เมืองดงละคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ตำบลดงละคร)
เมืองดงละคร
ทางเข้าเมืองดงละคร
แผนที่
ที่ตั้งตำบลดงละคร, จังหวัดนครนายก, ประเทศไทย
พิกัด14°09′35.7″N 101°10′01.2″E / 14.159917°N 101.167000°E / 14.159917; 101.167000พิกัดภูมิศาสตร์: 14°09′35.7″N 101°10′01.2″E / 14.159917°N 101.167000°E / 14.159917; 101.167000
ประเภทโบราณสถาน
ความเป็นมา
วัสดุอิฐ และศิลาแลง
สร้างพุทธศตวรรษที่ 14
ละทิ้งพุทธศตวรรษที่ 19
สมัยทวารวดี
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นพ.ศ. 2515
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
การขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียน8 มีนาคม พ.ศ. 2478
เลขทะเบียน0000880

เมืองโบราณดงละคร เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ตั้งอยู่ในเขตตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ห่างจากตัวจังหวัดนครนายกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร จุดสูงสุดของเมืองอยู่ที่เนินดินทางด้านทิศตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 34 เมตร[1]

เมืองโบราณดงละครเป็นเมืองรูปไข่เกือบกลม มีคูน้ำและคันดินโดยรอบ มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 700-800 เมตร เดิมมีแนวกั้นเป็นคันดินสองชั้นแต่ปัจจุบันเหลือเพียงชั้นนอกชั้นเดียว คันดินชั้นนอกมีความสูงกว่าคันดินชั้นใน แต่คันดินชั้นในมีความหนามากกว่า ลักษณะการสร้างเมืองนั้นติดกับแม่น้ำนครนายกสายเดิม ซึ่งติดต่อกับชายฝั่งทะเลได้ เหมาะแก่การค้าขายทางทะเล และยังสามารถทำการเกษตรได้โดยรอบ เป็นลักษณะเดียวกับเมืองโบราณสมัยทวาราวดีในบริเวณใกล้กันของประเทศไทย คาดว่ามีผู้อยู่อาศัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-18 และอยู่ในเครือข่ายการค้าขายทางทะเลในสมัยโบราณ

เมืองโบราณดงละคร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ที่มาและตำนาน[แก้]

ในเมืองดงละครดูเป็นป่ารกชัฎ อาจเป็นที่มาของชื่อดงนคร แล้วเพี้ยนเป็นดงละครในภายหลัง

ที่มาของชื่อเมือง[แก้]

แต่เดิมชาวบ้านเรียกเมืองนี้ว่าเมืองลับแล ส่วนชื่อเมืองว่าดงละครนั้นไม่ทราบที่มาแน่ชัด บางแห่งกล่าวว่า เวลากลางคืน ได้ยินเสียงดนตรีวงมโหรีแว่วมาจากในเมืองกลางป่า คล้ายกับมีการเล่นละครในวัง จึงเรียกว่าดงละคร หมายถึงมาเล่นละครในดง ส่วนอีกแห่งก็กล่าวว่า เดิมเมืองนี้น่าจะเรียกว่า ดงนคร หมายถึงนครที่อยู่ในดง แต่นานเข้าจึงเรียกเพี้ยนกลายเป็น ดงละคร แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับที่มาของชื่อเมืองดงละครนี้

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี ได้มีพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับเมืองดงละครไว้ว่า เป็นเมืองที่สร้างขึ้นโดยเจ้าแผ่นดินเขมรโบราณซึ่งเป็นสตรี หรืออาจเรียกว่าราชินีแห่งแผ่นดินเขมรโบราณนั่นเอง โดยเมื่อราชินีองค์นี้ขึ้นครองแผ่นดินเขมร ได้เฟ้นหาชายรูปงามจากแคว้นต่างๆ เพื่อเป็นคู่ครอง โดยได้พบชายชาวเขมรสองคนก่อน จึงได้รับเลี้ยงไว้ แต่ต่อมาได้พบกับชายอีกคนจากแผ่นดินเขมรเก่า (ปัจจุบันเป็นแผ่นดินไทย) ราชินีเขมรพอพระทัยในชายผู้นี้มากจึงอยากจะรับเลี้ยงไว้อีกคน แต่ชายสองคนก่อนไม่ยอม ราชินีเขมรจึงสร้างเมืองใหม่ชายอีกคนคือเมืองดงละครซึ่งอยู่ใกล้กับอาณาจักรเขมร แต่ต่อมาราชินีเขมรองค์นั้นก็ได้ประชวรและสิ้นพระชนม์ไป ไม่ได้มีราชบุตรสืบพระวงศ์ต่อไป ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระราชวินิจฉัยไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรีไว้ว่าเมืองนี้เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินโบราณ

นายนิคม มุสิกะคามะ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร สันนิษฐานต่อโดยประมวลจากพระบรมราชาธิบาย สรุปได้ความว่า เมืองดงละคร น่าจะสร้างหลังจากบริเวณนี้อยู่ในอาณาจักรไทยแล้ว แต่สร้างโดยคนเขมร เนื่องจากพบหลักฐานหลายอย่างซึ่งเป็นศิลปะเขมรในเมืองดงละคร เช่น คันฉ่องสำริด เทวรูปสำริดนุ่งผ้าศิลปะแบบเดียวกับที่นครวัด เป็นต้น

สรุปว่า เมืองดงละคร เป็นเมืองสมัยทวาราวดี ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากทั้งทวาราวดีและขอม มีอายุตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12-16

การล่มสลาย[แก้]

ภายหลังพุทธศตวรรษที่ 18 คาดว่ามีการเปลี่ยนเส้นทางการไหลของแม่น้ำนครนายกซึ่งแต่เดิมไหลผ่านทางทิศตะวันตกของเมืองดงละคร กลายเป็นไหลอย่างปัจจุบันนี้ ทำให้เมืองที่เคยเจริญกลับไม่ได้รับความนิยมเพราะขาดน้ำ ทำให้เมืองดงละครกลายเป็นเพียงเมืองเล็กๆ มีประชากรอยู่ไม่กี่คน เพราะคนส่วนใหญ่ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ตามการไหลของแม่น้ำ เป็นเมืองนครนายกในปัจจุบันนี้

ในช่วงที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 คาดว่าชาวบ้านได้ย้ายเมืองหนีไปอยู่บริเวณเขาใหญ่เพื่อหนีการรุกรานของพม่า ทำให้เมืองร้างไปอีก

ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีพวกลาวพวน ลาวเวียง และมอญ มาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ โดยยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ซึ่งมักมีช้างป่าลงมากินข้าวในนาเสมอๆ แต่ต่อมาชาวบ้านย้ายมาอยู่เยอะเข้า ช้างป่าเลยหนีไปอยู่ที่บริเวณเขาใหญ่แทน

การขุดแต่งทางโบราณคดี[แก้]

ตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบในบริเวณเมืองโบราณดงละคร

หลังจากเมืองดงละครโบราณได้ล่มสลายไป ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ โดยมากมีอาชีพทำการเกษตร ซึ่งระหว่างทำการเกษตรมีการขุดดิน ชาวบ้านก็ได้ขุดพบของโบราณเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2515ได้มีการขุดแต่งเมืองโบราณดงละครอย่างเป็นทางการโดยนักวิชาการ โดยนายพิสิฐ เจริญวงศ์ ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้นได้ดำเนินการขุดแต่งและอนุรักษ์เมืองนี้มาเป็นลำดับ และได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงการอยู่อาศัยของผู้คนในยุคพุทธศตวรรษที่ 13-15 เช่น พระพิมพ์เนื้อเงิน ศิลปะแบบทวาราวดี เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบสีน้ำตาล เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถังและซ้อง รวมทั้งลูกปัดแก้วหลายสี ลูกปัดแบบลูกตา (eye beads) ลูกปัดสลับสี (mosaic beads) ลูกปัดหินคาร์เนเลียน และอะเกต

ภาชนะดินเผาบางชิ้น มีนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นไว้ว่าเป็นของเปอร์เซีย ลักษณะเป็นเครื่องเคลีอบสีฟ้าอ่อน คาดว่ามาจากเมืองชีราฟของอิหร่าน และเมืองบาสราของอิรัก ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาลักษณะเดียวกันนี้เคยพบที่แหลมโพธิ์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แสดงให้เห็นว่า เมืองดงละครน่าจเป็นทางผ่านของการค้าจากทางภาคใต้

นอกจากนี้ ยังมีการขุดพบโบราณวัตถุทำจากควอตซ์ ซึ่งมีแหล่งแร่ควอตซ์อยู่บริเวณเขาแก้ว อำเภอบ้านนา ห่างจากดงละครราว 20 กิโลเมตร และพบกำไลสำริด 2 วง คาดว่าจะมาจากเมืองลพบุรี นอกจากนี้ยังพบขวานหินขัดจำนวนมากที่ผลิตจากหินแอนดีไซต์และหินไรโอไลต์ ซึ่งมีแหล่งผลิตที่บ้านห้วยกรวด จังหวัดกระบี่ จึงสันนิษฐานว่าเมืองดงละครน่าจะเป็นทางผ่านในการค้าขายผ่านมาจากทางใต้ก็ได้

ความสำคัญ[แก้]

เมืองดงละคร เคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญในสมัยโบราณช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 โดยเป็นเมืองทางผ่านในการติดต่อค้าขายระหว่างจีน อินเดีย และเปอร์เซีย ซึ่งมีการซื้อขายสินค้าแลกเปลี่ยนวัตถุดิบกัน โดยในส่วนของตัวเมืองดงละครเอง ได้รับอิทธิพลจากเขมร โดยขุดพบโบราณวัตถุพวกกำไลและพระพุทธรูปสำริดศิลปะแบบบายน เครื่องปั้นดินเผา และลูกปัดต่างๆ

โบราณสถาน[แก้]

โบราณสถานหมายเลข 1[แก้]

โบราณสถานหมายเลข 1 บริเวณทางขวาของภาพในเงาไม้ จะเห็นแท่นอยู่ 2 อัน

อยู่ในเขตชั้นนอกของตัวเมืองดงละคร ห่างประตูเมืองชั้นในทางทิศเหนือ 250 เมตร ลักษณะเป็นกำแพงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 12 เมตร มีทางเข้าอยู่ทางทิศใต้ ภายในมีแท่นตั้งสำหรับวางรูปเคารพอยู่ 2 แท่น (คาดว่าเดิมมี 3 แท่น) โดยในการขุดแต่งเมื่อปี 2531-2532 และในการบูรณะเมื่อปี 2536 พบโบราณวัตถุที่สำคัญดังต่อไปนี้

  1. เศียรพระพุทธรูปกะไหล่ทอง ศิลปะสมัยทวาราวดี
  2. แผ่นทองคำขนาดเล็ก
  3. เมล็ดข้าวสารดำ
  4. ชิ้นส่วนภาชนะ คาดว่าเป็นหม้อแบบมีสัน ศิลปะทวาราวดี
  5. คันฉ่องสำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18

สันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถาน สร้างขึ้นก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 ใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจของชาวดงละครสมัยโบราณ

โบราณสถานหมายเลข 2[แก้]

โบราณสถานหมายเลข 2

อยู่ในเขตชั้นนอกของตัวเมืองดงละคร ห่างประตูเมืองชั้นในทางทิศเหนือ 250 เมตร ลักษณะเป็นแนวกรอบศิลาแลงกว้าง 3.7 เมตร ยาว 4 เมตร ตรงกลางขุดพบสถูปศิลาแลงรูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ซ้อนกัน 2 ชั้น โดยในการขุดแต่งเมื่อปี 2532 พบโบราณวัตถุที่สำคัญดังนี้

  1. พระพุทธรูปและแม่พิมพ์ ทำด้วยดินเผา ศิลปะทวาราวดี
  2. เครื่องประดับ เช่น แหวน กำไล ตุ้มหู ทำด้วยสำริด แหวนทำด้วยหินสีต่างๆ
  3. ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ประมาณ 2,000 เม็ด
  4. หินแกะลาย คาดว่าเป็นตราประทับ รูปปู รูปช้าง

สันนิษฐานว่า อาจเป็นสถูปใช้บรรจุกระดูกของบุคคลสำคัญในเมืองนี้ในสมัยโบราณ หรืออาจเป็นสถูปที่ใช้ในการวางศิลาฤกษ์ เพราะพบของมีค่าหลายอย่างฝังปนอยู่ ลักษณะเดียวกับการฝังลูกนิมิตในปัจจุบัน

คูน้ำคันดิน[แก้]

คูเมืองเก่าของเมืองโบราณดงละคร

ได้มีการขุดคูเมืองเพื่อป้องกันข้าศึก โดยขุดคูผันน้ำจากแม่น้ำนครนายกสายเดิมเข้ามา แต่เนื่องจากแม่น้ำนครนายกได้เปลี่ยนทิศทางการไหลไปแล้ว คูเมืองเดิมจึงตึ้นเขินกลายเป็นแอ่งดินที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่แทน

ใช้เป็นกำแพงเมือง มีความสูงประมาณ 30 เมตร เดิมมี 2 ชั้น ปัจจุบันเห็นได้แต่ชั้นนอก ชั้นในไม่เหลือร่องรอยให้เห็นได้ชัดแล้ว

สระน้ำ[แก้]

ที่ประตูเมืองทั้ง 4 ทิศ จะมีสระน้ำอยู่ ปัจจุบันเห็นได้แต่ทางทิศเหนือที่ขุดแต่งแล้ว และทางทิศตะวันออก แต่ทางทิศตะวันออกจะมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมจำนวนมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนนัก

คาดว่าสระน้ำนี้มีไว้ให้ชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนเข้าเมือง และป้องกันไม่ให้ข้าศึกเอาซุงมากระทุ้งประตูเมืองได้

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์[แก้]

บ่อน้ำนี้ตั้งอยู่ในแนวของแม่น้ำนครนายกสายเก่าซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนทิศทางการไหลไปแล้ว บ่อนี้คาดว่าเป็นบ่อที่ขุดเอาศิลาแลงไปใช้สร้างโบราณสถานต่างๆ ในเมืองดงละครสมัยโบราณ ต่อมาได้ถูกทิ้งร้างไปพร้อมกับการล่มสลายของเมืองดงละคร จนกระทั่งปี 2533 มีการเปิดโรงเจสว่างอริยธรรมสถาน มีเรื่องเล่าว่าทางโรงเจได้เชิญร่างทรงมาประทับ ร่างทรงได้มายังบ่อน้ำนี้และให้น้ำไปประกอบพิธี ตั้งแต่นั้นชาวบ้านก็ได้นำน้ำจากบ่อไปกินบ้าง อาบบ้าง เชื่อว่าเป็นสิริมงคงและทำให้หายจากโรคได้ ซึ่งชาวบ้านหลายคนก็ยืนยัน แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2542 ทางสำนักพระราชวังได้นำน้ำจากบ่อนี้ไปประกอบพิธีในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

เมืองชั้นใน[แก้]

อยู่ในเมืองชั้นใน พบร่องรอยของเจดีย์สมัยทวาราวดี คาดว่ามีอายุประมาณ 1,000 ปี โดยจากการสำรวจและขุดแต่งเมื่อปี 2539-2540 พบว่าเป็นโบราณสถานที่ถูกรบกวน เหลือเพียงฐานก่อด้วยศิลาแลงเท่านั้น จากการสันนิษฐานคาดว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำและมีปล้องไฉนซ้อนขึ้นไปข้างบน และพบชิ้นส่วนจารึกคาถาเยธฺมมาฯ บนภาชนะดินเผา

สันนิษฐานว่า โบราณสถานแห่งนี้สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นอย่างช้า เพราะเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้รับความนิยม และคงอยู่ต่อมาถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งประชาชนหันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน เพราะพบหลักฐานคือ เศียรพระพุทธรูปแบบนาคปรก และคาดว่าในบริเวณนี้ น่าจะมีการสร้างอาคารด้วยไม้ขึ้นมาทับบริเวณที่เป็นเจดีย์เดิม เพราะได้ขุดพบหลุมเสาอาคาร และเครื่องถ้วยดินเผาสังคโลก แต่สุดท้ายเมืองนี้ก็ได้ทิ้งร้างไปในที่สุด

แต่ภายหลังจากการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ. 2540 ทางกรมศิลปากรได้กลบปากหลุมบริเวณนี้ไปแล้ว

การเดินทางและการเข้าชม[แก้]

จากกรุงเทพมหานคร ให้เดินทางมาที่รังสิต และเลี้ยวเข้าถนนรังสิต-นครนายก ขับไปจนถึงแยกสามสาว ให้เลี้ยวขวาขับไปตามทาง ผ่านเขื่อนนายก ข้ามคลองชลประทาน จนกระทั่งถึงวัดดงละคร จะมีป้ายให้เลี้ยวขวาเข้าไปยังเขตเมืองโบราณ

เมืองโบราณดงละครเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. หากต้องการวิทยากรแนะนำ ให้ติดต่อวิทยากรท้องถิ่นซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับโบราณสถาน โดยจะมีป้ายบอกข้อมูลอยู่ตามตำแหน่งของโบราณสถาน

อ้างอิง[แก้]

  1. [1] – การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.