ มานัตถัทธพุทธ ๑ โสภิตพุทธ ๑ วีตราคพุทธ ๑ กัณหพุทธ ๑ ผู้มีจิตพ้นวิเศษดีแล้ว พระปัจเจกพุทธ ผู้มีอานุภาพมากเหล่านี้ และอื่นๆ มีตัณหาเครื่องนำไปในภพสิ้นแล้ว เธอทั้งหลายจง ไหว้พระปัจเจกพุทธเหล่านั้น ผู้ล่วงเครื่องข้องทั้งปวงได้แล้ว ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ผู้มีคุณนับไม่ถ้วน ผู้ปรินิพพานแล้วเถิด ฯ [6]

อธิบายพระสูตร[แก้]

ในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ได้อธิบายที่มาของพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธฤาษีไว้เพิ่มเติมว่า "ในอดีตกาล เมื่อพระตถาคตยังไม่อุบัติขึ้น กุลธิดาผู้หนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่งชานเมืองพาราณสี เฝ้านาอยู่ ได้ถวายดอกบัวดอกหนึ่งกับข้าวตอก 500 ดอกแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ตั้งความปรารถนาให้ได้บุตร 500 คน. ก็พอดีขณะนั้น พรานล่าเนื้อ 500 คนได้ถวายเนื้อ (ย่าง) อันอร่อยแล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้พวกเราได้เป็นบุตรของนาง"

"นางดำรงตลอดกาลกำหนดชั่วอายุแล้วไปเกิดในเทวโลก จุติจากเทวโลกมาเกิดในกลีบดอกบัวในชาตสระ (สระที่มีอยู่เองโดยธรรมชาติ). พระดาบสองค์หนึ่งไปพบเข้าก็เลี้ยงไว้. เมื่อนางกำลังเที่ยวเล่นนั่นแหละ ดอกบัวทั้งหลายผุดขึ้นจากพื้นดินทุกๆ ย่างเท้า. พรานป่าคนหนึ่งพบเข้า จึงกราบทูลแด่พระเจ้าพาราณสี. พระราชาทรงนำนางนั้นมาแต่งตั้งให้เป็นอัครมเหสี"

"พระนางทรงครรภ์. มหาปทุมกุมารอยู่ในพระครรภ์พระมารดา ส่วนกุมารนอกนั้นอาศัยครรภ์มลทินอุบัติขึ้น. กุมารเหล่านั้นเจริญวัย ได้เล่นในสระบัวในอุทยาน นั่งที่ดอกบัวคนละดอก เริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อม ทำปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้น"

คาถาพยากรณ์ของท่านได้มีดังนี้ว่า

ดอกบัวในกอบัวเกิดขึ้นในสระบานแล้ว................สโรรุหํ ปทุมปลาสปตฺตชํ

ถูกหมู่แมลงภู่เคล้าคลึง ก็เข้าถึงความ................สุปุปฺผิตํ ภมรคณานุจิณฺณํ

ร่วงโรย บุคคลรู้แจ้งข้อนี้แล้ว......................อนิจฺจตายุปคตํ วิทิตฺวา

พึงเป็นผู้ เดียว เที่ยวไปเหมือนนอแรด................เอโก จเร ขคฺควิสาณกโปฺป’’ติฯ[7] [8]

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นได้อยู่ในภูเขานั้นมาแต่กาลครั้งนั้น. และแต่ครั้งนั้นมา ภูเขานั้นจึงได้เกิดชื่อว่า อิสิคิลิ [9]

อ้างอิง[แก้]

  1. G.P. Malalasekera. (2007). Dictionary of Pali Proper Names หน้า 319
  2. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค 1 หน้า 332
  3. G.P. Malalasekera. (2007). Dictionary of Pali Proper Names หน้า 319
  4. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค 1 หน้า 333
  5. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค 1 หน้า 333 - 334
  6. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค 1 หน้า 333 - 334
  7. พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก มชฺฌิมนิกาย อุปริปณฺณาสปาฬิ อนุปทวโคฺค อิสิคิลิสุตฺตํ
  8. ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค 1 หน้า 337
  9. ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค 1 หน้า 337

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก มชฺฌิมนิกาย อุปริปณฺณาสปาฬิ อนุปทวโคฺค อิสิคิลิสุตฺตํ
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม 3 ภาค 1
  • ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
  • G.P. Malalasekera. (2007). Dictionary of Pali Proper Names, Volume 1.New Delhi. Motilal Banarsidass.