ปราภวสูตร
ปราภวสูตร เป็นพระสูตรหนึ่งที่ปรากฏใน ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หมวดขุททกนิกาย แห่ง พระสุตตันตปิฎก มีเนื้อหาว่าด้วยมูลเหตุแห่งความเสื่อม หรือหนทางที่จะทำให้คนผู้หนึ่งตกต่ำได้ โดยพระสูตรนี้อาจนับเป็นส่วนต่อขยายจากมงคลสูตร ซึ่งว่าด้วยสิ่งอันเป็นมงคล หรือเหตุที่ทำให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม ปราภวสูตรนี้เป็นการย้ำเตือนว่า นอกจากจะต้องปฏิบัติในสิ่งอันเป็นมงคลดังที่ปรากฏในมงคลสูตร ยังต้องหลีกเลี่ยงความเสื่อมดังที่ปรากฏในปราภวสูตรอีกด้วย
ที่มา
[แก้]สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร อารามของบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ในคัมภีร์ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย ได้อธิบายมูลเหตุแห่งพระสูตรนี้ว่า สืบเนื่องจาก "เทวดาทั้งหลายฟังมงคลสูตรแล้ว ได้มีปริวิตกนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความเจริญและความสวัสดีแก่สัตว์ทั้งหลายในมงคลสูตร ตรัสแต่ความเจริญโดยส่วนเดียวเท่านั้น ไม่ตรัสความเสื่อมเลย เอาเถิด บัดนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมเสื่อม ย่อมพินาศ ด้วยเหตุแห่งความเสื่อมใด พวกเราจะทูลถามถึงเหตุแห่งความเสื่อมนั้นของสัตว์เหล่านั้น ลำดับนั้น ในวันที่ 2 แต่วันที่ตรัสมงคลสูตร เทวดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ประสงค์จะฟังพระสูตรว่าด้วยความเสื่อม ประชุมกันในจักรวาลหนึ่งนี้ จึงนิรมิตอัตภาพละเอียด 10 อัตภาพบ้าง 20 อัตภาพบ้าง 30 อัตภาพบ้าง 40 อัตภาพบ้าง 50 อัตภาพบ้าง 60 อัตภาพบ้าง 70 อัตภาพบ้าง 80 อัตภาพบ้างในโอกาสที่สุดแห่งปลายขนทรายหนึ่ง ได้ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่ปูแล้ว รุ่งโรจน์ข่มทับเทวดา มาร และพรหมทั้งปวงด้วยสิริและเดช แต่นั้น เทวบุตรองค์หนึ่งถูกท้าวสักกะจอมเทวินทร์ตรัสสั่งแล้ว ทูลถามปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า"[1]
ส่วนในเนื้อหาของปราภวสูตรบรรยายความขณะที่เทวดาได้เดินทางมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ดังนี้ว่า "ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามสิ้นไปแล้ว เทวดาตนหนึ่งมีรัศมีอันงดงามยิ่ง ทำพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสวเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า ข้าพระองค์มา เพื่อจะทูลถามถึงคนผู้เสื่อม และคนผู้เจริญ กับท่านพระโคดม จึงขอทูลถามว่าอะไรเป็นทางของคนเสื่อม"[2]
เนื้อหา
[แก้]พระผู้มีพระภาคตรัสตอบถึงมูลเหตุแห่งความเสื่อมจำนวนทั้งสิ้น 12 ข้อ โดยมีเทวบุตรคอยถามไล่ตามเป็นข้อ ๆ ดังนี้ว่า (ในที่นี้ตัดคำถามของเทวบุตร ซึ่งซ้ำความกันออก)
สุวิชาโน ภวํ โหติ, สุวิชาโน [ทุวิชาโน (สฺยา. ก.)] ปราภโว; ธมฺมกาโม ภวํ โหติ, ธมฺมเทสฺสี ปราภโว อิติ เหตํ วิชานาม, ปฐโม โส ปราภโว[3]
ผู้เจริญก็รู้ง่าย ผู้เสื่อมก็รู้ง่าย ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดธรรมเป็นผู้เสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่าความเสื่อมนั้นเป็นที่ 1[4]
อสนฺตสฺส ปิยา โหนฺติ, สเนฺต น กุรุเต ปิยํ; อสตํ ธมฺมํ โรเจติ, ตํ ปราภวโต มุขํ อิติ เหตํ วิชานาม, ทุติโย โส ปราภโว[5]
คนมีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่กระทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ 2[6]
นิทฺทาสีลี สภาสีลี, อนุฎฺฐาตา จ โย นโร; อลโส โกธปญฺญาโณ, ตํ ปราภวโต มุขํ อิติ เหตํ วิชานาม, ตติโย โส ปราภโว[7]
คนใดชอบนอน ชอบคุย ไม่หมั่น เกียจคร้าน โกรธง่าย ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ 3[8]
โย มาตรํ [โย มาตรํ วา (สี. สฺยา. กํ. ปี.)] ปิตรํ วา, ชิณฺณกํ คตโยพฺพนํ ปหุ สโนฺต น ภรติ, ตํ ปราภวโต มุขํ อิติ เหตํ วิชานาม, จตุโตฺถ โส ปราภโว[9]
คนใดสามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดาผู้แก่เฒ่า ผ่านวัยหนุ่มสาวไปแล้ว ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ 4[10]
โย พฺราหฺมณํ [โย พฺราหฺมณํ วา (สี. สฺยา. กํ. ปี.)] สมณํ วา, อญฺญํ วาปิ วนิพฺพกํ; มุสาวาเทน วเญฺจติ, ตํ ปราภวโต มุขํ อิติ เหตํ วิชานาม, ปญฺจโม โส ปราภโว[11]
คนใดลวงสมณะพราหมณ์ หรือแม้วณิพกอื่นด้วยมุสาวาท ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ 5[12]
ปหูตวิโตฺต ปุริโส, สหิรโญฺญ สโภชโน เอโก ภุญฺชติ สาทูนิ, ตํ ปราภวโต มุขํ อิติ เหตํ วิชานาม, ฉฎฺฐโม โส ปราภโว[13]
คนมีทรัพย์มาก มีเงินทองของกิน กินของอร่อยแต่ผู้เดียว ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ 6[14]
ชาติตฺถโทฺธ ธนตฺถโทฺธ, โคตฺตตฺถโทฺธ จ โย นโร; สญฺญาติ อติมเญฺญติ, ตํ ปราภวโต มุขํ อิติ เหตํ วิชานาม, สตฺตโม โส ปราภโว[15]
คนใดหยิ่งเพราะชาติ หยิ่งเพราะทรัพย์ และหยิ่งเพราะโคตร ย่อมดูหมิ่นญาติของตน ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้น เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ 7[16]
อิตฺถิธุโตฺต สุราธุโตฺต, อกฺขธุโตฺต จ โย นโร; ลทฺธํ ลทฺธํ วินาเสติ, ตํ ปราภวโต มุขํ อิติ เหตํ วิชานาม, อฎฺฐโม โส ปราภโว[17]
คนใดเป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา และเป็นนักเลงการพนันผลาญทรัพย์ที่ตนหามาได้ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ 8[18]
เสหิ ทาเรหิ อสนฺตุโฎฺฐ [ทาเรหฺยสนฺตุโฎฺฐ (ก.)], เวสิยาสุ ปทุสฺสติ [ปทิสฺสติ (สี.)]; ทุสฺสติ [ทิสฺสติ (สี. ปี.)] ปรทาเรสุ, ตํ ปราภวโต มุขํ อิติ เหตํ วิชานาม, นวโม โส ปราภโว[19]
คนไม่สันโดษด้วยภริยาของตน ประทุษร้ายในภริยาของคนอื่นเหมือนประทุษร้ายในหญิงแพศยา ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้นแล เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ 9[20]
อตีตโยพฺพโน โปโส, อาเนติ ติมฺพรุตฺถนิ; ตสฺสา อิสฺสา น สุปติ, ตํ ปราภวโต มุขํ อิติ เหตํ วิชานาม, ทสโม โส ปราภโว[21]
ชายแก่ได้หญิงรุ่นสาวมาเป็นภริยา ย่อมนอนไม่หลับ เพราะความหึงหวงหญิงรุ่นสาวนั้น ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้น เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ 10[22]
อิตฺถิ โสณฺฑิ วิกิรณิ, ปุริสํ วาปิ ตาทิสํ; อิสฺสริยสฺมิ ฐเปติ [ฐาเปติ (สี. ปี.), ถเปติ (ก.)], ตํ ปราภวโต มุขํ’ อิติ เหตํ วิชานาม, เอกาทสโม โส ปราภโว[23]
คนใดตั้งหญิงนักเลงสุรุ่ยสุร่าย หรือแม้ชาย เช่นนั้นไว้ในความเป็นใหญ่ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม เพราะเหตุนั้น เราจงทราบชัดข้อนี้เถิดว่า ความเสื่อมนั้นเป็นที่ 11[24]
อปฺปโภโค มหาตโณฺห, ขตฺติเย ชายเต กุเล; โส จ รชฺชํ ปตฺถยติ, ตํ ปราภวโต มุขํ ‘เอเต ปราภเว โลเก, ปณฺฑิโต สมเวกฺขิย; อริโย ทสฺสนสมฺปโนฺน, ส โลกํ ภชเต สิว’’นฺติฯ[25]
ก็บุคคลผู้เกิดในสกุลกษัตริย์ มีโภคทรัพย์น้อย มีความมักใหญ่ปรารถนาราชสมบัติ ข้อนั้นเป็นทางของคนเสื่อม บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยความเห็นอันประเสริฐ พิจารณาเห็นคนเหล่านี้เป็นผู้เสื่อมในโลก ท่านย่อมคบโลกที่เกษม (คนผู้เจริญ). (ข้อนี้เป็นข้อที่ 12)[26]
ความเป็นธรรมาภิสมัย
[แก้]หลังจากนั้น คัมภีร์ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย ได้เปิดเผยว่า "ในเวลาจบเทศนา เทวดาทั้งหลายฟังทางแห่งความเสื่อมทั้งหลายแล้ว ตั้งใจมั่นโดยแยบคาย สมควรแก่ความสังเวชที่เกิดขึ้นบรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล และอนาคามิผล พ้นที่จะคณนานับเหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า เทวดาทั้งหลายที่บรรลุมรรคผลในสูตรนั้น คือ มหาสมัยสูตร มงคลสูตร สมจิตตสูตร ราหุโลวาทสูตร ธรรมจักรสูตร (ธัมมจักกัปปวัตนสูตร) ปราภวสูตร และเทวตาสมสูตร มีไม่น้อย ประมาณไม่ได้ ส่วนธรรมาภิสมัยในปราภวสูตรนี้ พ้นที่จะคณนานับ ดังนี้"[27]
ทั้งนี้ ธรรมาภิสมัย หรือธัมมาภิสมัย หมายถึงการบรรลุธรรม เข้าถึงพระอริยสัจจ์ 4 อย่างถ่องแท้ รู้ซึ้งในพระธรรมอย่างสมบูรณ์ ก้าวสู่ความเป็นอริยบุคคล มีพระโสดาบันเป็นขั้นต้น บางคราวมักปรากฏเพียงคำว่า "อภิสมัย" บ้าง บ้างก็ปรากฏเป็นรูปคำ "ธัมมาภิสมัย"[28][29]
ข้อมูลเพิ่มเติม
[แก้]- ปราภวสูตร
- อรรถกถาปราภวสูตร
- เทศนาธรรมเรื่องธรรมวิจยานุศาสน์ ว่าด้วยปราภวสูตร ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) เก็บถาวร 2017-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 314
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 309
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ (ภาษาไทย) พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ ๖ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๒๓ ข้อที่ ๙๑ - ๙๒
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 310
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 310
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 310
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 312
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 311
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 311
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 312
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 312
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 312 - 313
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 313
- ↑ พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 313
- ↑ *พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5 หน้า 325
- ↑ Maha Thera Nyanatiloka. Manual of Buddhist Terms and Doctrines, Buddhist Publication Society, first edition 1952.
- ↑ Thomas William Rhys Davids, William Stede ( edited by). Pali-English Dictionary. New Delhi. Motilal Banarsidass.
บรรณานุกรม
[แก้]- พระไตรปิฎกบาฬี ฉบับฉัฏฐสังคีติ สุตฺตปิฎก ขุทฺทกนิกาย สุตฺตนิปาตปาฬิ ปราภวสุตฺตํ.
- พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ปราภวสูตรที่ 6 เล่ม 1 ภาค 5
- พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺ จันทร์). (2458). ธรรมวิจยานุศาสน์. หน้า 153
- Maha Thera Nyanatiloka. Manual of Buddhist Terms and Doctrines, Buddhist Publication Society, first edition 1952.
- Thomas William Rhys Davids, William Stede ( edited by). Pali-English Dictionary. New Delhi. Motilal Banarsidass.