พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ)
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 5 มิถุนายน พ.ศ. 2463 (86 ปี 202 วัน ปี) |
มรณภาพ | 24 ธันวาคม พ.ศ. 2549 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 7 ประโยค นักธรรมชั้นเอก |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 |
พรรษา | 66 ปี 211 วัน |
ตำแหน่ง | อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตเจ้าคณะใหญ่หนใต้ อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร |
พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) น.ธ.เอก ป.ธ.7 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
ประวัติ
[แก้]พระพรหมจริยาจารย์ มีนามเดิมว่าสมุท รัชฏาวรรณ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก ณ บ้านเลขที่ 74 หมู่ที่ 4 ตำบลบางระกำ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง โยมบิดา-โยมมารดาชื่อนายฟอง และนางแก้ว รัชฏาวรรณ ในช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมบริบูรณ์ ณ โรงเรียนประชาบาลวัดโบสถ์ราษฎร์ศรัทธา ตำบลบางระกำ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เมื่อสมัยเป็นเด็ก ได้เข้ามาอยู่วัดเบญจมบพิตรฯ เป็นศิษย์วัดเรียนบาลี ซึ่งเป็นศิษย์วัดรุ่น “ราชปะแตน” คือ นุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อราชปะแตนขาวอย่างชาววัง
กระทั่งอายุได้ 16 ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2479 ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) ครั้งดำรงพระสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกศาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ปลด กิตฺติโสภโณ) ครั้งดำรงพระสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลวัตรกวี (คอน นนฺทิโย ป.ธ.3) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระสรภาณกวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระราชเวที (ดอกไม้ อุตฺตรภทฺโท ป.ธ.6) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “รชตวณฺโณ”
วิทยฐานะ
[แก้]- พ.ศ. 2482 สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
- พ.ศ. 2490 สอบไล่ได้เปรียญธรรม 7 ประโยค สำนักเรียนคณะจังหวัดเชียงใหม่
งานปกครอง
[แก้]- พ.ศ. 2489 เป็นเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่
- พ.ศ. 2496 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
- พ.ศ. 2505 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอบางเขน และเป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ
- พ.ศ. 2507 เป็นรองเจ้าคณะภาค 11
- พ.ศ. 2508 เป็นเจ้าคณะภาค 11 (จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์)
- พ.ศ. 2516 เป็นเจ้าคณะภาค 5 (จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก)
- พ.ศ. 2516 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
- พ.ศ. 2538 เป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
- พ.ศ. 2539 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้
งานการศึกษา
[แก้]- พ.ศ. 2486 เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรม-บาลีสนามหลวง
- พ.ศ. 2488 เป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดพระสิงห์วรมหาวิหารและวัดพันอ้น จังหวัดเชียงใหม่
- พ.ศ. 2490 เป็นพระอาจารย์สอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
- พ.ศ. 2495-2537 เป็นเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง
งานกวีนิพนธ์
[แก้]พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) ฉายแววอัจฉริยะในด้านกวีนิพนธ์ จนได้รับการยกย่องเป็น“รัตนกวี” รูปหนึ่งของวงการคณะสงฆ์ไทยและชาวพุทธทั่วไป ด้วยมีผลงานร้อยกรอง กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ที่รวมบทกวีตีพิมพ์ออกมา อาทิ คาถาพระธรรมบทคำกลอน เบญจมราชาสดุดี เบญจวรรณ (รวมบทกวี กาพย์เห่เรือ กลอน โคลง และฉันท์) เป็นต้น ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ท่านได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมให้เป็นผู้แต่งคำฉันท์ต่าง ๆ อาทิ
- แต่งบทประพันธ์อาเศียรวาทราชสดุดี ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ พ.ศ. 2526
- แต่งบทประพันธ์อาเศียรวาทรัชมังคลาภิเษกสมโภช เนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2531
- แต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ กลอนสุภาพ ในพระราชพิธี พิธีสำคัญ หรือโอกาสสำคัญ ตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย
- แต่งคำฉันท์สดุดี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พ.ศ. 2533
- แต่งคำฉันท์สดุดี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เนื่องในมงคลวโรกาสเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา พ.ศ. 2536
- แต่งคำฉันท์สดุดี พระธรรมิกมหาราชากาญจนาภิเษก เนื่องในการพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539
- แต่งกาพย์ถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542
อนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดท่าสุทธาวาส บ้านบางเสด็จ ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง พระพรหมจริยาจารย์ได้แต่งคำประพันธ์กาพย์เห่เรือ และจัดแห่เรือถวาย
เป็นสหชาติกับสมเด็จพระพุทธชินวงศ์
[แก้]วันเดือนปีเกิดของพระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) นั้นตรงกันกับวันเดือนปีเกิดของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสหรืออธิบดีสงฆ์วัดเบญจมบพิตรฯ รูปที่ 3 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์กับพระพรหมจริยาจารย์จึงเป็นสหชาติคือเกิดพร้อมกัน ตลอดจนยังได้มาอยู่วัดเดียวกันด้วยคือวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม การศึกษาก็จบ ป.ธ.7 เหมือนกันอีก โดยขณะที่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ พระพรหมจริยาจารย์ก็ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาส สนองงานสมเด็จพระพุทธชินวงศ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2537 พระพรหมจริยาจารย์จึงได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสหรืออธิบดีสงฆ์วัดเบญจมบพิตรฯ เป็นรูปที่ 4 มาตั้งแต่บัดนั้น นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2493 เป็นฐานานุกรมสมเด็จพระราชาคณะ ในสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) ที่ พระครูปลัดสัมพิพัฒนสุตาจารย์ ญาณโกศล วิมลศีลาจาร มหาคณาธิการ สังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต
- พ.ศ. 2496 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรเมธี[1]
- พ.ศ. 2501 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกิตติเวที ตรีปิฎกภูษิต ธรรมบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[2]
- พ.ศ. 2506 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกิตติเวที ศรีปริยัติเลขการ ปรีชาญาณดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
- พ.ศ. 2517 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมกิตติโสภณ วิมลศีลาจารวัตร ปริยัติคุณาลังการ ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
- พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระพรหมจริยาจารย์ สุวิธารวรกิจจานุกิจ วินิฐศีลาจารวิมล โสภณจินตกวีดิลก ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
มรณภาพ
[แก้]พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) เข้ารับการผ่าตัดก้อนนิ่วจากคณะแพทย์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ท่านมีอาการอาพาธเป็นประจำ ต้องเดินทางเข้าออกรับการรักษาจากโรงพยาบาลเป็นประจำ และก่อนหน้านี้ยังเคยเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ ต่อมาในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ท่านเจ้าคุณมีอาการท้องเสีย แต่ถ่ายปัสสาวะไม่ได้ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมาก คณะศิษยานุศิษย์จึงได้นำท่านเจ้าคุณส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อรับการรักษาอาการด้วยการผ่าตัด แต่สุดท้ายไม่สามารถยื้ออาการไว้ได้ ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคปอดติดเชื้อ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เวลา 20:10 น. ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุได้ 86 พรรษา 66[6]
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 70, ตอน 78 ง, 22 ธันวาคม พ.ศ. 2496, หน้า 5356
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 75, ตอน 109, 23 ธันวาคม พ.ศ. 2501, หน้า 3135
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 80, ตอน 122 ง ฉบับพิเศษ, 27 ธันวาคม พ.ศ. 2506, หน้า 3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 91, ตอน 229 ง ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม พ.ศ. 2517, หน้า 2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 108, ตอนที่ 98, 1 มิถุนายน พ.ศ. 2534, หน้า 4-7
- ↑ "พระพรหมจริยาจารย์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ถึงมรณภาพ" (PDF). มหาเถรสมาคม. 10 มกราคม 2550. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย]
ก่อนหน้า | พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) |
เจ้าคณะใหญ่หนใต้ (พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2549) |
พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) | ||
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) |
เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร (พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2549) |
พระพุทธวรญาณ (ทอง สุวณฺณสาโร) |