ทะเลสาบแทนกันยีกา
ทะเลสาบแทนกันยีกา | |
---|---|
แผนที่ทะเลสาบแทนกันยีกา | |
พิกัด | 6°30′S 29°40′E / 6.500°S 29.667°E |
ชนิดของทะเลสาบ | Ancient lake, Rift Valley Lake |
แหล่งน้ำไหลเข้าหลัก | Ruzizi River Malagarasi River Kalambo River |
แหล่งน้ำไหลออก | Lukuga River |
พื้นที่รับน้ำ | 231,000 ตารางกิโลเมตร (89,000 ตารางไมล์) |
ประเทศในลุ่มน้ำ | ประเทศบุรุนดี สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประเทศแทนซาเนียและประเทศแซมเบีย |
ช่วงยาวที่สุด | 673 กิโลเมตร (418 ไมล์) |
ช่วงกว้างที่สุด | 72 กิโลเมตร (45 ไมล์) |
พื้นที่พื้นน้ำ | 32,900 ตารางกิโลเมตร (12,700 ตารางไมล์) |
ความลึกโดยเฉลี่ย | 570 เมตร (1,870 ฟุต) |
ความลึกสูงสุด | 1,470 เมตร (4,820 ฟุต) |
ปริมาณน้ำ | 18,900 ลูกบาศก์กิโลเมตร (4,500 ลูกบาศก์ไมล์) |
เวลาพักน้ำ | 5500 ปี[1] |
ความยาวชายฝั่ง1 | 1,828 กิโลเมตร (1,136 ไมล์) |
ความสูงของพื้นที่ | 773 เมตร (2,536 ฟุต)[2] |
เมือง | Kigoma แทนซาเนีย Kalemie สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก บูจุมบูรา บุรุนดี Mpulungu แซมเบีย |
อ้างอิง | [2] |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | Tanganyika |
ขึ้นเมื่อ | 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 |
เลขอ้างอิง | 1671[3] |
1 ความยาวแนวชายฝั่งไม่ได้ถูกวัดอย่างละเอียด |
ทะเลสาบแทนกันยีกา (อังกฤษ: Lake Tanganyika) เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อ 4 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, แทนซาเนีย, แซมเบีย และบุรุนดี เป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญเป็นอันดับที่สองในแอฟริการองจากทะเลสาบวิกตอเรีย นอกจากนั้นยังเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับสองในทวีปแอฟริกาและลึกที่สุดในทวีปแอฟริกาอีกด้วย จุดที่มีความลึกที่สุดลึกกว่า 1,470 เมตร ทะเลสาบแทนกันยีกาเกิดจากการทรุดตัวของแผ่นเปลือกโลกและภูเขาไฟระเบิด เมื่อราว 20 ล้านปีมาแล้ว นับเป็นทะเลสาบแห่งหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งตั้งอยู่ในแนวเกรตริฟต์แวลลีย์[4]
ศัพทมูล
[แก้]คำว่า "แทนกันยีกา" นั้นมาจากภาษาสวาฮิลีสองคำ คือ "tangan" หมายถึง "เรือใบ" และ "nyika" หมายถึง "ป่า" หรือ "ไม่มีที่อยู่" โดยรวมอาจหมายความว่า "เรือใบที่แล่นในถิ่นทุรกันดาร" ก็ได้
ภูมิศาสตร์
[แก้]ทะเลสาบแทนกันยีกา มีความยาวจัดจากเหนือจรดใต้ได้ถึง 673 กิโลเมตร แต่มีความกว้างโดยเฉลี่ยประมาณ 50 กิโลเมตร มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 3,2892 ตารางกิโลเมตร ความยาวรอบชายฝั่งวัดรวมกันได้ 1,828 กิโลเมตร และยังเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีความลึกเป็นอันดับสองของโลกรองจากทะเลสาบไบคาล ในไซบีเรีย มีดินแดนติดกับคองโกราวร้อยละ 45 และติดกับแทนซาเนียร้อยละ 41 โดยประมาณ
น้ำในทะเลสาบไหลสู่แม่น้ำคองโกในตอนกลางของทวีป และจะไหลไปลงทะเลที่ตอนแอฟริกาตะวันตกที่มหาสมุทรแอตแลนติก
ทะเลสาบแห่งนี้มีความโดดเด่นเรื่องของอุณหภูมิที่ค่อนข้างเสถียร เรื่องจากข้างล่างทะเลสาบยังคงมีภูเขาไฟ น้ำมีการเปลี่ยนแปลงในแนวตั้งน้อยมาก ในความลึกเกิน 300 เมตร ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำค่อนข้างน้อย จึงมักไม่ค่อยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยมีความเปลี่ยนแปลงต่างกันไม่เกิน 5 ฟาเรนไฮต์ โดยบริเวณผิวน้ำจะมีอุณหภูมิประมาณ 73-88 ฟาเรนไฮต์ ค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำอยู่ที่ประมาณ 7.5-9.3 (pH)
ระบบนิเวศของทะเลสาบแทนกันยีกา แบ่งออกได้เป็นสองส่วนหลัก คือ ระบบชายฝั่งและพื้นที่นอกชายฝั่ง ซึ่งสามารถแบ่งระบบนิเวศตามสภาพแวดล้อมที่ต่างกันได้ ดังนี้
- บริเวณน้ำลึกเกินสามฟุตนอกชายฝั่ง บริเวณนี้มักมีคลื่นส่งให้มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำอย่างรวดเร็ว ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำค่อนข้างสูง ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ
- บริเวณแนวหินตามชายฝั่ง เป็นพื้นที่ลาดชันประกอบไปด้วยตะกอนหินที่มีขนาดแตกต่างกัน เป็นระบบนิเวศที่มีแสงแดดส่องถึงพื้น ทำให้เกิดสาหร่าย และพืชประเภทต่าง ๆ
- แนวหินบริเวณน้ำตื้น อยู่ในความลึกประมาณ 20 ฟุต สภาพแวดล้อมส่วนมากเป็นทราย กรวดหิน และก้อนหิน เป็นแหล่งที่มีอาหารตามธรรมชาติมากที่สุด สำหรับสิ่งมีชีวิตในทะเลสาบใช้หากิน
- บริเวณหน้าดิน เป็นบริเวณที่มีความลึกระหว่าง 165-500 ฟุต ยังคงมีออกซิเจนละลายอยู่ มีสิ่งมีชีวิตจำพวกแพลงก์ตอนและกุ้งอาศัยอยู่
- บริเวณพื้นทราย เป็นพื้นที่ที่มีการชะล้างพังทลายมาเป็นเวลานับล้าน ๆ ปี ส่งผลให้ชั้นตะกอนที่อยู่ด้านล่างของทะเลสาบนั้นหนาเป็นกิโลเมตร สภาพพื้นเป็นทรายปะปนด้วยหิน
- บริเวณพื้นโคลน เป็นบริเวณที่มีซากของสิ่งมีชีวิตตายทับถมกัน มีแบคทีเรียที่ให้อาหารสำหรับแพลงก์ตอนสัตว์อาศัยอยู่[5]
นอกจากนี้แล้วทะเลสาบแทนกันยีกา ยังเป็นขึ้นชื่อและรู้จักดีว่าเป็นแหล่งกำเนิดของปลาในตระกูลปลาหมอสี (Cichlidae) หลากหลายชนิด มีมากกว่า 850 ชนิด[4] ซึ่งใช้เป็นทั้งปลาเศรษฐกิจในท้องถิ่น และเป็นแหล่งส่งออกปลาสวยงามในระดับโลก อาทิ ปลาหมอฟรอนโตซ่า (Cyphotilapia frontosa), ปลาหมอสีในสกุล Cyprichromis, สกุล Tropheus เป็นต้น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Yohannes, Okbazghi (2008). Water resources and inter-riparian relations in the Nile basin. SUNY Press. p. 127.
- ↑ 2.0 2.1 "LAKE TANGANYIKA". www.ilec.or.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-28. สืบค้นเมื่อ 2008-03-14.
- ↑ "Tanganyika". Ramsar Sites Information Service. สืบค้นเมื่อ 25 April 2018.
- ↑ 4.0 4.1 "Planet Earth 19 ธันวาคม 2558 พิภพโลก ตอนที่ 3". นาว 26. 19 December 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 10 January 2016.
- ↑ หน้า 46-48 คอลัมน์ Cichild Conner ตอน ดำดิ่งสู่ Lake Tanganyika โดย ปลาบ้านโรม นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับเดือนสิงหาคม 2011
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Food and Agriculture Organization of the United Nations เก็บถาวร 2008-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Index of Lake Tanganyika Cichlids เก็บถาวร 2011-11-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ข้อความบนวิกิซอร์ซ:
- "Tanganyika". Collier's New Encyclopedia. 1921.
- "Tanganyika". The New Student's Reference Work. 1914.
- สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). 1911. .
- A Trans-Africa Inland Waterway System?
- Democratic Republic of Congo Waterways Assessment เก็บถาวร 2021-07-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน