จันทปริตตปาฐะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จันทปริตตปาฐะ หรือจันทปริตร เป็นบทสวดหนึ่งที่รวบรวมไว้ในภาณวารหรือหนังสือบทสวดมนต์หลวง จันทปริตรนี้มิได้รวมไว้เป็นหนึ่งในพระปริตรที่นิยมสวดสาธยายกันในบทสวดมนต์เจ็ดตำนาน หรือสิบสองตำนาน พบว่า มีเฉพาะในภาณวารเท่านั้น เนื้อหาเป็นการประกาศขอให้พระพุทธองค์ทรงเป็นที่พึ่ง แล้วบรรยายว่า ผู้ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งนั้นจะรอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง และผู้ปองร้ายจะพบกับภัยพิบัติ

ที่มา[แก้]

จันทปริตตปาฐะ หรือจันทปริตร มีเนื้อหามาจากจันทิมสูตร อยู่ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เนื้อหาระบุเพียงว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้ที่นครสาวัตถี ครั้งนั้น "จันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้นจันทิมเทวบุตรระลึกถึงพระผู้มีพระภาค" [1] ซึ่งมีการตีความกันว่า จันทิมเทวบุตร หรือจันทิมาเทวบุตร คือเทพบุตรที่อาศัยอยู่บนดวงจันทร์ ถูกราหูอสุรินทร์จะทำร้าย (คือทำจันทรคราส) เทพบุตรจึงรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [2]

ครั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงตรัสให้อสุรินทราหูปล่อยตัวจัมทิมเทวบุตร เพราะเทพบุตรนี้ได้ประกาศให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่ง อสุรินทราหูได้สดับดังนั้นจึงปล่อยตัวเทพบุตร "แล้วเร่งรีบเข้าไปหาท้าวเวปจิตติจอมอสูร แล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง" [3] ท้าวเวปจิตติจอมอสูรจึงไถ่ถามว่า เหตุใดอีกฝ่ายจึงแสดงท่าทีหวาดกลัวเช่นนั้น อสุรินทราหู จึงตอบว่า ได้สดับพระคาถาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงหนีมา และว่า "หากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยจันทิมเทวบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยงมีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้ความสุข" [4] ดังนี้

เนื้อหา[แก้]

เนื้อหาของจันทปริตตปาฐะ หรือจันทปริตร ยกเนื้อหาและคาถาจากมาทั้งหมดจันทิมสูตร ทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็นส่วนร้อยแก้วเป็นการเล่าเรื่องราว และส่วนของคาถา ซึ่งมีทั้งหมด 4 บาท เป็นของจัมทิมเทวบุตร 1 บท ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 1 บท ของท้าวเวปจิตติ 1 บท และของอสุรินทราหู 1 บท โดยมีเนื้อหา ดังนี้

จนฺทิมสุตฺตํ (ปาฬี)[แก้]

สาวตฺถินิทานํ ฯ เตน โข ปน สมเยน จนฺทิมา เทวปุโตฺต ราหุนา อสุริเนฺทน คหิโต โหติฯ อถ โข จนฺทิมา เทวปุโตฺต ภควนฺตํ อนุสฺสรมาโน ตายํ เวลายํ อิมํ คาถํ อภาสิ –

‘‘นโม เต พุทฺธ วีรตฺถุ, วิปฺปมุโตฺตสิ สพฺพธิ;

สมฺพาธปฎิปโนฺนสฺมิ, ตสฺส เม สรณํ ภวา’’ติฯ

อถ โข ภควา จนฺทิมํ เทวปุตฺตํ อารพฺภ ราหุํ อสุรินฺทํ คาถาย อชฺฌภาสิ –

‘‘ตถาคตํ อรหนฺตํ, จนฺทิมา สรณํ คโต;

ราหุ จนฺทํ ปมุญฺจสฺสุ, พุทฺธา โลกานุกมฺปกา’’ติฯ

อถ โข ราหุ อสุริโนฺท จนฺทิมํ เทวปุตฺตํ มุญฺจิตฺวา ตรมานรูโป เยน เวปจิตฺติ อสุริโนฺท เตนุปสงฺกมิ; อุปสงฺกมิตฺวา สํวิโคฺค โลมหฎฺฐชาโต เอกมนฺตํ อฎฺฐาสิฯ เอกมนฺตํ ฐิตํ โข ราหุํ อสุรินฺทํ เวปจิตฺติ อสุริโนฺท คาถาย อชฺฌภาสิ –

‘‘กิํ นุ สนฺตรมาโนว, ราหุ จนฺทํ ปมุญฺจสิ;

สํวิคฺครูโป อาคมฺม, กิํ นุ ภีโตว ติฎฺฐสี’’ติฯ

‘‘สตฺตธา เม ผเล มุทฺธา, ชีวโนฺต น สุขํ ลเภ;

พุทฺธคาถาภิคีโตมฺหิ, โน เจ มุเญฺจยฺย จนฺทิม’’นฺติฯ [5]

จันทิมสูตร (แปล)[แก้]

พระผู้มีพระภาคประทับ ... เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้น จันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้นจันทิมเทวบุตรระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า

"ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ถึงเฉพาะแล้ว ซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแห่งข้าพระองค์นั้น ฯ"

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภจันทิมเทวบุตรได้ตรัสกะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า

"จันทิมเทวบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นที่พึ่งดูกรราหู ท่านจงปล่อยจันทิมเทวบุตร พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก ฯ"

ลำดับนั้นอสุรินทราหู ปล่อยจันทิมเทวบุตรแล้ว มีรูปอันกระหืดกระหอบ เข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิด ขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ อสุรินทเวปจิตติ ได้กล่าวกะอสุรินทราหู ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ด้วยคาถาว่า

"ดูกรราหู ทำไมหนอ ท่านจึงกระหืดกระหอบปล่อยพระจันทร์เสีย ทำไมหนอ ท่านจึงมีรูปสลด มายืนกลัวอยู่ ฯ"

อสุรินทราหูกล่าวว่า

"ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า หากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยจันทิมเทวบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยงมีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้รับความสุข ฯ"

วิเคราะห์พระสูตร[แก้]

พระสูตรนี้มักถูกนำไปอธิบายปรากฎการณ์จันทรคราส และมีพระสูตรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือสุริยสูตร ใช้อธิบายปรากฎการณ์สุริยคราสเช่นกัน ว่า เกิดจากการกลืนกินของราหู อย่างไรก็ตาม เสฐียรพงษ์ วรรณปก ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาได้แสดงความเห็นไว้ว่า จันทิมสูตรอาจเป็นสูตรที่แต่งขึ้นใหม่ และเป็นของแปลกปลอมมิใช่พระสูตรดั้งเดิม โดย เสฐียรพงษ์ แสดงความเห็นเรื่องนี้ไว้การบรรยายเรื่อง "ความเป็นมาของพระไตรปิฎก" ความว่า

"จันทิมสูตรและสุริยสูตร ในเทวปุตตสังยุตต์ มีสูตรแปลกอยู่ 2 สูตร คือ จันทิมสูตร และสุริยสูตร กล่าวถึงจันทิมเทวบุตร (พระจันทร์) และสุริยเทวบุตร (พระอาทิตย์) ถูกราหูจับได้ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า กล่าวขึ้นว่า "ข้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วจากสิ่งทั้งปวง ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ในฐานะคับขันขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าด้วย" พระพุทธเจ้าตรัสบอกอสุรินทราหูว่า "จันทิมเทวบุตรและสุริยเทวบุตรได้ถึงเราตถาคตเป็นที่พึ่งแล้ว ท่านจงปล่อยพวกเขาไปเถิด อสุรินทราหูปล่อยเหยื่อแล้วกระหืดกระหอบไปเฝ้าเวปจิตติจอมอสูร เมื่อถูกถามจึงรายงานให้จอมอสูรทราบว่า กลัวพระพุทธเจ้าจึงรีบปล่อยพระจันทร์และพระอาทิตย์หนีมา ... มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พระสูตรนี้แปลกปลอมเข้ามา (ดังมีอีกหลายสูตรที่เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น) มีเค้าว่าถูกสอดแทรกเข้ามาในยุคที่นำเอาพระสูตรไปสวดเป็นปริตรป้องกันภยันตรายต่างๆ ซึ่งเป็นยุคหลังพุทธกาลมา"[6]

วิเคราะห์อสุรินทราหู[แก้]

เรื่องอสุรินทราหูมีปรากฎเรื่องราวในตำนานปางโปรดอสุรินทราหู นอกจากนี้ ยังมีการพยากรณ์อนาคตของอสุรินทราหูไว้ในคัมภีร์อนาคตวงศ์ ว่า ในอนาคตราหูจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบทว่าด้วยพระนารทะ (พระยาอสุรินทราหู )ดังนี้เนื้อความดังนี้ว่า

สตฺถา สมเด็จพระบรมครูสัพพัญญูเจ้าของเราตรัสพระธรรมเทศนาว่า ในกาลเมื่อสิ้นศาสนาพระยามาราธิราช ผู้เป็นธรรมสามีสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว โลกทั้งหลายจะสูญจากสมเด็จพระพุทธเจ้าสิ้นกาลช้านานถึง ๘ กัปป์ แผ่นดินตั้งขึ้นมาใหม่ได้แสนแผ่นดิน แผ่นดินนั้นสูญเปล่าเป็นสุญญกัปป์ หาบังเกิดสมเด็จพระพุทธเจ้าไม่

ในเมื่อสุญญกัปนับได้แสนแผ่นดินล่วงไปแล้ว จึงบังเกิดแผ่นดินมาใหม่ มีชื่อว่ามัณฑกัปนั้น เป็นแผ่นดินทรงพระพุทธเจ้าได้ตรัส ๒ พระองค์ คือ พระยาอสุรินทราหู ๑ โสณพราหมณ์ ๑ อันว่าพระยาอสุรินทราหูจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ลำดับนั้นโสณพราหมณ์จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสืบไป ฯ

เมื่อพระยาอสุรินทราหูได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงพระนามว่า พระนารทะ มีพระองค์สูงได้ ๒๐ ศอก มีพระชนมายุยืนได้หมื่นปีเป็นกำหนด มีไม้จันทร์เป็นพระมหาโพธิ ประกอบไปด้วยรัศมีสว่างรุ่งเรืองทั้งกลางวันและกลางคืน เปรียบประดุจดังว่าสายฟ้าในกลีบเมฆ พระพุทธรัศมีที่เป็นแผ่นแผ่ทึบเป็นแท่งเดียวนั้น ปรากฏสัณฐานดุจดอกปทุมชาติอันตั้งขึ้นมา ครั้นศาสนาพระยาอสุรินทราหูนั้น ในแผ่นดินประเทศทั้งปวงเกิดรสภักษาหาร ๗ ประการ มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคภักษาหาร ๗ ประการ อันเกิดแก่แผ่นดิน ก็ประพฤติเลี้ยงชีวิตของอาตมาเป็นสุขสำราญมิได้ขาด

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร อันว่าพระนารทะผู้ทรงพระภาคนั้น มีพระรัศมีเห็นปานดังนี้ คือพระยาอสุรินทราหูแต่ก่อนได้สร้างบำเพ็ญพระบารมีทั้งหลาย ๑๐ ประการมาเป็นอันมากแล้ว จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ฯ แต่กองบารมีอันหนึ่ง พระยาอสุรินทราหูได้กระทำเป็นปรมัตถบารมีอันยิ่ง ปรากฏเป็นอัศจรรย์ พระองค์มีพระพุทธฎีกาดังนั้นแล้ว จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานมาตรัสพระธรรมเทศนาว่า

อตีเต กาเล ในอดีตกาลล่วงแล้วช้านาน ในเมื่อพระสาสนาพระพุทธกัสสปทศพลญาณ พระยาอสุรินทราหูนี้ได้เสวยพระชาติเป็นบรมกษัตริย์ เสวยศิริราชสมบัติอยู่ในมัลลนคร เป็นเอกราชอันประเสริฐ ทรงพระนามว่า พระยาสิริคุตตมหาราช มีพระราชอัครมเหสีพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ลัมภุราชเทวี มีพระราชบุตร พระราชธิดา ๒ พระองค์ พระราชบุตรมีนามว่า เจ้านิโครธกุมาร พระราชธิดามีนามว่า นางโคตมี อยู่มาวันหนึ่งยังมีพราหมณ์ ๘ คน พากันมาสู่สำนักแห่งพระยาสิริคุตต์ กราบทูลขอพระนคร

พระองค์ก็ทรงโสมนัสบังเกิดพระราชศรัทธาโปรดพระราชทานพระนครให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๘ ยังแต่พระราชอัครมเหสีและพระราชโอรสกับพระราชธิดาทั้ง ๒ ก็พากันออกจากพระนครเข้าไปในอรัญประเทศ กระทำอาศรมอาศัยอยู่บนยอดเขาใหญ่ พร้อมกันทั้งสี่กษัตริย์ทรงเพศเป็นบรรพชิตอยู่ในอาศรมบท ฯ

ในกาลครั้งนั้นยังมียักษ์ตนหนึ่ง มีนามว่ายันตะ ยักษ์ใหญ่สูงได้ ๑๒๐ ศอก ออกจากประเทศราวป่ามาเฉพาะต่ออาศรมแห่งกษัตริย์ทั้ง ๔ องค์ ยืนอยู่ในที่นั้นแล้วจึงกล่าววาจาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐ ข้าพเจ้านี้เกิดมาเป็นยักษ์รักษาพนาลี มีแต่เลือดและเนื้อเป็นภักษาหารเลี้ยงชีวิต ข้าพเจ้ามาทั้งนี้ ปรารถนาจะขอพระราชโอรสและพระราชธิดา ทั้ง ๒ องค์ เป็นภักษาหาร ถ้าพระองค์ทรงพระราชศรัทธาโปรดพระราชทานให้แล้ว ไปในอนาคตเบื้องหน้า พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งเป็นแม่นมั่น

เมื่อหน่อพระชินวงศ์ได้ทรงฟังยันตะยักษ์ทูลขอพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ นั้น พระยาสิริคุตตราชฤาษีผู้แสวงหาพระโพธิญาณก็ชื่นบานในกมลหฤทัยแสนทวี ท้าวเธอจึงมีสุนทรสารทีตรัสแก่ยันตะยักษ์ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญเอ๋ย พระราชกุมารและพระราชกุมารีทั้ง ๒ องค์นี้ ใช่ว่าเราจะไม่มีความเสน่หาอาลัยหามิได้ ด้วยเรารักใคร่ในพระโพธิญาณยิ่งกว่ากุมารทั้ง ๒ ได้ แสนเท่าพันทวี เราจะสละพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ ศรี ให้เป็นทานแก่ท่านในกาลบัดนี้

ตรัสแล้วเท่านั้นก็เสด็จลุกจากอาสน์ จูงเอาข้อพระหัตถ์พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ ผู้ร่วมพระราชหฤทัย มาพระราชทานให้แก่ยันตะยักษ์ แล้วหล่อหลั่งอุทกธาราให้ตกลงเหนือมือแห่งยักษ์ พระองค์จึงประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าและนางพระธรณีให้เป็นสักขีพยานว่า “เดชะแห่งผลทานนี้จงสำเร็จแก่พระสร้อยเพชุดาญาณในอนาคตกาลด้วยเถิด” พอสิ้นความปรารถนาก็บังเกิดมหัศจรรย์ทั่วโลกทุกห้องจักรวาล ปานแผ่นพสุธาจะทรุดจะทำลาย ฯ

เบื้องหน้ายันตะยักษ์ครั้นได้รับพระราชทานพระราชกุมารและพระราชกุมารีแล้ว ก็บังเกิดมีความชื่นชมยินดี พาตรุณสองศรีไปยังหลังพระบรรณศาลา ก็ก้มศีรษะลงกัดเอาคอกุมารและกุมารีทั้งสองให้ขาดด้วยอำนาจของอาตมา แล้วก็ดื่มโลหิตกินเป็นภักษาหาร แล้วก็เคี้ยวซึ่งเนื้อและกระดูกกลืนเข้าไป เสียงเคี้ยวนั้นดังกร้วมๆ พระฤๅษีผู้เป็นบิดาและมารดาเห็นเห็นหยาดเลือดย้อยลงจากปากยันตะยักษ์ในขณะเมื่อเคี้ยวนั้น มิได้มีพระทัยไหวหวาดด้วยโลกธรรม จึงร้องประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าทุกหย่อมหญ้าลดาวัลย์ทั้งปวง จงมาชื่นชมด้วยทานของเราบัดนี้เป็นอันประเสริฐแล้ว ฯ

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ในเมื่อพระศาสนาของของพระยาอสุรินทราหูได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ฝูงชนทั้งปวงประกอบไปด้วยรูปศิริวิลาสเป็นอันงาม ควรจะนำมาซึ่งความสิเนหา ด้วยเดชะผลานิสงส์ที่ให้ลูกทั้งสองเป็นทาน ฯ ซึ่งพระองค์ประกอบได้ด้วยพระพุทธรัศมีส่องสว่างสิ้นทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นด้วยเดชะผลานิสงส์ที่เห็นโลหิตกุมารทั้ง ๒ หยดย้อยลงจากปากยักษ์ มิได้มีความหวาดหวั่นไหวในมหาทานเลย

แสดงมาด้วยเรื่องราบพระยาอสุรินทราหูบรมโพธิสัตว์คำรบ ๕ ก็ยุติแต่เพียงนี้ ฯ [7]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 340
  2. ปุ้ย แสงฉาย. จันทปริตร ใน บทสวดมนต์หลวง. หน้า 204
  3. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 4340
  4. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 - หน้าที่ 341
  5. พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย สคาถาวคฺคปาฬิ เทวปุตฺตสํยุตฺตํ จนฺทิมสุตฺตํ
  6. เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2555) คำบรรยายในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ ธรรมสภา.
  7. กิม หงศ์ลดารมภ์. (2475). พระอนาคตวงศ์. พระนคร โรงพิมพ์พระจันทร์.

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระไตรปิฎกฉบับฉัฏฐสังคายนา. สุตฺตปิฎก สํยุตฺตนิกาย สคาถาวคฺคปาฬิ เทวปุตฺตสํยุตฺตํ จนฺทิมสุตฺตํ
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1 .
  • สารัตถปกาสินี อรรถกาสังยุตตนิกาย ในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม 1 ภาค 2 .
  • กิม หงศ์ลดารมภ์. (2475). พระอนาคตวงศ์. พระนคร โรงพิมพ์พระจันทร์.
  • ปุ้ย แสงฉาย. จันทปริตร ใน บทสวดมนต์หลวง.
  • เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2555) คำบรรยายในพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ ธรรมสภา.