ขันธปริตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขันธปริตรเป็นหนึ่งพระปริตร และบทสวด 7 ตำนาน และ 12 ตำนาน รวมถึงภาณวาร ชาวพุทธนิยมสวดเพื่อป้องกันภยันตรายจากอสรพิษและสัตว์เลื่อยคลาน เนื่องจากมีเนื้อหากล่าวถึงการแผ่นเมตตาให้สรพิษประเภทต่างๆ แล้วขอให้สัตว์มีพิษเหล่านี้อย่าได้เบียดเบียนกัน พร้อมกับยกคุณอันประมาณมิได้ของพระรัตนตรัยขึ้นมาประกาศว่า แม้แต่สัตว์มีพิษต้องยอมสยบ

ที่มา[แก้]

ขันธปริตรเป็นส่วนหนึ่งของอหิราชสูตร บทว่าด้วยพระสูตรที่กล่าวถึง พญางูทั้ง 4 สกุล หรือ เรียกย่อว่า ขันธปริตต์เพียงแต่ว่า ขันธปริตร สวดเฉพาะคาถา หรือบทกวีท้ายอหิราชสูตร โดยเนื้อหาในพระไตรปิฎกอยู่ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (อง. จตุกฺก. 21.67.83) และในพระวินัยปิฎก จูฬวรรค (วิ. จูฬ. 7.251.8) อีกทั้งยังพบในชาดก ทุกนิบาต (ขุ. ชา. 27.105.56) [1]

สำหรับประวัติของพระปริตรนี้มีอยู่ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด เหล่าภิกษุจึงได้กราบทูลเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ภิกษุดังกล่าวถูกงูกัดเพราะไม่ได้แผ่เมตตาแก่พญางูทั้ง 4 ตระกูล คืองูตระกูลวิรูปักษ์ งูตระกูลเอราบถ งูตระกูลฉัพยาบุตร และงูตระกูลกัณหาโคมดม แล้วตรัสสอนให้แผ่เมตตางูทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งก็คือคาถาขันธปริตรนั่นเอง [2]

เนื้อความในอหิสูตร หรืออหิราชสูตรกล่าวถึงที่มาของขันธปริตร ไว้ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งในกรุงสาวัตถีถูกงูกัด ทำกาละแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในเมืองสาวัตถีนี้ถูกงูกัด ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง 4 เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง 4 ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ตระกูลพญางู 4เป็นไฉน คือ ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักขะ 1 ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ 1 ตระกูลพญางูชื่อฉัพยาปุตตะ 1 ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางู 4 จำพวกนี้เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่เมตตาไปยังตระกูลพญางูทั้ง 4 นี้ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางู 4 จำพวกนี้เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน [3]

ขณะที่อรรถกถาชาดก ยังมีตัวบทเอ่ยถึงที่ของขันธปริตรเช่นกัน โดยเรื่องมีอยู่ว่า ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด พระพุทธองค์ตรัสว่า ตถาคตเคยสอนขันธปริตรเมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นฤๅษีที่ป่าหิมพานต์ได้พำนักอยู่ร่วมกับฤๅษีเป็นอันมาก ขณะนั้นมีฤๅษีตนหนึ่งถูกงูกัดเสียชีวิต จึงสอนขันธปริตรแก่พวกฤๅษีเพื่อป้องกันภัยจากอสรพิษ [4]

เนื้อหา[แก้]

โดยทั่วไปแล้วพระปริตร จะเริ่มต้นด้วยบทขัด ซึ่งอธิบายที่มาที่ไปและอานิสงส์ของการสวดสาธยายพระปริตรนั้นๆ ซึ่งขันธปริตรก็เช่นเดียวกัน โดยเริ่มจากบทขัดขันธปริตร แล้วจึงตามด้วยคาถา ซึ่งยกมาจากอหิราชสูตร

เนื้อหาของบทขัดของขันธปริตรมีดังนี้ "สัพพาสีวิสะชาตีนัง/ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ/ยัง นาเสติ วิสัง โฆรัง/เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง/อาณาเขตตัมหิ สัพพัตถะ/สัพพะทา สัพพะปาณินัง/สัพพะโสปิ นิวาเรติ /ปะริตตัง ตัง ภะณามะ เห ฯ" โดยมีคำแปลดังนี้ "พระปริตรย่อมป้องกันพิษและอันตรายอื่นๆ ของสัตว์ทั้งปวงได้ตลอดเขตแห่งอำนาจทุกแห่งเสมอ เหมือนทิพยมนต์และโอสถทิพย์ที่ขจัดพิษร้ายของอสรพิษทั้งปวง ขอเราทั้งหลายจงร่วมกันสวดพระปริตรนั้นเถิด" [5]

จากนั้นจึงเริ่มคาถาของพระปริตร โดยมีเนื้อหาในภาษาบาลีพร้อมคำแปลภาษาไทย ดังนี้

ตัวบทภาษาบาลี

วิรูปักเขหิ เม เมตตัง/เมตตัง เอราปะเถหิ เม/ฉัพฺยาปุตเตหิ เม เมตตัง/เมตตัง กัณหาโคตะมะเกหิ จะ/อะปาทะเกหิ เม เมตตัง/เมตตัง ทวิปาทะเกหิ เม/จะตุปปะเทหิ เม เมตตัง/เมตตัง พะหุปปะเทหิ เม/มา มัง อะปาทะโก หิงสิ/มา มัง หิงสิ ทวิปาทะโก/มา มัง จะตุปปะโท หิงสิ/มา มัง หิงสิ พะหุปปะโท/สัพเพ สัตตา สัพเพ ปาณา/สัพเพ ภูตา จะ เกวะลา/สัพเพ ภัทฺรานิ ปัสสันตุ/มา กิญจิ ปาปะมาคะมา

อัปปะมาโณ พุทโธ, อัปปะมาโณ ธัมโม, อัปปะมาโณ สังโฆ, ปะมาณะวันตานิ สะรีสะปานิ, อะหิวิจฉิกา สะตะปะที อุณณะนาภิ สะระพู มูสิกา/กะตา เม รักขา กะตา เม ปะริตตัง ปะฏิกกะมันตุ ภูตานิ/โสหัง นะโม ภะคะวะโต นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานัง ฯ [6]

คำแปลภาษาไทย

ความเป็นมิตร ของเรา จงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อวิรูปักขะ, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อเอราปถะ, ความเป็นมิตร ของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อฉัพยาปุตตะ, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสกุลพญางูทั้งหลายชื่อกัณหาโคตมกะ, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก 2 เท้า, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก 4 เท้า, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวกมีเท้ามาก, สัตว์ไม่มีเท้าอย่าเบียดเบียนเรา, สัตว์ 2 เท้าอย่าเบียดเบียนเรา, สัตว์ 4 เท้าอย่าเบียดเบียนเรา, สัตว์มีเท้ามากอย่าเบียดเบียนเรา, ขอสรรพสัตว์ทั้งปวงที่มีลมปราณ มีชีวิตเป็นอยู่ จงได้พบเห็นความเจริญเถิด อย่าได้มาถึงโทษอันลามกน้อยหนึ่งเลย ฯ

พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีคุณหาประมาณมิได้ พระสงฆ์มีคุณหาประมาณมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมลงป่อง จะขาบ แมลงมุม ตุ๊กแก หนู ล้วนมีประมาณ ความรักษาอันเรากระทำแล้ว ความป้องกันอันเรากระทำแล้ว ขอหมู่สัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย เรานั้นกำลังนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอยู่ กำลังนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์อยู่ ฯ [7]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์. คำนำ
  2. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์. หน้า 17
  3. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 2 - หน้าที่ 214-215
  4. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์. หน้า 17
  5. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์. หน้า 17
  6. พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 8. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์ หน้า 28 - 30
  7. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 2 - หน้าที่ 215

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 2
  • พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 8. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์
  • พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์