ข้ามไปเนื้อหา

พระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภาโค)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระสุธรรมาธิบดี

(เพิ่ม อาภาโค)
ส่วนบุคคล
เกิด31 ธันวาคม พ.ศ. 2459 (82 ปี 299 วัน ปี)
มรณภาพ26 ตุลาคม พ.ศ. 2542
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 9 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
อุปสมบท2 กรกฎาคม พ.ศ. 2480
พรรษา63
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
แม่กองธรรมสนามหลวง

พระสุธรรมาธิบดี นามเดิม เพิ่ม นาควาณิช ฉายา อาภาโค เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร แม่กองธรรมสนามหลวง และกรรมการมหาเถรสมาคม

ประวัติ

[แก้]

ชาติกำเนิด

[แก้]

พระสุธรรมาธิบดี มีนามเดิมว่า เพิ่ม นาควาณิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2459 ภูมิลำเนาอยู่บ้านทุ่งหลวง หมู่ 3 ตำบลนาสาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อนายแป้น มารดาชื่อนางหนู (สกุลเดิมศรีแฉล้ม) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น 5 คน และต่างมารดาอีก 6 คน เมื่อโตขึ้นได้ศึกษาที่โรงเรียนวัดพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช จนจบชั้นประถมบริบูรณ์

อุปสมบท

[แก้]

พ.ศ. 2474 ย้ายมาอยู่วัดราชาธิวาส และได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ณ วัดราชาธิวาส โดยมีพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) เป็นพระอุปัชฌาย์ และวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชาธิวาส โดยมีพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระภัทรธรรมธาดา (ฮั้ว โสภิโต) ขณะยังเป็นพระครูโสภิตอาวาสวัตร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ การบวชทั้งสองครั้งมีเจ้าจอมสว่าง ในรัชกาลที่ 5 เป็นเจ้าภาพ

การศึกษา

[แก้]

ศาสนกิจ

[แก้]

หลังจบการศึกษาแล้วได้ย้ายมาอยู่วัดพระนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดรามประดิษฐ์ ได้พัฒนาวัดจนรุ่งเรืองทั้งด้านถาวรวัตถุและการจัดการศึกษา ถึงปี พ.ศ. 2503 จึงย้ายกลับมาอยู่วัดพระนคร

พ.ศ. 2506 พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) ถูกปลดจากเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสและถอดจากสมศักดิ์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) และพระธรรมปาโมกข์ (วิน ธมฺมสาโร) ได้สนับสนุนให้ท่านมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อ แม้ในระยะแรกจะประสบปัญหายุ่งยากในการปกครอง แต่ในที่สุดท่านก็เป็นที่ยอมรับจากพระในวัด ได้ปกครองและพัฒนาวัดเรื่อยมาตราบจนมรณภาพ

สมณศักดิ์

[แก้]
  • 4 ธันวาคม พ.ศ. 2493 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอริยคุณาภรณ์[1]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปัญญาภรณ์ สุนทรธรรมบัณฑิต ปริยัติกิจโกศล วิมลคณธุราทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[2]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2510 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพปัญญากวี ตรีปิฎกคุณาลังการ ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2519 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ สุนทรอรรถสาทิส วิจิตรธรรมภาณี ตรีปิฎกคุณาลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2532 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระสุธรรมาธิบดี ศรีปริยัติสัทธรรมโกศล โสภณสีลาจารประยุต วิสุทธิธรรมวรนายก ตรีปิฎกบัณฑิต ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]

มรณภาพ

[แก้]

พระสุธรรมาธิบดี ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคหัวใจขาดเลือด เมื่อวันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2542 เวลา 03.30 น. ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ สิริอายุได้ 82 ปี 299 วัน พรรษา 63 ศพตั้งบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาการเปรียญ วัดราชาธิวาสวิหาร

วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบญจาตั้งประดับ ปี่กลองชนะประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ และรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 7 คืน

วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2543 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[6]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจังความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม, ตอน, , หน้า 6321
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 78, ตอนที่ 104 ง ฉบับพิเศษ, 15 ธันวาคม 2504, หน้า 5
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 84, ตอนที่ 128 ง ฉบับพิเศษ, 30 ธันวาคม 2510, หน้า 2
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 94, ตอนที่ 3 ง ฉบับพิเศษ, 6 มกราคม 2520, หน้า 1
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 107, ตอนที่ 138 ก ฉบับพิเศษ, 6 สิงหาคม 2533, หน้า 17-20
  6. ประวัติวัดราชาธิวาสวิหาร, หน้า ?
บรรณานุกรม
  • พระราชกวีและคณะ. ประวัติวัดราชาธิวาสวิหาร. กรุงเทพฯ : วัดราชาธิวาส, 2545. 300 หน้า. หน้า 173-195. ISBN 974-85891-1-7 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum