กรณียเมตตสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กรณียเมตตสูตร หรือ เมตตสูตร เป็นพระสูตรในขุททกปาฐะ ขุททกนิกาย ของพระสุตตันตปิฎก เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการเจริญเมตตา และการปฏิบัติตนเพื่อเจริญธรรม นำไปสู่การบรรลุมรรคผลในท้ายที่สุด พระสูตรนี้มีลักษณะเป็นคาถาจำนวน 10 บท โดยมีฉันทลักษณ์เป็นแบบคีติโบราณ (Old Giti) อันเป็นฉันทลักษณ์แบบเก่าแก่ที่สุดแบบหนึ่งในฉันทลักษณ์ภาษาบาลี[1]

ทั้งนี้ กรณียเมตตสูตร บางครั้งเรียกว่า เมตตปริตร เนื่องจากใช้สวดเป็นพระปริตร เพื่อป้องกัน คุ้มครองภยันตรายต่าง ๆ รวมอยู่ในบทสวด 7 ตำนาน หรือจุลราชปริตร และบทสวด 12 ตำนาน หรือ มหาราชปริตร อีกทั้งยังจัดเป็นมหาปริตร หรือพระปริตรซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวด อันประกอบด้วยมงคลสูตร รัตนสูตร และกรณียมเตตสูตร[2]

ที่มา[แก้]

ตัวบทของพระสูตรที่ปรากฏในขุททกปาฐะ ในขุททกนิกาย ของพระสุตตันตปิฎก มีเพียงพระคาถา 10 บท มิได้ระบุถึงที่มาของการตรัสพระสุตรแต่อย่างใด ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในพระสูตรอื่นๆ ในขุททกปาฐะ ทว่า ในคัมภีร์ปรมัตถโชติกา อรรถกถาอธิบายความในขุททกปาฐะ ได้อธิบายไว้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสพระสูตรนี้ที่สาวัตถี เพื่อให้บรรดาพระภิกษุได้เจริญเมตตาเพื่อยังความร่ำเย็น เป็นสุข และเพื่อความเป็นมิตรต่อสัตว์ทั้งหลาย มิให้เบียดเบียนกัน

โดยที่มาของพระสูตรเกิดขึ้นเมื่อพระภิกษุประมาณ 500 รูป ได้เรียนกรรมฐานจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นได้เดินทางไปแสวงหาเสนาสนะที่เป็นสัปปายะ สุดท้ายพระภิกษุทั้งหมดได้บำเพ็ญพระกรรมฐานอยู่ตามโคนไม้ ณ ป่าหิมวันต์ ในปัจจันตประเทศ[3]

อย่างไรก็ตาม บรรดาารุกขเทวดาและเทพยดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้ ต่างต้องลงมาจากวิมานของตน เนื่องจากบรรดาพระภิกษุได้กระทำความเพียรอยู่ ณ โคนต้นไม้ เมื่อได้รับความลำบาก และคิดว่าพระภิกษุเหล่านี้ต้องกระทำความเพียรตลอดพรรษาไม่อาจจะไปที่ไหนได้อีก จะยังความลำบากให้แก่พวกตนและลุกหลานของตนอีกยาวนาน บรรดารุกขเทวดาและเทพยดาในถิ่นนั้น จึงรวมตัวกันแสดงอาการอันน่ากลัว แล้วหลอก เพื่อขับไล่พระภิกษุเหล่านั้น[4]

พระภิกษุเหล่านั้นได้รับความลำบากกายลำบากใจอย่างยิ่งที่ถูกบรรดารุกขเทวดาและเทพยดาจำแลงกายหลอกหลอนตน จนไม่อาจบำเพ็ญเพียรเจริญพระกรรมฐานได้ ต่อมาจึงพากันเดินทางไปยังนครสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสดับเรื่องราวแล้ว ทรงมีพระดำรัสให้ภิกษุทั้งหลายกลับไปเจริญพระกรรมฐานยังสถานที่แห่งเดิม แล้วจึงทรงตรัสเมตตสูตร เพื่อให้ภิกษุทั้ง 500 รูปได้เจริญเมตตาโปรดรุกขเทวดาเทพยดาทั้งหลาย ให้หยุดจองเวรเสีย [5]

เนื้อหา[แก้]

เนื้อหาของพระสูตรนี้ เป็นคาถามีทั้งหมด 10 บท สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน กล่าวคือ บทที่ 1 - บทที่ 3 เป็นการแนะนำการปฏิบัติตน เพื่อให้เกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน ตรวจสอบคุณสมบัติให้อยู่ในกรอบอันดีงาม พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำได้ และทำให้เป็นคนมีเมตตา แสดงความเอื้อเฟื้อต่อสรรพสัตว์อยู่เป็นนิจ ซึ่งโดยสรุปแล้ว เนื้อหาส่วนแรก ได้ระบุถึงคุณสมบัติของบุคคลอันพึงประสงค์ไว้ดังนี้

  1. สักโก เป็นคนกล้าหาญ
  2. อุชุ เป็นคนตรง คือมีกายสุจริต วจีสุจริต
  3. สหุชุ เป็นคนตรงจริง ๆ คือมีมโนสุจริตด้วย
  4. สุวะโจ เป็นคนว่านอนสอนง่าย
  5. มุทุ เป็นคนอ่อนโยน
  6. อะนะติมานี เป็นคนไม่หยิ่ง ไม่ถือตัว
  7. สันตุสสะโก เป็นคนสันโดษ
  8. สุภะโร เป็นคนเลี้ยงง่าย
  9. อัปปะกิจโจ เป็นคนไม่แบกภาระมาก มีห่วงมาก
  10. สัลละหุกะวุฒติ เบากาย เบาใจ
  11. สันติณตริโย เป็นผู้สำรวมอินทรีย์
  12. นิปะโก เป็นผู้มีปัญญารักษาตัว
  13. อัปปะคัพโภ เป็นคนไม่คะนอง
  14. กุเลสุ อะนะนุทคิทโธ เป็นผู้ไม่ติดในตระกูล

ส่วนที่ 2 คือระหว่างบทที่ 4 - บทที่ 5 เป็นการแผ่เมตตา และส่วนที่ 3 ระหว่างบทที่ 6 - บทที่ 10 เป็นการเจริญพรหมวิหาร และอานิสงส์ของการเจริญพรหมวิหาร ว่าสามารถนำไปสู่มรรคผลนิพพานได้ ดังที่ระบุผลไว้บทที่ 10 ดังนี้

  1. ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน หรือ "ท่านผู้เจริญเมตตาจิต ที่ละความเห็นผิดแล้ว มีศีล มีความเห็นชอบ" ในบาทที่ 1 ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุโสดาบัน กล่าวคือ พระอริยะบุคคลผู้มีสัมมาทิษฐิ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ปราศจากความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยและอริยสัจสี่ และมีศีลครบถ้วน อันคุณสมบัติสังเขปของลักษณะพระโสดาบันที่สามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
  2. กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง หรือ "ขจัดความใคร่ในกามได้" ในบาทที่ 3 ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุสกทาคามี กล่าวคือ พระอริยะบุคคลผู้สามารถละกามฉันทะ และปฏิฆะ อันหมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ
  3. นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ หรือ "จะไม่กลับมาเกิดอีกเป็นแน่แท้" ในบาทที่ 4 หรือบาทสุดท้าย ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุอนาคามี คือ พระอริยะบุคคลผู้ไม่กลับบมาเกิดอีก บำเพ็ญเพียรภาวนาต่อไปในพรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะบรรลุอรหันต์นิพพานจากพรหมโลก

การสวดสาธยาย[แก้]

กรณียเมตตสูตร เป็นหนึ่งในพระปริตร นิยมใช้สวดกัน เพื่อป้องกันภยันตรายทั้งหลาย มิให้มากร้ำกราย และเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวของที่มาพระสูตร ที่ปรากฏในอรรถกถา นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันว่า พระสูตรนี้เป็นที่ยำเกรงของภูติผีปีศาจ และทำให้ผู้สวดสาธยายเป็นที่รักใคร่ในหมู่เทพยดาทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม การสาธยายพระสูตรนี้ ยังมีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิต เนื่องจากเป็นพระสูตรที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนถึงแนวทางการในการปฏิบัติให้เป็นที่รักใคร่ ให้เป็นผู้มีเสน่ห์ ด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน ตรวจสอบตนเองให้พ้นจากการกระทำชั่ว และเจริญเมตตาอยู่เป็นนิตย์ ซึ่งไม่เพียงยังความสงบแก่จิตใจของตนเองเท่านั้น แต่ยังความสงบสันติแก่สรรพสัตว์และสากลโลกอีกด้วย นับเป็นพระสูตรที่มีคุณประโยชน์มหาศาล

วศิน อินทสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงพระสูตรนี้ว่า เป็นการแสดงคุณสมบัติของผู้ปรารถนาสันติ คือทางแห่งผู้สงบ หรือทางแห่งคนดี หรือบัณฑิต ดังพุทธภาษิตที่ว่า บัณฑิตชอบสันติ (ความสงบ) (สนฺติมิจฺฉนฺติ ปณฺฑิตา )[6]

ดูเพิ่ม[แก้]

ตัวบท และข้อมูลเพิ่มเติม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. An Outline of the Metresin the Pali Canon
  2. David J. Kalupahana. (2001). หน้า 139
  3. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 332
  4. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 333
  5. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม 1 ภาค 1 หน้า 335
  6. วศิน อินทสระ. (2554). คุณสมบัติของผู้มุ่งสันตบท. หน้า 7 - 8

บรรณานุกรม[แก้]